รวมผลเลือกตั้ง66 พลิกโผ ปิดตำนานบ้านใหญ่-ตระกูลการเมือง

การเมืองบ้านใหญ่หรือตระกูลการเมือง ที่ครองพื้นที่ครองกระแสมาทุกการเลือกตั้งในหลายๆ จังหวัดอันเป็นภาพสะท้อนระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทยเป็นอย่างดี และส่งผลให้ประชาชนคุ้นเคยคุ้นหูกับนามสกุลของนักการเมืองเหล่านี้ หลายคนก็มีผลงานที่โดดเด่นทั้งในสภาและในพื้นที่ แต่อีกหลายคนก็โดดเด่นแค่ในพื้นที่แต่ในสภาอาจไม่โดดเด่นและไม่เป็นที่น่าจดจำเท่ากับนามสกุลของพวกเขา

จากรายงาน ผลการเลือกตั้งปี 2566 เบื้องต้น สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการพลิกหน้าภูมิทัศน์การเมืองไทยเพราะมีผลทำให้หลาย “บ้านใหญ่” แตกกระจุยและหลาย “ตระกูล” ที่ครองพื้นที่ด้วยการสลับส่งคนใกล้ชิดหรือทายาทลงแข่งเป็นสายต่อเนื่องกันต้องพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ไปไม่น้อย แต่อย่างไรเสีย ยังคงมีบางพื้นที่เช่นกันที่บ้านใหญ่และตระกูลการเมืองสามารถรักษาฐานที่มั่นของตนไว้ได้อีกสมัย จึงอยากชวนส่องบ้านใหญ่-ตระกูลการเมืองบางส่วนที่พลาดท่าอดเข้าสภากันไปในรอบนี้  

ภาคเหนือ เชียงใหม่-เชียงราย-ลำปาง บ้านใหญ่สังกัดเพื่อไทยเสียที่นั่งหลายเขต  

ภาคเหนือฐานที่มั่นของ “พรรคเพื่อไทย” โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นเมืองหลวงของพรรคและถือเป็น “จังหวัดที่แพ้ไม่ได้” ในรอบนี้โดนพรรคก้าวไกลตีแตกมากถึง 7 เขต จากทั้งหมด 10 เขต ยิ่งไปกว่านั้นจังหวัดเชียงราย และจังหวัดลำปาง ก็เสียเก้าอี้แชมป์ที่เคยครองกันมาหลายสมัยให้กับพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน

เชียงใหม่

“ตระกูลบูรณุปกรณ์” เป็นที่รู้จักทั้งในแวดวงการเมืองท้องถิ่นไปจนถึงการเมืองระดับชาติของเชียงใหม่ ในครั้งนี้ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่สองสมัยลงแข่งขันในพื้นที่เชียงใหม่เขต 3 เสียเก้าอี้ให้กับ ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล จากพรรคก้าวไกล ทั้งนี้ ผู้สมัครจากก้าวไกลแม้จะเป็นหน้าใหม่ทางการเมืองแต่ถ้าดูจากต้นสายนามสกุลก็คุ้นตาไม่น้อยทีเดียวเพราะ “ณัฐพล” เป็นบุตรชายของ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายก และอดีต รมว.ต่างประเทศสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์และก่อนหน้าเป็นอดีต ส.ส.เชียงใหม่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยพ่ายแพ้ให้กับตระกูลบูรณุปกรณ์ในการเลือกตั้งปี 2544

ส่วนเขต 1 อดีต ส.ส.เพื่อไทยปี 2562 จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ครั้งนี้ลงสมัครสลับเขตกับทัศนีย์ ก็พ่ายแพ้ให้กับ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู จากก้าวไกล โดยนามสกุล “ใหม่ชมภู” แม้จะไม่คุ้นชินในการเมืองระดับชาติแต่ก็มีรากฐานในระดับท้องถิ่นของเมืองเชียงใหม่

การสูญเสียพื้นที่เชียงใหม่หลายเขตทำให้ฐานที่มั่นของเพื่อไทยสั่นคลอนถึงแม้ตระกูล “อมรวิวัฒน์” และ“โกฎคำลือ” ที่ครองเก้าอี้ ส.ส.เชียงใหม่หลายสมัยจะยังสามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้ในเขต 5 และเขต 10 แต่ก็สร้างความตกตะลึงให้แก่ฐานเสียงของเพื่อไทยไม่น้อยเลยทีเดียว

เชียงราย

“ตระกูลจงสุทธานามณี” หนึ่งสกุลที่ครองฐานที่มั่นในพื้นที่เชียงรายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยครั้งนี้ตัวแทนจากจงสุทธนามณีลงในเขต 1 คือ ธนรัช จงสุทธานามณี จากพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้กับ ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ จากพรรคก้าวไกล

