เลือกตั้งพัทยา: การเลือกตั้งใหม่ในรอบ 10 ปี หลัง คสช. เข้ายึดครอง

ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นอกจากกรุงเทพมหานครจะมีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาของท้องถิ่นของตัวเองแล้ว เมืองพัทยาก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะได้มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาเมืองพัทยา หลังไม่มีการเลือกตั้งมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี โดยเมืองพัทยาถูกเรียกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเช่นเดียวกับกรุงเทพ และเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเงินงบประมาณมากเป็นอันดับที่สอง เมื่อเทียบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศ ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566

ที่ผ่านมา นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 ตำแหน่งนายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยาถูกแทรกแซงโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นอกจากจะแช่แข็งการเลือกตั้งแล้ว ยังใช้อำนาจแต่งตั้งบุคคลให้มาปฏิบัติหน้าที่แทน โดยผู้ดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยาคนล่าสุดก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ สนธยา คุณปลื้ม อดีตหัวหน้าพรรคพลังชล ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคสช.

ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ สนธยา คุณปลื้ม ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งต่อ แต่ส่งตัวแทนเป็น ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์  อดีตรองนายกเมืองพัทยา และอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่ผู้สมัครรายอื่น ได้แก่ สินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และอดีตสมาชิกสภาเมืองพัทยาที่มาจากการสรรหาตามคำสั่งคสช. ถัดมาคือ ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ อดีตนายอำเภอบางละมุง และอดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง ส่วนผู้สมัครนายกเมืองพัทยาคนสุดท้าย คือ กิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มคณะก้าวหน้าที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เข้าใจโครงสร้างเมืองพัทยาเพิ่มเติมและเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6128

นายกเมืองพัทยา: จากแช่แข็งสู่ยึดครองโดยคสช.

ก่อนที่ประชาชาชนชาวพัทยาจะได้เข้าคูหาเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาครั้งล่าสุด คือ วันที่ 17 มิถุนายน 2555 โดยมี “อิทธิพล คุณปลื้ม” เป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ และเป็นชัยชนะสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียง 21,448 เสียงจากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 69,205 คน

ต่อมาหลังมีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศเพื่อ “แช่แข็งการเลือกตั้ง” หรือ ประกาศคสช. ที่ 85/2557 ที่กำหนดให้งดการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่ง พร้อมทั้งให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหน้าท่ีนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทน ทำให้ในวันที่ 17 มิถุนายน 2559 ได้มีการแต่งตั้ง “ชนัฐพงศ์ ศรีวิเศษ” ปลัดเมืองพัทยา ให้มาปฏิบัติหน้าที่นายกเมืองพัทยาแทน อิทธิพล คุณปลื้ม ที่อยู่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง

หลังให้ปลัดเมืองพัทยาปฏิบัติหน้าที่แทนมาสักระยะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 6/2560 โดยระบุว่า เนื่องจากการบริหาร จัดการเมืองพัทยา ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้บริหารจัดการ ที่มีศักยภาพสูง  จึงแต่งตั้ง พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่ 2 และรองประธานสภาเมืองพัทยาที่มาจากการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่นายกเมืองพัทยา ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560

แต่หลังจากนั้นไม่นาน คสช. ก็เปลี่ยนคำสั่งอีกครั้ง ในวันที่ 25 กันยายน 2561 หัวหน้า คสช.ได้มีคำสั่งอีกครั้ง คือ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 15/2561 โดยระบุว่า เมืองพัทยาซึ่งเป็นองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีบทบาทสําคัญในการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจําเป็นต้องได้มาซึ่งนายกเมืองพัทยาและผู้บริหารเมืองพัทยาที่มีศักยภาพสูง พร้อมด้วย ประสบการณ์และความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ จึงให้ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี พ้นตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และตั้ง “สนธยา คุณปลื้ม” เข้ามาเป็นนายกเมืองพัทยา

