กฎหมายลูกเลือกตั้งส.ส. ส่อแววช้า วุ่นสืบเนื่องปมแก้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ “หาร 500”

26 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.) ซึ่งกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส. ให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

จุดพลิกครั้งสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ เมื่อการประชุมรัฐสภา 6 กรกฎาคม 2565 ซึ่งพิจารณาร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. วาระสอง ลงมติรายมาตรา เมื่อมาถึงมาตรา 23 ที่แก้ไขพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ซึ่งกำหนดสูตรคำนวณที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ  เสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตพลิกล็อก เคาะสูตรคำนวณที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากเดิมที่กรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ข้างมากกำหนดไว้คือสูตร “หาร 100” เป็น “สูตรหาร 500” ตามที่ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ และกมธ.ข้างน้อยเสนอ 

การโหวตพลิกล็อกสูตรคำนวณในการประชุมครั้งก่อน ส่งผลต่อเนื่องมาถึงการประชุมรัฐสภาครั้งนี้ มีประเด็นว่า เมื่อเนื้อหาของร่างกฎหมายแตกต่างไปจากเดิม ต่างจากที่กมธ. ข้างมากกำหนด จะต้องเป็นหน้าที่ของกมธ. ข้างน้อยที่เสนอสูตรหาร 500 ในการปรับปรุงมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หลังจากนั้น ระวี มาศฉมาดล กมธ. ข้างน้อย จึงได้เสนอร่างแก้ไขมาตรา 24/1 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับมาตรา 23 จนถูกโต้แย้งโดยจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่ากระทำไม่ถูกต้องตามกระบวนการนิติบัญญัติ 

กมธ. ข้างมากบางส่วน อาทิ ชูศักดิ์ ศิรินิล วันมูหะมัดนอร์ มะทา ตั้งข้อห่วงกังวลว่าการแก้ไขสูตรคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเป็น “หาร 500” ซึ่งมีข้อความที่กำหนดขึ้นมาใหม่ จะขัดแย้งกับเนื้อหาที่ปรากฏในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีความละเอียดรอบคอบ และไม่ได้มีเวลาพอที่จะให้บรรดาส.ส. ส.ว. เปรียบเสมือนการตีหัวเข้าบ้าน จึงขอถอนกฎหมายนี้เพื่อให้กมธ.กลับไปแก้ไขรายงาน ด้านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนให้กมธ.นำร่างกลับไปแก้ไข 

สาธิต ปิตุเตชะ ในฐานะประธานกมธ. จึงขอถอนร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ออกไปให้กมธ. นำกลับไปพิจารณาประชุมหารือ เพื่อนำเข้ารัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อในโอกาสต่อไป โดยการพิจารณาครั้งต่อไปจะเริ่มต่อจากมาตราที่รัฐสภาพิจารณาไปแล้ว ด้านสมชาย แสวงการ ไม่เห็นด้วยกับการถอนร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. เสนอว่าควรพักการประชุมเพื่อให้กมธ.ไปพูดคุยกัน อย่างไรก็ดี ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ระบุว่า เมื่อประธานกมธ. ขอถอนร่างแล้ว จึงต้องให้รัฐสภาลงมติกัน

ท้ายที่สุดที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นด้วยให้กมธ.ถอนร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. เพื่อนำกลับไปทบทวนใหม่ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 476 เสียง ไม่เห็นด้วย 25 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 9 เสียง โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อนำร่างกลับมาให้รัฐสภาพิจารณา จะต้องพิจารณาต่อจากเดิม 

ทั้งนี้ รัฐสภามีกรอบเวลาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 180 วันนับแต่วันที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างในระเบียบวาระการประชุม ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 15 สิงหาคม 2565 จึงเหลือเวลาอีกเพียงราวครึ่งเดือนเท่านั้นที่กมธ. จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อย และส่งร่างกลับคืนมายังที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้แล้วเสร็จทันภายในกำหนด

อย่างไรก็ดี หากเกิดกรณีว่า รัฐสภาพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 กำหนดว่า ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างพ.ร.ป.ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระสอง ซึ่งในร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. เวอร์ชั่นที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระสอง ก็กำหนดสูตรคำนวณที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ “หาร 100” ดังนั้น ถ้ารัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ก็ยังมีแววที่ร่างกฎหมายลูกกำหนดรายละเอียดกติกาการเลือกตั้งครั้งหน้า จะพลิกกลับมาตามแนวทางเดิมคือสูตรหาร 100