“ตระกูลเตชะธีราวัฒน์” ในรอบนี้ตัวตึงเก่าของพรรคเพื่อไทย วิสาร เตชะธีราวัฒน์ และ วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ อดีตส.ส เชียงรายหลายสมัยในครั้งนี้ทั้งคู่ลงเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อและส่งทายาทของตนลงเขตแทน โดยเขต 3 วิกรม เตชะธีราวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้กับ ฐากูร ยะแสง จากพรรคก้าวไกล ถึงกระนั้นพื้นที่เขต 4 ของ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีตส.ส.เชียงรายของเพื่อไทยปี 2554 รอบนี้ก็ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม พื้นที่จังหวัดเชียงรายอีกหนึ่งบ้านใหญ่ที่มีชื่อเสียงคือ “ติยะไพรัช” รอบนี้ส่งตัวแทนลงเขตในนามพรรคเพื่อไทยสองคนคือ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อชาติ ซึ่งชนะการเลือกตั้งในพื้นที่เขต 2 ทำให้เพื่อไทยยังรักษาที่นั่งในเชียงรายไว้สำเร็จอีกหนึ่งที่ แต่อีกคนคือ ละออง ติยะไพรัช อดีตส.ส.เขตเชียงรายสี่สมัยรอบนี้ลงแบบบัญชีรายชื่อซึ่งคะแนนนิยมพรรคมีไม่พอที่จะนำพาถึงลำดับ 32 จึงทำให้ไม่ได้เข้าสภาในรอบนี้  นอกจากนี้ ติยะไพรัชที่พึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกหนึ่งคนคือ ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติซึ่งคะแนนความนิยมทั้งพรรคและเขตรอบนี้มีไม่มากพอที่จะส่งผู้สมัครจากเพื่อชาติเข้าสภาได้แม้แต่คนเดียว

ลำปาง

“ตระกูลโล่ห์สุนทร” สังกัดพรรคเพื่อไทย ลงชิงชัยในพื้นที่ลำปางเขต 1 และเขต 2 นำทัพโดยสกุลโล่ห์สุนทรซึ่งในครั้งนี้ชนะเขต 2 เพียงเขตเดียว แต่เขต 1 กิตติกร โล่ห์สุนทร พ่ายแพ้ให้กับทิพา ปวีณาเสถียร จากพรรคก้าวไกลและเป็นอดีตผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่

“ตระกูลจันทรสุรินทร์” สังกัดพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกันในเขต 3 และเขต 4 โดยเขต 3 ผู้สมัครคืออดีต ส.ส.จรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ ในรอบนี้พ่ายแพ้ขาดลอยให้กับ ชลธานี เชื้อน้อย จากพรรคก้าวไกล  ส่วนเขต 2 พินิจ จันทรสุรินทร์ แพ้ขาดลอยเช่นเดียวกันให้กับ รภัสสรณ์ นิยะโมสถ จากพรรคก้าวไกล 

ภาคอีสาน บ้านใหญ่ยังแข็งแกร่งในหลายจังหวัด แต่โคราช-ศรีสะเกษ-นครพนม-อุดร-ขอนแก่น บางเขตไม่รอด 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานเป็นภูมิภาคใหญ่ที่สุดในไทย มีบ้านใหญ่และหลายตระกูลที่ครองพื้นที่อยู่กระจายกันออกไปโดยส่วนใหญ่จะสังกัดพรรคเพื่อไทย , พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติพัฒนากล้า ผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้หลายพื้นที่เจ้าของพื้นที่เดิมยังครองใจคนในพื้นที่ได้ มีเพียงบางเขตเท่านั้นที่ผู้สมัครหน้าใหม่สามารถโค่นล้มเจ้าถิ่นได้สำเร็จ

นครราชสีมา

“ตระกูลลิปตพัลลภ” มุ่งทวงพื้นที่โคราชด้วยความมั่นใจในความเป็นพรรคชาติพัฒนาเดิมซึ่งตอนนี้กลายเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า โดยเทวัญ ลิปตพัลลภ นำทัพลงชิงชัยในเขต 1 พ่วงด้วยตำแหน่งแคนดิเดตนายกแต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ ฉัตร สุภัทรวณิชย์ จากพรรคก้าวไกลที่ชนะเจ้าถิ่นโคราชทิ้งห่างมากกว่าเจ็ดพันคะแนน

“ตระกูลกาญจนวัฒนา” บ้านใหญ่คุมท้องถิ่นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันลงในนามพรรคชาติพัฒนากล้าในเขต 3 และเขต 4 แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ทั้งสองเขต โดยเขต 3 สมศักดิ์ กาญจนวัฒนา แพ้ให้กับ ศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ จากพรรคก้าวไกล ส่วนเขต 4 สมบัติ กาญจนวัฒนา แพ้ให้กับณัฐจิรา อิ่มวิเศษ จากพรรคเพื่อไทย

“ตระกูลรัตนเศรษฐ” อีกหนึ่งบ้านใหญ่โคราชที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่ปี 2562 เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี สำหรับ วิรัช รัตนเศรษฐ อดีตส.ส.เขตนครราชสีมาหลายสมัยและเป็นอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐซึ่งรับหน้าที่สำคัญคืออดีตวิปฯ ฝ่ายรัฐบาล แต่ผลการเลือกตั้งปี 2566 ร่วมตัดตอน “รัตนเศรษฐ” ไม่ให้แจ้งเกิดในสภาเพราะทั้งตัววิรัช และลูกชาย อธิรัฐ ในรอบนี้ก็ลงส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ แต่ก็ไม่สมหวังเพราะคะแนนที่พลังประชารัฐได้มาไม่มากพอที่จะส่งสองพ่อลูกเข้าสภาอีกครั้ง อีกทั้งครอบครัวรัตนเศรษฐคนอื่นๆ ที่ลงแข่งในสนามเขตโคราชถึงสามเขตก็แพ้รวดให้กับผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ดังนี้ เขต 5 ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ แพ้ให้กับ สมเกียรติ ตันดิลกตระกูล จากพรรคเพื่อไทย เขต 7 ทัศนียา รัตนเศรษฐ แพ้ให้กับ ปิยะนุช ยินดีสุข จากพรรคเพื่อไทย และเขต 16 ตติรัฐ รัตนเศรษฐ แพ้ให้กับ พรเทพ ศิริโรจนกุล จากพรรคเพื่อไทย

นครพนม

“ตระกูลโพธิ์สุ” ศุภชัย โพธิ์สุ หรือสหายแสง อดีตส.ส.นครพนมเขต 1 และอดีตรองประธานสภาปี 2562 จากพรรคภูมิใจไทยในรอบนี้ ศุภชัยทิ้งฐานที่มั่นเดิมแล้วไปลงแข่งในเขต 2 เพื่อหวังดับแผนแลนสไลด์และล้มแชมป์เก่าจากเพื่อไทยจึงส่งภรรยา ลงในเขต 1 แทน แต่กลับไม่สมหวังทั้งสองเขต โดยเขต 1 พูนสุข โพธิ์สุ แพ้ให้กับ ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ จากพรรคเพื่อไทย  ส่วนเขต 2 ศุภชัย โพธิ์สุ ก็แพ้ให้กับ มนพร เจริญศรี แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย

ศรีสะเกษ

“ตระกูลไตรสรณกุล” บ้านใหญ่ศรีสะเกษตึงพื้นที่ทั้งในสนามท้องถิ่นและระดับชาติ โดยอดีต ส.ส.ธีระ ไตรสรณกุล เคยสังกัดพรรคเพื่อไทยในปี 2562 รอบนี้ย้ายมาลงแข่งขันในนามพรรคภูมิใจไทยเขต 5 แต่พ่ายแพ้ให้กับ อมรเทพ สมหมาย จากพรรคเพื่อไทย อีกทั้งเส้นสายของไตรสรณกุลยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสกุล “เพ็งนรพัฒน์” เพราะ จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ อดีตส.ส.ศรีสะเกษของพรรคเพื่อไทยที่ย้ายไปภูมิใจไทยเช่นเดียวกันเป็นน้องเขยของบ้านใหญ่ไตรสรณกุล และรอบนี้ส่งภรรยา อุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ (สกุลเดิมไตรสรณกุล) ลงแข่งขันในเขต 4  ซึ่งพ่ายแพ้ให้กับ ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ จากพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ ไตรศุลี ไตรสรณกุล  อดีตรองโฆษกรัฐบาลยุคพลเอกประยุทธ์ จากพรรคภูมิใจไทย และเป็นลูกสาวของ วิชิต ไตรสรณกุล นายกอบจ.ศรีสะเกษหลายสมัย รอบนี้ลงเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อสังกัดเดิมอีกครั้ง แม้ได้อยู่ลำดับสูงขึ้นแต่คะแนนความนิยมของพรรคในรอบนี้ก็ยังคงไม่มากพอที่จะส่งให้ไตรศุลีได้เป็น ส.ส.

“ตระกูลอังคสกุลเกียรติ” สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ หรือเสี่ยโต้ง แชมป์เก่าเขต 1 จากพรรคภูมิใจไทย เคยสร้างวีรกรรมหนึ่งเดียวของภูมิใจไทยที่งดออกเสียงให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายก โดยถือเป็นบ้านใหญ่ของเขตนี้เพราะเนื่องจากว่ามีญาติพี่น้องเป็นทั้งรองนายก อบจ.ศรีสะเกษ ส.อบจ.ศรีสะเกษ แต่ครั้งนี้ต้องพ่ายแพ้ให้กับ ธเนศ เครือรัตน์ จากพรรคเพื่อไทยที่มาทวงตำแหน่งคืนหลังจากที่เมื่อปี 2562 เคยแพ้ให้กับสิริพงศ์

อุดรธานี

“ตระกูลเพชรพนมพร” ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต ส.ส.อุดรธานีเขต 1 ห้าสมัยจากพรรคเพื่อไทย แชมป์เก่าปี 2562 ในรอบนี้แพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ จากพรรคก้าวไกล ในขณะที่สกุลเดียวกันอย่าง หทัยรัตน์ เพชรพนมพร อดีตรองนายกเทศมนตรีนครอุดรธานีสามารถชนะผู้สมัครจากก้าวไกลเขต 2 ได้

ขอนแก่น

“ตระกูลอรรณนพพร” บ้านใหญ่ขอนแก่นนำโดย พงศกร อรรณนพพร ในรอบนี้ลงส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้พรรคเพื่อไทย โดยสกุลอรรณนพพรลงชิงพื้นที่เขตถึงสามเขตแต่คนละพรรค ซึ่งในครั้งนี้ชนะแค่เพียงเขตเดียว โดยเขต 10 บัลลังก์ อรรณนพพร น้องชายของพงศกร และเป็นอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยปี 2562 ย้ายสังกัดลงแข่งขันรอบนี้ในนามพรรคพลังประชารัฐและแพ้ให้กับ วันนิวัติ สมบูรณ์ อดีตแชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย ส่วนอีกสองเขตเป็นทายาทของพงศกรที่ลงชิงชัยในนามพรรคเพื่อไทย คือ เขต 11 เขตเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นมาใหม่จากเดิมที่มีเพียง 10 เขตในปี 2562 โดย พชรกร อรรณนพพร ลงปักธงใหม่แต่ก็แพ้ให้กับ องอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ จากพรรคภูมิใจไทย ในขณะที่พี่สาวอย่าง สรัสสนันท์ อรรณนพพร แชมป์เก่าขอนแก่นเดิมเขต 8 ในรอบนี้กลายเป็นเขต 9 ยังชนะการเลือกตั้งรักษาที่นั่งไว้ให้เพื่อไทยได้สำเร็จ

