เปิดข้อเสนอภาคประชาชน แก้ประมวลกฎหมายแพ่งฯ เดินหน้าผลักดัน #สมรสเท่าเทียม

ช่วงกลางปี 2563 กระแสเรื่อง #สมรสเท่าเทียม ปะทุขึ้นในพื้นที่โซเชียลมีเดียและพื้นที่สื่อ เมื่อ ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ร่างแก้ไข ป.พ.พ.) ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 18 มิถุนายน 2563 และเข้าสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามกลไกรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็นกว่า 54,450 คน และมียอดผู้เข้าชมหน้าเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นของร่างกฎหมายดังกล่าว สูงถึง 1,305,485 ครั้ง นับเป็นปรากฏการณ์ที่ประชาชนต่างให้ความสนใจ และกระตือรือร้นในการแสดงความคิดเห็น เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาที่เสนอแก้ไข ป.พ.พ.ว่าด้วยการสมรส เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดที่เดิมกำหนดให้การสมรสมีเฉพาะชาย-หญิง เป็นการสมรสระหว่างบุคคลสองฝ่าย หรือพูดอีกอย่างก็คือ ข้อเสนอดังกล่าวเสนอเพื่อเปิดพื้นที่การจดทะเบียนสมรส ให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ บุคคลไม่ว่าจะมีเพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร ก็สามารถใช้กฎหมายสมรสฉบับเดียวกันได้
ร่างแก้ไข ป.พ.พ. ที่พรรคก้าวไกลเสนอ ปรากฏในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 และยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายที่ “ค้างท่อ” มาแรมปี อย่างไรก็ดี เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ คู่รักซึ่งมีเพศตามทะเบียนราษฎรเป็นเพศหญิง ก็ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ยังคงใช้บังคับอยู่นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.พ.พ. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระเพื่อมที่สำคัญในการแก้ไขกฎหมาย เพราะศาลรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดคำบังคับ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไขกฎหมายได้ เหมือนกรณีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดความผิดแก่หญิงที่ทำให้ตนเองแท้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ไขกฎหมาย จนนำมาสู่การแก้ไขกฎหมาย หญิงทำแท้งภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ไม่มีความผิด
น่าเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญไทย ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียม เพราะเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าว ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเป็น "เอกฉันท์" ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยมี “ข้อสังเกต” ว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมควรดำเนินการ "ตรากฎหมาย" รับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
ในสภาวะที่กฎหมายยังไม่ถูกแก้ไข สิทธิก่อตั้งครอบครัวของเพศหลากหลายยังไม่ถูกรับรองด้วยกฎหมาย ภาคประชาชน ในนาม “ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม” ได้รวมตัวกันเพื่อเสนอร่างแก้ไข ป.พ.พ. อีกหนึ่งฉบับ โดยอาศัยกลไกตามพ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 เพื่อรวบรวมรายชื่อ อย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไปว่า ป.พ.พ. ที่ยังรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้น สมควรถูกแก้ไข เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรับรองสิทธิของเพศหลากหลายหรือไม่ โดยการเข้าชื่อเสนอ #สมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน จะเริ่มขึ้นครั้งแรกในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ณ แยกราชประสงค์ และสามารถลงชื่อออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://www.support1448.org/  
ก่อนจะเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ชวนดูร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายและพาณิชย์ ข้อเสนอแก้ไข ป.พ.พ. จากภาคประชาชน ที่จะผลักดันสมรสเท่าเทียม
#สมรสเท่าเทียม ไร้ข้อจำกัดเรื่องเพศ ปรับอายุขั้นต่ำจดทะเบียนสมรสได้จาก 17 เป็น 18 ปี
ข้อเสนอแก้ไข ป.พ.พ. จากภาคประชาชน เสนอแก้ไขมาตรา 1448 ที่กำหนดให้การสมรสกระทำได้ระหว่าง “ชายและหญิง” เป็นการสมรสต่อ “บุคคลสองคน” และเสนอแก้เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส จากที่ ป.พ.พ. ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ กำหนดไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ข้อเสนอแก้ไข ป.พ.พ. จากภาคประชาชน ปรับเกณฑ์อายุในการจดทะเบียนสมรสไปที่ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสของผู้ที่อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ก็ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (บิดา-มารดา) 