ถ้าไล่เรียงดูบุคคลที่คสช. แต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยาจะพบว่าในช่วงแรกจะเป็นตัวแทนของ “รัฐราชการ” หรือบรรดาข้าราชการประจำหรืออดีตข้าราชการประจำ แต่เมื่อเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งทั่วไป (ปี 2562) คสช. กลับมาสานสัมพันธ์กับนักการเมืองอีกครั้ง จึงได้แต่งตั้งให้ “สนธยา คุณปลื้ม” มาดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา โดยก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะมีมติแต่งตั้ง สนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษาด้านการเมืองนายกรัฐมนตรี และ อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

แม้ว่าเหตุผลของการแต่งตั้งให้ “สนธยา คุณปลื้ม” มาดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยาจะระบุว่า ต้องการคนมีความรู้ความสามารถ แต่การตั้งสนธยา คุณปลื้ม คือ การเอาผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เข้ามาร่วมผลักดันนโยบายระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลคสช. และในขณะเดียวกัน การแต่งตั้ง สนธยา คุณปลื้ม คือ การดึงตัวนักการเมืองเข้าสังกัดของคสช. เพื่อเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ดังนั้น การแต่งตั้ง สนธยา คุณปลื้ม เป็นนายกเมืองพัทยา จึงเป็น “สัญลักษณ์” ของความร่วมมือกันระหว่างตระกูลคุณปลื้มและเครือข่ายในนามพรรคพลังชลกับคสช. ก่อนจะตัดสินใจย้ายเข้าไปสู่พรรคพลังประชารัฐ พรรคที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย

สภาเมืองพัทยา: จากเลือกตั้งสู่สรรหาผ่านกลไกรัฐราชการ

หลังการรัฐประหารในปี 2557 สมาชิกสภาเมืองพัทยายังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง และในกรณีที่สมาชิกสภาเมืองพัทยาครบวาระ ตามประกาศคสช. ที่ 85/2557 ข้อ 1 และ 2 กำหนดให้งดการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่ง แต่ให้ดำเนินการหาสมาชิกสภาท้องถิ่นชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่แทนด้วยการ “สรรหา”

โดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาเมืองพัทยาชุดใหม่ ประกอบไปด้วย

  • ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ
  • อัยการจังหวัด คนหนึ่งซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย
  • ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัด
  • ผู้อำนวยการสํานักงาน ตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด
  • ผู้อํานวยการสํานักงาน ป.ป.ช. ประจําจังหวัด
  • รองผู้อํานวยการรักษา ความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร)
  • หอการค้าจังหวัดหรือประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหรือประธานสภาทนายความประจําจังหวัดซึ่งคัดเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคนเป็นกรรมการ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการสรรหา คือ ต้องบุคคลที่มีความรู้และความสามารถด้านการบริหารงานท้องถิ่น การคลังท้องถิ่น การศึกษาท้องถิ่น การอนามัยและสาธารณสุข กฎหมาย ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น โยธาธิการ ผังเมือง หรือโครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นตามที่คณะกรรมการสรรหาเห็นสมควร แต่มีเงื่อนไขสำคัญว่า “สองในสามของจํานวนสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหมดต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับชํานาญการพิเศษ หรือ ระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป”

ต่อมา เมื่อสมาชิกสภาเมืองพัทยามีความขัดแย้งกับนายกเมืองพัทยาจนมีการลาออก สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา และ รัฐบาลคสช. กลับเลือกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยมองข้ามประชาชนเพราะแทนที่ สนธยา คุณปลื้ม และ รัฐบาลคสช. จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งนายกและสภาเมืองพัทยาใหม่ แต่กลับนำประกาศและคำสั่งคสช. มาใช้สรรหาสมาชิกชุดใหม่ 

เลือกตั้งใหม่ ตัวเลือกใหม่ ของเมืองพัทยา

ในการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งนายกเมืองพัทยา จำนวน 4 คน ได้แก่ 

๐ หมายเลข 1 ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์  อดีตรองนายกเมืองพัทยา และอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ

สำหรับนโยบายของ ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ตั้งเป้าหมายไว้ 4 เป้าหมายได้ ได้แก่ 1. แก้ปัญหาเร่งด่วนเรื่องเศรษฐกิจ รายได้ การจ้างงาน 2. ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพัทยา แก้ปัญหาน้ำท่วม และสิ่งแวดล้อม 3. สานต่อวิสัยทัศน์ “นีโอพัทยา เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” และ 4. พัฒนาเทคโนโลยีและปฏิรูปการศึกษา ที่ตอบโจทย์โลกอนาคต ซึ่งจาก 4 เป้าหมายดังกล่าว สามารถแบ่งเป็นนโยบายได้ 15 อย่าง ได้แก่ 

  1. อลังการงานอีเวนต์ สร้างรายได้เข้าสู่เมืองพัทยา (เป้าหมายที่ 1)
  2. กระจายรายได้ทัวร์สู่ชุมชน (เป้าหมายที่ 1)
  3. ระบบ Part-time Center “คนพัทยาได้งาน ผู้ประกอบการได้คน” (เป้าหมายที่ 1)
  4. สร้างรายได้ ขยาย ‘พื้นที่ขายของ’ เพื่อคนพัทยา (เป้าหมายที่ 1)
  5. 1337 MAX จัดการเบ็ดเสร็จทุกปัญหา (เป้าหมายที่ 2)
  6. โครงการต่อเนื่อง แก้ปัญหาน้ำท่วมพัทยา (เป้าหมายที่ 2)
  7. ทีมสุขภาพเข้าถึงทุกพื้นที่ หมอถึงบ้านพยาบาลถึงเรือน (เป้าหมายที่ 2)
  8. Shuttle Bus เชื่อมต่อ รถไฟฟ้าจาก 3 สนามบิน (เป้าหมายที่ 2)
  9. เช็คได้ ชัดเจน คลิ๊กเดียวรู้ Pattaya Connect (เป้าหมายที่ 2)
  10. โปรแกรมฝึกทักษะให้ผู้สูงวัย สร้างอาชีพใหม่ ใส่ใจสุขภาพ (เป้าหมายที่ 2)
  11. มิติใหม่เศรษฐกิจเมืองพัทยา มุ่งหน้าสู่การเป็น ‘เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์’ (เป้าหมายที่ 3)
  12. ’นีโอเกาะล้าน’ ทะยานสู่การท่องเที่ยว สีเขียว ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 3)
  13. ตลาดนาเกลือโฉมใหม่ พื้นที่ค้าขายรายได้ชุมชน (เป้าหมายที่ 3)
  14. พัทยาเมืองนานาชาติ “ศูนย์กลาง EEC” (เป้าหมายที่ 4)
  15. ขยายโรงเรียนต้นแบบ ให้พัทยาเป็นเมืองการศึกษาระดับชาติ (เป้าหมายที่ 4)

๐ หมายเลข 2 ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ อดีตนายอำเภอบางละมุง และอดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง

ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ เคยแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายไว้ว่า จะผลักดันนโยบายภายใต้สโลแกน “เปลี่ยนแปลง สร้างเมือง ยั่งยืน” โดยตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงในเรื่องแรกนั้นจะทำให้ทุกอย่างอยู่บนโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น เพื่อให้การตรวจสอบเป็นเรื่องง่ายเปิดเผย โปร่งใส สุจริต ตรวจสอบได้ ซึ่งจะร่วมมือกับพี่น้องประชาชนทุกคน สำหรับเรื่องที่สองที่จะดำเนินการจะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากเมืองพัทยาเป็นเมืองพิเศษ จะต้องใช้กฎหมายพิเศษกับเมืองพัทยา อย่างเช่นเรื่องโซนนิ่งสถานบริการ ซึ่งการขอตั้งโซนนิ่งสถานบริการในปัจจุบันได้เพียงถนนพัทยาสาย 2 เท่านั้น และผลักดันให้เมืองพัทยาเป็นโซนนิ่งทั้งหมด อีกทั้งเรื่องของเวลาในการเปิด-ปิดสถานบริการควรจะเปิดโอเพ่น ส่วนเรื่องที่สามที่อยากเห็นคือจุดวันสต็อปเซอร์วิส จะต้องเป็นจุดวันสต็อปเซอร์วิสที่แท้จริง โดยส่วนราชการทั้งหมดทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาค บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน

๐ หมายเลข 3 กิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มคณะก้าวหน้าที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

