เลือกปฏิบัติด้วยเหตุ ‘สัญชาติ’?? เปิดคำวินิจฉัยผู้ตรวจการฯ ชี้ “เยียวยา ม.33 ไม่ให้คนต่างชาติ” ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ผู้ตรวจการแผ่นดินระบุ โครงการ “ม.33เรารักกัน” ที่กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิเป็นบุคคลสัญชาติไทย มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจากความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ พร้อมยกเหตุผล “สัญชาติ” คนละความหมายกับ “เชื้อชาติ” ด้านมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีกครั้งในวันที่ 9 ธันวาคม 2564
“ม.33 เรารักกัน” เป็นโครงการจากภาครัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาผู้ประกันตนประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยผู้ที่มีสิทธิตามเงื่อนไขจะได้รับเงินเยียวยาจำนวนทั้งสิ้น 4,000 บาทตลอดโครงการผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ครั้งละ 1,000 บาท ตั้งแต่ 21 กุมภาพันธ์ – 30 มิถุนายน 2564 ภายใต้เงื่อนไขการจ่ายเงินที่ว่า “ผู้ประกันตนต้องมีสัญชาติไทย” ได้ส่งผลให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่จ่ายเงินเข้าระบบในอัตราเดียวกับคนไทย ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิรับเงินเยียวยาจากโครงการนี้ได้
ความพยายามทวงถามความเป็นธรรมครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 10 มีนาคม 2564 โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) มูลนิธิที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลไทย ขอให้มีการยกเลิกเงื่อนไขคุณสมบัติ “สัญชาติไทย” ของผู้ได้รับสิทธิโครงการ ม.33 เรารักกัน ที่ทางกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดไว้ในเว็บไซต์ลงทะเบียน เพื่อให้คนทำงานที่เป็นผู้ประกันตนไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็สามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือตามโครงการดังกล่าวได้เช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย แต่ทว่า มูลนิธิฯ ไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ จากภาครัฐ
กระทั่งวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ทางมูลนิธิฯ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนอีกครั้งไปยัง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า การกำหนดคุณสมบัติให้เฉพาะผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยนั้น เป็นการขัดรัฐธรรมนูญด้วยการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเชื้อชาติหรือไม่ โดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และมาตรา 27 ที่กำหนดเอาไว้ว่า.. 

มาตรา 4 : ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”

มาตรา 27 : บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเหตุในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การอบรมศึกษา หรือความคิดเห็นทงการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”

เกือบสามเดือนต่อมา หนังสือตอบกลับข้อเรียกร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้ถูกส่งกลับมาในวันที่ 2 กันยายน 2564 ซึ่งผลคำวินิจฉัยนั้นมีใจความปฏิเสธข้อเรียกร้องของทางมูลนิธิฯ ด้วยการให้เหตุผลว่า..
..คำว่า “เชื้อชาติ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง “น. ผู้ที่ร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกัน” ส่วนคำว่า “สัญชาติ” หมายถึง “น. ความเกิด, การเป็นขึ้น, ความอยู่ในบังคับ คือ อยู่ในความปกครองของประเทศชาติเดียวกัน, (กฎ) สถานะตามกฎหมายของบุคคลที่แสดงว่าเป็นพลเมืองหรือคนในบังคับของประเทศใดประเทศหนึ่ง”..
โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้อธิบายรายละเอียดของความต่างระหว่างคำว่า “สัญชาติ” และ “เชื้อชาติ” ไว้ดังนี้

สัญชาติ

..จะเห็นได้ว่า การถือสัญชาติเป็นสิ่งบ่งชี้ให้ทราบในทางกฎหมายถึงสถานะของบุคคลนั้นๆ ว่ามีความเกี่ยวพันหรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่ง อันก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่างๆในฐานะพลเมืองของรัฐนั้น การมีสัญชาติย่อมก่อให้เกิดความผูกพันในทางกฎหมายกับรัฐที่ตนถือสัญชาติโดยมีทั้งสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด อันมีความแตกต่างจากบุคคลที่ถือสัญชาติของรัฐ  ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม..

เชื้อชาติ

..ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “เชื้อชาติ” ที่หมายถึงลักษณะเฉพาะทางชีวภาพของคนที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดและแสดงออกในลักษณะของพันธุกรรม รูปลักษณ์ทางกาย สีผิว เส้นผม นัยน์ตา เป็นต้น จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม ได้บัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงสัญชาติแต่อย่างใด..
..ดังนั้น การที่กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมดำเนินการโครงการ “ม.33เรารักกัน” ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิไว้ว่าต้องเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น กรณีนี้จึงมิได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติและมิได้ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลดังที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างแต่อย่างใด..
ภายหลังได้รับหนังสือตอบกลับ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาให้ความเห็นต่อคำวินิจฉัยว่าความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นปราศจากการยึดโยงกับหลักการสากลและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี รวมทั้งไม่สอดคล้องกับคำแถลงที่นายดอนปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยประกาศในการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เพื่อการปฏิบัติตามข้อตกลระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration-GCM) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า "แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19" และในการนี้ ทางมูลนิธิฯ ได้เตรียมการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการวินิจฉัยความเป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิ์เงินเยียวยาของแรงงานข้ามชาติและผู้ประกันตนไร้สัญชาติอีกครั้ง ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564