เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 สาขาวิชาการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ม.เกษมบัณฑิต สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มูลนิธิหนังไทย และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)จัดงานเสวนาเรื่อง “สิทธิหนังไทย: ฐานะสื่อและการกำกับดูแล” ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กล่าวถึงพ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ.2551 ฉบับปัจจุบัน ว่าได้สร้างความตื่นเต้นให้กับคนวงการภาพยนตร์เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำระบบเรทติ้งมาใช้ แต่กลับติดปัญหาว่ายังคงมีระบบการแบนภาพยนตร์อยู่ โดยที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ที่โดนแบนไปสามเรื่อง คือ Insects in the Backyard เช็คสเปียร์ต้องตาย และ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ที่ภายหลังได้รับแจ้งในภายหลังว่าให้ฉายได้แต่ต้องตัดบางส่วนของภาพยนตร์ออกไป
ปรับทุกข์ แลกประสบการณ์การโดนเซ็นเซอร์
นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับฟ้าต่ำแผ่นดินสูง กล่าวถึงเหตุการณ์การแบนภาพยนตร์ของเขาว่า ภาพยนตร์ของเขามีเนื้อหาเกี่ยวกับเขาพระวิหาร เมื่อส่งภาพยนตร์เข้าตรวจพิจารณาในแผนกดีวีดี ผลการพิจารณาออกมาว่าห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อถามเจ้าหน้าที่ว่ามีปัญหาตรงไหน เจ้าหน้าที่แจ้งว่า “ก็มีปัญหาทั้งเรื่อง”
จากนั้นเขาก็โพสต์ในเฟซบุคส่วนตัวว่าภาพยนตร์ของเขาถูกแบน ปรากฏว่ามีกระแสสนใจและนำไปสู่การเสนอข่าวทั่วโลก สองวันต่อมา ทางคณะกรรมการฯ โทรศัพท์มาแจ้งว่าขอโทษในความผิดพลาด เพราะขั้นตอนที่ถูกต้องนั้นจะต้องเรียกคนทำภาพยนตร์เข้ามาชี้แจงก่อน และก็แจ้งเขาว่า ภาพยนตร์ของเขามีฉากที่เป็นปัญหา คือ ฉากงานปีใหม่ที่ราชประสงค์ ในฉากชวนคนเคาท์ดาวน์และผู้ประกาศบอกว่า มาร่วมเฉลิมฉลองให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนนทวัฒน์ยอมที่จะดูดเสียงตรงนี้ออก
“ผมกลัวว่าถ้าไม่ยอมดูดเสียง หนังผมจะถูกแบน และอาจถูกดึงไปเกี่ยวข้องในเรื่องอื่นๆ” นนทวัฒน์กล่าว
ด้านพันธ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องไอ้ฟัก เล่าประสบการณ์ที่เคยมีกับการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เช่นกันว่า หนังเรื่องไอ้ฟักที่เขาทำ เขาเขียนบทให้ไอ้ฟักรักกับสมทรงแล้วแต่งงานกัน แต่ไอ้ฟักก็ไม่ยอมจะมีเซ็กส์กับสมทรงเพราะเป็นเมียพ่อ พอยื่นหนังให้คณะกรรมการฯ ตรวจ ก็ได้รับแจ้งว่า ให้ตัดฉากที่สมทรงทายาหม่องให้ไอ้ฟัก โดยคณะกรรมการฯให้เหตุผลว่า ฉากดังกล่าวดูแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งพันธ์ธัมม์บอกว่า ตัดไม่ได้ เพราะฉากนี้ต้องการให้เกิดอารมณ์ทางเพศ
ด้านธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เล่าประสบการณ์ว่า กรณีการแบนหนังของตนต่างจากกรณีเช็คสเปียร์ต้องตายและกรณีฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เพราะไม่มีโอกาสได้ชี้แจงเหตุผล มีแต่เจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาถามว่า “จะตัดไหมคะ จะตัดไหม” เมื่อถามว่าจะให้ตัดตรงไหนก็ได้รับคำตอบว่า ก็ทุกตรงที่มันผิดศีลธรรม ซึ่งเราไม่ตัดเพราะเราไม่เห็นว่าตรงไหนผิดศีลธรรม เพราะถ้าเราเห็นว่าตรงไหนผิดเราก็จะไม่ืำ สุดท้ายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ก็ถูกแบน และนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจาก iLaw กล่าวถึงประเด็นของการฟ้องศาลปกครองว่า คณะกรรมการภาพยนตร์อ้างเหตุผลลอยๆ เพียงว่า ภาพยนตร์มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรม จึงไม่อนุญาตให้ฉาย ซึ่งทำแบบนี้ไม่ได้ การจำกัดสิทธิของประชาชนต้องระบุเหตุผลให้ชัดเจน ปัจจุบันคดีผ่านมาสองปีกว่า แม้ยังไม่มีคำพิพากษาแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเห็นได้คือ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ทำงานตามขั้นตอนมากชึ้น เช่น ก่อนสั่งแบนต้องเรียกคนทำภาพยนตร์เข้าไปชี้แจง มีการเสนอให้ตัดก่อนสั่งแบน และมีการออกคำสั่งโดยระบุเหตุผลละเอียดขึ้น ดังที่เกิดขึ้นกับกรณีภาพยนตร์เรื่องเช็คสเปียร์ต้องตายและฟ้าต่ำแผ่นดินสูง
ปรัชญา ปิ่นแก้ว และรศ.บรรจง โกศัลวัฒน์
ต้านเซ็นเซอร์ คนทำภาพยนตร์ต้องรวมพลัง
อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ และตัวแทนกลุ่ม Free Thai Cinema เล่าถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Free Thai Cinema ว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษของเขาถูกสั่งให้ตัดและเขาไม่ยอมตัดจึงถูกแบน ก็มีการเคลื่อนไหวในกลุ่มคนทำภาพยนตร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การรณรงค์ก็แผ่วเบาลง ทำให้เห็นความอ่อนแอว่าเราไม่ได้สนใจสังคมที่เราอยู่เลย จนทุกวันนี้ พอเกิดการแบนหนังครั้งหลัง เราก็มารวมกลุ่มและรณรงค์กัน ซึ่งการเคลื่อนไหวมันก็ซ้ำรอย มันเดจาวูมาก
รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์-วีดิทัศน์ ม.เกษมบัณฑิต กล่าวว่านับแต่อดีตจนปัจจุบัน ภาพยนตร์ไทยเหมือนถูกคุมกำเนิดอยู่ตลอดเวลา ตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 วงการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ต่อสู้กันอย่างเต็มที่ให้ตื่นตัวเรื่องเสรีภาพสื่อ แต่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทย สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์ไม่มีใครสนใจ
“พวกเรา ผู้สร้างภาพยนตร์ควรต้องรวมพลังกันหน่อยไหม อาจจะรวมพลังเพื่อที่จะพูดหรือแสดงออก ซึ่งมันจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว หลายท่านบอกว่า ผมพูดมาซ้ำๆ ซากๆ ก็ไม่เห็นเกิดผล แต่สิ่งเหล่านี้มันจำเป็นที่จะต้องพูดกันไป” รศ.บรรจงกล่าว
อภิชาติพงศ์กล่าวว่า มันมีภาวะที่น่ากลัว คือ ภาวะของการสมยอมของคนทำงาน อย่างในหนังเรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูงหรือเช็คสเปียร์ต้องตาย ที่คนทำหนังจะต่อสู้ว่าหนังของเราไม่ได้สร้างความแตกแยกหรือเราเป็นกลาง เขาเห็นว่าในแง่การให้เหตุผล คนทำหนังต้องไม่ใช้เทคนิคการปรองดอง ซึ่งมันเป็นเทคนิคของรัฐบาล เราไม่จำเป็นต้องแก้ตัว เราไม่ต้องหน่อมแน๊มกับเขา ถ้าผมไม่เป็นกลางก็ต้องมั่นใจว่าไม่เป็นกลาง ถ้าสังคมมันจะแตกแยกก็ต้องแตกแยก เป็นสิทธิของคนทำหนังที่จะทำหนังที่มีข้างทางการเมืองเหมือนที่สื่ออื่นทำได้ อย่างไรก็ดี การควบคุมภาพยนตร์ก็ยังมีความจำเป็นในกรณีการปกป้องเด็กและเยาวชน
“ภาพยนตร์” ก็เป็น “สื่อ” ไม่ควรต้องส่งตรวจก่อนออกฉาย
ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่ององก์บาก เล่าถึงกระบวนการเคลื่อนไหวจนมาถึงพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ที่สู้เรื่องระบบเรทติ้ง แต่ทำไปทำมาก็ยังมีระบบแบนอยู่ ซึ่งแม้ในรัฐธรรมนูญจะรับรองเสรีภาพสื่อไว้ แต่ในนิยามก็ไม่ได้รวมว่าภาพยนตร์เป็นสื่อด้วย เขากล่าวว่าตรงนี้มันเหมือนเป็นอุบัติเหตุแค่นิดเดียวเองที่ทำให้ภาพยนตร์ไม่ถูกรวมอยู่ในความหมายของคำว่าสื่อมวลชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐก็ทำตามตัวอักษร มันแค่ไม่มีคำว่า “ภาพยนตร์” ในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw กล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่กำหนดคุ้มครองสื่อว่า “การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้” จากท่อนนี้กฎหมายก็กำหนดชัดแล้วว่ารัฐธรรมนูญคุ้มครองสื่อจำพวกหนังสือพิมพ์ แต่ยังคลุมเครือในกรณีที่เป็นสื่อภาพยนตร์ ไม่เพียงเท่านั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรค 5 ให้การคุ้มครองไว้ว่า การตรวจเนื้อหาของสื่อ “ก่อน” นำเสนอเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลย แต่ปัจจุบัน ภาพยนตร์เป็นสื่อเพียงประเภทเดียวที่ยังคงต้องส่งให้รัฐพิจารณาก่อนออกฉาย ซึ่งนี่เป็นปัญหาเชิงเทคนิคทางภาษากฎหมาย หากภาพยนตร์มีกฎหมายรับรองว่าเป็นสื่อมวลชนแล้ว การส่งให้ตรวจก่อนก็จะเป็นเรื่องขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
เขากล่าวว่า ถ้าจะแก้ไขกฎหมายยังสามารถทำได้ผ่านกระบวนการเสนอกฎหมายภาคประชาชนที่อาจใช้วิธีเข้าชื่อกัน 10,000 ชื่อ และหากอยากให้ภาพยนตร์เป็นสื่อ ก็อาจเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 โดยเพิ่มนิยามของคำว่าภาพยนตร์ ให้เป็นสื่อมวลชนชนิดหนึ่งได้เช่นกัน
ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์, อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล และธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
ยกเครื่องพ.ร.บ.ภาพยนตร์ เสนอตั้งสภาภาพยนตร์
รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ นักวิชาการด้านภาพยนตร์ จาก ม.เกษมบัณฑิต กล่าวว่า ตอนนี้พ.ร.บ.ฉบับนี้กลายเป็นล็อกสองชั้น คือมีทั้งเรทติ้งและเซ็นเซอร์ แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับนี้ไม่มีประโยชน์อะไร สามารถยกเลิกได้เลย เพราะถ้ากลัวคนทำหนังโป๊ หรือทำเรื่องกระทบต่อความมั่นคง แม้ไม่มีพ.ร.บ.ภาพยนตร์เราก็ทำไม่ได้อยู่ดี เพราะมีประมวลกฎหมายอาญากำหนดเป็นความผิดอยู่แล้ว
ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากเป้าหมายของการแก้ไขพ.ร.บ.ภาพยนตร์คือ การตัดมาตรา 29 ที่กำหนดอำนาจให้คณะกรรมการภาพยนตร์สั่ง “ไม่อนุญาตให้ฉาย” ภาพยนตร์ได้ กลวิธีในการต่อสู้ ไม่ใช่แค่การยื่นข้อเสนอ เพราะถ้าทำแบบนั้นสุดท้ายคณะกรรมการกฤษฎีกาก็คงไม่ยินยอม แต่ต้องหาวิธีเช่น หาคนที่สามารถเข้าถึงแล้วสุมหัวคุยกับประธานกรรมการกฤษฎีกาชุดที่จะพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้เข้าใจ
เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ตัวแทนกลุ่ม Free Thai Cinemaก็รำพึงว่า “วิธีดังกล่าว “ไทย” มากเลย” และเสนอว่า สิ่งที่เราต้องการคือ เลิกระบบเดิม ที่ปัจจุบันคณะกรรมการภาพยนตร์มีทั้งหมด 7 คน มี 4 คนจากภาครัฐ 3 คนจากภาคอุตสาหกรรม ควรเปลี่ยนใหม่แล้วใช้องค์กรอิสระด้านภาพยนตร์แทน เช่น เป็นสมาคมวิชาชีพดูแลกันเอง
อภิชาติพงศ์ กล่าวว่า ทางกลุ่ม Free Thai Cinema เห็นปัญหาถึงความไม่โปร่งใสของการแต่งตั้งคณะกรรมการ และการคัดสรรของกระทรวงวัฒนธรรมก็เอาข้าราชการเกษียญอายุแล้วมาอยู่ในโควต้าของภาคเอกชน ซึ่งเป็นระบบพวกพ้องและละเลยเจตนารมณ์ของกฎหมายไป เราจึงควรมีสภาภาพยนตร์ โดยให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ดูแลกันเองเหมือนสมาคมวิชาชีพสื่อแบบอื่นๆ หรือเหมือนแบบที่อเมริกา โดยสภาจะทำหน้าที่ “แนะนำ” การใช้เรท ซึ่งสุดท้ายแล้วคนทำภาพยนตร์จะไม่เชื่อตามเรทนั้นก็ได้ แต่ก็จะหาโรงฉายได้ลำบาก แต่ไม่ได้หมายความว่าหนังจะต้องถูกห้ามเผยแพร่เลย
ด้านปรัชญา ปิ่นแก้ว เล่าว่ากรณีละครเหนือเมฆ 2 ที่ถูกเซ็นเซอร์ตอนจบนั้น เป็นรูปแบบที่ทางช่องเซ็นเซอร์เอง แล้วก็จะเห็นว่าสังคมมันจัดการกันเองได้ เวลามีการแบนก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งนี่เป็นตัวอย่าง กรณีภาพยนตร์ก็ควรเป็นอย่างนั้น