จับตา! กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรธน. อาจได้คนใหม่หน้าคุ้น อุดม รัฐอมฤต อดีตกรธ.

ตำแหน่งแห่งที่ในองค์กรสำคัญอย่างศาลรัฐธรรมนูญ กำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อทวีเกียรติ  มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “เสียงข้างน้อย” ในคดี #8ปีประยุทธ์ และเป็นตุลาการที่มีที่มาจากระบบเก่าก่อนรัฐประหาร 2557 นั่งบัลลังก์เป็นตุลาการมาครบเก้าปีเมื่อ 21 ตุลาคม 2565 ครบวาระการดำรงตำแหน่งที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดแล้ว ส่งผลให้ต้องมีการเปิดรับสมัครและสรรหาผู้สมควรเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากศาสตราจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ เพื่อจะได้ตุลาการคนใหม่แทนที่ตำแหน่งเดิมที่ว่างลง

1 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมวุฒิสภา ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (กมธ.สอบประวัติฯ) จำนวน 15 คน ซึ่งเป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ก่อนที่จะส่งชื่อผู้สมควรได้รับการดำรงตำแหน่งเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระให้วุฒิสภาลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ โดยผู้ที่ผ่านด่านกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและส่งรายชื่อมาถึงมือกมธ.สอบประวัติฯ มีเพียงรายชื่อเดียว คือศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560

ยืนหนึ่งเพราะยืนคนเดียว ไร้ผู้สมัครอื่นชิงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ในบรรดาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเก้าคนที่ดำรงตำแหน่งมาจนถึงการตัดสินคดีสำคัญอย่างคดี #8ปีประยุทธ์ มีตุลาการสองคนที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการไว้ถึงเก้าปี ได้แก่ วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ขณะที่ตุลาการรายอื่น มีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีตามรัฐธรรมนูญ 2560 

ทวีเกียรติได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 21 ตุลาคม 2556 ดังนั้น วาระดำรงตำแหน่งเก้าปีของทวีเกียรติ จะครบรอบในเดือนตุลาคม 2565 จึงต้องมีการสรรหาผู้มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แทนที่ทวีเกียรติ โดยต้องมีที่มาแบบเดียวกันกับทวีเกียรติ คือ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดรายละเอียดไว้ว่า ต้องเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยไทย เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์

ก่อนถึงช่วงที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งของทวีเกียรติ 8-22 สิงหาคม 2565 สำนักเลขาธิการวุฒิสภา ได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางสาขานิติศาสตร์ มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และไม่มีลักษณะต้องห้าม เมื่อปิดรับสมัคร ผลปรากฏว่า มีผู้สมัครเพียงคนเดียว คือ ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต อดีตกรธ. ไร้ผู้สมัครรายอื่นร่วมเข้าชิงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

หลังจากปิดรับสมัครแล้ว กระบวนการต่อมาคือการตรวจสอบคุณสมบัติและตรวจสอบประวัติ รวมไปถึงทำกระบวนการสัมภาษณ์และเปิดให้ผู้สมัครแสดงความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยขั้นตอนนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบไปด้วย 

  1. ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ > ปิยกุล บุญเพิ่ม
  2. ประธานสภาผู้แทนราษฎร > ชวน หลีกภัย
  3. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร > ชลน่าน ศรีแก้ว
  4. ประธานศาลปกครองสูงสุด > ศาสตราจารย์พิเศษชาญชัย แสวงศักดิ์
  5. บุคคลซึ่งองค์กรอิสระห้าองค์กรแต่งตั้งและเสนอชื่อให้มาเป็นกรรมการสรรหา องค์กรละหนึ่งคน ประกอบไปด้วย 1) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 4) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) 5) ผู้ตรวจการแผ่นดิน 

ซึ่งสามองค์กรแรก ไม่สามารถแต่งตั้งและเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการสรรหาภายในเวลาที่กำหนด คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่มีอยู่จึงทำหน้าที่มีอยู่ไปพลางก่อน โดยกสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่งตั้งและเสนอชื่อบุคคลให้มาเป็นคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ

  • 5.1) บุคคลซึ่งกสม.แต่งตั้ง > มานพชัย วงศ์ภักดี อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกา อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และอดีตเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ สาธารณรัฐสิงคโปร์
  • 5.2) บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง > ดำรง ใคร่ครวญ อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และ อดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ผ่านเสียงโหวตกรรมการสรรหาฯ 4:2 จับตาต่อด่านสุดท้ายที่ส.ว.

