เลือกตั้ง 66: ต้องปิดสวิตช์ ส.ว. คืนอำนาจให้ประชาชนเจ้าของประเทศ

วันที่ 18 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานจับตาการเลือกตั้งได้แก่ Opendream Rocket Media Lab และ iLaw จัดเสวนาทางวิชาการ “ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งทางออกสู่ประชาธิปไตย” ประเด็นการพูดคุยคือ ข้อเรียกร้องสามข้อของไอลอว์ในการเลือกตั้ง 2566 ได้แก่ นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดต้องได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลและ ส.ว. ต้องเคารพเจตจำนงของเสียงข้างมาก ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เห็นด้วยทั้งสามข้อ แต่มองว่า ข้อสามเรื่อง ส.ว. มีความสำคัญมากที่สุด  

นายกฯ เป็น ส.ส. กันทหารออกจากการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า เรื่องนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ประเด็นนี้มีความสำคัญ มีที่มาจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หลักการแล้วระบบรัฐสภามันคือ การที่ประชาชนเลือกนายกฯ ผ่านการเลือก ส.ส. เป็นการเลือกนายกฯ ทางอ้อม “ทุกพรรคเขาต้องบอกว่า ถ้าพรรคเขาได้เสียงจนตั้งรัฐบาลได้ เขาจะเอาใครเป็นนายกฯ การเลือก ส.ส. ของพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือพรรคนั้นที่เราอยากให้คนนั้นเป็นนายกฯ เท่ากับเราเลือกนายกฯ นั่นเอง ในประวัติศาสตร์ของเรามีอยู่ ก่อนหน้าเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีรัฐธรรมนูญปี 2517 ที่เขียนไว้ เหตุผลในคราวนั้นเพื่อจะกันทหารออกไป คือถ้าหากว่า นายพลท่านจะลงเล่นการเมือง ถ้าจะเป็นนายกฯ ถอดชุดก่อนและลงสมัครเป็นส.ส.ก่อนแล้วในปี 2535 มันถูกเรียกร้องในเรื่องนี้ ตอนนั้นคือ ไม่ได้ต่อต้านพลเอกสุจินดา หลักการที่เราประกาศก็คือว่า พลเอกสุจินดาจะเป็นนายกฯก็ได้แต่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง ในเมื่อเลือกนายกฯ โดยตรงไม่ได้ก็ต้องสมัคร ส.ส.”

“ตอนนั้นเป็นที่มาของบทบัญญัติเรื่องนี้ หลังจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 พลเอกสุจินดาก็ลาออกในวันที่ 23 พฤษภาคม 2535 แล้วสองวันหลังจากสุจินดาลาออกก็เกิดการแก้รัฐธรรมนูญทันที…สองเรื่องหลักที่แก้คือ นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. และสองประธานรัฐสภาจะต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สภาผู้แทนใหญ่กว่า ส.ว. กลายเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในรัฐธรรมนูญไทยมาโดยตลอดทั้งฉบับ 2540 2550 กลายเป็นกติกาของประเทศไทยว่า ถ้าใครอยากเป็นนายกฯ ต้องเล่นการเมืองประกาศตัวชัดเจน ออกจากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ แต่ปี 2560 รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เขาก็ตัดหลักเกณฑ์นี้ไปและแทนที่ด้วยนายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้แต่ให้ประชาชนเขารู้ก่อนด้วยการสร้างกติกาใหม่ขึ้นมา นายกฯจ ะเป็นได้ต้องผ่านการเป็นว่าที่นายกฯ [แคนดิเดตนายกฯ] แต่ละพรรคจะเสนอชื่อได้ไม่เกินสามชื่อ ชื่อนั้นจะถูกเลือกได้ต่อเมื่อพรรคนั้นมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป นี่คือกติกาที่เพิ่งมาในปี 2560 ว่าง่ายๆ คือ อาจารย์มีชัยก็กลัวถูกต่อต้านว่า เปลี่ยนกติกาที่มีขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535”

เรื่องนายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส.ในต่างประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่มันเป็นประเพณีปฏิบัติทางการเมือง เมื่อมันปฏิบัติสืบเนื่องมาจึงไม่เป็นต้องเขียน ต่างจากประเทศไทยที่ไม่ยอมยึดถือจึงจำเป็นต้องเขียนเอาไว้ “ปัญหาของเรามันซับซ้อนกว่าเพราะเรามีปัญหาเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารว่าง่ายๆหลักการทุกคนเสมอกันในการจะเป็นนายกฯได้ เพียงแต่ถอดเสื้อนายพลออกก่อนแล้วมาสมัคร ถ้าหากเรามีระบบที่เป็นส.ส.เขตอย่างเดียวก็อาจจะมีความลักลั่นที่จะเป็นนายกฯบริหารบ้านเมืองแต่ต้องไปทำหน้าที่ในเขต มันดูไม่ค่อยคุ้ม คนเป็นนายกฯต้องดูทั้งประเทศไม่ใช่ในเขต แต่พอเราเปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อด้วยมันก็ลงตัวแล้ว”

ชวนพรรคการเมืองปิดสวิตช์ ส.ว. ก่อนการเลือกตั้ง

ผศ.ดร.ปริญญามองว่า เรื่องนายกรัฐมนตรีเป็น ส.ส. เป็น “เรื่องเบา” หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ส.ว. ที่ไม่ได้มีการยึดโยงกับประชาชนสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย “คือถ้าผู้แทนปวงชนที่มาจากประชาชนเลือกเขาเลือกคนที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. อย่างน้อยมันก็ยังเป็นเรื่องที่ผู้แทนปวงชนเขาเลือก แต่ถ้าหากว่า คนที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผู้แทนปวงชน เป็นผู้แทน คสช. คสช. เลือกไว้ มาเลือกมันเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด แต่ว่า เคราะห์ดีที่ตอนเขียนบทเฉพาะกาล [รัฐธรรมนูญ 2560] เขาไม่กล้าเขียนเกินกว่าห้าปี คงจะมาลุ้นดาบหน้าว่า ถ้าหากไปได้ค่อยมาเพิ่มทีหลัง”

