สามคดีศาลพิพากษาตรงกัน ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือไม่ผิด เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น

แม้ว่าทางปฏิบัติทั่วไปของตำรวจทุกสถานี เมื่อจับกุมผู้ต้องหาได้ หรือผู้ต้องหาไปรายงานตัวและแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ก็จะให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือทั้งสิบนิ้วด้วยหมึกสีดำลงบนกระดาษเพื่อเก็บไว้เป็นเอกสารในสำนวนคดีนั้น แต่อีกด้านหนึ่งลายพิมพ์นิ้วมือก็นับเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว ตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้วย ทางปฏิบัติเช่นนี้จึงเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ผู้ต้องหาหลายคนที่เคยปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เพราะเห็นว่า ไม่มีเหตุจำเป็น ไม่อยากให้นิ้วมือเลอะ ไม่อยากถูกตีตราว่าถูกดำเนินคดี หรือไม่อยากถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม เคยถูกดำเนินคดีซ้ำฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ซึ่งเคยมีคดีที่ศาลพิพากษาด้วยว่า การที่ผู้ต้องหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือนั้นเป็นความผิด

แต่ภายหลังมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอย่างน้อยสามคดี ที่พิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ในการพิมพ์ลายนิ้วมือ แล้วเห็นว่า การที่ผู้ต้องหาปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่เป็นความผิด เพราะไม่มีเหตุจำเป็น โดยมีข้อเท็จจริงที่สำคัญทั้งสามคดีในลักษณะเดียวกัน ดังนี้

  1. คดีดังกล่าวพนักงานสอบสวน ไม่ได้เก็บลายพิมพ์นิ้วมือจากที่เกิดเหตุมาเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ และจำเลยก็รับแล้วว่าได้กระทำไปตามที่ถูกกล่าวหาจริง การเก็บลายพิมพ์นิ้วมือจึงไม่ได้ช่วยให้ได้ข้อเท็จจริงใดเพิ่มเติม และไม่ช่วยให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น พนักงานสอบสวนจึงไม่ได้มีอำนาจสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132(2)
  2. ผู้ต้องหาเคยพิมพ์ลายนิ้วมือไว้กับพนักงานสอบสวนแล้วในคดีก่อนหน้านั้น จึงมีเอกสารเดิมให้พนักงานสอบสวนสามารถนำกลับมาใช้งานได้ และผู้ต้องหาก็ได้มอบบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อการแสดงตัวแล้ว โดยเลขประจำตัวประชาชน และชื่อนามสกุลผู้ต้องหา สามารถใช้เพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมย้อนหลังในระบบของสำนักงานตำรวจแหง่ชาติได้
  3. พนักงานสอบสวนรู้จักผู้ต้องหา และไม่ได้มีข้อสงสัยว่า จะเกิดการปลอมตัวเอาบุคคลอื่นมาสวมรอยเป็นผู้ต้องหาแทน

โดยเบื้องหลังของการต่อสู้คดีเกี่ยวกับการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวนจนนำมาซึ่งคำพิพากษายกฟ้องทั้งสามคดี ขณะเกิดเหตุมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องรองรับเรื่องการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องหา และการทำงานของภาครัฐ ดังนี้

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 แม้จะคุ้มครองชัดเจนว่าการเก็บข้อมูลใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล แต่มาตรา 4(5) ก็ยกเว้นว่า กฎหมายนี้ไม่ใช่กับการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 23(1) กำหนดว่าหน่วยงานของรัฐต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น และมาตรา 24(1) ให้หน่วยงานของรัฐที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้เปิดเผยให้กับหน่วยงานแห่งอื่นเพื่อนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ได้

พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 มาตรา 4 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารและการให้บริการ และมีมาตรา 13 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเชื่อมโยงข้อมูลในระบบดิจิทัลระหว่างกัน โดยมีมาตรา 19 กำหนดให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภายในสองปี

15 ธันวาคม 2565 ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ต่อตำรวจสน.ลุมพินี รวมสามครั้ง ระบุว่า แม้พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ในคดีนี้การให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้เป็นประโยชน์ในการสอบสวนคดี เพราะจำเลยรับว่า ร่วมชุมนุมและเป็นบุคคลตามภาพถ่าย

