เสียดายศาลรัฐธรรมนูญไม่ไต่สวน คิดดอกเบี้ยอย่างไรเกินสิบล้าน?

ในงานเสวนา “ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ” เรื่องวิเคราะห์คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ร่วมกันแจกแจงการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ ที่นำไปสู่การยุบพรรคการเมืองอันดับสองของฝ่ายค้าน

 

พรรคการเมืองตั้งตามกฎหมายมหาชน แต่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลมหาชนเสมอไป

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตามกฎหมายพรรคการเมือง ให้คำนิยามของ “พรรคการเมือง” ไว้ว่า เป็นการรวมตัวกันของคณะบุคคล และรัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองในฐานะเป็นเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น พรรคการเมืองจึงอยู่ในซีกของ “พลเมือง” ไม่ใช่องค์กรของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้หลักการว่า ไม่มีกฎหมายห้ามแปลว่า ทำได้ ซึ่งเป็นหลักการตามมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญด้วย

ในประเด็นเรื่องพรรคการเมืองกู้เงินได้หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้เหตุผลนี้มาสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่พูดถึงประเด็นนี้ทำนองว่า การกู้เงินนั้นกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่ก็ไม่ได้ให้ทำได้ คือ เขียนไว้แบบคลุมเครือ เรื่องเงินกู้เป็นรายได้หรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญแล้วตอนนี้

ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ศาลรรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ด้วยเหตุผลว่า พรรคการเมืองต้องจดทะเบียน ทั้งที่หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา การจัดตั้งพรรคการเมืองไม่ต้องจดทะเบียนด้วยซ้ำ เปรียบเทียบกับการจะขับรถแท็กซี่ต้องจดทะเบียนก่อน ทำให้รถแท็กซี่กลายเป็นรถสาธารณะ แล้วมีหน้าที่ต่อสาธารณะ เช่น ผู้โดยสารเรียกต้องรับ จะไม่รับไม่ได้ การมีหน้าที่ต่อสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้แปลว่า กลายเป็นองค์กรของรัฐ และไม่ได้แปลว่า เป็นองค์กรมหาชน

การที่พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายมหาชน ไม่ได้ทำให้เป็นองค์กรของรัฐ และการจะบอกว่า พรรคการเมืองห้ามทำสิ่งที่กฎหมายไม่ได้เขียนให้ทำได้ เป็นการตีความที่ไกลเกินไป

ด้าน รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างว่า ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ การจัดตั้งสหกรณ์ต้องจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ การจัดตั้งสหภาพแรงงานก็ต้องจดทะเบียน แต่การจดทะเบียนไม่ได้เปลี่ยนสถานะของการที่เอกชนมารวมกลุ่มกันโดยสมัครใจ ให้เปลี่ยนเป็นมหาชน ถ้าจะพูดให้ชัดต้องบอกว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายมหาชนเท่านั้น

พรรคการเมืองเมื่อจดทะเบียนแล้ว มีอภิสิทธิ์บางอย่างในทางการเมือง คือ การส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง การเลือกตัวผู้สมัครก็มีกฎหมายมากำกับ หรือการทำหน้าที่ในสภา การขับ ส.ส. ออกจากพรรค เหล่านี้ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ในมิตินี้จึงมีกฎหมายมหาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง แต่เมื่อพรรคการเมืองทำสัญญากู้เงิน เป็นการทำนิติกรรมทางแพ่ง จะทำได้หรือทำไม่ได้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเอกชน เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามย่อมทำได้

 

ดอกเบี้ยเท่าไร จึงไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า

สำหรับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่ธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินนั้น คิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับต่ำกว่าปกติทางการค้า อัตราดอกเบี้ยส่วนที่ต่างออกไปจึงกลายเป็นการให้ประโยชน์กับพรรคการเมือง รศ.ดร.ณรงค์เดชสรุปข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ว่า พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้เงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สองฉบับ ดังนี้

ฉบับแรก ลงวันที่ 2 มกราคม 2562 กู้เงิน 161.2 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี หากผิดนัดคิดเบี้ยปรับวันละ 100 บาท

