ครบรอบ 1 ปี แคมเปญ #ยกเลิก112 เช็คเสียง “พรรคการเมือง” ก่อนเลือกตั้ง 2566

31 ตุลาคม 2565 คือ “วันครบรอบ 1 ปี” ของการจัดกิจกรรมชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อประกาศข้อเรียกร้อง #ยกเลิก112 หรือการยกเลิกฐานความผิดที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สืบเนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว มีประชาชนถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนคดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์

กิจกรรมเมื่อ 31 ตุลาคม 2564 จัดขึ้นในนาม “คณะราษฎรยกเลิก112” หรือ ครย.112 ซึ่งมาจากการรวมตัวกันของกลุ่มกิจกรรมหลากหลายกลุ่มที่เห็นตรงกันในข้อเรียกร้องนี้ และต้องการเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 เข้าชื่อกันให้ครบ 10,000 คน เพื่อนำไปเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณายกเลิกข้อกฎหมาย โดยผลตอบรับคือ มีประชาชนมาร่วมลงชื่อในวันเปิดตัวแคมเปญจำนวน 3,760 รายชื่อ

ต่อมา มีการเปิดให้ลงชื่อทางออนไลน์เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2564 และมีผู้มาร่วมลงชื่อภายในวันเดียวมากถึง 108,595 รายชื่อ ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 238,365 รายชื่อภายในระยะเวลา 1 ปี แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ขวางกั้นอย่างการถูกรัฐบาลสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็ตามที (ปัจจุบัน เว็บไซต์สามารถเข้าถึงได้ผ่าน https://www.nomore112.org/)

1 ปีผ่านไป ท่ามกลางกระแสข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ยังหนักแน่นคงเดิม อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนรายชื่อหลักแสนคูณสองนี้ก็อาจยังไม่มีอานุภาพมากพอที่จะต่อกรกับปัจจัยเร่งต่างๆ ที่ยากเกินควบคุม ทั้งจำนวนคดีที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทะลุ 236 คดี และคำพิพากษาที่กำลังขยับก้าวเท้าเข้ามาใกล้ผู้ต้องหามากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบัน มีอย่างน้อย 19 คดีที่พิพากษาแล้ว และจำนวนโทษสูงสุดที่ศาลตัดสินก่อนลดโทษคือ 12 ปี   

หากปลายทางเดียวของข้อเสนอ คือการผ่านเข้าสู่กระบวนพิจารณากฎหมายในฐานะ “ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา” ตลอดจนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป เมื่อเป็นเช่นนั้น แล้วบรรดาพรรคการเมืองคิดเห็นอย่างไรกับการแก้ไขมาตราเจ้าปัญหานี้?

สำหรับใครที่เป็นคอข่าวการเมือง ก็คงสังเกตได้ว่าที่ผ่านมา มีเพียง “สองจุดกระตุ้น” ที่ทำให้แต่ละพรรคต้องวิ่งวุ่นกันออกมาจับไมค์กล่าวจุดยืนต่อกฎหมายมาตราดังกล่าว ครั้งแรกคือหลังการเปิดตัวแคมเปญ #ยกเลิก112 เมื่อ 31 ตุลาคม 2564 ก่อนจะเงียบหายไปเนิ่นนาน และกลับมาอีกครั้งหลังพรรคก้าวไกลประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงเมื่อ 15 ตุลาคม 2565

ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 หมดอายุลงด้วยเหตุอยู่ครบวาระสี่ปี คือสิ้นสุดในวันที่ 24 มีนาคม 2566 การเลือกตั้งครั้งใหม่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 และทำให้เราจะเหลือเวลาอีกประมาณครึ่งปีเท่านั้นก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง และเมื่อวิเคราะห์ข้อความการประกาศจุดยืนการแก้ไขมาตรา 112 ของแต่ละพรรคที่ผ่านมาในรอบหนึ่งปี จะสามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ (1) กลุ่มสนับสนุนให้แก้ไข (2) กลุ่มยังไม่มีรายละเอียด และ (3) กลุ่มยืนยันไม่แก้ไข ดังนี้

(1) กลุ่มสนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 112

พรรคก้าวไกล

15 ตุลาคม 2565 เฟซบุ๊กเพจ พรรคก้าวไกล – Move Forward Party เปิดนโยบายพรรคในหมวด “การเมืองไทยก้าวหน้า” ข้อที่ (6) เห็นต่างไม่ติดคุก แก้กฎหมาย 112 116 พ.ร.บ.คอม โดยมีคำอธิบายเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ดังนี้

“การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยลดโทษเหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีพระมหากษัตริย์ และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทในกรณีอื่น และย้ายออกจากหมวดความมั่นคงให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยมีสำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้งความเท่านั้น รวมถึงการมีบทบัญญัติคุ้มครองไม่ให้ใช้กฎหมายดังกล่าวแก่กรณีวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต”

ก่อนที่ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ทางเพจของพรรคจะเผยแพร่รายละเอียดเพิ่มเติมของข้อเสนอตามมา

ข้อเสนอดังกล่าว มีความคล้ายคลึงกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งมีใจความ “ยกเครื่อง” แก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ตั้งแต่หมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป (มาตรา 326, 328, 393) ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา 136) ดูหมิ่นศาล (มาตรา 198) รวมทั้งการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 112) โดยเป็นหนึ่งในห้าร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอต่อสภาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่ผลปรากฏว่า ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวกลับไม่ถูกบรรจุเป็นวาระพิจารณา อีกทั้งมี ส.ส.พรรคก้าวไกลจำนวนเก้าคนที่ไม่ร่วมลงชื่อสนับสนุน ในขณะที่ร่างกฎหมายอีก สี่ฉบับได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาเป็นที่เรียบร้อย

โดยในครั้งนั้น พรรคก้าวไกลได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สภาว่า ทั้งสำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่างก็โต้แย้งว่า ร่างดังกล่าวมีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” 

คลิกดู ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับก้าวไกล (เฉพาะมาตรา 112) ที่ถูกตีตก 

ด้านประเด็นเรื่อง #นิรโทษกรรมคดีการเมือง ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เคยกล่าวไว้เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2564 หลังแคมเปญยกเลิก 112 ของคณะราษฎรยกเลิก 112 เริ่มต้นขึ้นได้สามวันว่า

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112  ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจต้องคืนสิทธิในการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องหาคดี ม.112 รวมถึงคดีความมั่นคงอื่นๆ และใช้กลไกทางการเมืองในการยุติคดีการเมืองต่างๆ ไม่ควรมีใครต้องอยู่ในคุกเพราะการแสดงออกทางการเมือง ในที่สุดหากต้องนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมก็จำเป็นต้องทำ”

สอดคล้องกับข้อเสนอที่ รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยในวันเปิดตัวนโยบายพรรคเมื่อ 15 ตุลาคม 2565 ว่า ข้อเสนอใหญ่ที่สุดของพรรคก้าวไกลคือ “การนิรโทษกรรมคดีการเมือง” โดยเฉพาะคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เพื่อคืนความเป็นธรรมและอนาคตให้กับประชาชนที่ต้องคดีการเมืองเพียงเพราะแสดงความเห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ก่อนจะให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกครั้งในวันถัดมา (16 ตุลาคม 2565) ถึงที่มาของคณะกรรมการนิรโทษกรรมว่า รูปแบบของคณะกรรมการยังอยู่ในระหว่างการออกแบบ แต่จะมีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม และจะไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติตามคำสั่ง การนิรโทษกรรมจะเน้นไปที่ประชาชน โดยมีกลไกคือ ให้คณะกรรมการเป็นผู้ริเริ่ม แต่ทั้งนี้ ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการโจมตีในแง่ลบว่าเป็นการนิรโทษกรรมเพื่อพวกตนเอง 

พรรคเสรีรวมไทย

23 ตุลาคม 2565 เฟซบุ๊กเพจ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า จุดยืนของ “พรรคเสรีรวมไทย” ต่อ การแก้ไขกฎหมาย ม.112 โดยมีข้อความปรากฏในภาพดังนี้