สำหรับนโยบายของทีมคณะก้าวหน้า ตั้งเป้า สร้างพัทยาที่เป็นของทุกคน ผ่าน 8 นโยบายหลัก คือ

  1. นโยบายพัฒนาเมือง โดยเร่งจบโครงการขุดถนนที่ดำเนินการอยู่ให้เร็วที่สุด เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในทุกพื้นที่ ปรับปรุงทางเท้าเชื่อมโยงทั่วเมือง จัดขนส่งสาธารณะครอบคลุม ไปไหนก็สะดวก ราคาไม่แพง
  2. นโยบายเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว จัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว จัดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน
  3. นโยบายบริหารจัดการน้ำ ตั้งหน่วยระบายน้ำพร้อมแก้ปัญหาน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง กระจายน้ำประปาให้ทั่วถึงทุกบ้าน และปรับปรุงโรงบำบัดน้ำเสีย
  4. นโยบายสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ-เผาทำลายลงให้ได้ 70% และลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 25% ภายใน 4 ปี
  5. นโยบายการศึกษา โรงเรียนเมืองทุกโรงเรียนต้องมีอาหารเช้าสำหรับเด็กนักเรียนทุกคน พร้อมรถบริการรถรับส่งนักเรียน จัดสวัสดิการลูกหลานคนพัทยาได้เรียนฟรี จัดให้มีศูนย์ดูแลเด็กตอนกลางคืน (night care) และฟื้นฟูศูนย์พัฒนาเยาวชนที่ถูกปล่อยร้างให้กลับมาใช้งานได้ภายใน 18 เดือน
  6. นโยบายสาธารณสุข เพิ่มศูนย์ไตเทียมของเมือง เพิ่มศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และนำเทคโนโลยีมาใช้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง เพื่อความสะดวกของผู้ป่วยเองพร้อมกับลดค่าใช้จ่าย
  7. นโยบายด้านความเท่าเทียม ร่วมผลักดันสิทธิของ LGBTQ+ รวมทั้ง Sex workers ในระดับชาติ
  8. นโยบายรัฐเปิดเผย เปิดข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดเริ่มและเสร็จทุกโครงการให้ประชาชนเข้าถึงได้ เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน และการกันงบ 10% ของเมืองพัทยาให้ประชาชนร่วมออกแบบเสนอโครงการได้

๐ หมายเลข 4 สินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และอดีตสมาชิกสภาเมืองพัทยาที่มาจากการสรรหาตามคำสั่งคสช. 

สินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร แถลงในเวทีเปิดวิสัยทัศน์ ว่า จะเน้นนโยบายแรกเป็นเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นนโยบายหลักเลยที่ต้องเร่งดำเนินการที่ทำอย่างไรให้เราสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เมืองพัทยาเติบโตไปกว่าเดิม โดยสิ่งแรกที่จะทำคือเร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวก่อนโดยจะดำเนินการสร้างความเข้าใจให้ กับภาคเอกชน และประชาชนเข้าสู่ขบวนการเรื่องของมาตรฐานของสาธารณสุข เพื่อจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ อันดับที่สอง ก็คือกลไกการตลาดที่ตัวเองกับภาคเอกชนได้ทำงานกันมาอย่างต่อเนื่องในการที่ขับ เคลื่อน และอยู่ในแผนที่จะทำงานสานต่อได้ทันที ส่วนการประสานงานกับภาครัฐในเรื่องของนโยบายของรัฐที่ยังมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว จะประสานงานกับรักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมและภาคเอกชนในการช่วยกันผลักดันการท่องเที่ยวเมืองพัทยาภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการหรือนโยบายใดที่รัฐออกมาและเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นและสิ่งเสริมการท่องเที่ยวก็จะเข้าไปคุยกับรัฐบาล เพื่อที่จะปลด หรือผ่อนปรนให้การดำเนินการธุรกิจการท่องเที่ยวเดินหน้าต่อไปได้ และสินธ์ไชยอ้างว่าที่ผ่านมาสามารถปลดล็อกได้ในหลาย ๆ เรื่อง และเชื่อมั่นว่าภายในกลางปีหรือปลายปีนี้นักท่องเที่ยวจะเติบโตได้