ใน ป.พ.พ. กำหนด ‘ข้อห้าม’ ที่ทำไม่ได้ในการจดทะเบียนสมรสไว้ หลักๆ ได้แก่
หนึ่ง จะสมรสระหว่างที่มีคู่สมรสอยู่แล้วไม่ได้ หรือการห้ามสมรสซ้อน
สอง จะสมรสกับบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถไม่ได้
สาม จะสมรสระหว่างญาติสืบสายโลหิตขึ้นไปหรือลงมา พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันไม่ได้ โดยพิจารณาความเป็นญาติในทางข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ
ข้อเสนอแก้ไข ป.พ.พ. ภาคประชาชน ยังคงหลักการเดิมไว้ แต่ปรับถ้อยคำให้มีความเป็นกลางทางเพศ (Gender-neutral) มากขึ้น ด้วยการใช้คำว่า “บุคคล” แทนคำว่า “ชายและหญิง”
คู่สมรสต้องดูแลกัน จัดการสินสมรสร่วมกัน รับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายได้
สำหรับหลักการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตร่วมกันของคู่สมรส ข้อเสนอแก้ไข ป.พ.พ. ยังคงยึดหลักการเดิม แต่ปรับถ้อยคำให้มีความเป็นกลางทางเพศ โดยใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีภริยา” โดยกำหนดให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายไม่ว่าเพศใดต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรส มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน 
ส่วนทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสนั้น แบ่งออกได้เป็นสินส่วนตัวและสินสมรส สำหรับสินส่วนตัวนั้นคู่สมรสสามารถใช้สอยได้โดยไม่ต้องอาศัยความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย แต่ในกรณีของสินสมรสนั้น การจัดการสินสมรสที่อาจทำให้เสียประโยชน์ในทรัพย์สินบางกรณีต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เช่น การขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนองอสังหาริมทรัพย์ ให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น
ในส่วนของการรับมรดก เนื่องจาก ป.พ.พ.ยังรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเฉพาะชายและหญิง ทำให้ที่ผ่านมาผู้ที่ไม่ใช่ชายและหญิงตามนิยามของกฎหมาย แม้จะอยู่กินกันฉันคู่สมรสก็ไม่อาจได้รับมรดกของอีกฝ่ายได้ หากคู่รักของตนเสียชีวิตและไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินไว้ให้ แต่ตามข้อเสนอแก้ ป.พ.พ. ภาคประชาชน ปลดล็อกข้อจำกัดสมรสเฉพาะชาย-หญิง ดังนั้นคู่สมรสไม่ว่าเพศใดย่อมมีสิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรสอีกฝ่ายเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ก็ตาม
คู่สมรสรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลของคู่สมรสได้
ใน ป.พ.พ.ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ รับรองสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมสำหรับคู่สมรสชายหญิงไว้อยู่แล้ว ส่วนข้อเสนอแก้ไข ป.พ.พ.โดยภาคประชาชนนั้น เมื่อปลดล็อกการสมรสไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง ส่งผลให้คู่สมรสไม่ว่าจะเพศใดก็สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และได้แก้ไขคำว่า “บิดา-มารดา” เป็น “บุพการี” เพื่อความเป็นกลางทางเพศ เมื่อคู่สมรสรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ก็จะมีความสัมพันธ์ต่อบุตรบุญธรรมในฐานะบุพการี ต้องดูแลอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม ด้านบุตรบุญธรรมก็จะมีสถานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น สามารถใช้นามสกุลของคู่สมรสที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมได้
ทั้งนี้ ในการรับบุตรบุญธรรม ฝั่งผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องมีไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี
คู่สมรสมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ เท่าที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิแก่ “คู่สมรส”
  
ทั้งนี้ ระบบกฎหมายในปัจจุบันยังยอมรับการสมรสแค่เฉพาะเพศกำเนิดชาย-หญิง ส่งผลต่อการจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์บางอย่างที่เชื่อมโยงกับสถานะความเป็นคู่สมรส ทำให้มีแค่คู่สมรสชาย-หญิงเท่านั้นที่มีสิทธิเหล่านั้น เช่น การรับประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553
อย่างไรก็ดี ตามข้อเสนอแก้ไข ป.พ.พ. เมื่อมีการแก้ไขคำว่า “คู่สมรส” ไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง ก็จะทำให้คู่สมรสไม่ว่าเพศใดก็ตามได้รับสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการที่กฎหมายระบุรับรองให้แก่ “คู่สมรส” 
ไฟล์แนบ