“พรรคเสรีรวมไทย ยืนยันมาตลอด แนวทางเราเป็นแบบกลางๆ ถามว่าบุคคลธรรมดา รัฐธรรมนูญยังปกป้องไม่ให้ใครมาทำร้ายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินเลย ใครมาหมิ่นเรา เราก็สามารถฟ้องได้ ถ้าเกิดมีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พระมหากษัตริย์จะไม่มีสิทธิ์ทำอะไรเลยได้หรือ? ดังนั้นยกเลิกไม่ได้ ใครหมิ่นก็ต้องได้รับโทษ แต่ควรมีการปรับในรายละเอียดเล็กน้อย เช่น ไม่ใช่ใครก็ไปแจ้งความได้ แต่ควรให้ตัวแทนจากพระมหากษัตริย์ดำเนินการแทน หรือลดจำนวนปีในการรับโทษติดคุกลงมา เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวมีความแตกต่างเล็กน้อยเมื่อเทียบข้อเสนอจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2564 ว่า ทางพรรคสนับสนุนให้แก้ไขเนื้อหาของมาตรา 112 แทนการยกเลิก โดยมี 2 ข้อเสนอได้แก่ หนึ่ง แยกการดูหมิ่น-หมิ่นประมาท ออกจากการอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์  และสอง การอาฆาต มาดร้าย ต้องลดจำนวนโทษจำคุกลง จากที่กฎหมายระบุ ให้จำคุก 3-15 ปี เป็น 2-5 ปี นอกจากนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังกล่าวว่า เนื่องจากตนไม่ต้องการให้นำพระมหากษัตริย์มาเปรียบเทียบกับประชาชน จึงไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 และนำมาตรา 326 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปที่มีอัตราโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท มาบังคับใช้แทน แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายการรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้ผู้ใดดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท ซึ่งในที่นี้ควรพิจารณาถึงอัตราโทษที่เหมาะสมด้วย 

(2) กลุ่มยังไม่มีรายละเอียด

พรรคเพื่อไทย

31 ตุลาคม 2564 หลังแคมเปญยกเลิก 112 ของคณะราษฎรยกเลิก 112 เกิดขึ้น ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ภายในคืนวันเดียวกันว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่มีเสียงสมาชิกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรพร้อมนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย

คลิกอ่าน แถลงการณ์ฉบับเต็ม 

ต่อมา 2 พฤศจิกายน 2564 สุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ รายงานความคืบหน้าว่า “การเสนอญัตติเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คงต้องมีการหารือระดับหัวหน้าพรรคให้เสร็จสิ้นก่อน ส่วนของพรรคเพื่อไทยจะออกมาในรูปแบบใด คงต้องรอดูความเห็นของพรรคร่วมฝ่ายค้านประกอบด้วย และต้องรอให้ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นผู้ชี้แจงทิศทางของพรรคเพื่อไทย” 

“เรายังไม่ได้คุยกัน จึงยังไม่รู้ท่าทีของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เรื่องนี้ต้องใช้การอธิบายที่สูงกว่าทุกเรื่อง ต้องใช้เวลาในการอธิบายให้ทุกคนได้รู้ถึงเจตนาที่แท้จริง เชื่อว่าหากอธิบายมากๆ จนทุกคนเข้าใจ ทุกอย่างก็เป็นไปได้ แต่หากอธิบายน้อย สื่อสารน้อยอาจจะเป็นอุปสรรคหนึ่ง” สุทินกล่าวเสริม

จากนั้น 8 พฤศจิกายน 2564 สุทินก็ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขมาตรา 112 อีกครั้ง โดยเน้นย้ำว่าต้องยึดเอาความเห็นของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนี้

“การแก้ปัญหามาตรา 112 วันนี้ทุกฝ่ายต้องฟังความเห็นของประชาชน สังคม หรือฟังจากสื่อโซเชียล ว่าต้องการอย่างไร ไปแนวไหน เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่แปลกที่วันนี้อาจจะยังเห็นต่างกันไปคนละทาง เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องอ่อนไหวและละเอียดอ่อน เมื่อถึงระยะหนึ่งแล้วมีความจำเป็นก็อาจจะหยิบยกขึ้นมาหารือในสภา เพื่อให้เกิดผลึกร่วมกันแล้วเดินในขั้นต่อไป แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเฉพาะหน้าในกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีก็ต้องหาทางช่วยเหลือและดูแลก่อน” 

อย่างไรก็ตาม ในระยะหนึ่งขวบปีภายหลังออกแถลงการณ์ ข้อเสนอการแก้ไขมาตรา 112 จากพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ปรากฏออกมาอย่างเป็นรูปธรรมนัก 

21 กันยายน 2565 แพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สั้นๆ กับประชาชาติธุรกิจถึงจุดยืนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ว่า จำเป็นต้องพูดคุยกันว่ากฎหมายมีปัญหาหรือไม่ เพื่อนำไปสู่กระบวนการของรัฐสภาต่อไปในอนาคต ดังนี้

“จริงๆ ไม่ต้องมาตรา 112 ทุกๆ เรื่องที่ถก ๆ กันมันต้องผ่านกระบวนการของสภา ให้เป็นหลักนั้นดีกว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต้องอยู่ในหลักที่ต้องผ่านกระบวนการ ถ้าคุยกันแล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร หรือต้องทำอย่างไรก็ต้องผ่านระบบสภา”

“จริงๆ แล้วกฎหมายมีมานานมาก แต่ถ้าเรามาดูหลังรัฐประหารที่เกิดขึ้น จำนวนที่ถูกฟ้องด้วยข้อหา 112 เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ปัญหาอยู่ตรงไหนกันแน่ มันไม่ใช่ว่าจู่ ๆ ถูกใช้มาเรื่อย ๆ ในสังคมไทย แต่มันเพิ่งเกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้ มันคือปัญหามากกว่า เป็นสิ่งที่น่าคิด”

ล่วงเลยมาจนถึง 16 ตุลาคม 2565 หรือหนึ่งวันหลังพรรคก้าวไกลประกาศนโยบายแก้ไขมาตรา 112 สุทินได้ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเพื่อไทยจะให้ความสำคัญกับประเด็นเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก

“เรื่องดังกล่าวเป็นจุดยืนของแต่ละพรรคไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ อยู่ที่ประชาชนจะพิจารณาแล้วตัดสินใจ เข้าใจว่าแต่ละพรรคได้ศึกษามาดีแล้วถึงประกาศเป็นนโยบายออกไป สำหรับพรรคเพื่อไทยเราทำนโยบายทุกด้าน แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วนที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน และความมั่นคงทางการเงินการคลังของประเทศ รวมทั้งการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดกับสังคมไทย”

สำหรับประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรม เมื่อ 17 ตุลาคม 2565 ไทยรัฐรายงานว่า นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดแพร่ และอดีตโฆษกประจำสำนักนายก ในรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เปิดตัวร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับความเห็นต่างทางการเมืองทั้งหมด ในกิจกรรมแฟลชม็อบ รำลึกวันครบรอบ 2 ปี การฉีดน้ำสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การนิรโทษกรรมในครั้งนี้หมายรวมถึงคดี มาตรา 112 ด้วยหรือไม่ นพ.ทศพร กล่าวว่า ยังเป็นเรื่องที่จะต้องหารือกันต่อไป

(3) กลุ่มยืนยันไม่แก้ไขมาตรา 112

พรรคพลังประชารัฐ

20 ตุลาคม 2565 The Standard รายงานว่า พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า

“ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็นบทบัญญัติในการคุ้มครองประมุขของรัฐ ซึ่งเราชัดเจนมาโดยตลอดต่อการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยพรรคพลังประชารัฐจะยึดมั่นแนวทางนี้ ไม่มีเปลี่ยนแปลง”

สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2564 ว่า

“พรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนชัดเจนเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ คือต้องดำเนินการเป็นไปตามที่พรรคได้ให้ไว้เกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องอยู่ต่อไป เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ได้สร้างประเทศชาติ พรรคพลังประชารัฐไม่เอาด้วยแน่นอน แต่เราจะรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป เราจะช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ดีกินดี ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ”

พรรคประชาธิปัตย์

19 ตุลาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐสภา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 พร้อมกับมีการนำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาโพสต์ซ้ำอีกครั้งในเฟซบุ๊กเพจ Democrat Party, Thailand พรรคประชาธิปัตย์ ภายในวันเดียวกัน ดังนี้

“เราพูดชัดครับ การแก้มาตรา 112 พรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วย พูดชัดเจนมาหลายรอบแล้ว จะแก้รัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ประชาธิปัตย์เราสนับสนุน และเคยเสนอไปแล้วด้วย เพียงแต่ร่างประชาธิปัตย์ 7 ร่าง มันผ่านแค่ร่างเดียว แต่ต่อไปถ้าจะต้องแก้อีก แล้วแนวทางมันไปตามทิศทางที่เรากำหนด เราก็พร้อมสนับสนุน แม้เราไม่ได้เสนอเอง หรือแค่มีวาระเข้าพิจารณาในสภา ประชาธิปัตย์ก็พร้อม แต่ต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และไม่แก้มาตรา 112”

“เหตุผลมันมีชัดเจนว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีบทคุ้มครองประมุขของตัวเอง ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบไหนก็มีบทคุ้มครองประมุขของตัวเองทั้งนั้น ประเทศไทยก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราผิดแผกแตกต่างไปจากประเทศอื่น เพราะฉะนั้นมาตรา 112 นี้ก็เป็นมาตราที่มีความจำเป็นเพื่อคุ้มครองประมุขของประเทศไทย” 

แม้หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมสีฟ้าคนปัจจุบันจะแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตามรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. หน่วยงานที่แต่งตั้งขึ้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2553 ภายใต้การบริหารประเทศของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2553 – กรกฎาคม 2555 ได้รายงานปัญหาของมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เช่น อัตราโทษสูงไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ปัญหาการจำกัดดุลพินิจของศาลในการกำหนดโทษที่เหมาะสม ขอบเขตตามกฎหมายไม่ชัดเจนและเปิดโอกาสให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลฝ่ายตรงข้ามหรือกำจัดศัตรูทางการเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ รายงานของ คอป. ยังเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ผ่านการเรียกร้องให้นักการเมือง พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองหารือกันอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง โดยอาจกำหนดชัดเจนเป็นวาระแห่งชาติ และในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องคืนสิทธิประกันตัว เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยสามารถออกมาต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยพยานหลักฐานอย่างเสมอภาค 

พรรคภูมิใจไทย

19 ตุลาคม 2565 The Standard รายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์โดยระบุว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองปกป้องสถาบันสำคัญของชาติเป็นข้อแรกและเป็นอุดมการณ์ที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยทุกคนยึดถือเป็นหลักในการทำงาน พร้อมแสดงความคิดเห็นดังนี้

“พรรคภูมิใจไทยไม่มีนโยบาย ไม่มีความคิดเรื่องแก้ไขมาตรา 112 และไม่เข้าใจว่าคนที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 เดือดร้อนอะไรกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถ้าเราไม่คิดทำผิดกฎหมาย ทำไมต้องกลัวรับโทษทางกฎหมาย ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะมีก็แต่กลุ่มคนที่คิดจะท้าทาย คิดจะทำผิดกฎหมาย แต่ก็กลัวโทษตามกฎหมาย จึงมาเรียกร้องให้แก้กฎหมายให้สิ่งที่ตนจะทำเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษ มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ควรจะแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ควรจะไปแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นก่อน”

“ผมมั่นใจว่าการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่มีทางได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ใครจะคิดอย่างไร ลงมติอย่างไร ก็เป็นสิทธิของเขา แต่พรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรคพูดแทนสมาชิกทุกคนได้เลยว่าเราไม่แก้ไข และจะคัดค้าน ขัดขวางถึงที่สุด รวมทั้งจะไม่ร่วมมือ ร่วมทำงาน กับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ทุกระดับ รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าหรืออีกกี่ครั้งก็ตาม”

อนุทินระบุ พร้อมทิ้งท้ายว่า จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายหรือแนวคิดแก้ไขมาตรา 112 เนื่องจากมีอุดมการณ์ขัดแย้งกันและจะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้

สอดคล้องกับเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 หลังแคมเปญยกเลิก 112 ของคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) เกิดขึ้น ซึ่งอนุทินเคยกล่าวถึงจุดยืนของพรรคว่า “มาตรา 112 จะแตะไม่ได้” และจะไม่มีการแก้ไขในส่วนของพรรคภูมิใจไทย มีแต่ต้องทำให้เข้มแข็งมากขึ้น 

พรรคชาติไทยพัฒนา

20 ตุลาคม 2565 วราวุธ ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า “จุดยืนของพรรคจะไม่ยุ่งอะไรกับมาตรา 112 เพราะตั้งแต่เกิดมาจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่เห็นคนทั่วไปมีปัญหา ปัจจุบันบุคคลธรรมดายังมีคดีหมิ่นประมาทอยู่ในชั้นศาลตั้งหลายร้อยหลายพันคดี ซึ่งมาตรา 112 ไม่ใช่มาตราที่หาเรื่องใคร แต่เพื่อใช้ปกป้องสถาบันอันเป็นที่รัก” 

“หากมีใครอุตริไปหาเรื่อง เราจะต้องมีอุปกรณ์หรือกฎหมายใดปกป้องสถาบันฯ ได้… มาตรา 112 มีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ไม่เห็นใครมีปัญหา หัวเด็ดตีนขาดก็ต้องมีมาตรา 112 รอให้ดินกลบหน้า ผมไม่ยอมแก้มาตรา 112 แน่นอน”  วราวุธกล่าวเสริม

พรรคพลังท้องถิ่นไท

ชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท ผู้แสดงจุดยืนมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อนว่า หนึ่งในภารกิจหลักของพรรคคือการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ออกมาย้ำจุดยืนเรื่องการปกป้องสถาบันฯ ภายหลังพรรคก้าวไกลประกาศนโยบายว่า “ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 เพราะสถาบันฯ ไม่ได้ทำอะไรให้ ไม่เข้าใจว่าทำไมพรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบายเช่นนี้ หากพรรคก้าวไกลเสนอเรื่องเข้ามาในสภา พรรคพลังท้องถิ่นไทจะคัดค้านอย่างแน่นอน”

พรรคไทยศรีวิไลย์

21 ตุลาคม 2565 มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวแสดงจุดยืนชัดเจนว่า พรรคไม่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยมีมาอย่างยาวนานถึง 865 ปี จึงต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐในรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ เพื่อพิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครอง

“หากไม่มีมาตรา 112 หรือกฎหมายปกป้องกันคุ้มครองพระมหากษัตริย์ จะทำให้เกิดช่องว่างเปิดให้ผู้ไม่หวังดีชี้นำประชาชน เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองอื่นตามต้องการ และเกิดความสั่นคลอนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระหากษัตริย์เป็นประมุข จนอาจเกิดสงความคิด การเมือง และสงครามกลางเมืองในอนาคต”

พรรคพลังธรรมใหม่

21 ตุลาคม 2565 มหัศจักร โสดี โฆษกพรรคพลังธรรมใหม่ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุความตอนหนึ่งว่า “มาตรา112 ไม่ได้เป็นปัญหากับใคร แต่ที่เป็นปัญหาคือนักวิชาการ นักการเมืองที่สมคบคิดกับต่างชาติแล้วยุยงปลุกปั่นคนไทยให้ทำลาย ทำร้ายประเทศตัวเอง แล้วแอบอ้างความเป็นนักวิชาการ ปั่นหัวคนอื่นให้ทำผิดรับโทษอาญาแผ่นดิน แต่ตัวเองลอยนวล เก่งจังเรื่องอย่างนี้” 

สอดคล้องกับการแสดงจุดยืนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2564 โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แสดงความคิดเห็นว่าพรรคจะไม่สนับสนุนการล่ารายชื่อยกเลิก 112 เช่นเดียวกัน ดังนี้

“ถ้าย้อนไปในประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่ากลุ่มเสื้อแดงก็มีความพยายามในเรื่องนี้มาก่อนแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ แต่ขณะเดียวกันอย่าลืมว่าก็มีประชาชนที่ต้องการจะล่ารายชื่อเพื่อคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 และเชื่อมั่นว่าจะมีจำนวนมากกว่าประชาชนที่สนับสนุน แต่สำหรับพรรคพลังธรรมใหม่ไม่ได้มีท่าทีที่จะไปสนับสนุนการดำเนินการเช่นนี้ เพราะจะทำให้เป็นการนำมาตรา 112 มาเป็นความขัดแย้งในสังคม”

พรรคไทยภักดี

21 ตุลาคม 2565 สุขสันต์ แสงศรี โฆษกพรรคไทยภักดี เข้ายื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีพรรคก้าวไกลนำเสนอนโยบายเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ระบุว่า พรรคต้องไม่ปฏิบัติการใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สุขสันต์กล่าวว่า การที่เสนอให้สำนักพระราชวังเป็นโจทย์แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดมาตรา 112 เป็นการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนในอนาคตข้างหน้า และหากพบว่ามีความผิด กกต.ต้องดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งความผิดอาจถึงขั้นยุบพรรคได้ 

พรรคเพื่อชาติไทย

26 ตุลาคม 2565 คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองและจะขอคัดค้านให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยทางพรรคจะปกป้องสถาบันเบื้องสูงอย่างเต็มที่

“การโจมตีใส่ร้ายด้วยข้อมูลเท็จต่อสถาบันเบื้องสูงมีมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีกฎหมายมาตรา 112 เพื่อปกป้องคุ้มครองพระองค์ท่าน และในต่างประเทศก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุขของประเทศเช่นกัน ถ้ารู้ว่า ม.112 มีโทษสูงก็ไม่ควรทำผิด นอกจากจะมีเจตนาไม่ดี แต่กับคนทั่วไปไม่มีใครเดือดร้อนกับมาตรา 112 และขอเตือนไปยังกลุ่มคนที่คิดไม่ดีกับสถาบันเบื้องสูงให้เลิกเสีย เพราะจะไม่มีความสุขตลอดไป”