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า

“แม้จำเลยไม่ยินยอมให้พนักงานสอบสวนพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่พนักงานสอบสวนย่อมใช้บัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่จำเลยมอบให้ในการตรวจสอบประวัติอาชญากรและข้อมูลอื่นๆ ของจำเลยได้ … ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ.2540 มาตรา 23(1) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีย่อมนำข้อมูลเกี่ยวกับลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาที่จัดเก็บและอยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพเพื่อใช้ประโยชน์ในการสอบสวนคดีอาญาตามอำนาจหน้าที่ได้”

“ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ 2554 ออกตามความพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เห็นว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เป็นบทบัญญัติที่เป็นฐานในการออกระเบียบสำนักงานตำรวจฯ เรื่องการพิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่ใช่กฎหมายที่มีบทบัญญัติมุ่งใช้บังคับกับประชาชนทั่วไปแต่เป็นระเบียบที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการภายในหน่วยงาน ระเบียบที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่สั่งให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือได้ทุกคดีไม่อาจใช้อ้างหรือบังคับแก่จำเลยได้…”

“การผลักภาระให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งเคยพิมพ์ลายนิ้วมือของตนไว้ครั้งหนึ่งแล้วที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุต้องพิมพ์ลายนิ้วมือของตนอีกครั้งเพื่อติดไว้ในสำนวนการสอบสวนจึงเป็นเหตุผลที่รับฟังไม่ได้ และไม่เป็นไปตามเจตนารมณย์ของบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และแม้จำเลยจะยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนเพื่อพิสูจน์่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์แต่อย่างใด”

วันที่ 7 สิงหาคม 2566 ศาลแขวงดุสิตพิพากษาคดีที่พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือต่อตำรวจสน.นางเลิ้ง ซึ่งคดีนี้มีจุดเริ่มต้นจากการเข้าร่วมแสดงออกในการชุมนุมสาธารณะ และถูกตำรวจดำเนินคดีเช่นเดียวกัน

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า

“ศาลจำเป็นต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์เป็นรายคดีไปว่า การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าพนักงานหรือไม่ หรือการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเป็นอุปสรรคต่อการทำงานเนื่องจากเจ้าพนักงานไม่มีทางแก้อย่างอื่นอีก … จำเลยที่ 2 เคยตกเป็นผู้ต้องหาและเคยให้พนักงานสอบสวนพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีแล้ว ดังนี้การตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือสามารถใช้ลายพิมพ์นิ้วมือที่เคยพิมพ์ไว้แล้วในคดีอื่นในการตรวสอบได้ … ”

“เมื่อจำเลยที่ 2 กรอกข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมโดยไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ สามารถตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ 2 มีประวัติเคยต้องคดีอาญา 1 รายการ … ส่วนที่ได้ความจากพันตำรวจโทสำเนียงว่า หากไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือใหม่แต่ใช้ลายนิ้วมือเดิมพนักงานอัยการโจทก์จะไม่รับสำนวน คดีนี้กลับได้ความว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือและใช้ชื่อและชื่อสกุล และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนตรวจสอบประวัติอาชญากร และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโจทก์ ไม่ปรากฏว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่รับสำนวนแต่อย่างใด ข้ออ้างดังกล่าวจึงขัดกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง”

“ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ใช้บังคับ และมาตรา 23(1) สรุปมีใจความสำคัญว่า หน่วยงานของรัฐต้องจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐย่อมจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 2 อันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็นเพื่อการให้การดำเนินงานของหน่วยงานของตนบรรลุวัตถุประสงค์เท่านั้น”

22 สิงหาคม 2566 ศาลแขวดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ต่อตำรวจสน.สำราญราษฎร์ โดยให้เหตุผลไว้ทำนองเดียวกันกับคดีก่อนหน้านี้

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า

“คดีนี้ร้อยตำรวจเอกรณกรไม่ได้ไปเก็บลายนิ้วมือแฝงของผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุ จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าจุดประสงค์ในการพิมพ์ลายนิ้วมือในครั้งนี้ก็เพื่อใช้ประวัติอาชญากรของจำเลยในการเพิ่มโทษจำเลยเป็นหลัก หาใช่เพื่อจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้นไม่”

“จำเลยได้พิมพ์ลายนิ้วมือที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 (ก่อนเกิดเหตุคดีนี้) แล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถใช้ลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยดังกล่าวในการดพิ่มโทษจำเลยได้ ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือจึงมีเหตุอันสมควร”