ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิ.อาญาฯ คือ กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดวิธีการดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้ต้องหา ตั้งแต่การถูกจับกุม สอบสวน การพิจารณาคดีชั้นศาล และการสั่งลงโทษ กฎหมายนี้ทำหน้าที่วางกรอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง ตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา ให้ถูกจำกัดเพื่อสิทธิการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของจำเลย และทำให้การดำเนินกระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างเรียบร้อยและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ตั้งแต่การบังคับใช้ในปี 2478 จนถึงเดือนกรกฎาคมปี 2560 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญารวม 35 ครั้ง เป็นการแก้ไขโดยการออกพระราชบัญญัติหนึ่งครั้ง ออกเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม 32 ครั้ง และแก้ไขโดยประกาศของคณะรัฐประหารสองครั้ง ในจำนวนนี้มีสี่ครั้งที่เป็นการแก้ไขหลังการยึดอำนาจของ คสช. ในปี 2557 แยกเป็นการแก้ไขโดยประกาศของคณะรัฐประหาร หนึ่งครั้งและเป็นแก้ไขโดยการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม โดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารอีกสามครั้ง
ประกาศ คสช. 115/2557 : ดึงอำนาจตามกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญาต่างจังหวัดจากมือผู้ว่าฯ สู่ตำรวจ
การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาครั้งแรกในยุค คสช. เป็นการใช้ประกาศคณะรัฐประหารโดยตรง ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) ออกประกาศคสช.ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีเนื้อหาให้ แก้ไขป.วิ.อาญาฯ สามส่วน ได้แก่ มาตรา 21/1 มาตรา 142 วรรคสาม และมาตรา 145/1 โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
คือ ให้ตำรวจมีอำนาจทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการและชี้ขาดตัวพนักงานสอบสวนในคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แทนการให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด และให้ตำรวจมีอำนาจส่งสำนวนฟ้องผู้ต้องหาที่หลบหนีต่ออัยการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเอาตัวมาฟ้อง
ส่วนที่หนึ่ง เพิ่มมาตรา 21/1 เป็นมาตราใหม่ โดยมีสาระสำคัญ คือ กรณีที่คดีอยู่ความรับผิดชอบของตำรวจ มีพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนหลายคน และยังไม่ชัดเจนว่า เป็นความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกัน ให้ตำรวจที่เป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนเป็นผู้ชี้ขาดได้เลย กรณีนี้เป็นการเพิ่มเติมอำนาจการบริหารงานของตำรวจให้ชัดเจนขึ้น จากเดิมที่อำนาจการชี้ขาดคดีในจังหวัดเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด
ส่วนที่สอง ยกเลิกวรรคสาม ของมาตรา 142 ซึ่งเดิมกำหนดว่า ในกรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ให้ส่งสำนวน พร้อมกับผู้ต้องหาไปที่พนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว และแก้ไขเป็น ในกรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ให้ส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว “หรือผู้ต้องหาหลบหนีไป” เท่ากับว่าในกรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนี พนักงานสอบสวนก็ยังสามารถส่งสำนวนฟ้องต่ออัยการได้ทันที โดยไม่ต้องรอจนกว่าจะจับตัวผู้ต้องหาได้ก่อนจึงจะมีอำนาจส่งฟ้อง
ส่วนที่สาม เพิ่มมาตรา 145/1 เปลี่ยนแปลงอำนาจการทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ สำหรับคดีที่อยู่ต่างจังหวัด จากเดิมหากอัยการเห็นว่า คดีใดควรสั่งไม่ฟ้อง คนที่จะมีอำนาจทำความเห็นต่างว่า ควรสั่งฟ้องได้ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่กฎหมายใหม่เปลี่ยนให้มาเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนในจังหวัดนั้นๆ การเพิ่มเติมมาตรานี้ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งจากเดิมมีอำนาจทำความเห็นแย้งอัยการทั้งคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตามความในมาตรา 145 เหลือเพียงอำนาจทำความเห็นแย้งเฉพาะคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเท่านั้น
