นวัตกรรมม็อบ 2020: กลยุทธ์ใหม่ๆ รับมือการปิดกั้น กดปราบ

ปีที่แล้ว หากพูดถึงการจัดชุมนุมคงไม่มีใครสามารถนึกภาพออกว่า การนัดชุมนุมล่วงหน้าไม่ถึง 1 วัน หรือก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมงจะทำให้เกิดการชุมนุมที่คนเข้าร่วมหลักหลายพันคนได้

หากพิจารณาตลอดทั้งปี กล่าวได้ว่าการจัดชุมนุมของกลุ่ม ‘ราษฎร’ ได้ใช้กลยุทธ์ที่สร้างกระบวนชุมนุมแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

กลยุทธ์จัดชุมนุมต่างๆ ของเยาวชนไม่ได้พัฒนามาจากธรรมชาติของการชุมนุมโดยตัวมันเองเสียทีเดียว แต่เกิดจากการพยายามแหวกข้อจำกัดการปิดกั้นการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร, การจับกุมแกนนำ, การจับกุมคนขับรถเครื่องเสียง

ทำให้กลุ่มผู้จัดชุมนุมต้องงัดวิธีใหม่ๆ เพื่อรับมืออยู่ตลอดเวลา โดยสิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญในศึกครั้งนี้ก็คือ โซเชียลมีเดีย

 

#แฮชแท็กทวิตเตอร์ เมื่อการชุมนุมคือบทสนทนาประจำวัน

นอกจากเฟซบุ๊กที่เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสารนัดหมายกระจายข่าวของผู้จัดชุมนุมแล้ว ทวิตเตอร์ยังเป็นอีกช่องทางหลักที่ผู้จัดชุมนุมและผู้มีส่วนร่วมกับการชุมนุมใช้สื่อสารให้ข้อมูล รายงานข่าวสารกัน โดยลักษณะของแพลตฟอร์มทวิตเตอร์จะมีความทันต่อเหตุการณ์และเนื้อหาสั้นกระชับกว่าเฟซบุ๊ก สามารถค้นหาเรื่องราวที่สนใจได้ง่ายผ่าน “แฮชแท็ก”

แฮชแท็ก (Hashtag) หรือ “#“ เป็นฟังก์ชันหนึ่งของทวิตเตอร์ที่สามารถใส่ลงไปในข้อความที่โพสต์ได้ ผู้ใช้สามารถพิมพ์ “#“ ไว้หน้าคำเฉพาะหรือหัวข้อเรื่องได้ สัญลักษณ์นี้จะเปลี่ยนให้ข้อความดังกล่าวกลายเป็นลิงค์รวมข้อความอื่นๆ ที่ใช้แฮชแท็กเดียวกันไว้ทั้งหมดเพื่อสะดวกต่อการค้นหา ทำให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ไม่รู้จักกันสามารถค้นหาคนที่พูดคุยในหัวเรื่องเดียวกันได้

ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมามีการใช้แฮชแท็กทวิตเตอร์เปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์กันอย่างแพร่หลาย แฮชแท็กการเมืองติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมอยู่หลายครั้ง นอกจากการใช้แฮชแท็กทวิตเตอร์ในการสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลกันแล้ว ยังพัฒนาเป็นการนัดจัดชุมนุมในช่วงเวลาต่อมาด้วย

@@@@ แฮชแท็กนัดชุมนุม จากหน้าจอสู่ท้องถนน

ในปีที่แล้วการชุมนุมของผู้ชุมนุมฝั่งประชาธิปไตยถูกครหาว่า เป็นกระแสเฉพาะในทวิตเตอร์เท่านั้น แต่เมื่อมีการนัดชุมนุมบนท้องถนนจริงกลับมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนไม่มากนัก ปลายปีที่แล้วมีการนัดชุมนุมด่วน (แฟลชม็อบ) #ไม่ถอยไม่ทน วันที่ 14 ธันวาคม 2562 บริเวณสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน หลังจากพรรคอนาคตใหม่เริ่มต้นเผชิญมรสุมที่อาจนำไปสู่การตัดสินยุบพรรค มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก แฮชแท็กขึ้นความนิยมอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ มียอดทวีตทะลุล้านทวีต และเกิดข้อความจากป้ายที่ผู้ชุมนุมท่านหนึ่งถือและเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากนั่นคือป้าย “ฉันมาจากโลกออนไลน์”

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้เกิดปรากฎการณ์แฮชแท็กร้อน นัดชุมนุมในมหาวิทยาลัย หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค เช่น #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ #สามพระจอมจะยอมได้ไง ทำให้การนัดหมายครั้งต่อๆ มาผู้จัดชุมนุมจึงใช้วิธีการนัดหมายและสื่อสารกับผู้ชุมนุมด้วยกันเองโดยผ่านแฮชแท็กทวิตเตอร์

@@@@ แฮชแท็กวันที่ นัดถี่นัดไว

ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสานที่ตั้งเต็นท์เพื่อรอการชุมนุมของคณะราษฎรในที่ 14 ตุลาคม เกิดเหตุการณ์ชุลมุน มีการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ และมีการจับกุมแกนนำหลายคน

ทนายอานนท์ประกาศรวมตัวด่วนหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเวลา 18.00 น. ในวันเดียวกันเพื่อกดดันเรียกร้องให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกจับ นัดหมายที่สกายวอล์ค หน้าหอศิลป์กรุงเทพ โดยใช้แฮชแท็กการประกาศชุมนุมด่วนในวันนั้นว่า #ม็อบ13ตุลา ในวันถัดมาก็ได้มีการใช้แฮชแท็ก #ม็อบ14ตุลา และ #ม็อบ15ตุลา ตามวันที่มีการนัดจัดชุมนุม

สถานการณ์การชุมนุมตึงเครียดยิ่งขึ้นจนเมื่อ #ม็อบ16ตุลา เกิดการสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน ทำให้หลังจากนั้นมีการนัดชุมนุมทุกวันแบบกะจายตัวทั่วประเทศ โดยจะประกาศสถานที่ล่วงหน้าไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนเวลาชุมนุมจริง ทำให้แฮชแท็ก #ม็อบ(วัน)(เดือน) ถูกใช้เรื่อยมา เพราะสอดรับกับพฤติกรรมคนที่จะติดตามข่าวการชุมนุมรายวัน

 

กรุ๊ปเทเลแกรม การสื่อสารไร้แกนนำ

การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำของคณะราษฎรทำให้การสื่อสารอย่างมีเอกภาพ มีทิศทางกับคนจำนวนมากนั้นยากยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการสกัดกั้นการชุมนุมโดยการจับกุมตัวแกนนำหลายคนนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา ประกอบกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอส ได้ส่งคำร้องต่อศาลเพื่อปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทางของสื่อ 5 องค์กร หนึ่งในนั้นคือเพจ “เยาวชนปลดแอก - free youth”

“เยาวชนปลดแอก free youth” คือกลุ่มผู้จัดชุมนุมที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มราษฎรที่มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กกว่าล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นนัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้การชุมนุมที่ผุดราวดอกเห็ดในช่วงต้นปีหยุดชะงักไปนานหลายเดือน ในระลอกหลังนี้เพจเยาวชนปลดแอกเป็นช่องทางสื่อสารหลักของการชุมนุมที่ร้อนฉ่าขึ้นเรื่อยๆ

ในวันที่ 18 ตุลาคม 2563 เพจเยาวชนปลดแอกได้เปิดบัญชีเทเลแกรมให้บุคคลทั่วไปสามารถกดเข้าร่วม เอาไว้ใช้เป็นช่องทางสื่อสารใหม่ เนื่องมาจากความกังวลว่าเพจเฟซบุ๊กอาจถูกปิดอีก อีกทั้งยังสามารถพูดคุยเปิดรับฟังความคิดเห็นการจัดชุมนุมวันต่อวัน

เทเลแกรม (Telegram) คือแอปพลิเคชันสำหรับพูดคุยส่งข้อความระหว่างผู้ใช้งานคนอื่น คล้ายกับแอปพลิเคชันแชทอื่นๆ เช่น LINE หรือ Messenger มีจุดเด่นเรื่องความปลอดภัยและสามารถสร้างห้องแชทที่มีสมาชิกได้สูงสุดได้ถึง 200,000 คน