ภาคกลาง สมุทรปราการ-นนทบุรี-ปทุมธานี ก้าวไกลเกือบแลนด์สไลด์ ดับอนาคตบ้านใหญ่ปริมณฑล

สำหรับภาคกลางผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลสามารถล้มแชมป์เดิมหรือเจ้าถิ่นในพื้นที่แถบปริมณฑลเกือบยกจังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี (ยกเว้นเขต 5) สมุทรสาคร อย่างไรก็ดี นครปฐมที่แม้จะได้ที่นั่งมาแค่สองเขตแต่ก็สามารถล้มบ้านใหญ่มาได้หนึ่งเขต ส่วนภาคกลางจังหวัดอื่นๆ แชมป์เก่าและบ้านใหญ่เดิมส่วนมากยังรักษาฐานที่มั่นไว้ได้ดี

สมุทรปราการ

“ตระกูลอัศวเหม” บ้านใหญ่สมุทรปราการครองสนามการเมืองท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ในการเลือกตั้งปี 2562 นำทัพในนามกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐกวาดที่นั่ง ส.ส.สมุทรปราการไปได้ถึงหกที่ แต่ในรอบนี้ลงสังกัดพรรคพลังประชารัฐเช่นเดิมแต่ไม่อาจต้านทานกระแสความเปลี่ยนแปลงที่มาถึงได้จึงแพ้การเลือกตั้งทั้งสามเขตให้กับพรรคก้าวไกล โดยเขต 1 อัครวัฒน์ อัศวเหม แพ้ให้กับ พนิดา มงคลสวัสดิ์ จากพรรคก้าวไกล เขต 4 วรพร อัศวเหม ได้อันดับที่สี่แพ้ขาดลอยให้กับ วุฒินันท์ บุญชู แชมป์เก่าปี 2562 จากพรรคก้าวไกล เขต 7 ต่อศักดิ์ อัศวเหม ได้อันดับที่สี่แพ้ขาดลอยให้กับ บุญเลิศ แสงพันธ์ จากพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ เนื่องจากคะแนนความนิยมพรรคพลังประชารัฐลดลงฮวบฮาบส่งผลให้มีเพียงแค่ พลเอกประวิตร บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งได้เป็นส.ส.เข้าสภาเพียงคนเดียว และทำให้ พิม อัศวเหม ทายาทรุ่นสามที่ลงสู่สนามการเมือง บัญชีรายชื่อลำดับที่แปด ในรอบนี้ก็ไม่ได้เข้าสภาเช่นเดียวกัน

นนทบุรี

“ตระกูลเรี่ยวแรง” บ้านใหญ่นนทบุรีนำโดย ฉลอง เรี่ยวแรง รอบที่แล้วลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐแต่ภายหลัง ย้ายสังกัดมาอยู่กับพรรคภูมิใจไทยพร้อมพาครอบครัวมาด้วย การเลือกตั้งครั้งนี้ครอบครัวเรี่ยวแรงลงแข่งขันในนามพรรคภูมิใจไทยสามเขต และในนามพรรคพลังประชารัฐหนึ่งเขต ซึ่งแพ้ทั้งหมดให้กับพรรคก้าวไกล โดยเขต 4  ฉลอง เรี่ยวแรง จากพรรคภูมิใจไทย แพ้ขาดได้คะแนนเพียงหลักร้อย โดยผู้ชนะในเขตนี้คือ นพดล ทิพยชล จากพรรคก้าวไกล ส่วนเขต 1 เจริญ เรี่ยวแรง เป็นแชมป์เก่าในปี 2562 ในนามพรรคพลังประชารัฐและเป็นภรรยาของฉลอง ในรอบนี้ลงแข่งขันให้พรรคภูมิใจไทย แพ้ขาดให้กับ สุรพันธ์ ไวยากรณ์ จากพรรคก้าวไกล ส่วนลูกสาวสองคนลงสมัครในเขต 2 และ เขต 5 ก็แพ้ขาดลอยให้กับพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน

“ตระกูลเจริญนนทสิทธิ์” บ้านใหญ่เมืองนนท์เครือข่ายการเมืองเหนียวแน่นทั้งระดับเทศบาลและ อบจ.บางบัวทอง  โดยลงชิงชัยในพื้นที่เขต 7 และ เขต 8 ในนามพรรคภูมิใจไทย และยังรวมถึงเขต 6 แต่ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก็พ่ายแพ้ทั้งหมดสามเขตให้กับพรรคก้าวไกล โดยเขต 7 วิเชียร เจริญนนทสิทธิ์ จากพรรคภูมิใจไทย แพ้ให้กับ เกียรติคุณ ต้นยาง จากพรรคก้าวไกล และเขต 8 วันชัย เจริญนนทสิทธิ์ จากพรรคภูมิใจไทย แพ้ให้กับ นนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ จากพรรคก้าวไกล ส่วนเขต 6 สามารถ เจริญนนทสิทธิ์ จากพรรคพลังประชารัฐ แพ้ให้กับ คุณากร มั่นนทีลัย จากพรรคก้าวไกล

