ศาลรธน.มีมติ “เอกฉันท์” กฎหมายแพ่งรับรองสมรสชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แนะตรากฎหมายรับรองสิทธิเพศหลากหลาย

17 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ข่าวแจกใจความว่า จากกรณีที่เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ ผู้ร้อง คู่รักที่ถูกปฏิเสธสิทธิการจดทะเบียนสมรสไม่ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 5 เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ โดยมิได้มีข้อความใดที่คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในส่วนนี้
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเป็น "เอกฉันท์" ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมควรดำเนินการ "ตรากฎหมาย" รับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
ทั้งนี้ ข่าวที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ในวันนี้ เป็นการแจ้งผลลงมติของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ไม่ใช่คำวินิจฉัยฉบับเต็มที่จะแสดงเหตุผลและรายละเอียดของคำวินิจฉัย ซึ่งคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในภายหลัง ต้องติดตามรายละเอียดและคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยฉบับเต็มต่อไป
มีข้อสังเกตว่า ในข่าวดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญตั้งข้อสังเกตให้ "ตรากฎหมาย" รับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตโดยระบุเจาะจงให้ "แก้ประมวลกฎหมายแพ่งฯ" ซึ่งกำหนดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง นี่อาจเป็นหนึ่งสัญญาณ ที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เลือกผลักดัน "ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต" ที่เป็นกฎหมายแยก ให้เฉพาะคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต ซึ่งเป็นคนละแนวทางกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ทุกคนจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายเดียวกัน #สมรสเท่าเทียม
สำหรับที่มาของคดีนี้ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ คู่รักซึ่งมีเพศตามทะเบียนราษฎร์เป็นเพศหญิง ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ ทั้งคู่จึงแต่งทนายความให้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส หากนายทะเบียนปฏิเสธก็ขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดกับรัฐธรรมนูญ หรืออาจกล่าวอีกอย่าง คือ ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า กฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนั้นๆ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อกลางปีที่แล้ว ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรมาเกินหนึ่งปีแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง ก็ต้องจับตาต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว แนวทางรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย จะไปทาง #สมรสเท่าเทียม คือ แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ออกกฎหมายแยกเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต
ไฟล์แนบ