พรรคอนาคตใหม่จ่ายเงินคืนแล้วสามครั้ง รวม 72 ล้านบาท

ฉบับที่สอง ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 กู้เงิน 30 ล้านบาท รับเงินสด ณ วันทำสัญญา 2.7 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะรับในภายหลัง คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เงินที่เหลือไม่ปรากฏว่า ได้รับกันเมื่อใด

ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2562 ธนาธรบริจาคเงินเข้าพรรค 8.5 ล้านบาท หลังจากนั้นยังมีการชำระดอกเบี้ยและเงินกู้อีกสามครั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญปรับบทกฎหมายว่า การกู้เงินทั้งหมดนี้เป็นการให้ประโยชน์กับพรรคอนาคตใหม่มูลค่ารวมเกินสิบล้านบาท จึงเป็นความผิดตามมาตรา 66 โดยมองว่า อัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทำสัญญากู้ใหม่โดยมีเงินกู้เดิมค้างอยู่ ก็ไม่เป็นไปตามปกติการค้าและปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงิน

ปัญหาคือ ดอกเบี้ยตามปกติการค้าเป็นอย่างไร ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้ จึงลองเทียบดูกับอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 กำหนดว่า ห้ามกู้เงินโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี มาตรา 7 กำหนดดอกเบี้ยตามหลักทั่วไปไว้ที่ 7.5% ต่อปี มาตรา 224 กำหนด ดอกเบี้ยผิดนัดไว้ที่ 7.5% ต่อปี

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ทำสัญญากู้เงินฉบับแรก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารกรุงเทพ, กรุงไทย, กสิกรไทย, ไทยพาณิชย์, กรุงศรีอยุธยา ที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดี เฉลี่ยอยู่ที่ 7.187% ต่อปี ซึ่งธนาธรให้กู้ในอัตรา 7.5% ต่อปี

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ทำสัญญากู้เงินฉบับที่สอง อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของห้าธนาคารดังกล่าวก็ยังเป็น เฉลี่ยอยู่ที่ 7.187% ต่อปี สัญญากู้ฉบับนี้ธนาธรคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี จึงมีประเด็นที่น่าคิดตามคำวินิจฉัยของศาล

ด้าน ผศ.ดร.ปริญญาเห็นว่า การกู้ยืมเงินโดยปกติกฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าต้องเป็นเท่าใด และการกู้ยืมไม่ใช่เรื่องการค้าเสมอไป

“สมมติว่า ผมให้เพื่อนยืมเงิน หรือให้น้องชายยืมเงินไปทำธุรกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการค้า ขึ้นอยู่คนให้กู้จะพอใจว่า จะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด เป็นสิทธิของผู้ให้กู้โดยบริบูรณ์”

“เรื่องนี้สำคัญ เพราะการคิดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ต้องเป็นเรื่องที่เอกชนจะตกลงกัน การไปคิดว่า ดอกเบี้ยที่น้อยเป็นการบริจาคนั้นไกลเกินไป ส่วนการกู้ไม่ใช่การบริจาคอยู่แล้ว” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

 

ศาลไม่ไต่สวน จึงไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงว่า คำนวณอย่างไรให้เกินสิบล้านบาท

รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าวว่า ถ้าหากธนาธรไม่ให้กู้ตามสัญญาฉบับที่สอง และนำเงินไปฝากธนาคารแบบประจำ 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำขณะนั้น เฉลี่ยห้าธนาคาร ก็คือ 1.57% ต่อปี ถ้าหากธนาธรคิดดอกเบี้ย 1% ก็จะขาดทุนเทียบกับการฝากธนาคาร ถือว่า ผิดวิสัยแน่นอน แต่เมื่อธนาธรคิดดอกเบี้ย 2% ต่อปี สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ก็เท่ากับธนาธรได้กำไร

เมื่ออัตราดอกเบี้ยตามสัญญาฉบับแรกที่คิดไว้ 7.5% สูงกว่าอัตราเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ จึงไม่ผิดปกติ ส่วนสัญญาฉบับที่สองคิดไว้ 2% อาจจะน่าสงสัย ซึ่งต้นเงินที่รับกันไปแล้วตามสัญญาฉบับที่สอง คือ 2.7 ล้านบาทเท่านั้น

สมมติว่า ฉบับที่สองเป็นสัญญาที่อัตราดอกเบี้ยผิดปกติ และสมมติคิดอัตราปกติที่ 7.5% ต่อปี คำนวณเฉพาะส่วนต่างดอกเบี้ย 5.5% ต่อปี เมื่อคิดจากต้นเงิน 2.7 ล้านบาท เท่ากับ 148,500 บาท คือ ประโยชน์ที่ธนาธรให้กับพรรคอนาคตใหม่

เมื่อรวมกับเงินบริจาคในปี 2562 ที่ธนาธรบริจาค 8.5 ล้านบาท ก็เท่ากับ 8,648,500 บาท ยังไม่ถึงสิบล้านบาท ที่จะผิดตามมาตรา 66

นี่จึงเป็นคำถามว่า อะไรคืออัตราดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามปกติการค้า และเมื่อนับรวมกับเงินบริจาคแล้วเกินสิบล้านบาทจริงหรือไม่ 

รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าวว่า น่าเสียดายที่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ถูกนำสืบกันในชั้นพิจารณาคดีของศาล เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งงดการไต่สวน จริงๆ ยังมีข้อพิรุจอื่นอีก เช่น การที่พรรคอนาคตใหม่แจ้งว่า จ่ายเงินคืนธนาธรเป็นเงินสด 14 ล้านบาท เมื่อเอาเงินสดจำนวนนี้มามัดรวมกันจะหนักมาก แล้วเมื่อจ่ายเงินคืนเอาไปเข้าธนาคารอย่างไร ไม่น่าจะเป็นปกติที่ทำกัน แต่ศาลก็ไม่ไต่สวน ทำให้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏ

ศาลรัฐธรรมนูญยังตั้งประเด็นไว้ว่า เมื่อพรรคอนาคตใหม่ยังไม่ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาฉบับแรกแต่ไปทำสัญญากู้เพิ่ม ถือว่า ผิดปกติ กรณีเหล่านี้เมื่อศาลไม่ไต่สวน ก็ทำให้เราไม่สามารถค้นพบเจตนาที่แท้จริงของการทำสัญญาได้ และเมื่อมีข้อสงสัยเช่นนี้แล้วศาลไม่ไต่สวน แต่ศาลกลับสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นความผิด

 

การยุบพรรคการเมือง ต้องใช้กฎหมายเคร่งครัด

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวด้วยว่า ต่อให้เราเอาดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปมาคิดเป็นเงินบริจาคได้ ซึ่งจะผิดตามมาตรา 66 ก็ไม่มีโทษถึงยุบพรรค มีแต่โทษอาญา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องขึ้นศาลอาญา และต้องใช้หลักกฎหมายอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าจะเอาผิดต้องมีหลักฐานว่า มีเจตนาให้ดอกเบี้ยเท่านี้เพื่อจะเลี่ยงการบริจาค

การยุบพรรคการเมือง กระทบต่อทั้งกรรมการบริหารพรรคและผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เลือกมา ต้องเคร่งครัดตามกฎหมาย ต้องเป็นความผิดจะแจ้งชัดเจน มีเหตุผลมากเพียงพอที่จะยุบพรรคได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของพรรคอนาคตใหม่ แต่กำลังพูดถึงระบบการปกครองโดยกฎหมาย และระบบพรรคการเมืองของประเทศไทย

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวปิดท้ายว่า ที่พูดไปเช่นนี้ไม่ได้ประสงค์จะรื้อฟื้นคดี เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว แต่เรื่องนี้สำคัญที่ต้องพูดเพื่อให้เป็นประโยชน์ในคดีต่อๆ ไป เพราะการอยู่ในสังคมนั้นจะเห็นด้วยกันหรือเห็นต่างกัน ต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีพรรคการเมืองและการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือให้ความเห็นต่างทำงานร่วมกัน

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น