ร้อยเรียง 5 ปัจจัย ทำไม ตะวัน-แบม “ยกระดับ” เอาชีวิตเข้าเดิมพัน

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และอรวรรณ หรือแบม สองนักกิจกรรมรุ่นใหม่ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ตั้งแต่เย็นวันที่ 16 มกราคม 2566 จากการยื่นขอเพิกถอนประกันตัวเอง เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ประกาศ “อดอาหาร และอดน้ำ” ในวันที่ 19 มกราคม 2566 จนกว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาจะบรรลุผล จนกระทั่งสุขภาพทรุดโทรมลงเข้าขั้นวิกฤต 

ข้อเรียกร้องของทั้งแบมและตะวัน มีสามข้อ คือ

  1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
  2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง
  3. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พูดกันมากในช่วงสองปีหลัง ในพื้นที่การชุมนุม ในวงเสวนา ในชั้นศาล และในรัฐสภา แต่เยาวชนสองคนเลือกใช้วิธีการ “เร่งรัด” เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องโดยการประกาศ “อดอาหาร และอดน้ำ” ทำให้เวลาของพวกเขารวมทั้งเวลาที่เหลือที่จะดำเนินการให้ข้อเรียกร้องเหล่านี้เกิดขึ้นถูกจำกัดลงอย่างรวดเร็ว

ชวนทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขบวนการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ อันเป็นที่มาของการตัดสินใจ “ยกระดับ” วิธีการเสนอข้อเรียกร้องของตะวันและแบมในครั้งนี้

ซึ่งการรวบรวม ร้อยเรียงปัจจัยต่างๆ มาจากการสังเกต และความพยายามอธิบายของไอลอว์เอง ไม่ได้มาจากความคิดเห็นหรือการร้อยเรียงโดยเจ้าตัวทั้งสองคน

 1. มีคนอยู่ในคุก ด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 10 คน

ก่อนตะวันและแบมจะประกาศถอนประกันตัวเอง สถานการณ์ในเรือนจำตั้งแต่ปี 2565 จนถึงต้นปี 2566 นั้นอาจเรียกได้ว่า ไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าปี 2564 กล่าวคือ มีผู้ต้องขังทางการเมืองในคดีมาตรา 112 ที่ยังไม่ได้ประกันตัวเป็นจำนวนอย่างน้อย 8 คน

สำหรับคดีที่ถึงสิ้นสุดแล้ว มีจำนวน 2 คน ได้แก่ อัญชัญ ปรีเลิศ หรือป้าอัญชัน ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของบรรพต ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 29 ครั้ง รวมเป็นความผิด 29 กรรม โดยในวันที่ 19 มกราคม 2564 ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกการกระทำของป้าอัญชัน กรรมละ 3 ปี รวม 29 กรรม = จำคุก 87 ปี แต่เนื่องจากเธอให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน = จำคุก 29 ปี 174 เดือน และเป็นคดีมาตรา 112 ที่วางโทษสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้

คนต่อมาคือ “พลทหารเมธิน” (นามสมมติ) คดีนี้เกิดขึ้นจากการมีปากเสียงกันกับคู่กรณีที่ขับรถเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของเมธิน โดยช่วงหนึ่งเมธินได้พูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 และถูกคู่กรณีซึ่งบันทึกวิดีโอไว้นำไปแจ้งความในข้อหามาตรา 112 ต่อมา เมธินถูกขังในค่ายทหารเป็นเวลา 5 วัน หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ถูกส่งตัวไปธำรงวินัย ที่ มทบ.11 เป็นเวลา 30 วัน ก่อนที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง จะเข้าจับกุมตามหมายจับและยื่นขอฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2565 จนกระทั่ง 11 สิงหาคม 2565 ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี โดยเขารับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน

ในด้านคดีที่ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ในปี 2565-2566 มีผู้ที่ไม่ได้ประกันตัวหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำนวน 3 คน ได้แก่