ปทุมธานี

“ตระกูลนพขำ” บ้านใหญ่เมืองปทุมสังกัดพรรคเพื่อไทยมีเครือข่ายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 ก็เป็นแชมป์เก่าทั้งสองเขตแต่ในครั้งนี้ก็ต้องสละแชมป์ทั้งสองเขตให้กับพรรคก้าวไกล โดยเขต 2 ศุภชัย นพขำ พ่ายแพ้ให้กับ เจษฎา ดนตรีเสนาะ จากพรรคก้าวไกล และเขต 4 สุทิน นพขำ อดีต ส.ส.ปี 2554 พ่ายแพ้ให้กับ สกล สุทรวาณิชย์กิจ จากพรรคก้าวไกล

นครปฐม

“ตระกูลสะสมทรัพย์” บ้านใหญ่นครปฐมสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนามาแล้วสามรุ่น มีเครือข่ายในระดับท้องถิ่นและครองที่นั่งในระดับชาติมาหลายสมัย การเลือกตั้งรอบนี้ตระกูลสะสมทรัพย์ลงแข่งขันทั้งหมดสามเขตแต่ชนะเพียงสองเขตเท่านั้น โดยเขตที่แพ้คือ เขต 6 เผดิมชัย สะสมทรัพย์ พี่ใหญ่ของตระกูลที่ก็เคยแพ้ให้กับผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่แต่สุดท้ายลาออก เผดิมชัยที่ลงแข่งอีกรอบในการเลือกตั้งซ่อมปี 2562 กลับมาชนะจึงกู้หน้าบ้านใหญ่ไว้ได้ แต่รอบนี้เผดิมชัยก็เผชิญความพ่ายแพ้อีกครั้งให้กับ ชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล จากพรรคก้าวไกล

ภาคตะวันออก พายุลูกใหม่สีส้มเข้าโจมตีบ้านใหญ่ชลบุรี-ระยองพังยับเยิน

สำหรับภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดระยองที่พรรคประชาธิปัตย์ครองพื้นที่มานานต้องเสียที่นั่งยกจังหวัดให้กับพรรคก้าวไกล ไปจนถึงจังหวัดชลบุรีที่สื่อคาดเดากันว่าคงเป็นแค่ศึกใหญ่ระหว่างเจ้าถิ่นแต่ในรอบนี้พรรคก้าวไกลได้ที่นั่งไปถึงเจ็ดเขตจากทั้งหมดสิบเขต อย่างไรก็ตาม มีเพียงจังหวัดสระแก้วเท่านั้นที่บ้านใหญ่ “เทียนทอง” ครองทั้งจังหวัดแม้อยู่คนละพรรคแต่ก็ครองอยู่ตระกูลเดียวไม่แบ่งใคร

ชลบุรี

“ตระกูลคุณปลื้ม” บ้านใหญ่ที่ครองอำนาจแกร่งทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ ประมุขของตระกูลปัจจุบัน สนธยา คุณปลื้ม หลังจากที่นำทีมย้ายเข้าพรรคเพื่อไทย และลงเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ สร้างความเชื่อมั่นว่าในครั้งนี้เพื่อไทยจะกวาดที่นั่งแลนด์สไลด์ในชลบุรีแต่กลับพบเจอกับความพ่ายแพ้ โดยเพื่อไทยชนะเพียงเขตเดียวคือ เขต 5 แม้กระทั่งเขต 6  สุกุมล คุณปลื้ม อดีต ส.ส.ชลบุรีปี 2554 และเป็นภรรยาของสนธยา ลงชิงชัยในนามพรรคเพื่อไทย ก็ยังพ่ายแพ้ให้กับ กฤษฏิ์ ชีวะธรรมานนท์ จากพรรคก้าวไกล

ระยอง

“ตระกูลปิตุเตชะ” บ้านใหญ่แห่งระยองจากพรรคประชาธิปัตย์ พี่น้องปิตุเตชะครองพื้นที่ทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ นำทัพโดยสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขยุคพลเอกประยุทธ์ แชมป์เก่าส.ส.เขตระยอง และเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในรอบนี้ระยองมีห้าเขตครอบครัวปิตุเตชะลงสมัครไปแล้วสี่เขตในนามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็แพ้รวดยับเยินทั้งสี่เขต โดยเขต 2 สาธิต ปิตุเตชะแพ้ขาดให้กับ กฤช ศิลปชัย จากพรรคก้าวไกล เขต 1 พศิน ปิตุเตชะ แพ้ขาดให้กับ กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล จากพรรคก้าวไกล  เขต 4 ธารา ปิตุเตชะ แพ้ขาดให้กับ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ จากพรรคก้าวไกล และเขต 5 ฉัตรชัย ปิตุเตชะ แพ้ขาดให้กับ สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ จากพรรคก้าวไกล

ภาคใต้ ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ ร่วมใจตีบ้านใหญ่ค่ายประชาธิปัตย์

ภาคใต้ในอดีตจากที่เป็นฐานที่มั่นของพรรคเดียวคือ พรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้กลายเป็นศึกบ้านใหญ่ค่ายเดิมและบ้านใหญ่ย้ายค่ายรวมถึงบ้านใหม่ระหว่าง พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ

พังงา

“ตระกูลตันเถียร” ครองพื้นที่พังงาเขต 1 ตั้งแต่ บรม ตันเถียร อดีต ส.ส.พังงาสี่สมัย สังกัดพรรคกิจสังคมและเป็นบิดาของอดีตส.ส. กันตวรรณ ตันเถียร อดีตส.ส.ห้าสมัยติดต่อกัน สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบันและเป็นแชมป์เก่าล่าสุดปี 2562 ซึ่งในการเลือกตั้งรอบนี้กลับพ่ายแพ้ขาดลอยให้กับ อรรถพล ไตรศรี จากพรรคภูมิใจไทย

กระบี่

“ตระกูลเกี่ยวข้อง” สาคร เกี่ยวข้อง อดีต ส.ส.เขตสามสมัยและเป็นแชมป์เก่าปี 2562 จากพรรคประชาธิปัตย์เขต 2 หล่นไปอยู่อันดับสามแพ้การเลือกตั้งให้กับ ถิรเดช ตั้งมั่นก่อกิจ จากพรรคภูมิใจไทย ในขณะที่ลูกพี่ลูกน้องคนน้องคนละพรรคอย่าง สฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง แชมป์เก่าปี 2562 จากพรรคภูมิใจไทย ลงเขต 3  และยังคงรักษาที่นั่งเดิมไว้ได้ โดยเอาชนะ พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล  อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อปี 2562 ของพรรคประชาธิปัตย์และเป็นบุตรสาวของ พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่หลายสมัย

สุราษฎร์ธานี

“ตระกูลพริ้งศุลกะ” ตระกูลการเมืองที่ครองตำแหน่ง ส.ส.เขตของสุราษฎร์ตั้งแต่ นิภา พริ้งศุลกะ เป็นอดีต ส.ส.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ถึงเจ็ดสมัยแล้วครองพื้นที่ต่อโดยบุตรชาย ธีรภัทร พริ้งศุลกะ อดีต ส.ส.สองสมัยแชมป์เก่าปี 2562 ในเขต 6 รอบนี้ตกไปถึงอันดับสี่ พ่ายแพ้ให้กับ พิชัย ชมภูพล จากพรรคภูมิใจไทย

นครศรีธรรมราช

“ตระกูลบุณยเกียรติ” ชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตส.ส.เขตเก้าสมัยและมีบทบาทสำคัญในสภาคือเป็นอดีตรองวิปฯ ฝ่ายรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งรอบนี้ลงแข่งในเขต 7 หล่นไปอยู่ถึงอันดับสี่พ่ายแพ้ให้กับ ษฐา ขาวขำ จากพรรคภูมิใจไทย อีกทั้ง ปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ บุตรสาวที่ลงสนามการเมืองในเขต 8 ก็พ่ายแพ้ให้กับ มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล จากพรรคภูมิใจไทยตามบิดาไปเช่นกัน

นราธิวาส

“ตระกูลยาวอหะซัน” บ้านใหญ่หนึ่งในจังหวัดสามชายแดนภาคใต้ โดยครั้งนี้สกุลยาวอหะซันแยกลงสนามแข่งเป็นสองพรรคคือ พรรรประชาชาติและพรรครวมไทยสร้างชาติ  โดยเขต 4 กูเฮง ยาวอหะซัน แชมป์เก่าปี 2562 จากพรรคประชาชาติในรอบนี้พ่ายแพ้ให้กับ ซาการียา ซะอิ จากพรรคภูมิใจไทย ในขณะที่พี่ชาย วัชระ ยาวอหะซัน แชมป์เก่าปี 2562 เดิมสังกัดพรรคพลังประชารัฐในรอบนี้ย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติและชนะการเลือกตั้งในเขต 1

กรุงเทพมหานคร ก้าวไกลเกือบส้มทั้งแผ่นดินสอยแชมป์เก่า-ทายาทตระกูลการเมืองร่วงเพียบ

กรุงเทพฯ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปหลังจากที่พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะ 32 เขต แม้มีการแบ่งเขตพิสดารซึ่งไม่ส่งผลดีแก่พรรคใดซ้ำยังเป็นการส่งผลเสียต่อผู้สมัครเดิมที่ต้องเสียฐานเสียงบางส่วนไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก้าวไกลซึ่งเป็นหน้าใหม่เกือบทั้งหมดก็สามารถล้มแชมป์เก่าและยังรักษาที่นั่งในเขตเดิมได้สำเร็จเหลือเพียงเขตเดียวคือ เขตเลือกตั้งที่ 20 เขตลาดกระบัง (ยกเว้นแขวงลำปลาทิว) ที่ก้าวไกลไม่สามารถโค่นแชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทยลงได้

เขตเลือกตั้งที่ 1 เขตดุสิต (ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี), เขตบางรัก, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์

แชมป์เก่าที่ลงแข่งในรอบนี้ มีทั้งอดีต ส.ส.ที่ครองพื้นที่สามสมัยจนถึงปี 2554 เจิมมาศ จึงเลิศศิริ จากพรรคประชาธิปัตย์ และ กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ แชมป์เก่าปี 2562 ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐสู่การลงสนามแข่งรอบนี้ในนามพรรคเพื่อไทย ซึ่งอดีตแชมป์เก่าทั้งคู่ก็มีเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นรอบเขตที่พอจะสร้างฐานเสียงไว้แน่นแต่ทั้งคู่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง ปารเมศ วิทยารักษ์สรร จากพรรคก้าวไกล

