กสทช. อำนาจเต็ม ชี้ขาดดีลควบรวมทรู-ดีแทค

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเดินทางมาถึงจุดหักเหครั้งใหญ่ เมื่อสองผู้ให้บริการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (DTAC) ประกาศความต้องการจะควบรวมกิจการกัน ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าจะส่งผลเสียต่อการแข่งขันที่น้อยลงจากผู้เล่นน้อยราย และทำให้ผู้บริโภคอาจจะต้องแบกรับค่าบริการที่มากขึ้น โดยคำถามทั้งหมดก็ได้มุ่งตรงไปที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อกรณีนี้

ในที่สุด “เผือกร้อน” ที่มีเดิมพันหลักแสนล้านบาทและเอาอนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเป็นประกันก็ต้องมาตกอยู่ในมือของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลตลาดโทรคมนาคม ในขณะที่ กสทช. อ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายเมกะดีลครั้งนี้ โดยผู้ควบรวมมีหน้าที่เพียงแค่ต้อง “รายงาน” ให้กับผู้กำกับดูแลทราบเท่านั้น แต่ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 แท้จริงแล้วกลับให้อำนาจ กสทช. ไว้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่ “การอนุญาต” การควบรวมกิจการหรือไม่ก็ได้ ไปจนถึงการกำหนดเงื่อนไขป้องกันการผูกขาด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ กสทช. ถืออยู่ในมือ

ความอิหลักอิเหลื่อของ กสทช. ท่ามกลางเมกะดีลสะเทือนวงการโทรคมนาคม

กสทช. เป็นองค์กรอิสระจัดตั้งขึ้นในปี 2553 ในฐานะส่วนหนึ่งของกระแสการปฏิรูปการเมืองที่มาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2540 โดยทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็น “ทรัพยากรสาธารณะ” ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่การทำหน้าที่ของ กสทช. ก็ต้องหยุดชะงักลงเมื่อมีการรัฐประหาร 2557 และเกิดการแทรกแซงอย่างหนักจากรัฐบาลทหารผ่านการใช้อำนาจพิเศษ

ทันทีที่มีการประกาศความต้องการจะควบรวมกันระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมอันดับสองและสามในตลาด กสทช. ก็ต้องตกอยู่ในความสนใจจากสังคม คำถามแรกที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือใครจะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาเมกะดีลทรู-ดีแทคนี้ ความสนใจแรกพุ่งตรงไปที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในฐานะองค์กรตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งดูแลการแข่งขันในตลาดไทย อย่างไรก็ตาม กขค. ซึ่งก่อนหน้านี้มีผลงานจากการอนุมัติการควบรวมซีพี-เทสโก้โลตัสแบบมีเงื่อนไข ก็รีบดีดตัวออกจากดีลทรู-ดีแทคอย่างรวดเร็ว โดยอ้างว่ากฎหมายยกเว้นให้เป็นหน้าที่ของ กสทช.

นอกจากจะต้องมารับหน้าที่อันหนักอึ้งแล้ว กสทช. ยังเจอปัญหาการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่ล่าช้า ทั้งที่วุฒิสภาลงมติให้แคนดิเดต 5 คนจาก 7 คน เป็นบอร์ด กสทช. ชุดใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 แล้ว แต่กว่าจะได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็ต้องรอถึงเดือนเมษายน 2565 ซึ่งดีลทรู-ดีแทคนั้นมีการพิจารณากันมาสักพักหนึ่งแล้ว ในระหว่างที่บอร์ดชุดใหม่ยังไม่ได้เข้าทำหน้าที่ บอร์ดชุดเก่าก็ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่กล้าจะขยับเขยื้อนมากเนื่องจากตนเองก็ใกล้จะหมดวาระหน้าที่แล้ว ในขณะที่เมื่อบอร์ดชุดใหม่เข้ามารับตำแหน่ง ก็ต้องเจอกับดีลใหญ่เป็นความท้าทายแรกทันที

อำนาจของ กสทช. มีแค่ไหนกันแน่

ประเด็นหลักของการพิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคอยู่ที่ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กสทช. มีมากแค่ไหนในการควบรวมกิจการของสองยักษ์ใหญ่นี้ ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ยืนยันมาโดยตลอดว่าตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ข้อ 5 ระบุเพียงให้ผู้ได้รับใบอนุญาต “รายงาน” ต่อ กสทช. อย่างน้อย 90 วันก่อนการดำเนินการ แต่ไม่มีอำนาจในปฏิเสธการควบรวม ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น

หากพลิกเปิดเอกสารที่ทรูและดีแทคเผยแพร่ จะพบถ้อยคำที่กล่าวถึงอำนาจของ กสทช. ในระดับที่ต่างกัน ในเอกสารสารสนเทศที่ผู้ถือหุ้นใช้ประกอบการพิจารณาการลงมติเพื่อควบรวมนั้นปรากฏเพียงว่าให้มีการ “นำส่งรายงานการรวมธุรกิจต่อ กสทช” แต่ไม่ได้กล่าวถึงอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขหรือไม่อนุญาตการควบรวมแต่อย่างใด ส่วนในรายงานความเห็นของที่ปรึกษาอิสระของทรูซึ่งว่าจ้าง KKP ระบุว่าการควบรวมกิจการอาจจะมีความเสี่ยงที่ “กสทช. จะกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะให้บริษัทที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ” ในขณะที่รายงานความเห็นของที่ปรึกษาอิสระของดีแทคซึ่งว่าจ้าง TISCO กลับมีการกล่าวถึงความเสี่ยง “ที่จะไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับอนุญาตล่าช้ากว่าที่กำหนดการที่วางไว้ในการดำเนินการควบบริษัท นอกจากนี้ กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขการดำเนินธุรกิจของบริษัทใหม่ เพื่อลดผลกระทบของการควบบริษัทต่อผู้บริโภค”

ด้าน กสทช. ก็ยืนยันว่าตนเองมีอำนาจตามข้อ 5 ของประกาศฯ พ.ศ. 2561 เพียงแค่ “พิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้” ไม่ได้มีขอบเขตถึงการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวม ดังนั้น ผู้ควบรวมกิจการก็ยังมีหน้าที่เพียงแค่มารายงานให้กับ กสทช. ทราบ

จนถึงตอนนี้ ก็มีการอ้าง “กฎหมาย” เพื่อกดดันให้ กสทช. มีมติเกี่ยวกับดีลทรู-ดีแทคเสียที แต่ท่ามกลางความสับสนว่าแท้จริงแล้ว กสทช. มีอำนาจมากเท่าใด ทางที่ดีที่สุดในการพิจารณาเรื่องนี้ก็คือการกลับไปดูที่ตัวกฎหมายระบุถึงหน้าที่ และให้อำนาจกับองค์กรอิสระผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมไทย

4 กฎหมาย 3 ประกาศ ยืนยันอำนาจหน้าที่ กสทช. หยุดการผูกขาด

การจะพิจารณาอำนาจหน้าที่ของ กสทช. อย่างรอบด้านนั้นไม่สามารถหยุดอยู่ที่ข้อ 5 ของประกาศฯ พ.ศ. 2561 ได้ หากแต่ต้องดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย ไม่เว้นแม้แต่ข้ออื่นของประกาศฯ พ.ศ. 2561 เพื่อไม่ให้ กสทช. ชิง “ตัดอำนาจ” ของตนเองในการปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมไปเสียก่อน โดยมีกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ และประกาศ กสทช. อีกอย่างน้อย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อการกำกับดูแลการควบรวมกิจการโทรคมนาคม

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
  2. พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
  3. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
  4. พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

ประกาศที่เกี่ยวข้อง

  1. ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
  2. ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2557
  3. ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561

ที่มาของอำนาจหน้าที่ของ กสทช. แรกสุดนั้นผลิงอกออกมาจากรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เริ่มกำหนดให้คลื่นความถี่เป็น “ทรัพยากรสาธารณะ” องค์กรอิสระอย่าง กสทช. จึงเกิดขึ้นมาเพื่อจัดสรรและกำกับดูแลเพื่อให้การให้กิจการโทรคมนาคมเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมและประชาชน

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสูงสุดของประเทศมาหลายฉบับ แต่บทบัญญัติเรื่องคลื่นความถี่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 มีการระบุไว้ในทำนองเดียวกันว่าคลื่นความถี่เป็น “สมบัติของชาติ … เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” โดยไม่ว่าการใช้ประโยชน์แบบใด ก็ “ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย”