การแก้ไขป.วิ.อาญาฯ ตามประกาศคสช.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2557
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 30 พ.ศ.2558 :ใช้อุปกรณ์ติดตามตัวผู้ต้องหาแทนจำคุก และเพิ่มการคุ้มครองนายประกัน
6 พฤศจิกายน 2558 สนช. ลงมติด้วยเสียงเห็นด้วย 164 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง เห็นควรให้ประกาศใช้พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ครั้งแรกในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยสาระสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้ คือ การเพิ่มบทบัญญัติให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการประกันตัว และการให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจลดวงเงินหรือทรัพย์ที่จะเรียกจากนายประกัน ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีและนายประกันได้พยายามติดตามตัวอย่างเต็มที่แล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
แก้ไข มาตรา 108 วรรคคสาม จากเดิมที่กำหนดว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจปล่อยตัวชั่วคราวหรือศาลกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายอื่นที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยตัวชั่วคราว แก้ใหม่เป็น ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือศาลกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือ “สั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรืออุปกรณ์อื่น” ที่อาจจำกัดหรือตรวจสอบการเดินทางของผู้ได้รับการปล่อยตัว ในกรณีที่ผู้ได้รับการปล่อยตัวยินยอม เพื่อป้องกันความเสียหายจากการหลบหนี แต่ในกรณีที่ผู้ได้รับการปล่อยตัวอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ จะไม่สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวได้ ยกเว้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยร้ายแรงต่อผู้อื่นหรือมีเหตุอันควรประการอื่น
เพิ่มวรรคสอง ของ มาตรา 117 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี การแก้ไขครั้งนี้ เพิ่มเติมว่า หากอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวตามมาตรา 108 วรรคสามถูกทำลายหรือทำให้ใช้การไม่ได้ ให้สันนิษฐานว่าผู้ได้รับการปล่อยตัวจะหนีหรือหลบหนี
มาตรา 7 ของพ.ร.บ.แก้ไขป.วิอาญาฯฉบับที่ 30 ฉบับนี้ยังกำหนดด้วยว่าเมื่อบังคับใช้พ.ร.บ.นี้ครบสามปีให้คณะรัฐมนตรีประเมินความคุ้มค่าและภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลรักษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งอาจกำหนดเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ถูกปล่อยตัวที่ต้องสวมใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้ได้ด้วย
แก้ไขมาตรา 119 เรื่องการให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจลดวงเงินหรืองดการยึดเงินประกันจากนายประกัน กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีแต่นายประกันได้พยายามติดตามอย่างถึงที่สุดแล้ว เพิ่มหลักการใหม่ว่า เงินหรือทรัพย์สินที่วางเป็นประกันต่อศาลไม่อาจถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้อื่นได้ ยกเว้นศาลจะมีดุลพินิจให้ปล่อยทรัพย์สินนั้น และเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้มีหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
แก้ไขมาตรา 110 เพิ่มเติมเงื่อนไขการเรียกหลักทรัพย์ประกันตัว โดยเติมข้อความว่า “ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและมาตรการป้องกันต่างๆ ที่ได้ใช้กับผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวด้วย” ซึ่งการเติมข้อความนี้ น่าจะเป็นการเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจในการตั้งเงื่อนไขประกอบการให้ประกันตัวในกรณีที่มีเหตุอันควร เช่น การห้ามเดินทางออกนอกประเทศด้วย