เขตเลือกตั้งที่ 7 เขตดุสิต (เฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี) และเขตบางซื่อ

ตระกูลคงอุดม อยู่ในสนามการเมืองทั้งท้องถิ่นเขตบางซื่อและระดับชาติ โดยชัชวาลย์ คงอุดม อดีตหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทที่ย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติลงเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยบุตรชาย ชื่นชอบ คงอุดม อดีตส.ส.เขตบางซื่อปี 2554 รอบนี้ลงในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็แพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ ภัสริน รามวงศ์ จากพรรคก้าวไกล

เขตเลือกตั้งที่ 8 เขตจตุจักร (ยกเว้นแขวงจันทรเกษม, แขวงเสนานิคม), เขตหลักสี่ (ยกเว้นแขวงตลาดบางเขน)

สุรชาติ เทียนทอง อดีตแชมป์เก่าสองสมัยในพื้นที่หลักสี่และจตุจักร และยังเป็นทายาทของ เสนาะ เทียนทอง นักการเมืองอาวุโส แม้จะกลับมาเอาชนะจากการเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 2565 ได้ แต่รอบนี้ได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขตไปไม่น้อย และพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ ชยพล สท้อนดี จากพรรคก้าวไกลไปในที่สุด

เขตเลือกตั้งที่ 15 เขตคันนายาว, เขตบึงกุ่ม (เฉพาะแขวงคลองกุ่ม)

พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ แชมป์เก่าสองสมัย แม่ทัพกรุงเทพตะวันออกจากพรรคเพื่อไทย โดยพลภูมิสืบทอดตระกูลการเมืองตั้งแต่รุ่นพ่อที่เป็นอดีต ส.ก.หลายสมัย อีกทั้งในระดับท้องถิ่น ชญาดา วิภัติภูมิประเทศ ภรรยาของพลภูมิก็ดำรงตำแหน่ง ส.ก.เขตคันนายาวสังกัดพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ส.ก.เขตโซนกรุงเทพตะวันออกสังกัดพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นทีมงานของพลภูมิที่ชนะการเลือกตั้งทั้งสิ้น แต่ในรอบนี้กลับไม่เป็นดั่งที่ใจหวังจะบรรลุแผนแลนด์สไลด์กรุงเทพตะวันออก เพราะขนาดแม่ทัพพลภูมิ ก็ยังพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ วิทวัส ติชะวาณิชย์ จากพรรคก้าวไกล

เขตเลือกตั้งที่ 16 เขตคลองสามวา (ยกเว้นแขวงสามวาตะวันออก, แขวงทรายกองดิน)

จิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีต ส.ส.ครองพื้นที่คลองสามวาทั้งสองสมัยจากพรรคเพื่อไทยรวมถึงครองตำแหน่งดาวสภาจากการอภิปรายที่ดุเด็ดร้อนแรง อีกทั้งในระดับท้องถิ่นหลานสาว นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ก็ชนะการเลือกตั้ง ส.ก.ในนามพรรคเพื่อไทยด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้การันตีว่าฐานเสียงคลองสามวาจะส่งให้จิรายุได้เป็นส.ส.อีกสมัย ซ้ำร้ายยังโดนหั่นแขวงออกไปถึงสองแขวง ครั้งนี้จึงพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ จากพรรคก้าวไกล นอกจากนี้หลานชาย ญาณกิตติ์ ห่วงทรัพย์ ลงสนามการเมืองกรุงเทพฯ ครั้งแรกในเขตเลือกตั้งที่ 12 ก็พ่ายแพ้ให้กับ ภูริวรรธก์ ใจสำราญ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน

เขตเลือกตั้งที่ 17 และ 18 เขตหนองจอก เขตคลองสามวา (เฉพาะแขวงสามวาตะวันออก, แขวงทรายกองดิน)  เขตลาดกระบังเฉพาะแขวงลำปลาทิว และเขตมีนบุรีเฉพาะแขวงแสนแสบ

จากพื้นที่เดิมที่มีแค่เขตหนองจอกซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ​ ถูกหั่นแบ่งออกเป็นสองเขตเลือกตั้งและยังผสมด้วยหลายแขวงจากหลายเขตที่อยู่ติดกัน โดยเจ้าถิ่นพื้นที่เดิมโซนหนอกจอกคือ ศิริพงษ์ รัสมี โลดแล่นในสนามท้องถิ่นจนได้ครองเก้าอี้ส.ส.เป็นแชมป์ในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ อีกทั้งยังมีพี่ชายที่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งส.ก. เขตหนองจอก และยังส่งบุตรชาย พีระพงษ์ รัสมี ลงแข่งในเขตเลือกตั้งข้างเคียงซึ่งผลปรากฎว่าแพ้ทั้งสองเขตให้กับผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล คือ วีรวุธ รักเที่ยง อดีตผู้สมัครส.ก.เขตลาดกระบัง และ ธีรัจชัย พันธุมาศ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ

เขตเลือกตั้งที่ 19 เขตมีนบุรี (ยกเว้นแขวงแสนแสบ) และเขตสะพานสูง (ยกเว้นแขวงทับช้าง)

การเลือกตั้งรอบนี้พื้นที่มีนบุรีถูกหั่นแขวงไปบางส่วนและยังเพิ่มพื้นที่ใหม่ขึ้นมาคือเขตสะพานสูง เจ้าถิ่นมีนบุรีบ้านใหญ่ “มีนชัยนันท์” จากพรรคเพื่อไทย โดยวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตส.ส.เขตมีนบุรีสี่สมัยและยังเคยดำรงตำแหน่งในการเมืองท้องถิ่นมาแล้ว อีกทั้งน้องชาย วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภากรุงเทพฯ และส.ก.เขตมีนบุรีในนามพรรคเพื่อไทยปัจจุบัน แต่ผลสุดท้ายก็พ่ายแพ้ให้กับ กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นอดีตผู้สมัครเขตบางบอน-หนองแขมที่แพ้ไปในปี 2562 นอกจากนี้อีกหนึ่งหน่อเนื้อ คือหลานชาย ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เป็นหน้าใหม่ทางการเมืองที่พ่วงด้วยนามสกุลดังลงแข่งในนามพรรคก้าวไกล เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ เขต 9

เขตเลือกตั้งที่ 26 เขตจอมทอง (ยกเว้นแขวงบางขุนเทียน) และเขตบางขุนเทียน (เฉพาะแขวงท่าข้าม)

พื้นที่จอมทองบ้านใหญ่นำโดยตระกูล “วีรกุลสุนทร” อดีตเคยเป็นบ้านใหญ่คู่กับบ้านใหญ่ “ม่วงศิริ” สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดย สุทธิชัย วีรกุลสุนทร หรือเฮียล้าน ปัจจุบันย้ายพรรคมาเป็น ส.ก.ในนามพรรคเพื่อไทย และภรรยา นันทพร วีรกุลสุนทร ก็เคยเป็นอดีต ส.ส.สองสมัยจนถึงปี 2554 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส.รอบนี้บุตรชาย ศรัณยสัณฑ์ วีรกุลสุนทร ลงในนามพรรคเพื่อไทย แม้จะมีคะแนนนำผู้สมัครจาบ้านม่วงศิริ แต่ทั้งคู่ก็แพ้การเลือกตั้งให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ จากพรรคก้าวไกล

เขตเลือกตั้งที่ 28  เขตจอมทอง (เฉพาะแขวงบางขุนเทียน) เขตบางบอน (ยกเว้นแขวงบางบอนใต้และแขวงคลองบางบอน) เขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม)

เขตเลือกตั้งเดิมส่วนนี้มีเฉพาะเขตบางบอนและเขตหนองแขมตระกูลเจ้าถิ่นคือ “อยู่บำรุง” จากพรรคเพื่อไทยซึ่งมีชื่อเสียงและอิทธิพลทั้งจากนักการเมืองรุ่นเก๋าอย่าง เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งรอบนี้ลงเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ห้า ได้เข้าสภาแน่นอนเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ระดับท้องถิ่นยังมี ส.ก.หนองแขมหลายสมัยจนถึงปัจจุบันคือ นวรัตน์ อยู่บำรุง สังกัดพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกัน  แต่แชมป์เก่าครองเก้าอี้ ส.ส.เขตปี 2562 วัน คือ อยู่บำรุง กับสโลแกนติดหู “ใจถึงพึ่งได้” ในรอบนี้กลับต้องพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ รักชนก ศรีนอก จากพรรคก้าวไกล ที่นอกจากจะเอาชนะบ้านใหญ่อยู่บำรุงได้แล้วก็ยังเอาชนะบ้านใหญ่ม่วงศิริที่ลงแข่งขันด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับตระกูลม่วงศิริ อีกหนึ่งบ้านใหญ่ฝั่งธนในการเลือกตั้งรอบนี้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ลงแข่งชิงชัยในพื้นที่ฝั่งธนสามเขต ได้แก่ เขต 26 27 และ 28 ซึ่งทั้งสามเขตแพ้ให้กับผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยเขตที่ 27 พ่ายแพ้ให้กับแชมป์เก่าปี 2562 ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ จากพรรคก้าวไกล

เขตเลือกตั้งที่ 30 เขตบางแค (ยกเว้นแขวงบางแคเหนือและแขวงบางไผ่) 2. เขตภาษีเจริญ (เฉพาะแขวงบางหว้า แขวงบางด้วน และแขวงคลองขวาง)

ตระกูล “คงวุฒิปัญญา” จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของประชาชนชาวภาษีเจริญโดยเฉพาะ มานะ คงวุฒิปัญญา อดีต ส.ส. ที่ทำงานกับประชาชนในพื้นที่มานาน อีกทั้งลูกชาย กฤษฎ์ คงวุฒิปัญญา ก็ดำรงตำแหน่ง ส.ก.เขตภาษีเจริญในปัจจุบัน อีกทั้งภรรยายังเป็นแชมป์เก่าครองเก้าอี้ ส.ส.ในปี 2562 ซึ่งก็คือ สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ที่ในรอบนี้ก็ยังคงลงแข่งในนามพรรคเพื่อไทยเช่นเดิม แต่ก็ต้องแพ้ให้กับธัญธร ธนินวัฒนาธร จากพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ก.เขตจอมทองที่กลับมาเอาชนะในการเลือกตั้งระดับชาติได้แทน

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย