5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 ณ ห้อง ร. 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitutional Advocacy Alliance : CALL) จัดงานเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง

5 คูหา : ปฏิทินแห่งความหวัง สู่รัฐธรรมนูญใหม่

เริ่มต้นจาก ณัชปกร นามเมือง ในหัวข้อ “5 คูหา ปฏิทินแห่งความหวัง สู่รัฐธรรมนูญใหม่” ณัชปกรชวนย้อนดูปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และหนทางทั้งห้าในการที่จะข้ามผ่านปัญหาเหล่านั้นและเริ่มเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ 

ณัชปกรเริ่มอธิบายว่า ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยบอกว่าประเทศไทยอยู่ในวิกฤตรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกออกเป็นสามประเด็น

1.รัฐธรรมนูญที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอย

2. รัฐธรรมนูญที่เป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมากของประชาชน

3. รัฐธรรมนูญที่ขาดความชอบธรรมและนำไปสู่ความขัดแย้ง

รัฐธรรมนูญที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอย

รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นจุดแข็ง กลับกลายเป็นสิ่งที่รัฐทำได้แต่ประชาชนทำไมไ่ด้ และทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เช่น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่ถูกเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐ  แปลว่ารัฐต้องทำแน่นอน เมื่อปีที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดพึ่งสั่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เปิดเผยกรณีนาฬิกายืมเพื่อนว่าทำไมถึงไม่ตรวจสอบ ทุกวันนี้ ปปช. ก็ไม่เปิดเผย และต้องใช้ภาษีประชาชนจ่ายค่าปรับจนถึงทุกวันนี้ ยอมจ่ายค่าปรับแต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล นี่ถือเป็นหนึ่งเรื่องที่ทำให้เห็นว่าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ผล 

ณัชปกรยังยกตัวอย่างอีกว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา เคยกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการตั้งทนายความ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนจากสิทธิเป็นหน้าที่แทน ซึ่งทำให้การตีความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับประเด็นค่าแรงที่ประชาชนไม่มีสิทธิกำกับว่าควรจะเหมาะสมที่เท่าใด แต่กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ

รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนสถานะของระบบรัฐสวัสดิการให้การเป็นการสงเคราะห์ ในรัฐธรรมนูญ 2540 ระบุว่าประชาชนมีสิทธิในการได้รับสวัสดิการ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 เติมบริบทความเป็นผู้ยากไร้เข้าไปในกฎหมาย ทำให้รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนนูญ 

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังขยายความมั่นคงให้สามารถเป็นเหตุในการจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ จึงมีการตีคำว่า “ความมั่นคง” แบบกว้างและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้แคบๆ 

รัฐธรรมนูญที่เป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมากของประชาชน

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ 250 คน ที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) นอกจากอำนาจนี้ สว. ที่มีนัยสำคัญในการเมืองไทยยังคงมีอีก ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระหนึ่งและวาระสามจะต้องได้รับเสียง สว. หนึ่งในสาม ต่อให้สส. ทั้ง 500 คน ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่มีเสียง สว. สนับสนุนก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดกติกาไว้เช่นนั้น และอำนาจตามกฎหมายปฏิรูป เดิมการพิจารณากฎหมายจะพิจารณาแยกสองสภา แต่รัฐธรรมนูญ 2560 สร้างทางด่วนในการเสนอกฎหมายปฏิรูปประเทศ หากตีความกฎหมายใดๆ ว่าเป็นการปฏิรูปประเทศอาจมีการใช้อำนาจนี้ในการดึงการพิจารณาให้ สว. มีส่วนร่วมด้วย หากใครคุม สว. ได้ ก็เท่ากับคุมการพิจารณากฎหมายได้ ทำให้จากเดิมต้องพิจารณา โดย สส. 500 คน ต้องรวม สว. เข้าไปด้วยเป็น 750 คน

