จับตาเลือกตั้ง พัทยา-กทม. รวมข้อห้ามทำระหว่างการเลือกตั้ง โทษจำคุก 10 ปี ตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

ศึกเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าไร การหาเสียงของบรรดาผู้สมัครก็เริ่มดุเดือดมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ พบปะพี่น้องประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การปราศรัยในเวทีต่างๆ หรือแม้แต่การช่วงชิงพื้นที่บนสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อดึงความสนใจของประชาชน บรรยากาศการแข่งขันของผู้สมัครต่างๆ มีผลทำให้ประชาชนกระตือรือร้นที่จะไปใช้สิทธิออกเสียงในวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ยิ่งใกล้ถึงวันเลือกตั้งก็เริ่มมีความพยายามในการใช้กลเม็ดต่างๆ ที่ส่อไปในทางทุจริตเพื่อจูงใจและควบคุมการลงคะแนนของประชาชน 

การทุจริตการเลือกตั้งไม่ว่าด้วยรูปแบบหรือวิธีการใดๆ นอกจากการใช้เงินซื้อเสียงแล้วยังมีกรณีอื่นอีก เช่น การเก็บบัตรประชาชน การข่มขู่คู่แข่ง การใช้อำนาจรัฐแทรกแซงการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งหมดล้วนเป็นกลไกลที่ขัดขวางไม่ให้ได้ตัวแทนที่มาจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน 

ทั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างใสสะอาด ยุติธรรม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งไว้หลายประการ โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน สามารถช่วยกันจับตาดูไม่ให้มีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น 

แจ้งทุจริตเลือกตั้ง เงินรางวัลขั้นต่ำ 25,000 บาท

สำหรับช่องทางการแจ้งการทุจริตเลือกตั้ง กกต. กำหนดว่า หากประชาชนพบเห็นผู้สมัครหรือบุคคลใด หรือพบเห็นกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามที่ กกต.และกฎหมายกำหนดไว้ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์ https://www.ect.go.th/ect_th/report_corruption.php หรือ โทรสายด่วน กกต. เบอร์ 1444 กด 2 นอกจากนี้ กกต.ได้ออกแอพพลิเคชัน “ตาสับปะรด” เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ประชาชนรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งในรูปแบบข้อความ ภาพ เสียง หรือวีดีโอ

ทั้งนี้ที่สำคัญคือ หากกระบวนการสอบสวน นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด สามารถรับเงินรางวัลหาก “กกต.” มีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่ โดย กกต.จะปกปิดชื่อผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ สำหรับเงินรางวัลแจ้งเบาะแสถูกกำหนดไว้ใน “ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง พ.ศ.2562” โดยแบ่งอัตราการให้รางวัลดังนี้

1. กรณี กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ ได้เงินรางวัลตั้งแต่ 25,000 บาทไม่เกิน 100,000 บาท

2. กรณี กกต.ระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว ได้เงินรางวัลตั้งแต่ 25,000 บาทไม่เกิน 200,000 บาท

3.กรณี ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่ ได้เงินรางวัลตั้งแต่ 25,000 บาทไม่เกิน 400,000 บาท

4.กรณี ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ได้เงินรางวัลตั้งแต่ 25,000 บาทไม่เกิน 500,000 บาท

เสนอ/สัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ โทษจำคุก 10 ปี ปรับ 2 แสน

พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถื่นฯ พ.ศ. 2562  “มาตรา 65 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไป ลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้ 

(1) จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด 

(2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัดหรือศาสนสถานอื่น สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือ สถาบันอื่นใด…”  

โดยบทลงโทษของการฝ่าฝืนข้อห้ามนี้กำหนดไว้ใน มาตรา 126 วรรคหนึ่ง คือให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 –10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปี รวมถึงในมาตรา 116 ให้ถือว่าการกระทำตามมาตรา 65(1) และมาตรา 65(2) ถือเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

กรณีตามมาตรา 65(1) ยกตัวอย่างเช่น การไปหาเสียงโดยพูดกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า ถ้าตนชนะเลือกตั้งจะให้รองเท้าคนละคู่ หรือในกรณีมาตรา 65(2) เช่น ไปหาเสียงที่สถานีดับเพลิงแห่งหนึ่ง ผู้สมัครพูดว่าพนักงานดับเพลิงว่า ถ้าเลือกตน ชนะเมื่อไร จะติดแอร์ ติดพัดลมให้เย็นทั้งสำนักงานเลย ทั้งสองกรณีนี้ ถ้าหากผู้สมัครคนใดหรือผู้ใดก็ตามดำเนินการดังกล่าว นอกจากโทษทางอาญาแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการทุจริตการเลือกตั้งอีกด้วย

จัดมหรสพ งานรื่นเนิง งานเลี้ยง โทษจำคุก 10 ปี ปรับ 2 แสน

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถื่นฯ พ.ศ. 2562 มาตรา 65(3) และ 65(4) การโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ การเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 126 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 –10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปี

หลอกลวง ใช้อิทธิพล ใส่ร้าย ผู้สมัครอื่นๆ โทษจำคุก 10 ปี ปรับ 2 แสน

เช่นเดียวกันกับ มาตรา 65(5)  พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถื่นฯ พ.ศ. 2562 กำหนดว่า การหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใด ถ้าหากฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวจะมีโทษตามมาตรา 126 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 –10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปี

จัดรถรับ-ส่งคนไปเลือกตั้ง เสี่ยงติดคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสน

พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ พ.ศ. 2562 “มาตรา 67 ห้ามมิให้ผู้สมัครจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งเพื่อการเลือกตั้ง หรือนำกลับจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ 

วรรคสอง ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนน เลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด”

โดยบทลงโทษของการฝ่าฝืนข้อห้ามนี้กำหนดไว้ใน มาตรา 126 วรรคหนึ่ง ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 –10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปี และ มาตรา 116 ให้ถือว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ หากผู้สมัครเป็นผู้จัดหารถหรือยานพาหนะเพื่อพาผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนในวันเลือกตั้ง โดยไม่คิดค่าโดยสาร นอกจากจะต้องรับโทษตามมาตรา 126 วรรคหนึ่งแล้ว และถ้าหากพิสูจน์ได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครคนใด ก็จะต้องรับโทษตามมาตรา 67 วรรคสอง คือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี ตามมาตรา 130 

มีบัตรประชาชนคนอื่น 2 คนขึ้นไป เสี่ยงติดคุก 10 ปี

พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถื่นฯ พ.ศ. 2562 “มาตรา 91 ห้ามมิให้ผู้ใดจ่าย แจก หรือให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจมิให้ไปออกเสียงลงคะแนน หรือกระทำการใด ๆ เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปออกเสียงลงคะแนน 

ผู้ใดมีบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้อื่นตั้งแต่สองคนขึ้นไปไว้ในความครอบครอง โดยไม่มีเหตุอันสมควรในระหว่างวันประกาศให้มีการเลือกตั้งถึงวันถัดจากวันเลือกตั้ง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการตามวรรคหนึ่ง”

โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามมาตรา 136 คือระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 10 ปี

ก่อนหน้านี้ในการปราศรัยของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ที่บริเวณวงเวียนใหญ่ปรากฎคลิปเก็บบัตรประชาชนที่มาฟังปราศรัย  แม้ต่อมาทาง พล.ต.อ.อัศวิน ได้ออกมาชี้แจงผ่านทางรายการของไทยรัฐออนไลน์  ว่า มีนโยบายให้หน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 6,900 กว่าหน่วย แต่ละเขตต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้ง จะได้ไปช่วยตอนตรวจนับคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ว่าขานหมายเลขถูกหรือไม่ ถ้าพบว่าผิดพลาดจะได้มีการค้านขึ้นมา โดยที่จะต้องแจ้งให้ กกต. ทราบก่อนว่ามีใครบ้าง ยืนยันไม่มีนโยบายในการซื้อเสียง อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฎได้เกิดการตั้งข้อสงสัยว่าอาจนำไปสู่การทุจริตหรือไม่