มาตรา 60 ระบุต่อว่าให้จัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลคลื่นความถี่ ซึ่งก็คือ กสทช. มีหน้าที่ต้อง “ป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจําเป็น ป้องกันมิให้คลื่นความถี่รบกวนกัน รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน และป้องกันมิให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คํานึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป รวมตลอดทั้งการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

เมื่อเปิดต่อไปถึงพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ให้อำนาจ กสทช. ก็จะเห็นรายละเอียดมากขึ้น มาตรา 27 กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมไทยไว้โดยกล่าวถึงอำนาจในกรณีที่อาจจะเกิดการผูกขาดหรือทำลายการแข่งขันทางการค้าเอาไว้

(11) กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
(13) คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับ กสทช. และมีการกล่าวถึงการผูกขาดเอาไว้คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 ให้อำนาจ กสทช. ในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด หรือทำให้การแข่งขันน้อยลง หากมีการใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ยังระบุให้การประกอบกิจการโทรคมนาคม “อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า” ซึ่งเป็นสิ่งที่ กสทช. หรือผู้ต้องการควบรวมกิจการปฏิเสธที่จะไม่พูดถึงว่าการควบรวมครั้งนี้ต้องเอาพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เข้าพิจารณาด้วย

ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันมากและถูกใช้เป็นข้ออ้างในการตัดอำนาจการอนุญาตของ กสทช. ก็คือ ประกาศ กสทช. ให้อำนาจไว้มากเท่าใด แต่เดิม กสทช. เคยออกประกาศ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งให้อำนาจ กสทช. ไว้อย่างเต็มที่ สามารถห้ามการควบรวมกิจการที่อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันได้ บริษัทผู้ถือใบอนุญาตคมนาคมจึงจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช. เท่านั้น ต่อมา กสทช. ก็ได้ออกประกาศมาอีกฉบับหนึ่ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่ง “ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง” โดยอิงจากค่าดัชนี HHI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราการกระจุกตัวของธุรกิจในตลาด

ปัญหาอยู่ที่ว่าในประกาศฉบับล่าสุด เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งได้ยกเลิกประกาศฯ พ.ศ. 2553 ไปนั้น มีการใช้ข้อความที่ต่างออกไปจากเดิม แทนที่จะเขียนอย่างตรงไปตรงมาว่าผู้ต้องการควบรวมกิจการโทรคมนาคมต้องขออนุญาตจาก กสทช. ประกาศฯ พ.ศ.2561 กลับระบุว่า

ข้อ 5 ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนการดำเนินการ

การเขียนโดยใช้คำว่า “ต้องรายงาน” นั้นนำไปสู่การตีความของ กสทช. ว่าตนเองไม่มีอำนาจในการ “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมกิจการเหมือนดังประกาศฉบับก่อนหน้า มีเพียงแต่อำนาจตามข้อ 12 ที่ระบุว่าในกรณีที่การควบรวมกิจการทำให้ค่า HHI มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงจากเดิม 100 รวมถึงสร้างอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดอย่างมีนัยยะสำคัญ กสทช. “อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนํามาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสําคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ” ทำให้ผู้ควบรวมกิจการมีหน้าที่เพียงรายงานเท่านั้น

อำนาจของ กสทช. ก็อาจจะมีเท่านี้หากประกาศฯ พ.ศ. 2561 จบลงที่ข้อ 5 แต่สิ่งที่ กสทช. มักจะไม่พูดถึงก็คือข้อ 9 ของประกาศฉบับเดียวกันซึ่งระบุเพิ่มเติมว่า “การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8” ของประกาศฯ พ.ศ. 2549 ดังนั้น การรายงานการควบรวมกิจการจึงไม่จบที่กระบวนการรายงาน แต่ถือเป็นการ “ขออนุญาต” ด้วย เราจึงจำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปดูประกาศฉบับเก่าว่ามีการเขียนไว้เช่นใดเพื่อพิจารณาอำนาจของ กสทช. ในกำกับดูแลการควบรวมกิจการโทรคมนาคมอย่างถี่ถ้วน

ประกาศฯ พ.ศ. 2549 ข้อ 8 ใจความว่า การซื้อหุ้นของธุรกิจประเภทเดียวกันมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป รวมถึงการควบรวมกิจการ “ไม่ว่าจะการกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือผ่านตัวแทน จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ … กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามวรรคหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการอาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะ”

ดังนั้น กสทช. จึงมีอำนาจอย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตราการเฉพาะเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่หากเห็นว่าการควบรวมกิจการจะส่งผลเสียให้เกิดการผูกขาด ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนตามหน้าที่ของตนเองในรัฐธรรมนูญ กสทช. ก็มีอำนาจในการ “ไม่อนุญาต” การควบรวมกิจการด้วยเช่นกัน แต่หาก กสทช. มีมติอนุญาตให้ควบรวม ก็ยังสามารถออกมาตรการหรือเงื่อนไขเพื่อลดผลเสียที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันที่น้อยลง ตั้งแต่การควบคุมราคาและคุณภาพ การบังคับขายคลื่นความถี่หรือโครงสร้างพื้นฐานให้กับผู้เล่นรายใหม่ หรือการบังคับให้ปล่อยเช่าเสาสัญญาณในราคาต้นทุนให้กับผู้เล่นรายใหม่เพื่อสร้างการแข่งขัน ซึ่งมาตรการที่ กสทช. สามารถนำมาใช้ได้ถูกระบุไว้ในข้อ 13 ของ ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2557 อยู่แล้ว

เมื่อเสาะหาถ้อยคำในกฎหมายข้างต้นแล้วจะได้ข้อสังเกตสำคัญว่า กสทช. ต้องพิจารณาประกาศฯ พ.ศ. 2549 (ข้อ 8) ประกาศฯ พ.ศ. 2557 (ข้อ 13) ประกาศฯ พ.ศ. 2561 (ข้อ 5 และ 9) ควบคู่กันพร้อมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ดึงดันอยู่แต่เพียงข้อ 5 ของประกาศฯ พ.ศ. 2561 เพื่อตัดอำนาจตนเองเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้กำกับดูแลยังต้องคำนึงถึงอำนาจและหน้าที่ของตนเองตามกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ อันได้แก่ พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ในการคุ้มครองผลประโยชน์ของส่วนรวมและต่อต้านการผูกขาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยด้วย

แต่หาก กสทช. ยังคงยืนยันตัดอำนาจตัวเอง กนกนัย ถาวรพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าหากเป็นเช่นนั้น พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ก็ยังสามารถนำมาใช้พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวมกิจการได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ยกเว้นไม่อย่างเด็ดขาด เมื่อกฎหมายที่ กสทช. มีอยู่ในมือไม่สามารถกำกับการควบรวมได้อย่างเต็มที่ ก็สามารถนำอำนาจตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้ามาอุดรอยรั่วได้

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank คำนวณผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมว่าหากการควบรวมประสบความสำเร็จโดยไม่มีมาตรการมาเยียวยา จำนวนผู้เล่นหลักในตลาดโทรคมนาคมไทยจะลดจาก 3 รายเหลือเพียง 2 ราย ซึ่งจะเป็นการหันหลังให้กับแนวโน้มการแข่งขันทางด้านคุณภาพและราคาอย่างดุเดือดในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ตลาดที่มีผู้ให้บริการเพียง 2 รายนี้ก็มีโอกาสจะเกิดการ “ฮั้ว” กันระหว่างผู้ให้บริการและทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้น 15-50 บาทต่อเดือน และทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้ยากขึ้นจากการผูกขาดโครงสร้างพื้นฐาน การคำนวณยังพบอีกว่าการควบรวมจะทำให้ค่าดัชนี HHI พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ในตลาดโทรศัพท์มือถือ จากเดิมที่ค่า HHI อยู่ที่ 3,578 ก็จะเพิ่มเป็น 4,737 ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนด 2,500 ไปมาก

ล่าสุด เมื่อ 9 พฤษภาคม 2565 กสทช. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) การควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค ครั้งแรก และจะมีโฟกัสกรุ๊ปครั้งต่อไปสำหรับรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งจะต้องร่วมกันจับตาการทำงานของกสทช. ว่า ท้ายที่สุดแล้วกสทช.จะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนหรือไม่