คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 เพียงวันเดียว และประกาศฉบับนี้ก็ไม่ได้มีการเผยแพร่ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเหมือนกับประกาศฉบับอื่นๆ ก่อนหน้านั้น โดยมีเนื้อหาที่แก้ไข 3 ข้อ ดังนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มข้อความดังต่อไปนี้เป็นมาตรา 21/3 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“มาตรา 21/3 สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกัน ควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด การรอคำสั่งชี้ขาด ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 142 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน
“ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกคุมขังอยู่แล้ว หรือผู้ต้องหาที่ถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนีไป”
และข้อ 3 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ระบุว่า ให้เพิ่มข้อความเป็นมาตรา 145/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“มาตรา 145/1 สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทมมหานครให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผบ.ตร.หรือผช.ผบ.ตร. ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่ง เสนอผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจของพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหาดังบัญญัติไว้ในมาตรา 143
ในกรณีที่ผบ.ตร. รองผบ.ตร. ผช.ผบ.ตร. ในกรุงเทพมหานคร หรือผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผบ.ตร. –รองผบ.ตร. –ผช.ผบ.ตร. –ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการ เดังกล่าวแล้วแต่กรณีไปก่อน
บทบัญญัตินี้ให้นำมาบังคับ ในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฏีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฏีกาโดยอนุโลม”
สำนักข่าวอิศรา อธิบายการแก้ไขครั้งนี้ว่า หัวใจสำคัญของประกาศฉบับนี้ก็คือ การเปลี่ยนระบบการถ่วงดุลการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีอาญาในต่างจังหวัด คือจากเดิม ในการสอบสวนคดีอาญาเมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีอาญากับบุคคลใด และอัยการมีความเห็นแย้ง คือ “เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง” ก็จะส่งสำนวนและความเห็นทั้งของตำรวจและอัยการไปที่ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” นั้นๆ เพื่อให้ ผู้ว่าฯ มีความเห็นชี้ขาดว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งหากผู้ว่าฯ เห็นควรสั่งไม่ฟ้องตามอัยการจังหวัด เรื่องก็จบ แต่หากผู้ว่าฯ เห็นแย้งกับอัยการ คือเห็นควรสั่งฟ้องตามพนักงานสอบสวน ก็จะต้องส่งสำนวนกลับไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาด
ประกาศคสช.ฉบับที่ 115/2557 กำหนดใหม่ว่า หากพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องแต่อัยการเห็นแย้ง ให้เอาสำนวนไปให้ผู้บัญชาการภาคหรือรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนั้นๆ สังกัดอยู่ เป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งหากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคหรือรองผู้บัญชาการภาค เห็นด้วยกับอัยการคือสั่งไม่ฟ้อง เรื่องก็จบ แต่หากกลับกันคือ เห็นตามพนักงานสอบสวนคือให้สั่งฟ้อง แบบนี้ ก็ต้องส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาดเป็นคนสุดท้าย
สำนักข่าวอิศราตั้งข้อสังเกตว่า ประกาศฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงผู้มีหน้าที่ชี้ขาดจากเดิมคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นฝ่ายตำรวจคือกองบัญชาการภาค การแก้ไขดังกล่าวมีความพยายามเสนอมาหลายครั้ง แต่ยากที่จะสำเร็จได้ เพราะฝ่ายรัฐบาลที่คุมกระทรวงมหาดไทยคงไม่ยอมลดอำนาจผู้ว่าฯ ลงแน่นอน แต่ในสถานการณ์ที่ คสช. มีอำนาจเด็ดขาดจึงไม่มีเสียงคัดค้านให้ได้ยินนัก
อดีตผู้พิพากษาหนุนแก้ไขป.วิอาญา เหตุช่วยคานอำนาจ ไม่ให้อัยการใช้อำนาจพร่ำเพรื่อ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาซึ่งเคยเป็นอัยการมาก่อนเห็นด้วยกับประกาศฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมาการสอบสวนคดีอาญาในต่างจังหวัดมีปัญหามาก มีการวิจารณ์อำนาจอัยการที่เด็ดขาดในการสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีไม่ไปถึงศาล ซึ่งระบบกฎหมายไม่ต้องการให้อัยการมีอำนาจขนาดนั้น อีกทั้งผู้ว่าฯ ยังรู้กฎหมายไม่เท่าอัยการ และไม่มีคนคอยตรวจสำนวนการสอบสวนให้ทั้งหมด ทำให้ส่วนใหญ่ผู้ว่าฯ จะลงความเห็นตามอัยการคือ สั่งไม่ฟ้อง
นอกจากนี้ การที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง แล้วต้องส่งสำนวนไปให้ผู้บัญชาการภูธรภาคตรวจ เป็นเหมือนการให้ผู้บังคับบัญชาคุมลูกน้องอีกทีว่า ทำไมส่งสำนวนให้อัยการแล้ว อัยการไม่ฟ้อง แสดงว่าต้องมีอะไรแล้ว โดยภาพรวมเป็นการแก้ไขเพื่อให้มีการคานอำนาจ ไม่ต้องการให้อัยการใช้อำนาจพร่ำเพรื่อโดยขาดการตรวจสอบ
มหาดไทยหวั่นเสียดุลอำนาจระหว่างตำรวจ-อัยการ-ปกครอง
ขณะเดียวกันก็มีความเห็นจากอีกด้านหนึ่ง เช่น ทางกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นว่าแต่เดิมกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนรวมถึงในเรื่องกระบวนการยุติธรรม แต่ประกาศฉบับนี้ได้ลดอำนาจผู้ว่าฯ ลง และให้อำนาจแก่องค์กรตำรวจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อระบบถ่วงดุลอำนาจในการพิจารณาคดีอาญา กล่าวคือ แต่เดิมเมื่ออัยการหรือตำรวจค้านในสำนวนคดีเดียวกัน ผู้ว่าฯ ก็จะเข้าไปเป็นตัวกลางในการค้านหรือไม่ค้านได้ แต่เมื่อตัดผู้ว่าฯ ออกไป จะเกิดความเสียหายต่อสมดุลระหว่างตำรวจ อัยการ และฝ่ายปกครอง เพราะเหมือนรวบอำนาจไปอยู่ที่ตำรวจ
ด้านคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและอดีตอัยการสูงสุด กล่าวว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ไม่ใช่การตรวจสอบถ่วงดุล แต่คือการแสวงหาอำนาจ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่ออัยการยื่นคำฟ้อง ศาลก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ ระบบตรวจสอบของประเทศไทยดีอยู่แล้ว
คณิตกล่าวทิ้งท้ายว่า ตามหลักแล้วทั้งผู้พิพากษาและอัยการมีความรู้ทางกฎหมายดีกว่าตำรวจ การแก้กฎหมายครั้งนี้ อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าตำรวจมีความรู้ดีกว่า หรือมาควบคุมอัยการ มาควบคุมมหาดไทย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวนไม่น้อยก็เรียนจบกฎหมาย และนี่เป็นกฎหมายที่สำคัญของประเทศ มาแก้แบบสุกเอาเผากินไม่ได้
ไฟล์แนบ
- ncpo-annouce115-2557 (31 kB)