แม้ว่า 11 พฤษภาคม 2567 สว. จะหมดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ สว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงมีอำนาจในการแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย ทุกตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. ก่อน ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ถูกแต่งตั้งมาทั้งสิ้นด้วย สว. ชุดพิเศษ ที่ถูกแต่งตั้งมาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกที

มากกว่าไปกว่านั้น ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะออกนโยบายอะไรก็ตาม จะถูกโยงไปข้องเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ยังคงบังคับใช้อยู่ แม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อจากประยุทธ์เป็นเศรษฐา ถ้ารัฐบาลไม่ทำตาม สว. มีสิทธิที่จะไปร้อง ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจถูกยื่นไปให้ศาลฎีกาและอาจทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะอาจถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตอีกด้วย

รัฐธรรมนูญที่ขาดความชอบธรรมและนำไปสู่ความขัดแย้ง

ย้อนกลับไปตอนร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธ์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกแต่งตั้งมาจากคณะรัฐประหาร จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ถูกร่างจากประชาชน และในการทำประชามติ แม้ว่าจะถูกอ้างว่าชอบธรรม แต่ก็เป็นการมัดมือชก เพราะเคยมีการพูดว่า ลองโหวตโนสิ ครั้งหน้าจะร่างใหม่ให้แรงกว่าเดิม ซึ่งก็อาจทำให้หลายคนคิดว่าโหวตรับไปก่อนให้มันสามารถมีการเลือกตั้งและค่อยแก้รัฐธรรมนูญได้ 

นอกจากนี้ การทำประชามติในครั้งนั้นไม่ได้เสรีและเป็นธรรม ทำให้นอกจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาแล้ว ยังมีที่มาของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาอย่างหนักอีกด้วย 

หากยังมีใครถามว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาอย่างไร ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ พีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค และวิรัตน์ รัตนเศรษฐเคยเป็นประธานมาทั้งสองครั้ง ดังนั้นวันนี้จึงควรที่จะหยุดถามได้แล้วว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาอะไรบ้าง รวมถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกด้วย 

กำแพงสามด่าน สู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐธรรมนูญ 2560 วางกำแพงในการขัดขวางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อยู่สามด่าน 

ด่านแรกคือการต้องได้รับเสียง สว. หนึ่งในสาม ซึ่งในปี 2562 – 2566 เราเคยมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญห้าครั้ง จาก 26 ข้อเสนอ ซึ่งตกหมดเลย ยกเว้นการแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเพราะพรรคพลังประชารัฐเห็นด้วยกับการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งในครั้งนั้น แต่การแก้เรื่องสิทธิเสรีภาพ การตัดอำนาจ สว. รวมถึงพรรคภูมิใจไทยเคยเสนอให้มีการกำหนดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าก็ตกเช่นกันเพราะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. 

ด่านที่สองคือการต้องได้รับเสียงจากพรรคที่ไม่ได้เป็นประธานสภา หรือรองประธานสภา หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งคือพรรคฝ่ายค้าน แม้ในสภาวะปัจจุบันพรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่านค้านก็ไม่น่ากังวลเพราะมีจุดยืนในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เช่นกัน

ด่านที่สามจำเป็นต้องมีการทำประชามติก่อน ซึ่งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ต้องแก้ไขมาตรา 256 ก่อน ซึ่งจะแก้ไขมาตรา 256 ได้ ต้องทำประชามติก่อน นี่คือกำแพงสามด่านที่ต้องผ่านถึงจะทำให้แก้รัฐธรรมนูญได้ 

ความหวังยังคงเลือนลาง 

แม้ว่าจะมีการแลนด์สไลด์ของพรรคที่มีจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและทำให้เรามีความหวังในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เคยมีการลงนามจัดตั้งรัฐบาลผ่านการจัดทำ MOU แต่ปรากฎว่าพอมีการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต่อรัฐสภา และถูกโหวตไม่ผ่าน นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีก้าวไกล พรรคเพื่อไทยย้ำว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกจะมีการพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเดิมเคยสนับสนุนการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งก็เปลี่ยนเป็นมาจากการจัดตั้งแทน