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2559 : เพิ่มอำนาจศาลโอนย้ายคดีที่คนสนใจได้ด้วยดุลพินิจตนเอง
28 มกราคม 2559 สนช. ลงมติด้วยเสียงเห็นด้วย 182 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่มีเสียงไม่เห็นด้วย เห็นควรให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 31) พ.ศ.2559 และพ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มีนาคม 2559 โดยสาระสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้ คือ การเพิ่มเติม หลักเกณฑ์ วิธีการ การโอนคดีไปศาลอื่น โดยเพิ่มอำนาจให้ศาลที่กำลังพิจารณาคดีสามารถทำความเห็นโอนคดีต่อประธานศาลฎีกาได้โดยตรง โดยไม่ต้องให้โจทก์หรือจำเลยร้องขอ
มาตราที่แก้ไขเพิ่มเติมมีมาตราเดียว คือ มาตรา 26 สาระสำคัญ คือ ในกรณีที่ลักษณะของความผิด ฐานะของจำเลย จำนวนจำเลย ความรู้สึกของประชาชนจำนวนมากของท้องที่นั้น หรือเหตุผลอื่น อาจมีการขัดขวางการพิจารณาคดีให้เกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายอย่างอื่นขึ้น หรือเกิดผลกระทบต่อประโยชน์ที่สำคัญอื่นของรัฐ กำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งโอนคดีตามที่โจทก์หรือจำเลยร้องขอ หรือให้ศาลที่พิจารณาคดีนั้นอยู่ ทำความเห็นเสนอต่อประธานศาลฎีกาขอให้โอนไปศาลอื่นก็ได้
มาตรา 26 ใหม่เพิ่มเติมจากมาตรา 26 เดิม ที่ต้องให้โจทก์ หรือ จำเลย เป็นผู้ยื่นเรื่องต่อประธานศาลฎีกาเท่านั้น เป็นให้ศาลที่กำลังพิจารณาคดีอยู่ทำความเห็นในการโอนคดีไปยังศาลที่เหมาะสมกว่า แล้วส่งให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาโดยตรงได้ ซึ่งการแก้กฎหมายมาตรานี้ถือเป็นการเพิ่มอำนาจดุลพินิจของศาลให้สามารถโยกย้ายคดีที่คนสนใจ อย่างเช่น คดีเกี่ยวกับการเมือง คดีที่มีความละเอียดอ่อนต่อสังคมส่วนรวม
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 32 พ.ศ. 2559 : ปิดโอกาสจำเลยหนีคดี ไม่มีสิทธิสู้คดีชั้นอุทธรณ์ ฎีกา
15 กันยายน 2559 สนช. ลงมติด้วยเสียงเห็นด้วย 166 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่มีเสียงไม่เห็นด้วย เห็นควรให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 32) พ.ศ.2559 และพ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ธันวาคม 2559 โดยสาระสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้ คือ การกำหนดให้จำเลยต้องปรากฏตัวต่อหน้าศาล ในการสู้คดีชั้นอุทธรณ์และฎีกา
มาตราที่แก้ไข คือ การเพิ่มวรรคสามและวรรคสี่ของมาตรา 198 ในขั้นตอนของการอุทธรณ์และฎีกานั้น เดิมกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่า ต้องให้ตัวจำเลยปรากฎตัวต่อหน้าศาลในการยื่นอุทธรณ์และฎีกา กำหนดไว้เพียงเรื่องของระยะเวลาในการอุทธรณ์เท่านั้น ในทางปฏิบัติเมื่อต้องการจะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจ ก็จะถือเอกสารไปยื่นต่อศาลเท่านั้น แต่กฎหมายใหม่ได้กำหนดไว้ว่า กรณีที่ตัวจำเลยได้รับโทษจำคุกหรือโทษสถานที่หนักกว่าและไม่ได้ถูกคุมขังอยู่นั้น จำเลยจะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ก็ต่อเมื่อมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ศาลในขณะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ถ้าหากไม่มาแสดงตนให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกานั้น
การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เป็นการบังคับให้จำเลยที่ยังต้องการใช้สิทธิสู้คดีในกระบวนการต่อต้องไม่หลบหนี และต้องมาปรากฎตัวต่อหน้าศาล ทำให้ศาลสามารถตรวจสอบสถานะว่า จำเลยยังมีตัวตนอยู่หรือไม่ และเป็นการปิดโอกาสสู้คดีในชั้นศาลของจำเลยที่หนีคดีไป ซึ่งอาจจะส่งผลกับคดีทางการเมืองที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้รับโทษจำคุกแล้ว และได้หนีหรือลี้ภัยไปอยู่ในต่างแดน ก็จะไม่มีสิทธิให้ทนายสู้คดีแทนต่อไปได้ ต้องปล่อยให้คดีสิ้นสุดลงโดยมีความผิดติดตัว