  • สมบัติ ทองย้อย หรือพี่หนุ่ม อดีตการ์ดเสื้อแดง ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 6 ปี โดยหนึ่งในข้อความที่ศาลตัดสินว่าผิดมาตรา 112 มาจากการแชร์รูปนักศึกษาไม่เข้ารับปริญญา พร้อมเขียนแคปชั่นว่า #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ” และภายหลังมีคำพิพากษาเมื่อ 28 เมษายน 2565 สมบัติถูกนำตัวไปที่เรือนจำและยังไม่ได้รับการประกันตัวมาเป็นเวลาเกือบ 8 เดือนแล้ว
  • อุกฤษฏ์ หรือก้อง ทะลุราม ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข่าวเท็จเรื่องอาการพระประชวรของรัชกาลที่ 10 บนเพจ “John New World” รวม 5 โพสต์ และไม่ได้ประกันตัวตั้งแต่ศาลอาญา รัชดา พิพากษาให้จำคุก 5 ปี 30 เดือน เมื่อ 21 ธันวาคม 2565    
  • สิทธิโชค เศรษฐเศวต ประกอบอาชีพเป็นไรเดอร์ขับรถส่งอาหาร เขาถูกกล่าวหาว่าราดของเหลวคล้ายน้ำมันลงที่ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ในระหว่างการชุมนุม 18 กรกฎาคม 2564 โดยศาลอาญา รัชดา มีคำพิพากษาให้จำคุกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 112 จำนวน 2 ปี 4 เดือน เมื่อ 17 มกราคม 2566

นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องหามาตรา 112 คนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ประกันตัวแม้ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาอีกจำนวน 3 คน ได้แก่  

  • “เอก” (นามสมมติ) พนักงานร้านบาร์ ที่ถูกคุมขังหลังอัยการสั่งฟ้องคดี เมื่อ 22 ธันวาคม 2565 จากการแชร์โพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ซึ่งมีเนื้อหาเชื่อมโยงถึงรัชกาลที่ 10 ในประเด็นเรื่องคุกวังทวีวัฒนา
  • เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ สองนักกิจกรรมที่ศาลอาญา รัชดา มีคำสั่งถอนประกันเมื่อ 9 มกราคม 2566 เนื่องจากทำผิดเงื่อนไข เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้าน Apec2022

ภายหลังตะวันและแบมตัดสินใจประกาศถอนประกันตัวเองเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง เมื่อ 16 มกราคม 2566 ส่งผลให้ในเดือนมกราคม 2566 มีผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 สะสมอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 10 คนแล้ว

>> ดูรายชื่อผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด https://tlhr2014.com/archives/52351

 2. สถานการณ์คดีทรงกับทรุด มีคน “จ่อ” รอเข้าคุกอีกเพียบ

นับจากเดือนพฤศจิกายนปี 2563 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาออกแถลงการณ์ว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรากับผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ที่อยู่ในสภาวะ “พักใช้ชั่วคราว” มาตั้งแต่ประมาณช่วงปี 2561 ก็ค่อยๆพุ่งสูงขึ้นจนล่าสุดในวันที่ 12 มกราคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้แล้ว 227 คน ใน 245 คดี โดยในปี 2565 แม้สถานการณ์การชุมนุมบนท้องถนนจะผ่อนคลายลงจากช่วงปี 2563 – 2564 แต่คดีมาตรา 112 ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ก็ดำเนินไปเรื่อยๆ และนับจนถึงสิ้นปี 2565 ศาลมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ออกมาแล้วอย่างน้อย 33 คดี ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มีถึง 26 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด 

แม้ในส่วนของการกำหนดโทษ ศาลจะพยายามลงโทษจำเลยด้วยอัตราโทษขั้นต่ำเท่าที่กฎหมายจะกำหนดไว้ คือ 3 ปี ต่อการกระทำหนึ่งครั้ง แต่หากพิจารณาในเนื้อหาสาระ คำพิพากษาที่ออกมาบางส่วน ศาลก็มีความพยายามที่จะขยายความคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกไป แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเขียนระบุตำแหน่งผู้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไว้อย่างชัดเจนว่ามีเพียงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่คำพิพากษาคดีของปริญญาหรือ พอร์ไท ไฟเย็น ที่ศาลอาญาและคดีของเพชร ธนกร ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางซึ่งออกมาในปี 2565 ก็ขยายขอบเขตความคุ้มครองของมาตรา 112 ให้ไปคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ทั้งหมด ขณะเดียวกันคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีของจรัสก็ตีความขยายขอบเขตความคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ไปคุ้มครองอดีตผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายทด้วย โดยอ้างเหตุตอนหนึ่งว่า หากตีความว่ากฎหมายคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ 

