เสียค่าสมาชิกแต่กดบัตรคอนเสิร์ต NCT Dream ไม่ได้เพราะระบบพัง! สคบ.ใช้อำนาจคุ้มครองแฟนคลับได้

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 แฮชแท็ก #NCTDREAM_THEDREAMSHOW2_in_BKK ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง สืบเนื่องจากวันดังกล่าว เป็นวันกดบัตรคอนเสิร์ต NCT Dream บอยแบนด์ชื่อดังจากเกาหลีใต้ สังกัด SM Entertainment ซึ่งมีกำหนดการแสดงคอนเสิร์ตในไทยในวันที่ 10-12 มีนาคม 2566 โดยการกดบัตรวันที่ 11 เป็นการกดบัตรรอบ “สมาชิก” ที่มีสิทธิกดบัตรก่อนรอบคนทั่วไป เนื่องจากเอเจนซี่ผู้จัดการคอนเสิร์ตในประเทศไทย คือ บริษัท เอสเอ็ม ทรู จำกัด (SM True) เปิดระบบให้ลูกค้าที่จ่ายเงินสมัครสมาชิก “SM True MEMBERSHIP” ในราคา 1,200 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% คิดเป็นเงิน 84 บาท) มีสิทธิพิเศษ สามารถกดบัตรคอนเสิร์ตได้ก่อนคนทั่วไปที่ไม่ได้สมัครสมาชิก

โดยการกดบัตรรอบสมาชิก อยู่ในช่วงเวลา 11.00–12.00 น. แต่ปรากฏว่าวันดังกล่าว เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค ผู้ที่เสียเงินสมัครสมาชิกจำนวนมาก เมื่อกรอกรหัสสมาชิกแล้วขึ้นหน้าป๊อปอัพว่า “Data Not Found” ทำให้ไม่สามารถเข้าไปสู่หน้าเว็บที่กดบัตรคอนเสิร์ตได้ กว่าจะแก้ปัญหาระบบได้ก็ผ่านไปกว่า 35-40 นาที ทำให้บัตรที่นั่งส่วนใหญ่เต็มไปแล้ว ขณะที่ทางผู้จัดก็ใช้เวลากว่าเก้าชั่วโมง จึงจะออกมาแจ้งมาตรการเยียวยาแก่สมาชิก SM True MEMBERSHIP โดยให้สมาชิกกดบัตรรอบใหม่ที่เหลือจากวันที่ 11 ได้ในวันถัดไป คือ 12 กุมภาพันธ์ 2566 หากสมาชิกคนใดไม่สามารถกดบัตรในรอบที่เปิดเพิ่มเติม หรือไม่ต้องการซื้อบัตรแล้วและยังไม่เคยใช้สิทธิพิเศษในฐานะสมาชิก ทาง SM True จะคืนเงินค่าสมาชิกให้ อย่างไรก็ดี ผู้เสียหายบางส่วนเห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งได้รับเรื่องและจะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ทาง สคบ. ในฐานะองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจในการเรียกให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเจรจาไกล่เกลี่ย หากตกลงกันไม่ได้ อาจดำเนินคดีแทนผู้เสียหาย ส่วนสมาชิกจะดำเนินการฟ้องคดีด้วยตนเองก็ได้

สคบ. มีอำนาจเรียกผู้จัดคอนเสิร์ต และผู้เสียหายมาไกล่เกลี่ย หากเคลียร์กันไม่ได้ อาจฟ้องคดีแทนผู้เสียหาย

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง สคบ. มีอำนาจรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ โดยหลังจากที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์หรือร้องเรียนจากประชาชนแล้ว เจ้าหน้าที่ สคบ. จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเรียกให้คู่กรณีอย่างและผู้เสียหายจัดส่งเอกสารหลักฐานหรือมาพบเจ้าหน้าที่ จากนั้น เจ้าหน้าที่ สคบ. จะดำเนินการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท เพื่อให้คู่กรณีตกลงยินยอมผ่อนผันให้แก่กัน โดยเปิดโอกาสให้คู่กรณีเสนอข้อผ่อนผันให้แก่กัน หรือผู้ไกล่เกลี่ยอาจเสนอทางเลือกในการผ่อนผันให้แก่คู่กรณีพิจารณาตกลงยินยอมยุติข้อพิพาทนั้น ในชั้นนี้ การไกล่เกลี่ยจะทำได้ไม่เกินสองครั้ง และมีระยะเวลารวมกันไม่เกิน 90 วันนับแต่วันทำการไกล่เกลี่ยครั้งแรก

หากยังหาข้อยุติไม่ได้ และคู่กรณียังต้องการจะเจรจาไกล่เกลี่ยต่อไป ให้ “คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภค” ดำเนินการไกล่เกลี่ยอีกไม่เกินสองครั้ง และมีระยะเวลารวมกันไม่เกิน 90 วันนับแต่วันทำการไกล่เกลี่ยครั้งแรก เว้นแต่มีความจำเป็นและคู่กรณียินยอมให้ผู้ไกล่เกลี่ยขยายระยะเวลาการไกล่เกลี่ยได้อีกครั้งหนึ่ง

ถ้าผู้จัดคอนเสิร์ต SM True และผู้เสียหายสามารถตกลงกันได้ เรื่องก็จะจบ ทาง สคบ. ก็จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือบันทึกข้อตกลงระหว่างคู่กรณี ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่หากคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (ผู้บังคับบัญชา สคบ.) อาจมอบหมายให้ “เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค” ฟ้องผู้ประกอบธุรกิจอย่าง SM True เป็นคดีแพ่งและคดีอาญาได้ เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ร้องขอได้ด้วย และจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด 

หากพิจารณาจากข้อเท็จจริง การดำเนินคดีกับทางผู้จัดคอนเสิร์ตคงเป็นคดีแพ่งในเรื่องผิดสัญญาเท่านั้น ไม่รวมถึงคดีอาญา เนื่องจากการพิสูจน์ความผิดในคดีอาญาฐานฉ้อโกงทำได้ยาก ต้องพิสูจน์ว่าผู้จัดคอนเสิร์ตมีเจตนาหลอกลวงเอาเงินค่าสมาชิกจากผู้เสียหายมาตั้งแต่แรก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการประกอบธุรกิจที่ผ่านมาของ SM True คงพิสูจน์และหาหลักฐานได้ยากว่ามีเจตนาฉ้อโกงมาตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ สมาชิก SM True MEMBERSHIP ที่ได้รับความเสียหาย อาจพิจารณาฟ้องคดีด้วยตนเองเป็น “คดีผู้บริโภค” ก็ได้ ซึ่งจะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ในคดีผู้บริโภค กระบวนการหรือขั้นตอนต่างๆ จะมีความยืดหยุ่นและคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่ากว่าคดีทั่วไป เช่น คำฟ้องจะทำด้วยวาจาหรือหนังสือก็ได้ ผู้ประกอบธุรกิจมี “ภาระการพิสูจน์”  ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การออกแบบ หรือการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจ หรือถ้าผู้ประกอบธุรกิจเจตนาเอาเปรียบโดยไม่เป็นธรรม  ศาลมีอำนาจพิพากษาสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้ไม่เกินสองเท่า หรือ ไม่เกินห้าเท่า ในกรณีค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิน 50,000 บาท เป็นต้น 

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา