เปิดรายงานรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข สนง.ศาลฯ หวั่นนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่สร้างสังคมที่สันติสุขได้จริง

วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองสี่ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเกตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง (ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ซึ่งเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล (ก่อนถูกยุบพรรค) ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข (ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข) ซึ่งเสนอโดยสส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และอีกฉบับเสนอโดยสส. พรรครวมไทยสร้างชาติ และร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน เสนอโดยภาคประชาชน โดยร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุขทั้งสองฉบับ มีสาระสำคัญคือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณานิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ตามความผิดในบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติ โดยร่างทั้งสองฉบับระบุชัดเจนไม่ให้นิรโทษกรรมคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

หลังจากที่ สส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชนได้เสนอร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขไปเมื่อ 20 ธันวาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์เป็นเวลา 26 วัน ตั้งแต่ 22 มกราคม ถึง 16 กุมภาพันธ์ 2567  และส่งประเด็นไปยังหน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง 12 องค์กร มีห้าองค์กรที่แสดงความเห็น คือ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ด้านร่างฉบับที่เสนอโดย สส.พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอเมื่อ 25 มกราคม 2567 เปิดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์เป็นเวลา 28 วัน ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 27 มีนาคม 2567 ส่งประเด็นไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง 12 หน่วยงาน มีหน่วยงานที่แสดงความเห็นแปดหน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมบังคับคดี

สำนักปลัดนายกฯ – กรมบังคับคดี เห็นด้วยหลักการนิรโทษกรรมคดีการเมือง

การรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขทั้งสองฉบับ มีคำถามคำถามแตกต่างกันและวิธีการลำดับคำถามแตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบดูประเด็นคำถามและคำตอบในเรื่องเดียวกัน สำหรับประเด็นว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้นิรโทษกรรมคดีที่มีจากเหตุจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ผู้ที่แสดงความเห็นบนเว็บไซต์ต่อร่างทั้งสองฉบับเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว ให้เหตุผลว่า การชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองในหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์แค่เพื่อเพียงเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิอันชอบตามรัฐธรรมนูญ เป็นความเท่าเทียมของทุกฝ่ายและไม่เลือกปฏิบัติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สำหรับความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เห็นด้วยเชิงหลักการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่า การแสดงออกทางการเมืองหรือการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบปราศจากอาวุธถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากการกระทำดังกล่าวมีเหตุจูงใจทางการเมืองและกระทำด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริงย่อมมีเหตุอันสมควรในการนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลดังกล่าวโดยไม่ต้องรับโทษทางอาญารวมทั้งพ้นความรับผิดทางแพ่งต่อหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจทั้งปวง เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ด้านกรมบังคับคดี ให้เหตุผลใจความว่า การชุมนุมทางการเมืองเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ แม้บางครั้งในการชุมนุมจะไม่ใช่โดยสงบหรือปราศจากอาวุธ แต่ส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากการกระทบกระทั่งของผู้มีความเห็นต่างทางเมือง หรือการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นจึงสมควรที่จะดำเนินการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่มีสาเหตุมาจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกเพื่อให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมพ้นความรับผิดตามกฎหมาย และเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

สำนักงานศาลยุติธรรม เห็นด้วยในหลักการ เนื่องจากเป็นการนำแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) มาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ลดความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เห็นด้วยที่จะให้นิรโทษกรรมความผิดทางการเมือง เพราะวัตถุประสงค์สำคัญข้อหนึ่งของการนิรโทษกรรมคือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศหรือความขัดแย้งทางการเมือง อีกทั้งความผิดทางการเมืองยังเป็นความผิดที่มุ่งหมายกระทำต่อรัฐ รัฐย่อมมีอำนาจที่จะให้อภัยหรือไม่เอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิดต่อรัฐนั้นได้ นอกจากนี้ บรรดาบุคคลที่กระทำความผิดในระยะเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองนั้นมีส่วนน้อยที่จะเป็นภัยต่อสังคมในช่วงที่สังคมสงบสุข เพราะความผิดทางการเมืองที่บุคคลเหล่านั้นกระทำเป็นความผิดที่มีลักษณะบริบทเฉพาะ และยังกล้าเผชิญหน้าไม่กลัวการถูกลงโทษ การป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดโดยการลงโทษจึงไม่มีประสิทธิผลกับความผิดทางการเมืองอันต่างจากผู้กระทำโดยไม่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