หลังจากเพจเยาวชนปลดแอกได้ประกาศให้ประชาชนกดเข้าร่วมกลุ่มเทเลแกรมได้เพียง 1 วัน มีผู้เข้าร่วมกลุ่มกว่า 160,000 คน

ก่อนหน้านี้เทเลแกรมเป็นช่องทางการสื่อสารของกลุ่มผู้ชุมนุมในฮ่องกงที่ใช้ในการอัพเดตข้อมูลข่าวสาร และช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องรักษาความปลอดภัยของการชุมนุมในแบบที่ไม่มีแกนนำเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

“แกง” โค้ดไม่ลับสับขาหลอก

การชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นการชุมนุมต่อเนื่องจากวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้รัฐหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน ผู้จัดได้นัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ายึดพื้นที่แยกราชประสงค์ก่อนเวลาจัด หลังจากนั้นเพจเยาวชนปลดแอกได้ประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมผ่านเพจว่า “ด่วน! พบแกงหม้อใหญ่กลางแยกราษฎร์ประสงค์ เพราะวันนี้เขาย้ายไปแยกปทุมวันแล้วนะรู้ยัง?” ทำให้เกิดคำนิยมใหม่คือคำว่า “แกง” หมายความว่า แกล้ง โกหก หลอกให้เชื่อ

การแกงเจ้าหน้าที่เป็นยุทธวิธีใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือการตั้งกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มักจะมีการตั้งรั้วลวดหนาม วางกองกำลังคุมฝูงชน เตรียมการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ไปจนถึงการตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขวางเส้นทางไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปจัดชุมนุมในสถานที่นั้นได้ เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารและการเดินทางนั้นสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เพื่อให้การจัดการชุมนุมสำเร็จและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อผู้ชุมนุมจึงมีการประกาศย้ายสถานที่ก่อนถึงเวลานัดชุมนุมจริงไม่กี่ชั่วโมงอยู่หลายครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถย้ายกำลังและสิ่งกีดขวางได้ทัน ผู้ชุมนุมต่างเฝ้าหน้าจอ รอให้แกนนำที่ไร้ตัวตนบอกสถานที่และเวลาผ่านโซเชียลมีเดียแล้วค่อยไปปรากฏตัวที่นั่น

@@@@ การแกงครั้งสำคัญในการชุมนุมที่ผ่านมา

1. #ม็อบ16ตุลา: แยกราชประสงค์ ย้ายไป แยกปทุมวัน

[ประกาศย้าย 18.00 น. วันที่ 16 ต.ค. หลังจากผู้ชุมนุมบางส่วนมารวมตัวที่แยกราชประสงค์ตามเวลานัดหมาย 17.00 น.] ระยะห่างสถานที่ 1.3 กม.

2. #ม็อบ25พฤศจิกา: สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ย้ายไป สำนักงานใหญ่ SCB

[ประกาศย้าย 22.25 น. วันที่ 24 พ.ย. เวลานัดหมายจริง 15.00 น. วันที่ 25 พ.ย.] ระยะห่างสถานที่ 12 กม. เวลานัดก่อนถึงเวลานัดหมายจริง 17 ชั่วโมง

3. #ม็อบ29พฤศจิกา: กรมทหารราบที่ 1 ย้ายไป กรมทหารราบที่ 11

[ประกาศย้าย 10.00 น. วันที่ 29 พ.ย. เวลานัดหมายจริง 15.00 น. วันที่ 29 พ.ย.] ระยะห่างสถานที่ 12 กม. เวลานัดก่อนถึงเวลานัดหมายจริง 5 ชั่วโมง

 

ป้ายไวนิลขนาดยักษ์ ขึ้นข้อความจัดขบวนมวลชนนับหมื่น

เนื่องจากมีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

สั่งห้ามพาหนะบางประเภทรวมทั้งพาหนะที่ดัดแปลงเป็นรถเครื่องเสียงเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม อีกทั้งยังมีการพยายามจับกุมคนขับรถเครื่องเสียง ทำให้การสื่อสารในการชุมนุมที่มีมวลชนจำนวนมากเป็นไปอย่างจำกัด และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์ความวุ่นวายเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการกดดันของเจ้าหน้าที่หรือการสร้างสถานการณ์ต่างๆ

การชุมนุมวันที่ 21 ต.ค. 63 เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกฯ นัดหมายที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เป็นการชุมนุมหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม 2563 การสื่อสารผ่านโซเชียลในพื้นที่ชุมนุมที่มีมวลชนจำนวนมากเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสัญญานโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตขาดหาย

แกนนำจึงมีการจัดทำป้ายไวนิลพิมพ์ข้อความขนาดใหญ่ติดเสาสูงมาใช้เป็นสัญญาณนำขบวน ข้อความสั้นๆ ที่มักโผล่อยู่หน้าขบวนก็เช่น “ใจเย็นๆ ใจร่มๆ”, “เดินหน้าต่อไป”, “หยุดก่อน รอหน่อย” รวมถึงประกาศยุติการชุมนุมด้วยข้อความ “กลับบ้านแล้วพบกันใหม่” ทำให้การชุมนุมในภาพรวมเป็นไปอย่างราบรื่นและลดความตึงเครียดในที่ชุมนุมอีกด้วย

 

รถซาเล้ง แกนนำมาแต่เสียง

8 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมเพื่อส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ เวลานัดหมายคือ 16.00 น. โดยในเวลา 14.35 น. วันนั้นเพจเยาวชนปลดแอกได้มีการประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ให้ผู้ชุมนุมรอฟังสัญญาณจาก ‘ซาเล้งแดง’ ที่ติดตั้งลำโพงขยายเสียงซึ่งจะใช้สื่อสารกับผู้ชุมนุมตลอดการเคลื่อนขบวน

เมื่อใกล้เคลื่อนขบวนก็มีการปรากฏตัวของรถซาเล้งแดงติดเครื่องขยายเสียง 4 คันบริเวณหน้าอนุสรณ์ 14 ตุลา มีการเชื่อมต่อสัญญาณที่ทำให้มีเสียงแกนนำหลักพูดสื่อสารกับผู้มาร่วมชุมนุมตลอดเวลาโดยไม่เห็นแกนนำที่พูดขณะนั้น นับเป็นรูปแบบการสื่อสารใหม่กับผู้ชุมนุมที่มีเป็นจำนวนมากอย่างทั่วถึง และยากต่อการตามหาตัวแกนนำ

 

แทกติกแจ้งชุมนุมล่วงหน้าหนึ่งปี

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มีเงื่อนไขว่า ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ให้ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม มิเช่นนั้นจะถือว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าหน้าที่สามารถเข้าสลายพร้อมทั้งจับกุมดำเนินคดีได้ทันที ทำให้ผู้จัดชุมนุมที่นัดหมายชุมนุมทุกครั้งต้องไปแจ้งการชุมนุม ณ สถานีตำรวจท้องที่รับผิดชอบพื้นที่การชุมนุมนั้นๆ ก่อนชุมนุมทุกครั้ง

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ทวิตเตอร์ “ดาวดิน สามัญชน” โพสต์ว่ากลุ่มราษฎรขอนแก่นได้เข้าแจ้งชุมนุมล่วงหน้า 1 ปีที่สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เป็นกิจกรรมชุมนุมรูปแบบ “ม็อบตลาดนัด” ทุกวันเสาร์ โดยเริ่มชุมนุมในวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน ที่ลานสฤษดิ์ ธนะรัชต์

การแจ้งชุมนุมล่วงหน้ายาวนานถึง 1 ปีเป็นการแจ้งชุมนุมรูปแบบที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ทวิตเตอร์ของกลุ่มราษฎรขอนแก่นระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งแต่โดยดี แต่ขอให้โทรแจ้งรายละเอียดกิจกรรมทุกสัปดาห์ นับเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการแจ้งชุมนุมล่วงหน้า ที่ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นั้นระบุเพียงว่า “จะต้องแจ้งก่อนการชุมนุม ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง”