รวมวิวาทะ ส.ว. คิดอย่างไรเลือก “พิธา”เป็นนายก

ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยครองเสียงในสภามากเป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับโดยมีเสียงรวมกันเกือบ 300 คน ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลเดิมอย่างพรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่ง ส.ส.เป็นอันดับที่สี่ โดยมีส.ส.เพียง 40 ที่นั่งส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับบทบาททางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีรักษาการและอดีตหัวหน้าคสช.ผู้แต่งตั้งสว. มีที่นั่งในสภาเป็นอันดับที่ห้ามี 36 ที่นั่ง ขณะที่พรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นอดีตพรรคร่วมรัฐบาลครองที่นั่งในสภาเป็นอันดับสาม 71 ที่นั่ง (ข้อมูลเมื่อ 27 พฤษภาคม 2566)

หากการเลือกตั้ง 2566 เป็นการเลือกตั้งภายใต้ระบบปกติ น่าจะมีความชัดเจนแล้วว่าอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคการเมืองใหม่รวมแปดพรรคนำโดยพรรคก้าวไกลที่มีเสียงเบื้องต้นรวม 313 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ 500 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงอยู่ภายใต้บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.ชุดพิเศษ 250 คน ที่มีที่มาจาก คสช.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย การจัดตั้งรัฐบาลจึงยังอยู่ในความไม่แน่นอนว่า ส.ว.จะออกเสียงเลือกนายกฯ อย่างไร 

ในการเลือกตั้งปี 2562 ส.ว.แต่งตั้ง 249 คน ยกเว้นประธานวุฒิสภาที่ทำหน้าที่รองประธานรัฐสภาต่างออกเสียงเลือกพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ครั้งนั้นพรรคพลังประชารัฐจะสามารถรวบรวมเสียงส.ส.ได้ 251 เสียง มากกว่าพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีอยู่ของ ส.ว. 250 คน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองบางพรรคตัดสินใจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง 2566 จะแตกต่างออกไป เพราะอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 50 เสียง พร้อมประกาศสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการตัดสินใจของส.ว.จึงอาจส่งผลได้ทั้งทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเดินไปตามครรลองหรือทำให้เกิดสภาวะชะงักงันเพราะไม่สามารถให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

ก้าวไม่ไกลไปไม่พ้น รวมความเห็นส.ว.ไม่เลือกพิธา เป็นนายก

หลังการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกส่วนหนึ่งออกมาประกาศตัวชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างความกังวลว่านโยบายของพรรคก้าวไกล ทั้งการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การยกเลิกการเกณฑ์ทหารและปฏิรูปกองทัพอาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศและสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์ ส.ว.บางส่วนที่ออกมาประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรียังเป็น ส.ว.ที่เคยมีวิวาทะกับ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลระหว่างการอภิปรายในโอกาสต่างๆ ด้วย

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งเคยมีวิวาทะกับ ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคน เช่น อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล รังสิมันต์ โรม และ จิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ คือหนึ่งใน ส.ว.ที่ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ลงคะแนนให้พิธาเป็นนายก เบื้องต้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 หนึ่งวันหลังการเลือกตั้ง กิติศักดิ์ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ตอนหนึ่งว่า  

“ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยและขั้วฝ่ายค้านเดิมก็ขอให้รอถึงวันนั้นจึงจะพูดได้ เพราะพูดไปก่อนยังไม่ถึงเวลาไปวิพากษ์วิจารณ์ไม่เหมาะสม แล้วก็เป็นไปได้หมดถ้าเกิดเลือกรอบแรกแล้วไม่ผ่าน เช่นคุณสมบัติไม่ผ่านก็อาจมีการงดออกเสียง ตัวอย่างว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังพิจารณาเรื่องร้องเรียนนายพิธา ซึ่งต้องรอดูผลเป็นองค์ประกอบ และดูหลายๆ ปัจจัยด้วย”

กิติศักดิ์ระบุด้วยว่า เบื้องต้นให้พรรคการเมืองไปรวบรวมเสียงสนับสนุนของส.ส.ให้ได้เกิน 250 เสียงก่อน ส่วนคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกที่ ส.ว.จะเลือกจะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์

ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 กิติศักดิ์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่าจะไม่สนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

“ถ้าคุณพิธาเป็นนายกฯ สถานการณ์บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ”

