กฎหมายลูกเลือกตั้งค้างท่ออีกสัปดาห์ หลัง #สภาล่ม เหตุองค์ประชุมไม่ครบ

3 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. + ส.ว.) มีวาระพิจารณาร่างกฎหมายที่ต้องลงมติรายมาตราในวาระสองและลงมติเห็นชอบทั้งฉบับในวาระสามอยู่สองฉบับ ได้แก่ 1) ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ซึ่งมีจำนวน 12 มาตรา และ 2) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.) หรือที่เรียกอย่างลำลองว่า “กฎหมายลูกเลือกตั้ง” ซึ่งถูกเสนอเพื่อแก้ไขพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 ที่ยังใช้บังคับอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องระบบเลือกตั้ง และจะใช้กำหนดรายละเอียดสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

อย่างไรก็ดี รัฐสภาก็ยังไม่ได้พิจารณาร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ให้แล้วเสร็จในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เนื่องจากระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอยู่ในลำดับพิจารณาก่อนหน้ากฎหมายลูกเลือกตั้ง ขณะที่เช็คองค์ประชุม เพื่อที่จะลงมติมาตรา 8 ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ หลังจากใช้เวลา 53 นาที “รอ” องค์ประชุม ขาดอีกเจ็ดคน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จึงสั่งปิดการประชุมในเวลาประมาณ 17.02 น. ส่งผลให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ยังไม่แล้วเสร็จ เหลือการลงมติรายมาตรา 8 ถึงมาตรา 12 และลงมติเห็นชอบทั้งฉบับในวาระสอง ขณะที่ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ซึ่งอยู่ในลำดับพิจารณาถัดไป ก็ยังไม่ได้พิจารณาต่อ และต้องยกยอดไปพิจารณาในการประชุมร่วมรัฐสภาครั้งหน้า

บรรยากาศการประชุมรัฐสภาวันนี้ รัฐสภาเริ่มพิจารณาร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ราว 09.45 น. โดยเป็นการพิจารณาลงมติรายมาตรา แม้จำนวนมาตราของร่างกฎหมายดังกล่าวจะน้อย มีแค่ 12 มาตรา มีผู้อภิปรายไม่เยอะมาก แต่กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวกลับเนิ่นช้า ต้องใช้เวลาหลายนาทีเพื่อรอให้ส.ส. ส.ว. มาแสดงตนผ่านการกดบัตรหรือการขานชื่อให้ครบองค์ประชุม โดยจำนวนองค์ประชุมที่จะถึงเกณฑ์ตามกฎหมาย คือ กึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ปัจจุบันรัฐสภา มีส.ส. และส.ว. รวมกัน 727 คน องค์ประชุมจึงต้องการ 364 คน หากครบองค์ประชุมแล้ว จึงจะสามารถดำเนินการลงมติต่อไปได้

ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม งัดหลายเทคนิค เพื่อให้องค์ประชุมครบและสามารถลงมติร่างกฎหมายได้ ทั้งรอให้สมาชิกมาให้ถึงจำนวนองค์ประชุม กดออกเรียก แจ้งให้บรรดา ส.ส. ส.ว. ไปตามเพื่อนสมาชิก นับถอยหลังจำนวนสมาชิกว่าขาดอีกกี่คนถึงจะครบองค์ประชุม ด้านสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมบางราย ก็พยายามชวนประธานพูดคุยในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ระหว่างที่เกิด “เดดแอร์” ช่วงรอสมาชิกให้ครบองค์ประชุม

เมื่อร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องยกยอดไปพิจารณาในการประชุมร่วมรัฐสภาครั้งหน้า ชวน หลีกภัย แจ้งต่อสมาชิกรัฐสภาว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 สิงหาคม 2565) จะนัดหารือวิปสามฝ่าย (ส.ว. ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และส.ส.ฝ่ายค้าน) เพื่อกำหนดวันประชุมต่อไปว่าจะสามารถนัดประชุมในวันที่ 9-10 สิงหาคม 2565 ได้หรือไม่

เหตุการณ์ #สภาล่ม ไม่ได้ส่งผลต่อร่างกฎหมายปฏิรูปอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบอีกทอดไปยังร่างกฎหมายสำคัญที่กำหนดรายละเอียดของกติการการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งก็คือ ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ก็ยืดเยื้อต่อเนื่องมาจากการประชุมครั้งก่อน 

หากย้อนกลับไปเมื่อ 6 กรกฎาคม 2565 เสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตพลิกล็อก เคาะสูตรคำนวณที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากเดิมที่กรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ข้างมากกำหนดไว้คือสูตร “หาร 100” เป็น “สูตรหาร 500” ตามที่ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ และกมธ.ข้างน้อยเสนอ การโหวตพลิกขั้วเพียงหนึ่งมาตรา จึงส่งผลต่อเนื้อหาของมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ในการประชุมรัฐสภาครั้งที่แล้ว 26 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นด้วยให้กมธ.ถอนร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. เพื่อนำกลับไปทบทวนมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องใหม่ 

ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ได้กลับเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้งในสัปดาห์นี้ แต่ยังคงไม่ได้พิจารณาต่อจากเดิมให้แล้วเสร็จ ซึ่งรัฐสภาจะต้องเริ่มพิจารณาลงมติมาตรา 24/1 ไปจนถึงมาตรา 32 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้าย และจะต้องลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับในวาระสาม

ทั้งนี้ รัฐสภาก็มี “เดดไลน์” ที่จะต้องพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างในระเบียบวาระการประชุม ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 15 สิงหาคม 2565 หากรัฐสภาพิจารณากฎหมายลูกเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จภายในเดดไลน์ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 กำหนดว่า ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างพ.ร.ป.ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระสอง ซึ่งในร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ฉบับที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระสอง ก็กำหนดสูตรคำนวณที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ “หาร 100” 

ดังนั้น ถ้ารัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายไม่แล้วเสร็จภายใน 15 สิงหาคม 2565 กติกาการเลือกตั้งในเรื่องสูตรคำนวณส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ก็จะพลิกกลับมาเป็น “สูตรหาร 100” ตามแนวทางเดิม