สัปดาห์แรก เดือนมกราคม : 7 คนไทยนอนคุกต่อ 7 แกนนำแดงไม่ได้ประกัน

ครม.เห็นชอบกม. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ สื่อ

เมื่อวันที่ วันที่ 4 มกราคม 2554 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ  และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป 

ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีรายละเอียดคือ สื่อมวลชนมีสิทธิ์จัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรม ซึ่งมีอยู่ 7 หมวดด้วยกัน คือ 1.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 2.จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 3.คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 4.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 5.การวินิจฉัยเรื่อง ร้องเรียน 6.มาตรการส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 7.โทษทางปกครอง ที่มา ไทยโพสต์ และ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย

สธ.ชงแก้กฎหมาย"สกัดบุหรี่" อายุต่ำกว่า20ห้ามซื้อ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 โดยตนจะลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเร็วๆ นี้ สำหรับสาระสำคัญในการแก้ไข ประกอบด้วย เสนอแก้ไขคำนิยามของคำว่า "ผลิตภัณฑ์ยาสูบ" ซึ่งปัจจุบันหมายถึงบุหรี่ทั่วไป แต่จะแก้ไขเป็น "ผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ" นอกจากนี้จะแก้ไขนิยามคำว่า "ขาย" ให้หมายความรวมถึง "การจำหน่าย จ่ายแจก แลกเปลี่ยน และให้เพื่อประโยชน์ทางการค้า" รวมทั้งแก้ไขนิยามคำว่า "โฆษณา" ให้รวมถึงการสื่อสารทางการตลาดด้วย

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ยังมีการแก้ไขในประเด็นการขาย จากเดิมที่ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีซึ่งจะทำให้การเข้าถึงหรือซื้อบุหรี่ได้น้อยลง นอกจากนี้ยังห้ามให้ (แจก) บุหรี่ ห้ามขายโดยใช้เครื่องอัตโนมัติ ห้ามขายทางอินเทอร์เน็ต ห้ามแบ่งขาย ห้ามลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย รวมทั้งวิธีการอื่นใดตามที่ สธ.กำหนด ส่วนประเด็นการโฆษณานั้นจะแก้ไขห้ามให้มีการโฆษณาทั้งยี่ห้อและ ชื่อบริษัท ทั้งบุหรี่ที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ และห้ามแสดงซองบุหรี่ ณ จุดขายด้วยที่มา ไทยโพสต์

ไต่สวนเสร็จ 7 คนไทยนอนคุกต่อ รอประกัน10 ม.ค.

เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ศาลกัมพูชาในกรุงพนมเปญเริ่มต้นไต่สวนคดี 7 คนไทยข้ามแดนโดยผิดกฎหมายตั้งแต่เวลา 08.00 น. หลังคนไทยทั้งหมดถูกจับกุมบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้วเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553  โดยการไต่สวนเสร็จสิ้นเวลา 19.15 น. 

การ ไต่สวนครั้งนี้เป็นการไต่สวนลับ มีเพียงคนไทย 7 คน ทนายความและอัยการกัมพูชาเท่านั้นที่อยู่ในห้องพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ทั้ง 7 คนยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในคุกต่ออีก เนื่องจากวันที่ 7 มกราคม เป็นวัน  Victory Day Over Genocide วันหยุดของสถานที่ราชการในกัมพูชารวมทั้งศาลด้วย

โดยทั้ง 7 คนยังถูกตั้งแค่ 2 ข้อหาเหมือนเดิม คือ การรุกล้ำพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต  และการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หลังมีข่าวตลอดทั้งวันว่า อัยการกัมพูชาเตรียมแจ้งข้อหานายวีระเพิ่มเติม คือ จารกรรมข้อมูลทางทหารซึ่งเป็นหลักฐานที่ได้จากกล้องของนายวีระ ที่มา กระปุกดอทคอม

ศาลไม่ให้ประกัน 7 แกนนำ นปช. ทนายหารือเตรียมอุทธรณ์ใน 15 วัน

เมื่อวันที่ 4 มกราคม เวลา 13.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นางธิดาและนายนรินทร์พงศ์ เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 7 แกนนำ นปช. ที่ตกเป็นจำเลยคดีร่วมกันก่อการร้าย โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด คนละ 3 ล้านบาท รวม 21 ล้านบาท และสำเนายกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล หนังสือสำเนาคำแนะนำของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อความ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และสำเนาคำแนะนำของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ที่ให้เขียนคำร้องขอปล่อยตัว 7 แกนนำ ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายนิสิต สินธุไพร, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย และนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดง ประมาณ 50 คนติดตามมาให้กำลังใจด้วย

ต่อมาเวลา 16.00 น. ศาลได้พิเคราะห์คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่าศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยมาก่อน โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง

สำหรับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า ก่อนหน้านี้ที่จำเลยที่ 3, 4, 5, 6, 7, 8 และ 10 รวม 7 คน เป็นผู้ต้องหาได้เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งศาลไม่อนุญาต จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์แต่ศาลก็ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลเป็นทำนองเดียวกันว่า ข้อหาตามคำร้องมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงจะหลบหนี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553 จำเลยทั้ง 7 คน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต ให้เหตุผลว่ากรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ที่มา ประชาไท

อธิบดีดีเอสไอ เตรียมไล่บี้กลุ่มทุนเลี่ยงภาษี เรียกเก็บภาษีพร้อมเบี้ยปรับจากกลุ่มทุน เผยก่อตั้งกรมนาน 7 ปี เรียกคืนภาษีแล้วกว่า 14,000 ล้าน

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงผลการดำเนินคดีของสำนักคดีภาษีอากรเพื่อเรียกเงินภาษีที่ถูกหลบ เลี่ยงกลับคืนให้รัฐ ว่า ดีเอสไอได้เร่งรัดดำเนินคดีสำแดงเท็จเพื่อหลบเลี่ยงภาษีทั้งภาษีเงินได้ ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิต นับจากก่อตั้งดีเอสไอปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ดีเอสไอสามารถเรียกคืนภาษีกลับคืนให้รัฐได้ 14,502,831,516 บาท โดยในปี 2552 มีการดำเนินคดีเรียกเก็บภาษีพร้อมเบี้ยปรับจำนวน 2,989,693,015 บาท และในปี 2553 มีการดำเนินคดีเรียกเก็บภาษีพร้อมเบี้ยปรับจำนวน 102,904,861 บาท เช่น กรณีบริษัทริชมอนเด้ ซึ่งนำเข้าสุราต่างประเทศยี่ห้อดัง เสียภาษีไม่ถูกต้อง ทำให้รัฐเสียหายกว่า 1,500 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทได้แจ้งมายังดีเอสไอว่าจะยอมเสียภาษีดังกล่าวที่หลบเลี่ยงไป พร้อมค่าปรับทั้งหมด ซึ่งทำให้มีรายได้เข้ารัฐเพิ่มมากขึ้น ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

ศาลรับฟ้อง2สัปเหร่อ นัดพร้อม14มี.ค.

ที่ ศาลอาญา กรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง 53 เมื่อเวลา 10.00 น. นายฤชา ไกรกฤษ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้ยื่นฟ้องนายสุชาติ ชูมี ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สัปเหร่อ วัดไผ่เงินโชตนาราม และนายสุเทพ ชะบางบอน สัปเหร่อวัดไผ่เงินโชตนาราม เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในความผิดฐานร่วมกันทำลายซ่อนเร้นพยานหลักฐานในการกระทำความผิด เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ให้ต้องรับโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184 อัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

จีนเตรียมออกกฎหมาย "การเยี่ยมพ่อแม่" ให้ถือเป็นหน้าที่ของประชาชน

ทางการจีนเตรียมออกกฎหมายให้การเยี่ยมบิดามารดาถือเป็นหน้า ที่ทางกฎหมายของประชาชน ภายใต้ร่างคำแปรญัตติทางกฎหมาย ผู้สูงอายุสามารถเรียกร้องสิทธิในการได้รับการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จากบุตรหลานของตนต่อศาลได้

อย่างไรก็ตามนายเฉียน จุน ทนายความรายหนึ่งกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้อาจมีอุปสรรคในการนำไปบังคับใช้จริง"มันอาจจะดีกว่าหากว่าเราเพิ่มประสิทธิภาพในการศึกษาด้านศีลธรรมให้กับ ประชาชน แทนที่เราจะบังคับให้ประชาชนต้องทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้"ที่มา มติชน