ที่ผ่านมาการรัฐประหารแทบทุกครั้งจะตามมาด้วยความพยายามที่จะให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีแต่ไม่เคยมีครั้งไหนสำเร็จ ย้อนไปในปี 2534 ก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คนร่างรัฐธรรมนูญคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ “ตอนนั้นให้ ส.ว. เป็นผู้กำหนดตัวนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.ได้ ก็ประท้วงจนต้องถอนเรื่องนี้ออกไป ดังนั้นพอมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ความผิดพลาดที่ทำให้พลเอกสุจินดาเป็นนายกฯ ได้แค่ 47 วันก็มาแก้ในคราวนี้ทั้งหมด จนเป็นนายกฯได้จะครบเก้าปีแล้ว…เพราะอาจารย์มีชัยรู้หมดแล้วว่า ตรงไหนบ้างที่พลาดไป พลเอกสุจินดา คราประยูร เมื่อ ส.ว. เลือกนายกฯ ไม่ได้แล้วพลเอกสุจินดาเป็นนายกฯ ได้ยังไง อันนี้ฝีมืออาจารย์มีชัย เขาไปเขียนว่า คนทูลเกล้าชื่อนายกฯ คือประธานสภา รสช. คือ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ตรงนี้เป็นบทเรียนว่า ถ้าหากในร่างแรก ส.ว. มีอำนาจในการกำหนดตัวนายกฯ ด้วย เดี๋ยวมันถูกประท้วงไม่ผ่านอีก เขาเลยไม่มีในร่างแรกและค่อยใส่เข้ามาในคำถามพ่วงและนี่คือสิ่งที่แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีแค่ 116 เสียงแต่ก็เป็นนายกฯได้”

ปัจจุบันอายุของ ส.ว. จะหมดในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งจะเหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งปีและยังมีมรดกตกทอดเช่น ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระโดย ส.ว. “ผมว่า เราอย่าไปรอถึงพฤษภาคม 2567 เลย เอามันเสียในคราวนี้แหละ ผมหมายถึงทุกพรรคต้องประกาศเลยว่า ข้าพเจ้าจะเป็นนายกฯ ด้วยการไม่อาศัยเสียง ส.ว. ถามพรรครวมไทยสร้างชาติก่อนเลย ประชาชนเราเห็นต่างกันได้ แต่ขอเถอะเห็นต่างกันเราจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง พรรคของใครได้รับเสียงประชาชนมากกว่าก็เป็นรัฐบาล แต่ใครที่ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนมาเลือกนายกฯ เนี่ยมันถูกไหม ดังนั้นนี่ผมว่า ข้อแรกดีเบตนโยบายพรรคการเมือง เอาข้อนี้ก่อนพรรคของท่านหวังอาศัยเสียง ส.ว. เป็นนายกฯ หรือไม่ พรรคแรกต้องตอบก่อนเลยพรรคของท่านนายกฯ ปัจจุบันเพราะท่านเป็นนายกฯด้วยวิธีนี้มา… เราต้องปิดสวิตช์ ส.ว. แม้ว่ารัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ ประชาชนปิดได้ ปิดตอนนี้เลย”

ดันแคมเปญกดดัน ส.ว. เคารพเจตจำนงประชาชน

ในตอนท้าย ผศ.ดร.ปริญญา เสนอแนวทางกดดัน ส.ว. ผ่านการทำแคมเปญว่า ตอนที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 นักวิชาการและสื่อจัดแคมเปญ “ประชาชนลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจรัฐบาล” ให้ประชาชนได้ลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจออนไลน์คู่ขนานกับการลงมติในสภา เปิดให้มีส่วนร่วมในวันก่อนลงมติตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึงเวลา 10.00 น. ของวันถัดมาหรือวันลงมติ มีผู้ลงชื่อประมาณ 540,000 คน จึงคิดว่า ควรทำแคมเปญเช่นนี้อีกเพื่อเรียกร้อง ส.ว. ให้เคารพเสียงประชาชนอาจจะมีผู้ร่วมกิจกรรมมากขึ้นมาเดิม เขามองว่า การทำแคมเปญแบบนี้สถาบันการศึกษาและสื่อมวลชนควรร่วมมือกัน

“ระบบรัฐสภา ประชาชนเลือกนายกฯผ่านการเลือก ส.ส. ดังนั้น ส.ว. อยู่เฉยๆ ดูว่าเสียงข้างมากของประชาชนเขาไปทางไหน ส.ว. ก็โหวตตาม”

“ข้อสำคัญที่สุดคือ ข้อนี้ [ส.ว. ต้องเคารพเจตจำนงเสียงข้างมาก] เพราะมันคือการกลับสู่ระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอีกครั้งหนึ่ง เราเห็นต่างกันได้ เราจะเลือกพรรคต่างกันได้… ท่านอาจจะเจตนาดีต่อบ้านเมืองแต่ต้องบอกท่าน เรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาชน ท่านก็เพียงแค่โหวตตามที่ประชาชนเขามีฉันทามติ ในเมื่อเมื่อสี่ปีก่อนท่านโหวตตาม คสช.ได้ ทำไมจะโหวตตามประชาชนไม่ได้ล่ะ”

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”