แม้มีบางความผิดที่เกี่ยวพันกับความผิดธรรมดาสามัญ (Common Crimes) แต่สามารถพิจารณาเป็นความผิดทางการเมืองได้หากคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนว่าเป็นการกระทำความผิดที่ไม่เกิดความจำเป็นในการบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยเฉพาะสถานที่ราชการหรือทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งเป็นความผิดที่มุ่งกระทำต่อรัฐเป็นสำคัญ และหากไม่เกินแก่ความจำเป็นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง ก็ยังคงถือเป็นความผิดทางการเมืองอยู่

ประเด็นการกำหนดฐานความผิดที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นด้วยกับการกำหนดประเภทหรือฐานความผิดที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรมไว้โดยชัดแจ้งในกฎหมายหรือบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ ไม่ควรให้คณะกรรมการกำหนดประเภทหรือฐานความผิดในภายหลัง เพราะการนิรโทษกรรมถือเป็นข้อยกเว้นของการกระทำความผิด ต้องใช้และตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ควรขยายความไปใช้กับความผิดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาการใช้ดุลยพินิจและการมีส่วนได้เสีย และต้องกระทำผ่านองค์กรนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนปวงชน

ขณะที่ผู้แสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วย ปรากฏอยู่ในรายงานรับฟังความคิดเห็นของร่างที่ สส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชนเสนอหนึ่งความเห็นที่เขียนผ่านทางเว็บไซต์ โดยระบุว่า ต้องใช้กฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อย

กสม. เสนอแนะขยายกรอบเวลานิรโทษกรรม ตั้งแต่ 49 จนถึงวันที่กฎหมายใช้บังคับ

ประเด็นกรอบระยะเวลาของคดีการเมืองที่จะเข้าข่ายนิรโทษกรรม ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขทั้งสองฉบับ กำหนดเวลาแตกต่างกันในรายละเอียด ร่างที่ สส. พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอ กำหนดกรอบเวลาอย่างกว้างไว้ที่ ปี 2548 ถึงปี 2565 ขณะที่ร่างที่ สส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชนเสนอ กำหนดกรอบเวลาไว้แคบกว่า คือ เฉพาะการกระทำที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ถึง 30 พฤศจิกายน 2565

สำหรับร่างที่เสนอโดย สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับกรอบระยะเวลาดังกล่าว ให้เห็นผลว่า ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปี 2565 นับเป็นช่วงระยะเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างมาก ประชาชนได้เข้ามามีส่วนในการแสดงออกทางการเมืองจนถึงปัจจุบันซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมของตน ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมทุกฝ่าย การเลือกช่วงเวลาดังกล่าวในการนิรโทษกรรมจึงมีความเหมาะสม ด้านกรมบังคับคดี ให้เหตุผลว่าเป็นช่วงที่มีการชุมนุมและการแสดงความเห็นทางการเมืองที่มีความรุนแรง และมีการดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก

สำหรับกรอบเวลาตามร่างสส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชนเสนอ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อเสนอแนะว่า การนิรโทษกรรมความขัดแย้งทางการเมืองหรือมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องทางการเมือง ควรกำหนดกรอบระยะเวลาให้เหมาะสมกับห้วงเวลาที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นจริง ควรกำหนดระยะเวลาการนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ

ไม่นิรโทษกรรมคดี มาตรา 112 มีทั้งความเห็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

หนึ่งในประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและสร้างเสริมสังคมสันติสุข คือ คดีความผิดใดที่กำหนดชัดว่าไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรมบ้าง ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขทั้งสองฉบับ ระบุชัดไม่นิรโทษกรรมคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประเด็นนี้มีผู้แสดงความเห็นบนเว็บไซต์ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า มาตรา 112 มีประเด็นและความเห็นต่างในสังคม หากนำมาเกี่ยวข้องอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมใหม่ได้ ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ควรนำมาเกี่ยวข้อง ด้านผู้ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า ความผิดมาตรา 112 โดยมากเป็นการฟ้องร้องโดยมีเจตนาทุจริต

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่แสดงความเห็น แสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ให้เหตุผลใจความว่า มาตรา 112 เป็นคดีทางการเมือง ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 112 ถูกบังคับใช้ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เช่น หลังการรัฐประหารปี 2557 ที่ต้องขึ้นศาลทหาร หรือในช่วงการชุมนุมปี 2563 ถึงปี 2566 ที่สถานการณ์การเมืองมีความเปลี่ยนแปลงจากข้อเรียกร้องของสังคม  

กรมบังคับคดีเสนอนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ สนง.ศาลยุติธรรมห่วงอาจไม่สร้างสังคมที่สันติสุขได้จริง

ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่ภาคประชาชนเสนอ และฉบับที่ สส. พรรคก้าวไกลเสนอ ระบุชัดว่าไม่นิรโทษกรรมกรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือสลายการชุมนุม ที่กระทำเกินกว่าเหตุ อย่างไรก็ดี ในร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับที่ สส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชนเสนอ มาตรา 3 ระบุกว้างๆ โดยใช้คำว่า “การกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง” ซึ่งอาจมีประเด็นว่าคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อผู้ชุมนุม ถ้าเป็นความผิดตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ ก็เข้าข่ายที่จะได้รับนิรโทษกรรมด้วย

สำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งข้อสังเกตของเนื้อหาในร่างพรรคครูไทยเพื่อประชาชนว่า มาตรา 3 และความผิดตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติมีขอบเขตที่อาจแปลความได้ว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงเกินสมควรแก่ประชาชนอันอาจเป็นการกระทำความผิดต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพรวมถึงทำให้เสียทรัพย์ เข้าข่ายได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งเกินวัตถุประสงค์ตามที่ระบุในเหตุผลของร่าง และการนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐตามร่างนี้ไม่จำเป็นต้องมีการค้นหาความจริงเพื่อให้ยอมรับผิดเสียก่อน ทั้งยังยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง จึงย่อมเป็นอุปสรรคต่อการได้รับการเยียวยาจากการกระทำความผิด การนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะนี้อาจไม่สอดคล้องกับหลักการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และอาจไม่สร้างสังคมที่สันติสุขได้จริง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตในร่างพรรคครูไทยเพื่อประชาชนว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ให้ประโยชน์ในการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ซึ่งอาจรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำในหน้าที่อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมืองที่เกินกว่าเหตุ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายภายในหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นอาจกระทำความผิดฐานทรมาน การลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม บังคับให้สูญหาย จึงจำเป็นต้องมีการบัญญัติให้ชัดเจนว่าไม่นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงผู้ที่กระทำโดยอาศัยอำนาจรัฐข้างต้น

อย่างไรก็ดี มีหน่วยงานที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีของเจ้าหน้าที่รัฐ คือ กรมบังคับคดี ซึ่งแสดงความเห็นต่อร่างพรรครวมไทยสร้างชาติว่า ควรเพิ่มความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไว้ในฐานความผิดตามบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติที่จะได้รับการนิรโทษกรรมทางการเมืองด้วย เนื่องจากในการชุมนุมทางการเมืองในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2548 ถึง 2565 มีการควบคุมดูแลหรือสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหาร ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติต่อหน้าที่ต้องถูกดำเนินคดีด้วย เมื่อมีการนิรโทษกรรมให้กับผู้ร่วมชุมนุมก็สมควรที่จะนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควบคุมดูแลการชุมนุม

สนง.ศาลยุติธรรม ห่วงคณะกรรมการมาจากการแต่งตั้งอาจถูกตั้งข้อสงสัยความเป็นกลาง

ตามร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขทั้งสองฉบับ กำหนดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อชี้ขาดว่าคดีใดบ้างที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมตามความผิดท้ายพระราชบัญญัติ โดยคณะกรรมการมีชื่อและที่มาแตกต่างกัน ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่เสนอโดยสส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม จำนวนไม่เกินเจ็ดคน โดยไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง เท่ากับว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสามารถใช้ดุลยพินิจตั้งผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการได้ ขณะที่ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่สส.พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอ ระบุให้มีคณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี จำนวนเก้าคน ดังนี้

  • นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
  • รัฐมนตรีซึ่งได้รับเลือกโดยคณะรัฐมนตรี หนึ่งคน
  • อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน หนึ่งคน
  • อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด หนึ่งคน
  • สส. ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งคน
  • สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งได้รักเลือกโดยที่ประชุมวุฒิสภา หนึ่งคน
  • ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ซึ่งได้รับเลือกโดยคณะรัฐมนตรี หนึ่งคน
  • ปลัดกระทรวงการคลัง
  • ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ

ประเด็นว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีคณะกรรมการเป็นผู้ชี้ขาด จากรายงานรับฟังความเห็นร่างฉบับที่เสนอโดย สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ผู้แสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ เห็นด้วยให้มีคณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข เป็นผู้วินิจฉัยการพ้นความรับผิด โดยให้เหตุผลว่า กรรมการวินิจฉัยมีเก้าคนประกอบด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ เหมาะสมในการถ่วงดุลอำนาจเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการซึ่งเป็นรูปแบบองค์กรกลุ่ม เพราะทำให้การพิจารณามีความรอบคอบและน่าเชื่อถือ ด้านสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า คณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถทางกฎหมายและสังคม อีกทั้งยังเป็นผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง

สำหรับประเด็นที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการ ร่างที่เสนอโดย สส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน มีผู้แสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ว่าไม่เห็นด้วยกับที่มาของกรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่เห็นด้วยที่ไม่มีสัดส่วนผู้แทนจากประชาชนผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดี ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้ามาเป็นกรรมการให้ชัดเจน รวมถึงเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งให้บุคคลนั้นรักษาการในตำแหน่งไปก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ นอกจากนี้ ควรกำหนดสิทธิในการอุทธรณ์คำชี้ขาดของคณะกรรมการไว้ด้วย

สำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งข้อสังเกตของเนื้อหาในร่างพรรคครูไทยเพื่อประชาชนว่า ร่างมาตรา 7 กำหนดไว้เพียงจำนวนของคณะกรรมการ แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดองค์ประกอบหรือคุณสมบัติของคณะกรรมการ อีกทั้งยังให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้แต่งตั้งทั้งหมด ทั้งที่อาจมีประเด็นว่าผู้แต่งตั้งเป็นภาครัฐหรือฝ่ายบริหารที่อาจมีการใช้กำลังหรือใช้อำนาจรัฐที่รุนแรงต่อประชาชนจนอาจกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง จึงสุ่มเสี่ยงว่าคณะกรรมการชุดนี้อาจถูกตั้งข้อสงสัยในความเป็นกลาง จนอาจกระทบต่อวัตถุประสงค์ในการสร้างความสันติสุขได้

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตของเนื้อหาในร่างพรรคครูไทยเพื่อประชาชนว่า คณะกรรมการจะต้องมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และไม่มีส่วนได้เสียงในการนิรโทษกรรม เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการที่ว่าผู้กระทำความผิดย่อมไม่อาจเป็นผู้ตัดสินความผิดที่ตนได้กระทำลงและเป็นหน้าที่ของรัฐในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิด รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย

ส่วนร่างที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ มีหน่วยงานที่แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยในรายละเอียดองค์ประกอบของกรรมการอยู่สองหน่วยงาน

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการตามมาตรา 4 (3) และ 4 (4) ไม่ควรจำกัดเฉพาะอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาหรืออดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่ควรรวมถึงผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดปัจจุบันด้วย เพื่อความเหมาะสมกำหนดให้กระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

ด้านสำนักงานศาลปกครองสูงสุด ไม่เห็นด้วยกับร่างมาตรา 4 (4) ที่กำหนดให้อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดหนึ่งคนเป็นกรรมการในคณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข โดยตั้งข้อกังวลว่าอาจจะมีข้อโต้แย้งถึงความไม่เป็นกลางเพราะตุลาการศาลปกครองสูงสุดเองมีอำนาจวินิจฉัยคดีที่พิพาทเกี่ยวกับประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัยชี้ขาด มติ หรือการกระทำของคณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ควรเลี่ยงให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสุดสุดเลือกกรรมการในคณะกรรมการชุดนี้

สนง.ศาลยุติธรรมไม่เห็นด้วยร่างครูไทยเพื่อประชาชน ห้ามศาลรอลงอาญาหากทำผิดซ้ำ แจงต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วน วัตถุประสงค์ในการลงโทษ

ในร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่สส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชนเสนอ มาตรา 8 กำหนดว่า หากผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้กระทำความผิดซ้ำภายหลังจากการนิรโทษกรรม ห้ามมิให้ศาลรอลงอาญา หรือรอการกำหนดโทษ

ผู้ที่แสดงความเห็นบนเว็บไซต์ เห็นด้วย ให้เหตุผลว่าหากได้รับนิรโทษกรรมแล้วยังกลับไปกระทำความผิดซ้ำในเรื่องเดิมก็จะเป็นการกระทำความผิดซ้ำซาก แสดงถึงความไม่เข็ดหลาบ

ด้านสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง แสดงความเห็นไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลว่า การลงโทษทางอาญาต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนและวัตถุประสงค์ในการลงโทษ ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงเป็นรายคดี โดยเฉพาะเหตุในการนิรโทษกรรมตามร่างนี้ คือการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งร่างนี้ก็ให้เหตุผลว่าการนิรโทษกรรมเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย อันแสดงว่าการกระทำอันได้รับนิรโทษกรรมเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก จึงไม่พึงนำมาเป็นเหตุในการห้ามศาลรอการลงโทษหากมีการกระทำผิดเกิดขึ้นในครั้งหลัง โดยคดีหลังศาลจะลงโทษหรือไม่ อย่างไร ควรให้ศาลมีดุลพินิจพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงแห่งคดี

นิรโทษกรรมช่วยแก้ความขัดแย้งทางการเมืองได้บางส่วน

สำหรับคำถามสุดท้ายว่าการนิรโทษกรรมจะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่ มีผู้แสดงความเห็นบนเว็บไซต์ที่มองว่าการนิรโทษกรรมไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ และมีผู้ที่มองว่า ช่วยได้

ในฝั่งหน่วยงานรัฐ กรมบังคับคดี แสดงความเห็นว่า การนิรโทษกรรมตามร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับที่สส. พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอ จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้บางส่วน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่า การนิรโทษกรรมเป็นแนวทางหนึ่งในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาผู้ชุมนุมหรือผู้แสดงออกทางการเมือง ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับผิดรับโทษ สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่าผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้วจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การปลูกฝังจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมประโยชน์ของชาติ เริ่มที่การศึกษาให้เด็กและเยาวชนรู้จักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยอมรับความเห็นต่าง ใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบของกฎหมาย ความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติก็จะบังเกิดผลอย่างยั่งยืน

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นว่า เป็นการแกปัญหาชั่วคราวหรือแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด ไม่ได้แก้ที่เหตุแห่งความขัดแย้ง แต่เป็นเพียงการบรรเทาความรู้สึกและมอบโอกาสให้ผู้ถูกดำเนินคดีความเท่านั้น โดยขยายความเพิ่มเติมว่า หากมูลเหตุความขัดแย้งทางการเมืองยังคงมีอยู่และไม่ถูกแก้ไข หรือถูกกลบเกลื่อนปิดบังไว้ ในอนาคตข้างหน้าชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งในทางการเมืองก็อาจปะทุส่งผลรุนแรงในอีกตามแต่สถานการณ์จะพาไป

สำนักงานศาลยุติธรรม แสดงความเห็นว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในสังคม และการชุมนุมทางการเมืองเป็นการแสดงออกซึ่งสามารถทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในสังคมประชาธิปไตยความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองสามารถจัดการได้ผ่านกลไกประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง การให้เสรีภาพสื่อมวลชน การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง หากมุ่งแต่จะนำกฎหมายมาใช้จัดการโดยเฉพาะหากมีการปรับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ได้สัดส่วน และไม่คำนึงถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งทางการเมืองย่อมมีโอกาสลุกลาม การนิรโทษกรรมในกรณีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอาจช่วยลดความขัดแย้งลงได้ แต่พึงกระทำด้วยความระมัดระวังภายใต้หลักการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และควรให้สังคมเชื่อมั่นในความเป็นกลางของผู้ที่จะชี้ขาดเกี่ยวกับการกระทำที่เข้าข่ายนิรโทษกรรม