ในการแถลงนโยบายของ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ต่อรัฐสภาว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้มีพูดเรื่อง สสร. หรือ การทำประชามติ หลังจากนั้น 13 กันยายน 2566 การประชุมคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีเรื่องการทำประชามติแต่อย่างใด แต่นายกฯ กลับไปออกคำสั่งให้มีการทำคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติขึ้นมาแทน ซึ่งใช้เวลากว่าสองถึงสามอาทิตย์ในการแต่งตั้งกรรมการ

25 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็เคาะว่าจะมีการทำประชามติสามครั้ง โดยกำหนดให้ใช้คำถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 อ้างว่ามีการท้วงจากหลายฝ่ายว่าไม่สมควรให้มีการแก้หมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ การตั้งคำถามประชามติแบบนี้จะทำให้การตีความคำถามในการทำประชามติก็ยิ่งมีปัญหามากยิ่งขึ้น 

หลังจากนั้น ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอให้รัฐสภาลดจำนวนครั้งในการทำประชามติลงเหลือสองครั้ง แต่ประธานรัฐสภากลับปัตดกเพราะอ้างว่าอาจขัดต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จึงทำให้พรรคเพื่อไทยตัดสินใจเสนอญัตติด่วนในการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใหม่ ซึ่งจะทำให้เป็นการยืดระยะเวลาในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ออกไปอีก 

กลายเป็นว่าความหวังในการมีรัฐบาลใหม่ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงเลือนลางอยู่เช่นเดิม

5 คูหา สู่รัฐธรรมนูญใหม่ 

จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาควรเลิกรอความหวังจากรัฐบาลที่จะกำหนดปฏิทินในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงอยากชวนประชาชนปักหมุดความหวังอันใหม่ห้าคูหาประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีดังนี้ 

คูหาที่หนึ่ง ประชามติครั้งที่ศูนย์ : รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดไว้ว่าต้องทำประชามติก่อน จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีคำถามที่ดี ถ้าคำถามไม่ดีหรือกำกวมไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ 

คูหาที่สอง การเลือก สว. ชุดใหม่ : หากว่าเรามี สว. ที่เป็นตัวแทนของประชาชนและมีจุดยืนในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญมีความหวังมากขึ้น 

คูหาที่สาม ประชามติครั้งที่หนึ่ง : หากมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีการทำประชามติก่อนเพื่อกำหนดว่า สสร. จะมีเนื้อหาอย่างไร

คูหาที่สี่ การเลือกตั้ง สสร. : ไปรณรงค์เลือก สสร. ที่จะเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องเลือก สว. ที่มีแนวทางที่เราต้องการ

คูหาที่ห้า ประชามติครั้งที่สอง : การทำประชามติครั้งสุดท้ายคือการทำประชามติเพื่อเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สสร. ร่างขึ้น

เส้นทางการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นได้ด้วยห้าคูหานี้เท่านั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร พูดอย่างไร ต้องดูว่ารัฐบาลจะเดินตามคูหาเหล่านี้หรือไม่ เส้นทางข้างหน้ามันอาจจะไม่ง่าย แต่สิ่งที่เคยเกิดขึ้นคือ การล่ารายชื่อรัฐธรรมนูญที่ได้รายชื่อเป็นแสน หรือแคมเปญ Conforall ที่ใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ก็ได้เป็นแสนชื่อ ปาฏิหาริย์อยู่ในมือของพวกเรา เราต้องร่วมกันทำปาฏิหาริย์นี้ให้สำเร็จ

ประชามติครั้งที่ศูนย์ เดิมพันสูงการเมืองไทย

ผู้เสวนาคนที่สองคือ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “มายด์” ในหัวข้อ “ประชามติครั้งที่ศูนย์ เดิมพันสูงการเมืองไทย” ภัสราวลี อธิบายกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2566 จนมาถึงคำถามประชามติที่ล็อกไม่ให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แตะหมวด 1 หมวด 2 พร้อมทั้งชวนภาคประชาชนร่วมกันเฝ้าระวังว่ารัฐบาลจะมีทิศทางกับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไรในอนาคต

คำสัญญาช่วงเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล

ย้อนกลับไปตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ละพรรคการเมืองก็มีนโยบายโดยเฉพาะนโยบายหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมถึงพรรคเพื่อไทย ช่วงหาเสียงเลือกตั้งภาคประชาชนก็ดูแล้วว่ามีหลายพรรคที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างพรรคเพื่อไทยก็เน้นย้ำชัดเจนว่าอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มี สสร. มาจากประชาชน 

ในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เมื่อเห็นผลการเลือกตั้งพวกเราก็มีความหวัง เพราะพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งในสภาเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองต่างก็มีนโยบายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังมีจุดยืนว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งอีกด้วย แต่สุดท้ายสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลแปดพรรคร่วมยุติลงทำให้ความหวังเลือนลางลง เพราะใน MOU ฉบับดังกล่าวมีการระบุเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไว้ด้วย

ต่อมา วันที่ 2 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยฉีก MOU แปดพรรค และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยไม่มีพรรคก้าวไกล แต่ก็มีการตั้งคำมั่นว่าจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นภารกิจสำคัญเพื่อแก้ไขวิกฤตประเทศ โดยจะใช้มติคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้มีการจัดตั้ง สสร.เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จรัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อให้ได้มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงชวนตั้งคำถามว่า หากเขาเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยยึดถือคำมั่นเหล่านี้ เรายังจะมีความหวังกับเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่ ตอนแรกเราอาจจะมีความหวัง แต่สุดท้ายก็ตกลงตัดสินไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ความหวังในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็สลายหายไป เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมนั้นไม่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่แต่อย่างใด รวมถึงการแก้ไขทุกหมวดทุกมาตราด้วย

ความหวังในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่สลายหายไป ? 

ความฝันที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะร่างใหม่ทั้งฉบับจึงหายไปจากการที่พรรคเพื่อไทยไปร่วมรัฐบาลกับขั้วรัฐบาลเดิม จึงทำให้ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาร่วมกันในแคมเปญ Conforall ล่ารายชื่อขั้นต่ำ 50,000 รายชื่อในการเสนอคำถามประชามติ ในตอนนั้นพวกเราได้เสนอคำถามว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และมี สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% เพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาจากประชาชนจริงๆ เรากังวลว่าคำถามที่จะเกิดจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะพยายามป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ จึงทำให้การทำแคมเปญของพวกเราสำคัญมาก การล่ารายชื่ออย่างเต็มที่แม้จะมีอุปสรรคที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเพิ่งมาบอกในช่วงท้ายแคมเปญว่าจะล่ารายชื่ออออนไลน์ไม่ได้ ภายในห้าวันแต่ท้ายที่สุดก็ได้รายชื่อมากว่าสองแสนรายชื่อ

คณะรัฐมนตรียังคงอยู่ในขั้นตอนเดิมๆ แม้จะเคยบอกว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกจะเคาะคำถามประชามติเพื่อเดินหน้าเลย แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เกิดขึ้น กลายเป็นเคาะตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาอีกชั้นนึงแทน แม้จะมีคนอ้างว่าการทำประชามติมีความคิดเห็นที่หลากหลายจึงต้องตั้งคณะกรรมการศึกษา แต่ก็มีคนมองว่ารัฐบาลนี้ต้องการยื้อเวลาหรือไม่ เราก็สงสัยว่าคณะกรรมการชุดนั้นจะใช้เวลานานเท่าใด ก็พบว่าใช้เวลากว่าสามเดือน ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้มีการเชิญพวกเราเข้าไปประชุมในคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติด้วย ซึ่งให้เวลาพวกเราพูดคนละสองนาที ลองนึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อมีเวลาเพียงแค่สองนาที