กิติศักดิ์ ระบุว่าแม้การทำบันทึกข้อตกลงแปดพรรคจะไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 รวมอยู่ด้วยแต่ประเด็นดังกล่าวเป็นวาระเฉพาะที่พรรคก้าวไกลจะผลักดัน ซึ่งส่วนตัวเขามองว่าการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้พิธาขาดคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกที่จะต้อง “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” กิติศักดิ์ยังขยายความด้วยว่าการมุ่งปฏิรูปกองทัพ ลดงบประมาณ ลดกำลังทหารเป็นการแสดงออกว่าไม่รักชาติ ขณะที่การยกเลิกมาตรา 112 คือไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 กิติศักดิ์ยังกล่าวระหว่างรายการเรื่องเล่าเช้านี้ตอนหนึ่งด้วยว่า “…ตอนนี้สองล้านเปอร์เซ็นกิติศักดิไม่เลือกพิธา เพราะว่าคุณพิธามีพฤติกรรมที่ถ้าหากเป็นนายกรัฐตรีแล้วประเทศจะลุกเป็นไฟ ขณะนี้กระแสจงรักภักดีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์พร้อมมากที่จะเข้ากรุงเทพ เรามองเห็นว่าบ้านเมืองกำลังจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง และจะนำไปสู่การนองเลือดของคนไทยด้วย คือไทยฆ่าไทย…” 

กิติศักดิ์ขยายความด้วยว่าส.ว.หลายคนเชื่อว่าหากพรรคก้าวไกลเข้าไปเป็นรัฐบาล ความขัดแย้งของคนไทยจะมากมายมหาศาล ส.ว.จึงจะชักฟืนออกจากไฟก่อนที่จะลุกลามเป็นคนไทยฆ่ากันเอง

จเด็จ อินสว่าง ส.ว.แต่งตั้ง เป็นอีกคนหนึ่งที่ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี จเด็จให้สัมภาษณ์กับไทยโพสต์ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ว่า ส.ว.คงต้องรอดูก่อนว่าฝ่ายใดจะรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง และจะเสนอชื่อบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี จึงค่อยพิจารณาจะโหวตให้หรือไม่ แต่ถ้าเสียงข้างมากเสนอชื่อพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี จเด็จจะไม่ออกเสียงให้ เพราะพิธามีจุดด้อยเรื่องทัศนคติการเมืองที่จะยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งเขารับไม่ได้เพราะได้ปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดี ถ้าเลือกพิธาไปก็ไม่รู้จะเสียของหรือไม่ ส่วนหากมีการเสนอชื่อคนอื่นๆ เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น แพทองธาร ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือคนอื่นๆ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องพิจารณาอีกทีว่า มีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไรบ้าง  

ต่อมาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 จเด็จยังได้ย้ำอีกครั้งว่าจะไม่สนับสนุนพิธาเพราะพรรคก้าวไกลยังเดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จเด็จยังเสนอให้หาทางออกในการตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยเชิญพรรครวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาลด้วย 

ยังไม่พูดชัดแต่ยากจะได้เสียง

นอกจาก กิติศักดิ์ และ จเด็จ มีส.ว.อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ออกปากปฏิเสธการออกเสียงสนับสนุนพิธา แต่หากย้อนไปดูการอภิปรายในสภาชุดก่อนหรือถ้อยคำที่แฝงมากับคำให้สัมภาษณ์ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ส.ว.กลุ่มนี้จะไม่ออกเสียงสนับสนุนพิธา เพียงแต่จะลงคะแนนงดออกเสียงหรือลงคะแนนให้แคนดิเดตนายกคนอื่นที่ถูกเสนอชื่อ

พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว.แต่งตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งถือเป็นวันครบรอบเก้าปีการรัฐประหาร 2557 ว่า

ในฐานะอดีตข้าราชการไทยที่เลือกอาชีพด้วยความตั้งใจเป็นข้าแห่งพระราชาดูแลประชาชน หรือในฐานะ ส.ว. หรือในฐานะคนไทย แม้นโยบายที่พรรคก้าวไกลเสนอก่อนเลือกตั้งจะยังไม่ได้ถูกตกลงหรือเปิดเผยให้สังคมได้เห็นว่าเมื่อต้องเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่นจะปรับนโยบายเป็นอย่างไร หลายอย่างเป็นสิ่งดีถ้าทำได้ เป็นสิ่งที่การเมืองก่อนหน้าไม่เคยทำสำเร็จ แต่นโยบายที่ต้องไม่แตะคือการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื้อหา 10 ข้อที่หาเสียงคงมาจาก“นายทุนความคิด” ที่จัดทำมาให้ เป็นสิ่งที่สะท้อนความเกลียด ความแค้น ความต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

อย่าอ้างผลการเลือกตั้งที่ว่าได้เสียงส่วนใหญ่ เพราะที่ได้มาก็แค่มากกว่าพรรคอื่นแต่ไม่อาจอ้างได้ว่าคือเสียงส่วนใหญ่ของคนไทย

การเตรียมม็อบออกมาในวันที่ 23 จะยิ่งทำให้เห็นทุนที่อยู่เบื้องหลังว่าตั้งใจเหยียบย่ำหัวใจคนไทยที่ทำเลียนความจงรักภักดีในรัชกาลที่ 9 ยิ่งกดดันก็ยิ่งไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา ยิ่งอ้าปาก ก็เห็นลิ้นไก่หมด อย่าประเมินความรักในแผ่นดินต่ำ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงธรรม ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา ทรงเสียสละเพื่อรักษาชาติ ทรงสละทรัพย์เพื่อรักษาแผ่นดิน

ประชาชนต้องใจเย็น ต้องเปิดปัญญารอดูว่าเขาจะมาสร้างสิ่งที่หาเสียงไว้ไหม จะสร้างการเมืองดี จะสร้างปากท้องดี และทำให้มีอนาคตจริงหรือ ที่เห็นกองหนุนล้วนแต่แสดงความก้าวร้าวความต้องการทำลายสถาบัน รอดูชุด อุปกรณ์ประท้วง สัญลักษณ์ที่ผู้ประท้วงใช้ในวันอังคารนี้ ยิ่งออกมาจะยิ่งไม่ได้รับเสียงสนับสนุน คนที่จะทำให้พิธาไม่ได้เป็นนายกไม่ใช่สว แต่เป็นพรรคการเมืองที่เจรจาไม่สำเร็จ ที่สำคัญที่สุดไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็เพราะมีเบื้องหลังเป็น ”นายทุนความคิด” “นายทุนต่างชาติ” ที่จะทำลายสถาบันกษัตริย์นี่แหละ

อย่าประเมินพลังรักแผ่นดินของคนไทยที่จะออกมาปกป้องสถาบันกษัตริย์ต่ำ ไม่เชื่อรอดู นักรบรักแผ่นดินพร้อมที่จะปกป้อง  #อย่าแตะสถาบัน #อย่าแตะ112 #ช้างรักแผ่นดิน

มีความน่าสนใจว่าก่อนหน้านี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2562 ระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ พรทิพย์เคยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กชื่นชมการอภิปรายของพิธาว่า ท่ามกลางการอภิปรายที่ตอบโต้กันไปมา มีการอภิปรายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ทั้งภาพลักษณ์และเนื้อหา ทำได้อย่างน่าสนใจแม้จะสังกัดพรรคการเมืองที่แสดงแต่ผลงานก้าวร้าว   

สมชาย แสวงการ ส.ว.แต่งตั้ง ระบุในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 สองวันหลังการเลือกตั้งว่า ส่วนตัวมีกติกาชัดเจนว่า คนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีวิสัยทัศน์นำพาประเทศไปสู่ความเจริญ ไม่สร้างความขัดแย้ง ไม่สร้างศัตรู หรือเป็นคู่กรณีกับประเทศใด สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งประเทศ และไม่ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองเหมือนต่างชาติ ต้องมีความรอบรู้ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และการบริหารราชการแผ่นดิน  นอกจากนั้นก็มีปัจจัยแวดล้อมที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น จะสามารถพาประเทศ ไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้หรือไม่ ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้สมชายยังไม่ได้ระบุออกมาอย่างเปิดเผยว่าจะให้ความเห็นชอบพิธาเป็นนายกหรือไม่ แต่พูดถึงพรรคก้าวไกลว่า

“ส่วนตัวเชื่อว่า พรรคก้าวไกล อาจรวมเสียงได้ไม่ถึง 309 เสียง เพราะยังมีบางพรรคที่มีปัญหา ต้องพิจารณาอีกหลายอย่างประกอบ อย่างเช่น การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่หลายคนเป็นกังวล ดังนั้นต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขหรือยกเลิก” .

ต่อมาในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 สมชายยังโพสต์เฟซบุ๊กพูดถึงความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลอาจถูกยุบพรรคกรณีที่มีบุคคลภายนอกครอบงำพรรค โดยระบุว่ามีกรณีแชทไลน์หลุดที่มีบุคคลภายนอกที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองสั่งการให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งรวมถึงให้ไปประกันตัวคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และสั่งให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดย ส.ว.สมชายระบุว่าพรรคการเมืองที่ยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำให้กรรมการการเลือกตั้งเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคได้ สมชายยังติดแฮชแทก #กกตรู้หรือยัง ในโพสต์ดังกล่าวด้วย 

เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ถึงข้อเรียกร้องให้ ส.ว.ลงคะแนนสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้เสียงอันดับหนึ่งว่า ส.ว.จะพิจารณานโยบายต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีการยกเลิกหรือแก้ไขเรื่องสำคัญอย่างมาตรา 112 ตัวเขาก็ไม่สามารถลงคะแนนให้บุคคลที่พรรคร่วมดังกล่าวเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่เฉพาะพิธา ไม่ว่าเป็นบุคคลใดถ้าไปแตะต้องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ไม่สามารถลงคะแนนให้ได้ เสรีระบุด้วยว่าเท่าที่ฟังเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 เพราะถ้าปล่อยให้แก้ไขมาตรา 112 คนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องต่อต้านจนเกิดความขัดแย้งวุ่นวาย  

ตั้งแต่ช่วงหลังวันเลือกตั้งมีกระแสเรียกร้องให้ ส.ว.เคารพเสียงของประชาชนด้วยการลงคะแนนสนับสนุนบุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้แก่พรรคก้าวไกล ในเวลาต่อมาก็มีประชาชนที่มีจุดยืนคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกลไปรวมตัวที่รัฐสภาเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนส.ว.ไม่ให้เลือกนายกรัฐมนตรีที่มีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยในวันที่ 12 มิถุนายน 2566 เมื่อกลุ่มคณะประชาชนคนรักในหลวงไปรวมตัวที่อาคารรัฐสภาฝั่งวุฒิสภา พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ซึ่งเป็นตัวแทนสมาชิกวุฒิสภาออกมารับหนังสือจากทางกลุ่มได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ตอนหนึ่งว่า

“นายกฯ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนเก่ง และคนดี ต้องมีสองอย่างนี้คู่กัน ถ้าเก่งแล้วไม่ดีก็ไม่เอา ต้องการทั้งเก่งและดี ทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ ยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

และเมื่อถูกถามถึงข้อเรียกร้องที่ให้ ส.ว.ออกเสียงเลือกนายกตามมติของประชาชนด้วยการเลือกแคนดิเดตนายกของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง พล.อ.อกนิษฐ์ ระบุว่า 

“เราฟังเสียงส่วนใหญ่ ไม่ได้ฟังเสียงที่หนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งชนะอันดับหนึ่งไม่นับว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ และตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองติดต่อมา ส่วนตัวรับฟังทุกพรรค ผมมีเพื่อนอยู่ทุกพรรคไม่ใช่แค่พรรคใดพรรคหนึ่ง”  

ในส่วนของส.ว.ที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหมรวมหกคน ก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 แล้วว่าเพื่อดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็นส.ว.ทั้งหมดจะงดออกเสียง ซึ่งก่อนหน้านี้ในการออกเสียงประเด็นการเมือง ส.ว.ที่เป็น ผบ.เหล่าทัพก็จะงดออกเสียงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งปี 2562 บุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็น ส.ว.ทั้งหมดไม่ได้งดออกเสียงแต่ลงคะแนนสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด

พร้อมน้อมรับมติมหาชน

แม้ ส.ว.บางส่วนจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนพิธาเป็นนายกและบางส่วนแม้จะไม่ได้พูดออกมาอย่างชัดเจนแต่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่สนับสนุนพิธาหรือจะลงคะแนนงดออกเสียง แต่ก็มีส.ว.จำนวนหนึ่งที่ประกาศต่อสาธารณะอย่างชัดเจนว่าจะเคารพผลการเลือกตั้งด้วยการสนับสนุนพิธา แคนดิเดตของพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เช่น 

พิศาล มาณวพัฒน์ ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวในรายการคมชัดลึกของช่อง The Nation ในวันที่ 5 มิถุนายน 2566 ตอนหนึ่งว่า คิดว่าการแข่งขัน (การเลือกตั้ง) เหมือนฟุตบอล จบแล้วผลชัดเจน กลุ่มที่เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีแนวทางประชาธิปไตยมีเสียงข้างมาก และได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) เรียบร้อยแล้ว ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็เป็นฉันทมติที่ประชาชนแสดงออกชัดเจนว่าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ตัวเขาจึงจะเคารพเจตนารมณ์นั้น และจะทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่กำหนดให้ ส.ส.และส.ว. เป็นผู้แทนของประชาชน ต้องตัดสินใจโดยไม่ถูกครอบงำทางความคิดหรืออาณัติหรืออยู่ภายใต้การครอบงำใดๆ โดยเฉพาะส.ว.ที่ต้องไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดและไม่อยู่ในการครอบงำของบุคคลใด ส.ว.พิศาลยังพูดถึงพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะคนที่แต่งตั้ง ส.ว.ด้วยว่า พล.ประยุทธ์น่าจะเข้าใจและให้เกียรติการตัดสินใจของ ส.ว. ทั้งตัวนายกฯ เองก็พูดเสมอว่าไม่มีสิทธิจะไปบังคับการตัดสินใจของ ส.ว.ได้ 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.แต่งตั้ง ระบุในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ว่า ส่วนตัวยึดหลักการว่าใครที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง ลงคะแนนให้ไม่ว่าจะเสนอชื่อบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หรืออนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แต่ก็ไม่ทราบว่า ส.ว.คนอื่นๆ จะตัดสินใจอย่างไร วัลลภ ระบุด้วยว่า เขารู้สึกงงกับเสียงเรียกร้องต่างๆ  ที่มีต่อ ส.ว. ก่อนหน้านี้เคยมีเสียงเรียกร้องให้ปิดสวิตซ์ ส.ว. แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตัวเขาก็เป็นหนึ่งใน 23 ส.ว.ที่ให้ความเห็นชอบประเด็นดังกล่าวแต่แพ้เสียงข้างมาก แล้วมาถึงตอนนี้กลับเรียกร้องให้ ส.ว.ใช้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ห้ามงดออกเสียง 

วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ส.ว.แต่งตั้ง เขียนจดหมายเปิดผนึกในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 โดยสรุปได้ว่า การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ลุล่วงไปด้วยดี มีประชาชนทุกช่วงวัยไปใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ บ่งชี้ว่า พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมมากที่สุด และมี ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุด ย่อมได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรค หรือผู้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมมีความเหมาะสมที่สุดที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตัวเขาในฐานะ ส.ว.คนหนึ่ง ขอแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความสมานฉันท์ในบ้านเมือง และธำรงไว้ซึ่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย และให้สอดคล้องกับฉันทามติของมหาชนที่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ส.ว.แต่งตั้ง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว PPTV ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ว่า ตามหลักการต้องให้พรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าไม่เคารพกลไกก็คงไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง ส่วนที่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็สะท้อนถึงความอึดอัดกับสภาพการเมืองช่วงในช่วงที่ผ่านมา  นอกจากนั้นซากีย์ก็เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทูเดย์ในวันที่ 7 มิถุนายนด้วยว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ผ่านมา (ปี 2562) มีกระแสความต้องการปฏิรูป ส.ว.จึงมีฉันทามติในการลงคะแนนเลือกนายกฯ ในทางเดียวกันเพื่อสร้างความมั่นคงและความต่อเนื่องในการบริหารประเทศ แต่ครั้งนี้เมื่อประชาชนได้มีฉันทามติผ่านการเลือกตั้ง ถ้าจะลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่คำนึงถึงที่นั่งในสภาอีกก็คงจะเป็นเรื่องแปลก ในครั้งนี้ก็คงจะต้องออกเสียงเลือกนายกฯ โดยยึดหลักการ 
 

ทั้งนี้ความคิดเห็นที่รวบรวมมาทั้งหมดในที่นี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งเท่าที่ถูกรวบรวมได้ อาจมี ส.ว.อีกหลายๆ ท่านที่เคยออกมาแสดงความเห็นในประเด็นนี้แต่ไม่ได้ถูกรวบรวมไว้ด้วย