นอกเหนือจากคำพิพากษาที่มีความน่าเป็นห่วงแล้ว สถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิในการให้ปล่อยตัวชั่วคราวในปี 2565 ก็มีความน่าเป็นห่วงด้วยเช่นกัน โดยมีจำเลยบางส่วนที่ถูกคุมขังทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน เช่น พรชัยหรือ แซม ทะลุฟ้า ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนต่อเนื่องถึงชั้นศาล ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าร่วมวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่สะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม เป็นเวลาต่อเนื่องถึง 139 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 จนถึง 11 พฤศจิกายน 2565 สินบุรีหรือ แม็ก ทะลุฟ้า จำเลยคดีเดียวกันที่ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนต่อเนื่องถึงชั้นศาลเป็นเวลา 108 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2564 จนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 

สำหรับสถานการณ์คดีมาตรา 112 ในช่วงต้นปี 2566 ก็ยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมีคนถูกคุมขังเพิ่มขึ้นเพราะตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคมก็มีคดีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาแล้วอย่างน้อย 12 คดี โดยจนถึงวันที่ 24 มกราคม ศาลอาญาก็มีคำพิพากษาจำคุกสิทธิโชค อดีตไรเดอร์ส่งอาหารที่ถูกกล่าวหาว่าเทน้ำมันใส่ผ้าใต้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่สิบที่เพลิงกำลังลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ และไม่อนุญาตให้สิทธิโชคได้ประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งเป็นเวลาไม่นานหลักจากที่พิพากษาให้ก้อง อุกฤษฎิ์ ต้องรับโทษจำคุกและไม่ได้ประกันตัวต่อ

แนวโน้มสถานการณ์คดีมาตรา 112 จึงทำให้เห็นว่า จะมีคำพิพากษาจากศาลให้นักกิจกรรมต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ในช่วงเวลาอันใกล้

 3. เพื่อนเพิ่งถูกส่งกลับเข้าคุก ตะวันเองก็ “จ่อ” ถูกศาลถอนประกัน

วันที่ 9 มกราคม 2566 ศาลอาญา สั่ง “เพิกถอนการประกันตัว” คดีมาตรา 112 ของสองนักกิจกรรม ได้แก่ เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และ ใบปอ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง ในคดีตามมาตรา 112 ทำให้ทั้งเก็ทและใบปอถูกส่งตัวไปเรือนจำทันที ซึ่งทั้งสองคนเคยร่วมทำกิจกรรมแสดงออกกับตะวันและแบมมาก่อนหน้านี้ โดยคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่กล้าเปิดประเด็นสื่อสารตรงไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงต้นปี 2565 ก่อนทยอยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทีละคนๆ  

โดยคำสั่งของศาลระบุว่า “ศาลเคยอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งสองคน โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา รวมถึงห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจสร้างความวุ่นวายต่อบ้านเมือง การที่จำเลยทั้งสองคน เข้าร่วมชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จนมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยจำเลยทั้งสองคนไม่ได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงหรือเหตุผลใดในการกระทำของจำเลย การกระทำของจำเลยทั้งสองคนจึงเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขประกันตัวที่ศาลกำหนดไว้”

โดยทนายความของทั้งสองคน ได้ตั้งข้อสังเกตและยื่นคำร้องคัดค้านการถอนประกันตัวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมเป็นผู้ขอให้มีการเพิกถอนประกัน โดยพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง การไต่สวนเพิกถอนประกันในครั้งนี้จึงไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว นอกจากนี้ในกระบวนการไต่สวนเพื่อขอถอนประกันตัวยังเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้พิพากษาไม่มีความเป็นอิสระ เพราะเมื่อทนายความร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการไต่สวนถอนประกันในครั้งนี้ ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาจึงกล่าวว่าตนเป็นเพียงผู้พิพากษาที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารศาลให้มาไต่สวนเอาข้อเท็จจริงเข้าสู่สำนวนเท่านั้น ดังนั้นคำร้องที่ทนายความส่งมาในวันนี้ จึงต้องนำไปปรึกษากับผู้บริหารศาลก่อน 

ข้อเท็จจริง คือ ก่อนหน้านี้เมื่อทั้งเก็ท และใบปอ ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 พวกเขาเคยถูกคุมขังมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง โดยเก็ท ถูกควบคุมตัวรวม 30 วัน ตั้งแต่ 2 พฤษภาคม – 31 พฤษภาคม 2565 ส่วนใบปอ ถูกควบคุมตัว 94 วัน ระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม – 4 สิงหาคม 2565 และทั้งสองต้องอดอาหารในเรือนจำระหว่างการเรียกร้องสิทธิประกันตัว ต่อมาศาลให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา รวมถึงห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจสร้างความวุ่นวายต่อบ้านเมือง ขณะที่เก็ทถูกห้ามออกนอกเคหสถานเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เก็ทและใบปอเข้าร่วมชุมนุมบริเวณแยกอโศกโดยมีเป้าหมายเพื่อไปยื่นหนังสือให้กับผู้นำต่างชาติเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศ ทั้งสองไปร่วมการชุมนุมด้วย

กิจกรรมในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนไม่มาก และไม่ได้มีความรุนแรงจากฝ่ายผู้ชุมนุม แต่เป็นฝ่ายตำรวจที่เข้ายึดป้ายของผู้ชุมนุมก่อน โดยไม่ได้มีกฎหมายให้อำนาจตำรวจเข้ายึดป้ายได้ เพราะผู้ชุมนุมเพียงแค่มาแสดงออก ต่อมาตำรวจจำนวนมากกว่าผู้ชุมนุมได้ตั้งแถวบนพื้นถนนล้อมผู้ชุมนุมไว้ไม่ให้เดินขบวนไปทางศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ได้ ทำให้การจราจรติดขัด และผู้ชุมนุมบางส่วนไม่พอใจการเข้าแทรกแซงการชุมนุมของตำรวจ แต่สุดท้ายเมื่อยื่นหนังสือให้กับผู้นำต่างประเทศไม่สำเร็จ ผู้ชุมนุมก็ตัดสินใจเลิกการชุมนุมไปเองและแยกย้ายเดินทางกลับกันเองโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง จึงไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ชี้ชัดว่าทั้งสอง “เข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายต่อบ้านเมือง” 

ด้านตะวัน นอกจากจะรู้จักและเคยร่วมทำกิจกรรมกับทั้งเก็ทและใบปอมาแล้ว ก็เข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวด้วย และศาลได้เรียกให้ตะวันมาไต่สวนเพื่อเพิกถอนการประกันตัวเช่นเดียวกัน ตะวันได้นั่งอยู่ในห้องพิจารณาระหว่างการไต่สวนเก็ทและใบปอด้วย แต่ทนายความของตะวันคัดค้านกระบวนการเรียกตัวมาไต่สวนของศาล เพราะการไต่สวนริเริ่มโดยศาลเอง ด้านอัยการโจทก์และตำรวจที่รับผิดชอบคดีก็ไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในการไต่สวนนี้ ทนายความของตะวันก็ไม่ทราบมาก่อน ศาลจึงให้เลื่อนการไต่สวนไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2566 ตะวันจึงได้พบเห็นกระบวนการทั้งหมดที่ศาลตั้งเรื่องเพื่อถอนประกันเพื่อนของเธอต่อหน้าต่อตา รวมทั้งพอมองเห็นได้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการไต่สวนของตัวเธอเอง

 4. ตะวัน-แบม พยายามสู้ทางอื่นแล้ว แต่กลับได้ “คดีและEM”

นอกจากการประท้วงโดยการอดอาหารและอดน้ำ ตะวันเคยเลือกใช้วิธีการสื่อสารข้อเรียกร้องหลากหลายวิธี เช่น การไปชูป้าย “คุกไม่ใช่ที่เคาท์ดาวน์ของคนเห็นต่าง” ที่ห้างไอคอนสยาม ในเดือนธันวาคมปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่แกนนำราษฎรหลายคนยังไม่ได้ประกันตัวและต้องฉลองปีใหม่ในเรือนจำข้ามปี หรือความพยายามไปชูป้ายรณรงค์ “ยกเลิกมาตรา 112” ขณะขบวนเสด็จวิ่งผ่านที่วงเวียนใหญ่ เมื่อ 28 ธันวาคม 2564 กระทั่งต้นปี 2565 ตะวันก็เปลี่ยนจากการสื่อสารทางเดียว มาเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้คน ผ่านกิจกรรม “โพลสติกเกอร์” สำรวจความคิดเห็นเรื่องต่างๆ โดยเริ่มต้นกิจกรรมแรกที่ห้างสยามพารากอน ด้วยคำถามว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือนร้อนหรือไม่? เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งการทดลองสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ เช่น กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ผูกริบบิ้นสีแดง” ที่มีความหมายสื่อถึง #ยกเลิก112

ภายหลังกิจกรรมรูปแบบเล็กๆ ของตะวันได้รับความสนใจบนหน้าข่าวมากขึ้น เธอก็ต้องเผชิญกับการคุกคามที่ตามมาอย่างหนักหน่วง เมื่อตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ทั้งการขัดขวาง ขับรถตาม ข่มขู่ และใช้กำลังเข้าจับกุม พร้อมพยายามหาข้อกล่าวหาทางกฎหมายมายัดเยียดให้ โดยปัจจุบัน ตะวันมีคดีมาตรา 112 จำนวนสองคดี คดีแรกพ่วงมาด้วยข้อหาต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงาน มาตรา 138 และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน มาตรา 368 จากการทำกิจกรรมไลฟ์วิพากษ์วิจารณ์ขบวนเสด็จขณะกำลังจะเคลื่อนที่ผ่านม็อบชาวนาเมื่อ 5 มีนาคม 2565 และคดีที่สอง พ่วงมาด้วยมาตรา 116

เมื่อถูกดำเนินคดี “เงื่อนไขประกันตัว” ก็กลายเป็นสิ่งตอบแทนที่ตะวันได้รับจากกระบวนการยุติธรรม โดยในเริ่มแรก ตะวันถูกตั้งเงื่อนไขประกันจำนวน 4 ข้อ ได้แก่
(1) ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
(2) ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
(3) ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล และ
(4) ให้ติดอุปกรณ์กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

การมีเงื่อนไขประกันหมายความว่า เมื่อใดที่มีผู้ไปยื่นคำร้องว่ามีการทำผิดเงื่อนไข บุคคลนั้นก็ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันทันที โดยในวันที่ 20 เมษายน 2565 ศาลอาญา รัชดา มีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันของตะวัน และเมื่ออยู่ในเรือนจำ ตะวันจึงทำการประท้วงอดอาหารเป็นเวลานาน 37 วัน กระทั่งได้รับการประกันตัวเมื่อ 26 พฤษภาคม 2565 พร้อมกับ “เงื่อนไขใหม่” ที่ยากต่อการเคลื่อนไหวยิ่งกว่าทุกครั้ง คือ ห้ามออกนอกเคหสถานเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากศาล

ในด้านของแบม เธอเป็นคนที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นม็อบราษฎร ม็อบสมรสเท่าเทียม ม็อบเรียกร้องวัคซีน หรือม็อบปล่อยเพื่อนเรา โดยเพื่อนของเธอเล่าว่า แบมมักจะพก “ป้ายข้อเรียกร้อง” ติดตัวเพื่อนำไปชูในพื้นที่การชุมนุมด้วยเสมอ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 แบมยังเคยจับไมค์ปราศรัยเรื่องวัคซีนกับการล็อคดาวน์ในการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ต่อมาในปี 2565 แบมถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จำนวนหนึ่งคดีจากกิจกรรมโพลขบวนเสด็จที่ห้างสยามพารากอนร่วมกับตะวัน ส่งผลให้เธอต้องใส่กำไล EM ที่ข้อเท้า

28 สิงหาคม 2565 แบมได้ร่วมเดินขบวน Let’s UNLOCK EM “ปลดมันออกไป” เพื่อเรียกร้องให้มีการปลดกำไล EM นักกิจกรรมทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข โดยมีการคล้องโซ่ที่ข้อเท้าของผู้เข้าร่วมขณะเดิน เริ่มต้นจากศาลอาญากรุงเทพใต้จนถึงบริเวณห้างสยามสแควร์วัน ก่อนจะจบกิจกรรมด้วยการตัดโซ่เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และเนื่องจากแบมเป็นนักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่ถูกศาลตั้งเงื่อนไขให้ใส่กำไล EM ในวันดังกล่าวแบมจึงแขวนป้ายไว้ที่คอขณะเดิน โดยระบุข้อความว่าเธอถูกบริษัทเลิกจ้างงานเนื่องจากการใส่กำไล EM รวมทั้งกล่าวถึงผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้

“เมื่อฉันต้องใส่กำไลข้อเท้า EM ฉันกลายเป็นคนว่างงาน ฉันโดนสังคมตีตราว่าฉันเป็นนักโทษและเป็นเรื่องน่าอับอายที่จะรับฉันเข้าทำงาน ฉันเป็นแผลที่ข้อเท้า เวลาเดินหรือวิ่ง ฉันจะเจ็บเท้า กลายเป็นความเครียดสะสมที่จะต้องรับมือกับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว… เลิกโทษเหยื่อ ฉันไม่ใช่นักโทษ” 

นอกจากการสื่อสารภายในม็อบแล้ว วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 แบมยังมีโอกาสได้ไปร่วมให้ข้อมูลในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการกำหนดเงื่อนไขประกันตัว ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อพิจารณาศึกษาหลักการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ที่รัฐสภาอีกด้วย

เห็นได้ว่าทั้งสองคนพยายามทำกิจกรรมหลายรูปแบบ และนำเสนอข้อเรียกร้องผ่านกลไกที่มีอยู่แล้ว ซึ่งพันธนาการทั้งคดีความ และกำไลข้อเท้าก็ยังคงติดตัวทั้งสอง เช่นเดียวกับเพื่อนอีกจำนวนมาก

 5. ยังไม่เคยได้รับการตอบสนอง จากผู้มีอำนาจที่แท้จริง

โดย ‘ตะวัน’ ได้แถลงก่อนยกระดับบการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า นี่คือ “การเรียกร้องเสรีภาพที่แท้จริง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในไทยไม่เคยได้รับการตอบสนองมาก่อน เพราะที่ผ่านมา รัฐได้ใช้กฎหมายดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเรียกร้องให้รัฐยุติการดำเนินคดีกับประชาชนมาตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ในปี 2563 แต่จำนวนของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ยังคงเพิ่มขึ้น 

ข้อมูลจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,888 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม ป.อาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 225 ราย และ ป.อาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 128 ราย

อีกทั้ง กระบวนการยุติธรรมยังถูกทำให้กลายเป็นเพียงเครื่องมือในการกดปราบประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล เพราะนอกจากศาลจะปล่อยให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชนแล้ว ศาลยังมีมาตรการจำกัดอิสรภาพของคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง อันจะเห็นได้จากมีมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 16 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังจากคดี 112 จำนวน 8 คน ส่วนผู้ต้องหาทางการเมืองหลายคน แม้จะไม่ได้ถูกคุมขังในเรือนจำ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้อิสรภาพแบบมีเงื่อนไขหรือไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ เพราะศาลได้กำหนดเงื่อนไขในการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวไว้ เช่น “ห้ามกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” หรือ “ห้ามไปร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง”

แม้ที่ผ่านมาจะมีการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนและนักวิชาการ อาทิ การยื่นจดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายนักกฎหมาย คณาจารย์นิติศาสตร์ นักวิชาการ ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน ที่เรียกร้องให้ศาลยึดหลักหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) โดยการให้ประกันตัวกับผู้ต้องหาในคดีการเมือง และไม่กำหนดเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวางหรือละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากภาครัฐเท่าที่ควร สถาบันศาลยังไม่เคยแสดงให้เห็นว่าพยายามปรับตัว ภายใต้สถานการณ์ที่กระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ที่ผ่านมา แม้ภาคประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวด้วยการชวนประชาชนใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อเสนอยกเลิกมาตรา 112 ในนามกลุ่ม “คณะราษฎรยกเลิก112” หรือ ครย.112 แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัด อย่างเช่น การถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปิดกั้นเว็บไซต์ http://www.no112.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใช้เข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้ง จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังสร้างความคลุมเครือในการตีความว่า การเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  รวมถึงข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่ยื่นต่อสภาชุดปัจจุบันจากพรรคก้าวไกล ถูกประธานสภาผู้แทนราษฎรปัดตกเนื่องโดยอ้างว่า มีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าฝ่ายรัฐพยายาม “ปิดกั้น” การเรียกร้องประเด็นนี้ทุกวิถีทางทำให้ช่องทางตามกฎหมายแทบจะเป็นไปไม่ได้

แม้จะใกล้เข้าสู่ช้วงเวลาของการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่การเสนอแก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112 และมาตรา 116 โดยพรรคการเมืองยังไม่มีความเป็นเอกภาพ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่คะแนนนิยมสูงแม้จะยอมรับและมองเห็นความสำคัญของปัญหาแต่ไม่ได้เสนอทางออก มีพรรคก้าวไกล และพรรคเสรีรวมไทยสองพรรคการเมืองเท่านั้นที่มีข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 อย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน จึงยังไม่มีความชัดเจนว่า สถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 และสิทธิเสรีภาพของนักกิจกรรมทางการเมืองจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นได้หรือไม่หลังการเลือกตั้งเกิดขึ้น