นอกจาการรับฟังความคิดเห็นในช่วงนั้นแล้ว เราก็ยังทำแคมเปญควบคู่กับคณะกรรมการชุดนั้น ปักธงส่งต่อ สสร. เลือกตั้งเพื่อยืนยันจุดยืนว่า คำถามประชามติที่ดีรัฐธรรมนูญจะต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ และมี สสร. มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเท่านั้น เราก็ได้มีการเชิญคณะกรรมศึกษาประชามติเข้ามาในกิจกรรมของพวกเราด้วย 

แต่สุดท้ายผลของศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้ก็กลายเป็นคำถามแบบเดิม เป็นคำถามที่เรากังวลมาตั้งแต่แรกที่รัฐบาลเพื่อไทยรวมพลังข้ามขั้วกับขั้วรัฐบาลเดิม ซึ่งจะยิ่งสร้างความสับสนและทำให้กระบวนการรัฐธรรมนูญไม่เดินหน้า นอกจากคำถามประชามติที่ล็อกไม่ให้แก้หมวด 1 หมวด 2 แล้วก็ยังมีประเด็นปัญหาว่าเราจะได้ทำประชามติหรือไม่ หากทำแล้วจะได้ทำกี่ครั้ง 

อำนาจอยู่ในมือนายกฯ เศรษฐา

ในวันนี้คณะรัฐมนตรี มีคำถามประชามติที่ต้องพิจารณาอยู่อย่างน้อยสองชุด ชุดแรกคือคำถามของภาคประชาชนที่เคยเสนอไป ชุดที่สองคือคำถามของคณะกรรมการประชามติที่ระบุว่าล็อกไม่ให้ สสร. แตะหมวด 1 หมวด 2 ไว้ เราได้ยื่นหนังสือเพื่อขอพบกับเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจเต็มในการพิจารณาคำถามนี้ ซึ่งมีสมคิด เชื้อคง มารับหนังสือและระบุว่าจะติดต่อกลับภายหลัง แต่เมื่อรับหนังสือไปแล้วจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการนัดพบ เห็นว่านายกฯ ไปหลายที่ แต่พวกเราก็ยังไม่ได้พบนายกฯ จนถึงตอนนี้ ประชามติเป็นเรื่องสำคัญ หากมีคำถามที่มีปัญหาจะยิ่งกลายเป็นอุปสรรคในกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 

ช่วงเดือนมกราคม 2566 ชูศักดิ์ ศิรินิล แถลงแนวทางในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการทำประชามติเพียงสองครั้ง และยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยแก้ไขให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมี สสร. มาจากประชาชน นอกจากนี้ก็ยังมีการยื่นเสนอแก้พ.ร.บ. ประชามติฯ ซึ่งเดิมต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น (double majority) ให้เหลือเพียงเสียงข้างมากปกติ หากกระบวนการของพรรคเพื่อไทยในส่วนนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องมีคูหาที่หนึ่ง (ประชามติครั้งที่ศูนย์) แต่ก็เป็นไปได้ว่าญัตติของพรรคเพื่อไทยจะตกเสียก่อน ซึ่งก็เป็นความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ 

นอกจากนี้ก็ 15 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลก็ได้ยื่นแก้ มาตรา 256 เช่นเดียวกัน โดยร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ กำหนดให้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 200 คน โดยแบ่งเป็น 100 คนมาจากเขต และอีก 100 คนมาจากระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะทำให้ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง 

จับตารัฐบาลและส่งเสียงเท่านั้นคือทางออก

ทั้งหมดคือภาพรวมของสถานการณ์การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร ประชาชนจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ถ้ากระบวนการจัดทำประชามติเกิด ต้องให้ความสำคัญกับคำถามประชามติ ถ้าล็อกหมวด 1 หมวด 2 จะนำไปสู่ความสับสนและทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญถูกล็อกยาว เพราะคำถามแบบนี้จะทำให้มีสองประเด็นในคำถามเดียว ประเด็นแรกคือการล็อกหมวด 1 หมวด 2 และประเด็นที่สองคือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

สมมุติว่ามีคนอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการล็อกหมวด 1 หมวด 2 จะต้องกาในบัตรประชามติอย่างไร หากกาว่าไม่เห็นด้วยเพราะอยากให้ สสร. สามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ ก็จะกลายเป็นถูกนับรวมว่าไม่ได้ต้องการการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ กรณีแบบนี้อาจสร้างความสับสนในสังคม และอาจสร้างความขัดแย้งหากหมวด 1 หมวด 2 ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นแทน 

จึงอยากชวนย้อนมาดูคำถามของ Conforall ที่เรียบง่ายและชัดเจนที่สุด ซึ่งจะรับประกันได้ว่ากระบวนการนี้จะยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เราจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังว่ารัฐบาลกำลังจะไปทางไหน จะนำสิ่งต่างๆ ไปสู่ทางตันหรือไม่ 

ภัสราวลีทิ้งท้ายว่า ยังเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้อยากแก้ไขรัฐธรรมนนูญ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราต้องเฝ้าระวังและต้องส่งเสียงของพวกเราอยู่เสมอว่าการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเขียนได้ทั้งฉบับ และต้องมี สสร. มาจากการเลือกตั้ง

#SenateforAll สว.ใหม่ อนาคตใหม่ เพื่อไทยทุกคน

ผู้เสวนาคนที่สาม ยิ่งชัพ อัชฌานนท์ อภิปรายในหัวข้อ “#SenateforAll สว.ใหม่ อนาคตใหม่ เพื่อไทยทุกคน” เล่ากระบวนการสมัครและการเลือก สว. ชุดใหม่ ที่จะมีขึ้นในช่วงพฤษภาคม 2567 

11 พฤษภาคม 2567 เดินหน้าสู่ยุคใหม่

หลังจากเก้าปีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และห้าปีภายใต้ สว. ชุดพิเศษ เรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่และความท้าทายใหม่ ทุกวันนี้พวกเราทำอะไรไมไ่ด้ สำหรับคนที่เคยคาดหวังให้กับคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ในยุคนี้ไม่ใช่หน้าที่ของเด็กๆ แต่เป็นหน้าที่ของพี่ๆ ป้าๆ ลุงๆ ทุกท่านให้มาร่วมกันเป็นทั้งผู้เล่นและผู้สังเกตุการณ์

11 พฤษภาคม 2567 จะเป็นวันที่ สว. ชุดพิเศษหมดวาระ หลังจากนั้นจะต้องมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่ ซึ่งจะสามารถทำได้เร็วสุดภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 แต่จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเพื่อไทย ทั้งนี้ก็ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องประกาศช้า หลังจากที่ สว. ชุดพิเศษหมดวาระลงก็ประกาศวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ได้เลย

สว. 67 แบ่งกลุ่มอาชีพ-เลือกกันเอง

ที่มา สว. ชุดใหม่นี้ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ได้เข้าคูหาและลงคะแนนเลือกผู้สมัครเหมือนการเลือกตั้วทั่วไป แต่กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ออกแบบมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งไม่เคยถูกใช้มาก่อนทั้งในประเทศไทยและในโลก โดยกลุ่มอาชีพแบ่งออกเป็น 20 กลุ่มที่ยังคงมีปัญหาชวนให้สงสัยถึงความเหมาะสม

ในการแบ่งอาชีพออกเป็น 20 กลุ่ม ในบางกลุ่มเช่น กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลุ่มสาธารณสุข หรือกลุ่มการศึกษา เป็นกลุ่มที่เข้าใจได้เพราะแบ่งตามสายอาชีพนั้นๆ แต่ในบางกลุ่มกับจัดให้หลายอาชีพหรือหลายอัตลักษณ์มารวมอยู่ในกลุ่มเดียวกันแบบงงๆ นอกจากนี้ยังชวนดูการแบ่งกลุ่มให้ลูกจ้างที่มีมากกว่า 20 ล้านให้คนสังกัดอยู่ภายในกลุ่มเดียว ในขณะที่กลุ่มนายจ้างต่างๆ เช่น กลุ่ม SMEs กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น และกลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม ถูกกำหนดให้มีได้ถึงสามกลุ่ม

วิธีการคัดเลือก สว. 2567

เมื่อพูดถึงการเลือกในระดับต่าง ๆ แล้ว หากผู้สมัครคนใดเข้ารอบไปถึงระดับประเทศจะเท่ากับว่า ผู้สมัครคนนั้นมีสิทธิในการโหวตได้มากถึง 42 โหวต แต่อำนาจในการโหวตนี้มีเพียงแค่ผู้สมัครเท่านั้นที่ทำได้ หากไม่ได้สมัครก็จะมีสิทธิเพียงแค่รอลุ้น รอดู และรอด่า แต่ถ้าสมัครเข้าไปนอกจากจะได้ไปสังเกตการณ์แล้วยังสามารถเข้าไปเลือกบุคคลที่เราคิดว่าสมควรจะได้เป็น สว. จริงๆ อีกด้วย 

สว. 67 เป็นตัวแทนของใคร?

ต่อให้คุณเป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัด ก็อาจจะไม่ได้รับเลือกเพราะต้องไปสู้ต่อในระดับประเทศ สุดท้ายแล้วการเลือกในระดับต่างๆ ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดว่าคุณเป็นตัวแทนของระดับนั้นๆ เมื่อถามว่าหากคุณไม่ได้เป็นตัวแทนของพื้นที่ในระดับต่างๆ จะถือเป็นตัวแทนของอาชีพเหล่านั้นหรือไม่? ก็จะเห็นได้ว่าการเลือก สว. ไม่ได้มีเพียงแค่ระบบการเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพ ยังมีการเลือกไขว้ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มอาชีพอื่นเข้ามาเลือกเราด้วย ดังนั้นก็คงไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มอาชีพและพื้นที่ในคราวเดียวกัน

ดังนั้นระบบนี้จะทำให้ สว. จะเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ 

  • มีอายุ : อย่างน้อยก็อายุ 40 ปีขึ้นไป 
  • มีเงิน : ต้องจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท รวมถึงต้องมีค่าเดินทางเพื่อไปร่วมเลือกในระดับต่างๆ
  • มีเวลา : เพราะการเลือกใช้อย่างน้อยสามวัน ในการเลือกอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ รวมถึงวันที่ไปรับใบสมัครและยื่นใบสมัครอีกสองวันด้วย รวมแล้วอาจจะต้องใช้เวลาสี่ถึงห้าวัน
  • มีเพื่อน : เพราะต้องอาศัยกลุ่มคนเดียวกันที่มีอายุ มีเงิน และมีเวลามาร่วมกันเลือกให้เราได้เป็น สว.

ทุกวันนี้ จะมีคนกลุ่มที่อยากสมัครไปเพื่อไปเป็น สว. ที่จะรักษาอำนาจของเผด็จการให้คงไว้ดังเดิม เขาอาจจะมีเงินที่จ่ายให้เพื่อนๆ ของพวกเขาไปลงสมัคร เขาอาจจะมีเครือข่ายเยอะในกลุ่มอาชีพเดียวกัน เราอาจจะคิดว่าคงจะมีคนกลุ่มนี้เยอะ แต่อย่าลืมว่าการเลือกไขว้จะต้องจับสลากกันมาเลือก คนที่อยากจะเป็นให้ตายก็อาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วจะต้องซื้อกี่เสียง ซื้อกี่ระดับ ถึงจะได้เป็น

สิ่งที่เราต้องการในวันนี้ คือ อยากให้มีผู้สมัครที่ซื้อไม่ได้ ผู้สมัครที่มีอุดมการณ์หนักแน่น เชื่อในหัวใจของตัวเอง หากคุณอยากเห็น สว. ชุดหน้าเป็นยังไง คุณต้องสมัครไปเลือกและต้องไปเลือกคนอื่นที่คุณเห็นว่าควรจะเป็น สว. จึงต้องขอร้องพี่ๆ เพราะน้องๆ ไม่สามารถสมัครได้ เกมนี้เขาไม่ให้คนรุ่นใหม่เล่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพวกพี่ๆ ถ้าท่านหนักแน่นเงินก็ซื้อท่านไม่ได้ ถ้าท่านเป็นแบบนั้น ถ้าคนเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นแบบนั้น สุดท้ายเราก็จะได้ สว. ที่เป็นตัวแทนของพวกเรา

การเลือก สว. ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่เราต้องทำให้มันคล้ายให้ได้มากที่สุด 

พวกเราทุกคนสามารถทำให้มันคล้ายการเลือกตั้งได้ ถ้าพวกเราที่มีคุณสมบัติถึงสามารถเข้าไปร่วมกันสมัครให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยกระบวนการนี้ก็จะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมกับการเลือก สว. มากยิ่งขึ้น 

เราอยากเห็นการสมัคร สว. โดยการส่งหนึ่งบ้านหนึ่งผู้สมัคร ช่วยกันตามหาตัวแทนครอบครัวที่จะร่วมกันสมัครเพื่อโหวต สำหรับใครที่อายุไม่ถึงมาช่วยกันตามหาผู้สมัคร ถ้าท่านสมัครได้หรือพบว่ามีใครที่สมัครได้ รบกวนต้องไปสมัครเลย อย่าไปคิดว่าสมัครแล้วต้องเป็น แต่ท่านต้องไปสมัครเพื่อเป็นตัวแทนของคนอีกเป็นล้านที่ไม่สามารถสมัครได้ นอกจากท่านจะไปสมัครเพื่อไปโหวตแทนพวกเราเป็นล้านคนแล้ว ขอรบกวนให้ท่านไปช่วยดูให้หน่อย เพราะคนนอกห้ามเข้าไปจับตาการเลือกตั้ง พวกเราเข้าไปไม่ได้ คนเดียวที่เข้าไปได้ แล้วดูว่าการเลือกตั้งมันเป็นธรรมมั้ย นับคะแนนถูกมั้ย คือผู้สมัครเท่านั้น 

เราจะมีเว็บไซต์ senate67.com เพื่อเป็นพื้นที่ตรงกลางให้คนเข้ามาเช็กคุณสมบัติของตัวเองได้และสามารถให้ท่านที่สมัครสามารถเข้าไปแนะนำตัวในฐานะผู้สมัครได้ และจะมีการจัดระบบข้อมูลให้ท่านดูได้ว่าใครสมัครที่ไหนบ้าง เพราะการประกาศบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไร อาจจะดูไม่ทันก็ได้ ดังนั้นเว็บไซต์นี้จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะชวนท่านมาประกาศตัวและดูว่าใครสมัครที่ไหนบ้าง


ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมเลย คนที่จะเป็น สว. ชุดใหม่ ก็จะไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลย ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพ หรือพื้นที่ หรือของพวกเรา และเลวร้ายที่สุดก็อาจจะเป็นคนที่ซื้อได้ ในอนาคตเราอาจจะมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเข้าไปอีก และเราจะก็ไปไหนไม่ได้ ถ้ายังมี สว. แบบเดิม ถ้าอยากให้ห้าปีข้างหน้าเรามีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญบ้าง อย่างน้อยก็ไป สมัครเพื่อโหวต