สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย : เคารพกติกาประชาธิปไตย เข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่เอาอำนาจให้คนกลาง

10 ธันวาคม 2556 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการจากหลากหลายสถาบัน ร่วมกันแถลงข่าวจัดตั้ง สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขและหาทางออกให้กับวิกฤตการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ด้วยวิถีทางที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

จุดร่วมพื้นฐานเพื่อการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงการรวมกลุ่มว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา ที่เป็นผลจากเรื่องความชอบธรรมของรัฐบาล และการเคลื่อนตัวของมวลชนจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อเสนอจำนวนหนึ่งจากนักวิชาการและนักกฎหมาย โดยเฉพาะ เรื่องสภาประชาชน ตามมาตรา 3 และนายกฯ พระราชทาน มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2550
เกษียร กล่าวว่า จากการเคลื่อนไหวของมวลชนจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อเสนอเรื่องการก่อตั้งสภาประชาชน ตามมาตรา 3 และ ขอนายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 ซึ่งโดยปกติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองและทางกฎหมาย แต่นักวิชาการและคณะบุคคลจำนวนหนึ่งกำลังพยายามทำให้สิ่งที่เป็นไม่ได้นี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องทำ เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะข้อเสนอเหล่านี้วางอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธการเลือกตั้งซึ่งเป็นกระบวนการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
 
เกษียร เตชะพีระ
นอกจากนี้ เกษียร ยังชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งระหว่างมวลชนขนานใหญ่ ทำให้เห็นว่าคนไทยเราไม่เหมือนกันทางการเมือง มีกลุ่มที่ความคิดทางการเมืองแตกต่างกันอย่างมหาศาล แต่เราสามารถทะเลาะกันได้อย่างสันติถ้าเรายอมรับว่าเราเท่ากันทางการเมือง เมื่อไหร่ปฏิเสธความเท่ากันทางการเมือง ไม่เห็นคนไทยด้วยกันว่ามีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน เราไม่มีทางแก้ปัญหาความแตกต่างทางการเมืองอย่างสันติได้ ถ้าเราปฏิเสธการเลือกตั้ง ทางข้างหน้าจะมีแต่ความรุนแรงและสงครามกลางเมือง
“การรวมตัวของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยครั้งนี้มีนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ด้านรัฐศาสตร์ และด้านอื่นๆ มารวมกันเพื่อเสนอทางออกให้สังคมไทยได้รับฟังทางเลือกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองโดยที่ไม่ต้องฆ่า  เพราะเราไม่ต้องการไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เราไม่ต้องการเอาประเทศของเรา ลูกหลานของเรา และคนไทยคนอื่น ไปเสี่ยงกับสงครามกลางเมืองเพื่อทดลองวิชาหรือสิ่งสร้างสรรค์ทางวิชาการซึ่งไม่มีที่ไหนเขาทำ” เกษียรกล่าวถึงจุดประสงค์ของการก่อตั้งสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
เกษียรได้กล่าวถึงจุดร่วมกันของนักวิชาการหรือบุคคลที่สนใจการรวมตัวเป็นสมัชชาฯ ครั้งนี้ว่า จุดร่วมพื้นฐานที่ทำให้เกิดมารวมกันครั้งนี้ เราเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรต้องทำบรรทัดฐานที่จะทำให้เราสามารถผ่านการทะเลาะขัดแย้งกันอย่างสันติได้ คือ หนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง สถาบันเป็นสมบัติร่วมของชาติ ของคนไทยทุกคน เราไม่อาจให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกคนไทยบ้างกลุ่มดึงไปใช้แบบนั้นได้  สอง ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร บทเรียนจาก 6-7 ปีที่ผ่านมานำไปสู่ความเสียหายมหาศาลเราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก  สาม ต้องการรักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพของคนไทย  และสี่ต้องการรักษาและขยายพื้นที่ประชาธิปไตยของคนไทย  
นอกจากนี้สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยก็คาดหวังว่าเราจะมีบทบาทในการพัฒนาองค์ความรู้ประชาธิปไตยให้การสังคมไทยต่อไป
นายกฯ “คนกลาง” เป็นไปไม่ได้ในทางระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ก่อนจะมีการยุบสภาได้มีข้อเสนอมาจากบุคคลจำนวนหนึ่งขอให้ตั้งนายกฯ คนกลาง โดยการเสนอนั้นขอให้ นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ยุบสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นให้ลาออกจากการเป็นรักษาการ หรือให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกทั้งคณะ เพื่อให้เกิดสภาพสุญญากาศทางการเมือง หลังจากนั้นให้มีการทูลขอนายกฯ โดยให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 แต่งตั้งนากยกฯ คนกลาง หรือเสนอให้ สมาชิกวุฒิสภา สรรหาบุคคลที่ได้รับการยอมรับ แล้วให้ประธานวุฒิสภานำชื่อบุคคลนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
 
“ในทางกฎหมายเรื่องนี้ชัดเจนแล้วว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ไม่มีที่ใดเขียนให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ ได้ ประเพณีที่กษัตริย์จะแต่งตั้งนายกฯ เองยังไม่เกิดขึ้นเป็นประเพณี เพราะถ้าเกิดเป็นประเพณีในทางกฎหมายต้องมีการทำซ้ำหลายครั้งหลายหน จนกระทั้งทำให้บุคคลทั้งหลายเกิดความสำนึกว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วกลายสภาพเป็นกฎหมายที่ผูกพันบุคคลให้ต้องปฏิบัติตาม”
วรเจตน์กล่าวด้วยว่า มาตรา 7 เป็นบทบัญญัติสำรองสำหรับอุดช่องว่าง ในกรณีที่เกิดปัญหาจะต้องวินิจฉัยในทางรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ ไม่ได้มีฐานะเป็นแหล่งอำนาจให้กับองค์กรของรัฐเอาไปใช้ ยิ่งกว่านั้นการใช้มาตรานี้ไม่สามารถใช้ได้ตามอำเภอใจแต่ต้องใช้ให้สอดคล้องกับการปกครองประชาธิปไตยด้วย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติมาตราใดให้มาขัดกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญได้
ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากรักษาการฯ หลังยุบสภา เพื่อเปิดทางให้ “นายกฯ คนกลาง” นั้น วรเจตน์กล่าวว่า ตามหลักการ การยุบสภาต้องเป็นการยุบสภาที่นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ข้อเสนอของผู้ชุมนุมกปปส.ที่ให้นายกฯ ยุบสภาและลาออก เป็นข้อเสนอที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง เป็นข้อเสนอที่ทำลายวัตถุประสงค์ของการยุบสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งกฎหมายก็ไม่เปิดช่องให้มีนายกฯ คนกลางแต่อย่างใด
“นอกจากนี้ความพยายามบีบนายกฯ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยอ้างว่า ครม.ที่รักษาการจะพ้นสภาพไป หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง คุณยิ่งลักษณ์ทำได้แค่พักการปฏิบัติหน้าที่ มอบหมายงานให้รองนายกฯ คนถัดไป รักษาการนายกฯ เป็นไปตามลำดับจนหมด ครม. แม้ไม่เหลือให้ ครม.ซักคนแล้ว ก็ให้ข้าราชการสูงสุดในกระทรวงขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เพื่อให้มีการเลือกตั้ง เป็นการรอให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่มีช่องทางใดๆ ให้นายกฯ คนนอกเข้ามาเแก้ปัญหาได้ ข้อเสนอนี้ไม่เคารพลักเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ โดยพื้นฐานแล้วการทำให้เกิดความชะงักงันของระบบ ไม่มีฐานทางหลักวิชารองรับ เป็นการตีความให้เกิดทางตัน”
ทั้งนี้ วรเจตน์ ยืนยันว่า นายกฯ ไม่สามารถกระทำการเป็นอย่างอื่นได้อีก หากยุติการปฏิบัติหน้าที่ก็ถือว่าฝ่าฝืน มาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่า คณะรัฐมนตรีไม่รักษาระบบให้เดินต่อ ดังนั้นการยุบสภาจึงเป็นการใช้อำนาจสุดท้ายทางกฎหมาย แล้วให้ไปวัดกันในสนามเลือกตั้ง ใครมีมวลมหาประชาชนกี่คนก็จะทราบกันในการเลือกตั้ง การขัดขวางการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
“ช่วงเวลานี้องค์กรทางการเมืองทั้งหมดต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คณะรัฐมนตรีต้องรักษาการต่อไป ไม่ใช่เฉพาะการไปสู่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่รักษาการเพื่อให้ระบบเดินต่อไปได้ การรักษาการจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อพรรคการเมืองเท่านั้น แต่เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้น คือภารกิจในการรักษาระบบไว้ให้เดินไปข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดหรือหายนะที่จะเกิด หากไม่รักษาระบบเอาไว้” 
วรเจตน์ ย้ำว่า อย่างไรต้องทำให้เกิดฉันทามติมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้ง เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะนำประเทศออกจากวิกฤตได้ ต่อไปอยากปฏิรูปแบบไหน อยากมีสภาประชาชนอย่างไร ค่อยเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง
จะเกิด สภาประชาชน ได้ต้อง “แก้” หรือ “ฉีก” รัฐธรรมนูญ  
อ.ดร.ปิยบุตร  แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการอธิบาย ของ กปปส. ที่ว่าเวลานี้รัฐสภา รัฐบาลเป็นโมฆะเพราะไม่ยอมรับอำนาจศาลนั้น อำนาจจะกลับมาสู่ประชาชนตามมาตรา 3 เลยและจะใช้อำนาจตั้งสภาประชาชนขึ้นมาและให้มีนายกฯ พระราชทาน หรือที่นักวิชาการบางคนบอก “ขาเข้ามาตรา 3 แล้วขาออกคือมาตรา 7”
การอ้างนั้น ปิยบุตร เห็นว่า รัฐบาลหรือรัฐสภาไม่ได้ไม่ยอมรับอำนาจศาลแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยกรณีแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาสมาชิกวุฒิสภาเพียงเรื่องเดียว และคำวินิจฉัยนี้ก็มีประเด็นปัญหาสำคัญคือ การรับคดีโดยปราศจากอำนาจอย่างสิ้นเชิงของศาลรัฐธรรมนูญ ขาดเหตุผลรองรับในเกือบทุกประเด็น ดังนั้น จะไปเอาเหตุนี้มากล่าวว่า รัฐบาลและรัฐสภาเป็นโมฆะไม่ได้ หรือต่อให้รัฐบาลเป็นโมฆะจริง อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 จะกลับสู่ปวงชนชาวไทยโดยแสดงออกซึ่งการใช้อำนาจนั้นผ่านวิธีการ คือ การออกเสียงเลือกตั้ง  การออกเสียงประชามติ และการใช้อำนาจผ่านองค์กรของรัฐซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน โดยมาตรา 3 กำหนดไว้ว่าพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนั้นผ่านรัฐสภา ครม.และศาล ฉะนั้น อำนาจอธิปไตยนี้ไม่ใช่จะใช้อย่างไรก็ได้
“ตอนนี้ กปปส. อธิบายว่า เวลานี้อำนาจเป็นของเขาแล้วจะใช้อำนาจนี้เอง แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่มีส่วนไหนบอกว่าประชาชนสามารถใช้อำนาจโดยตรงตั้งสภาประชาชนขึ้นมาได้เลย อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว สามารถเกิดได้ด้วยวิธีเดียวคือ แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดสภาประชาชน แล้วดีไซน์รูปแบบออกมา ไม่มีหนทางอื่น ถ้ามีก็คือ นอกระบบ คือ ฉีกรัฐธรรมนูญหรือรัฐประหาร ดังนั้น ที่ กปปส. อ้างมาตรา 3 เพื่อบอกว่ายังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ แล้วใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ”  
ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
ปิยบุตร ได้ยกว่ามีนักวิชาการยกตัวอย่างสภาประชาชนหลายกรณี  เช่น กรณีปี 1789 ประเทศฝรั่งเศส หลังฐานันดรที่ 3 รวมตัวกันให้สภานั้นเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ  หรือเยอรมันในสมัยไวมาร์ที่เปลี่ยนระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ  หรือเหตุการณ์ในยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ ที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย  ล้วนเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัว เพราะตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมด โดยเฉพาะยุโรปตะวันออกเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์สู่ระบอบรัฐเสรีประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันที่อ้างกัน เราเป็นเสรีประชาธิปไตยอยู่แต่กำลังจะเปลี่ยนเป็นระบอบเป็นอะไรก็ไม่รู้ และวิธีการเปลี่ยนแปลงจากต่างประเทศเหล่านั้นคือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากระบอบการเมืองหนึ่งเป็นอีกอันหนึ่ง
ปิยบุตร กล่าวถึงที่มาของสภาประชาชนที่ยังไม่ชัดเจนด้วยว่า ที่มาของสภาประชาชน ทาง กปปส. ก็ยังไม่ตกผลึกว่าจะมาจากไหน มีใครบ้าง แต่มีจุดร่วมตรงกันว่าสภานี้ไม่มีที่มาจากเลือกตั้ง แต่แต่งตั้งจากหลายวิชาชีพ สภาแบบนี้เกิดขึ้นในสมัยอิตาลี คือ การขึ้นสู่อำนาจของมุสโสลินี โดยที่มีคนประท้วง  มีคนชุดดำยึดสถานที่ต่างๆ จนสุดท้ายกษัตริย์ยอมให้มุสโสลินีซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยเป็นนายกฯ เมื่อมุสโสลินีเข้าสู่อำนาจก็ออกกฎหมายหลายฉบับ ที่สำคัญ คือ เปลี่ยนสภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาวิชาชีพแล้วเอาทั้งพวงนี้ไปทำประชามติว่าเอาหรือไม่เอา วิธีการแบบนี้เกิดขึ้นแล้วที่อิตาลี สำหรับจุดที่ยึดอำนาจได้เด็ดขาด คือการเอาคณะกรรมการฟาสซิสต์ที่เป็นองค์กรนอกระบบ มาตั้งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีบทบาทเป็นคนเลือกผู้จะมาเป็นนายกฯ ประธานสภา ตลอดจนกษัตริย์องค์ต่อไป ดังนั้น สิ่งที่ กปปส. ทำลอกมาจากฟาสซิสม์ ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย
ประจักษ์ ก้องกีรติ
 
เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง สร้างสัญญาประชาคม
อ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สรุปเน้นย้ำว่า เห็นชัดเจนว่าวิกฤตครั้งนี้สังคมไทยขาดกฎกติกาที่จะยึดถือร่วมกัน ทำให้ยากที่จะนำไปสู่ความสงบสุขของสังคม ทั้งนี้ข้อเสนอทางการเมืองใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะเป็นสภาประชาชนหรือข้อเสนออื่นๆ ไม่มีทางที่จะเป็นจริงได้ถ้าไม่ได้รับการมีส่วนร่วมจากประชาชนทั้งประเทศ และถ้าถามว่าใครคือมวลมหาประชาชนที่แท้จริงก็คือคนไทย 65 ล้านคน
“ตอนนี้ หลายฝ่ายมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง ก็คือการเห็นข้อบกพร่องของกติกาสูงสุดที่เราใช้อยู่ ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กระทั่งข้อเสนอในการจัดตั้งสภาประชาชนเองจะทำขึ้นได้ ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญเสียใหม่ก่อน ฉะนั้นสมัชชาฯ จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเดินหน้าสู่การเลือกตั้งให้การเลือกตั้งบรรลุล่วงไปอย่างสันติตามวิถีทางประชาธิปไตย หลังจากนั้นเราขอเรียกร้องให้สังคมและพรรคการเมืองทุกพรรคช่วยผลักดันการปฎิรูปการเมืองผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการร่าง กติกาหรือสัญญาประชาคมทว่าสังคมไทยจะอยู่ร่วมกันใหม่อย่างสงบและสันติสุขต่อไป”
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถอ่านแถลงการณ์และร่วมสนับสนุนสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยได้ที่ เฟซบุคแฟนเพจ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น