ด้วยสถานะที่เคยเป็นถึงผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้บังคับอยู่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะมีผู้ตั้งประเด็นถึงสถานะที่เคยเป็นรวมถึงบทบาทถ้าหากได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากข้อมูลในรายงาน การพิจารณาสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ของ คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุบันทึกการสัมภาษณ์อุดม รัฐอมฤต คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ถามถึงประเด็นนี้และอุดมก็ได้ตอบชี้แจง พอสรุปใจความได้ว่า

ในเรื่องพฤติกรรมส่วนตัว คนที่จะเป็นตุลาการและทำหน้าที่ให้สังคมมีความเชื่อถือได้ สิ่งที่จะต้องทำให้เห็น คือ การแสดงออกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แน่นอนว่าในหลายเรื่องเราอาจจะมีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงหรือคนเคยร่วมงาน แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะตุลาการแล้ว จะต้องแสดงให้สังคมเห็นชัดว่าเราไม่ได้มีลักษณ์ที่จะเอื้อหรือทำหน้าที่โดยคำนึกถึงสิ่งเหล่านี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการทำหน้าที่ในฐานะตุลาการ คือ การแสดงออกซึ่งการเคารพกฎหมาย 

“ผมมีความเชื่อว่าสังคมเราเรื่องการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายคงเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราไม่ให้โอกาส ไม่ให้พื้นที่กับฝ่ายความคิดเห็นที่แตกต่างในการที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น เพราะฉะนั้นต้องยอมรับสังคมประชาธิปไตย การที่ไม่ว่าจะทำหน้าที่อย่างใด ผมยังมีความเชื่อว่าต้องเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างในการที่จะแสดงออก” อุดมตอบชี้แจงในการสัมภาษณ์

หลังจากสัมภาษณ์แล้ว กระบวนการต่อมา เป็นกระบวนการลงมติโดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยการลงคะแนนนั้นใช้วิธีเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ โดยผู้สมัครจะต้องได้คะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งคิดเป็นสี่คะแนน ผลปรากฏว่าคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงคะแนนเลือกอุดม รัฐอมฤต เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 4:2 ดังนี้

กรรมการสรรหาฯ ที่เลือกอุดม รัฐอมฤต (สี่เสียง)
รายชื่อ เหตุผลในการเลือก
ประธานศาลฎีกา : ปิยกุล บุญเพิ่ม
เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความเห็นที่ตรงไปตรงมา ชัดเจนในตัว ยืนยันที่จะไม่เห็นแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เชื่อว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม
ประธานสภาผู้แทนราษฎร : ชวน หลีกภัย มีความรู้ มีประสบการณ์เหมาะสมที่จะทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี 
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : ชลน่าน ศรีแก้ว มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม แสดงวิสัยทัศน์ในการทำหน้าที่ได้ดี ตอบคำถามชัดเจน มีข้อห่วงใยเรื่องเคยเป็นกรธ. ซึ่งเป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญ แล้วจะเป็นผู้วินิจฉัยรัฐธรรมนูญ จีงต้องทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวังเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ประธานศาลปกครองสูงสุด  : ศาสตราจารย์พิเศษชาญชัย แสวงศักดิ์ ผู้สมัครมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม มีผลงานทางวิชาการที่แสดงให้เห็นว่า มีความรู้ความสามารถที่จะดำรงตำแหน่งที่สมัครได้ ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์และตอบข้อซักถามของกรรมการสรรหาได้เป็นอย่างดี
กรรมการสรรหาฯ ที่ไม่เลือกอุดม รัฐอมฤต (สองเสียง)
รายชื่อ เหตุผลที่ไม่เลือก
บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง : ดำรง ใคร่ครวญ เห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่สมาชิกกรธ. ซึ่งเป็นผู้จัดทำกฎหมาย จะเข้ามาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยกฎหมาย เป็นเรื่องหลักการที่จะแยกบทบาททั้งสองจากกันเพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นองค์กรที่สำคัญยิ่งในการธำรงรักษาบ้านเมือง
บุคคลซึ่งกสม.แต่งตั้ง : มานพชัย วงศ์ภักดี ไม่เหมาะสม

หลังคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงคะแนนเลือกอุดม รัฐอมฤต เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ได้ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาตั้งกมธ.สอบประวัติฯ ภายหลังจากกระบวนการทำงานของกมธ.สอบประวัติฯ เสร็จสิ้น ก็ถึงจะเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญ ซึ่งก็คือการให้ส.ว.ลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้อุดม รัฐอมฤต เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องจับตากันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว ส.ว.ชุดพิเศษ จะลงมติเห็นชอบให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่หรือไม่