ทวิตเตอร์ออกรายงานแนะผู้กำหนดนโยบาย อินเตอร์เน็ตต้องเป็นพื้นที่เสรี ปกป้องการแข่งขัน

Open Internet คือหลักการพื้นฐานที่ให้ความสำคัญกับความเปิดกว้างและเสรีภาพของทุกคนในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ อินเตอร์เน็ตจะต้องเป็นกลาง (net neutrality) กล่าวคือ ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ (ISP) หรือรัฐบาลจะต้องไม่เข้าไปควบคุมหรือปิดกั้นการใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม ผู้ใช้งานจะต้องมีอิสระในการเข้าถึงเว็บไซต์หรือเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตได้โดยไม่มีการจงใจตัดหรือนำเสนอเนื้อหาใดมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการบรอดแบนด์จะต้องไม่จงใจลดหรือเพิ่มความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลใดเป็นการเฉพาะเพื่อเรียกค่าบริการที่มากขึ้น การคงอยู่ของ Open Internet มีความสำคัญอย่างมากต่อการแข่งขันที่เท่าเทียม สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการปกป้องสิทธิของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอินเตอร์เน็ตได้กลายมาเป็นความท้าทายสำคัญ การโจรกรรมข้อมูล การหลอกลวงหาผลประโยชน์ ไปจนถึงการใช้อินเตอร์เน็ตในฐานะอาวุธทางการเมืองและปล่อยข้อมูลเท็จ สร้างความจำเป็นให้ผู้กำหนดนโยบายต้องขบคิดถึงการออกข้อบังคับเพื่อควบคุมอินเตอร์เน็ต แต่หากข้อบังคับนั้นมุ่งเน้นที่การควบคุมมากเกินไป ก็อาจจะผลร้ายต่อหลัก Open Internet ได้ การหาจุดสมดุลระหว่างการควบคุมสิ่งที่ไม่พึงประสงค์และการรักษาหลัก Open Internet ไว้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ท่ามกลางความท้าทายนี้ ทวิตเตอร์ออกรายงาน Protecting the Open Internet: Regulatory Principles for Policy Makers เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการออกข้อบังคับบนโลกอินเตอร์เน็ต ความท้าทายที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ในขณะที่ก็ยังปกป้องหลัก Open Internet ที่เสรีและเปิดกว้างให้กับทุกคนเอาไว้ ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ได้นำเสนอหลัก 5 ประการเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการออกข้อบังคับที่จะเข้ามาควบคุมอินเตอร์เน็ต
ประการแรก Open Internet เป็นเรื่องสากลที่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้ โดยต้องตั้งอยู่บนฐานของมาตรฐานแบบเปิด (open standards) และความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ทวิตเตอร์มองว่าโลกอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนต่อขยายของภูมิรัฐศาสตร์ที่มีรัฐต่าง ๆ พยายามเข้ามามีอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นความพยายามควบคุมหรือการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาล การปกป้อง Open Internet จึงต้องอาศัยทั้งนโยบาย พันธมิตร และการลงทุนในระดับในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าข้อบังคับใดจะไม่ขัดกับมาตรฐานสากลหรือสิทธิมนุษยชน และการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านอินตอร์เน็ตยังสามารถทำได้อย่างเสรีสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ในขณะที่ข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องไม่ถูกนำไปใช้โดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่หวังดี “หลักการที่ว่าข้อมูลเป็นของบุคคลไม่ได้หมายความว่าข้อมูลของทุกคนเป็นของรัฐ”
ประการที่สอง ความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริการใดก็ตามที่อยู่บนโลกออนไลน์ รัฐบาลและผู้ให้บริการออนไลน์ควรจะสร้างความเชื่อใจผ่านความโปร่งใส ให้ผู้ใช้งานรับทราบถึงกฎระเบียบในโลกออนไลน์ โดยความโปร่งใสนี้จะทำให้ทั้งผู้ให้บริการและรัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผู้ใช้งานก่อนจะดำเนินการใด ๆ
ทวิตเตอร์เห็นว่าวิธีปรับปรุงความโปร่งใสหนึ่งในโลกออนไลน์ก็คือ ทำให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นสำหรับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ เช่น การให้ข้อมูลแก่นักวิชาการและนักวิจัย นอกจากนี้ กระบวนการที่ดำเนินการโดยรัฐ เช่น การสั่งให้ลบข้อมูลบางส่วนออกจากเว็บไซต์ ก็ควรจะเป็นธรรมต่อผู้ใช้งาน ข้อบังคับนั้นควรจะมีความชัดเจนว่าข้อมูลประเภทใดควรจะถูกลบ ในขณะที่รัฐบาลไม่ควรออกข้อบังคับที่สามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง เพราะจะเป็นการโยนภาระในการตัดสินใจให้กับผู้ให้บริการ
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานควรจะรับรู้และสามารถควบคุมได้ว่าข้อมูลอะไรบ้างของตนเองที่กำลังถูกจัดเก็บและจะถูกนำไปใช้อย่างไร รวมถึงไม่ควรบังคับให้ผู้ใช้งานต้องยืนยันตัวตนก่อนใช้อินเตอร์เน็ต เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างเสมอภาค โดยข้อบังคับควรจะให้ความสำคัญกับการปกป้องบริการออนไลน์ทุกประเภท ไม่ว่าจะมีโมเดลธุรกิจแบบใด
ประการที่สาม ผู้ใช้บริการต้องสามารถเลือกและควบคุมอัลกอริทึมที่จัดลำดับและแนะนำคอนเทนต์ได้ การให้ทางเลือกกับผู้ใช้งานในการควบคุมข้อมูลด้วยตนเองจะช่วยส่งเสริมความโปร่งใส และทำให้ผู้ใช้งานตระหนักถึงผลกระทบของอัลกอริทึมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ทวิตเตอร์ยกตัวอย่างนโยบายของตนเองในปี 2561 ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าอยากเห็นทวิตที่มีอัลกอริทึมจัดลำดับตามความสนใจมาให้ หรือให้ลำดับเป็นไปตามเวลา
ประการที่สี่ ปกป้องและสนับสนุนการแข่งขัน ทางเลือก และนวัตกรรมซึ่งเป็นรากฐานของ Open Internet ทวิตเตอร์มองว่าข้อบังคับที่มากเกินไปอาจจะทำลายการแข่งขัน โดยที่ผู้ให้บริการรายเล็กไม่สามารถสู้กับรายใหญ่ได้และทำให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกน้อยลง ดังนั้น อินเตอร์เน็ตจึงควรจะยึดหลักความเป็นกลาง เพื่อให้ผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าสู้ตลาดและแข่งขันได้ง่ายขึ้น
ผู้ให้บริการออนไลน์ในฐานะสื่อกลางระหว่างข้อมูลจะต้องได้รับการปกป้องให้ไม่ถูกฟ้องร้องตามกฎหมาย หลักการนี้จะหยุดการฟ้องร้องผู้ให้บริการแทนการฟ้องบุคคลที่เป็นผู้เผยแพร่คอนเทนต์ และทำให้ผู้ให้บริการสามารถดำเนินการกับคอนเทนต์ที่ละเมิดข้อกำหนดในการให้บริการได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้อง หากปราศจากหลักการนี้ ผู้ให้บริการโดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่ไม่ได้มีทรัพยากรมากนัก จะต้องเจอกับทางแพร่งระหว่างการต่อสู้ทางกฎหมายที่มีราคาแพง และการลบคอนเทนต์นั้นออกจากเว็บไซต์ นอกจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายควรหลีกเลี่ยงการออกข้อบังคับใดที่ทำให้ผู้บริการรายใหญ่ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีได้เปรียบเหนือผู้อื่น
ประการสุดท้าย การจัดการเนื้อหาเป็นมากกว่าการตัดสินใจว่าจะลบหรือไม่ลบคอนเทนต์ ข้อบังคับควรจะสร้างเครื่องมือในการควบคุมที่หลากหลาย ในขณะที่ต้องวางมาตรฐานให้ชัดเจนว่ากำลังกล่าวถึงคอนเทนต์รูปแบบใด โดยมีนิยามและกรอบที่ชัดเจน รวมถึงต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ทวิตเตอร์เน้นย้ำว่าการลบข้อมูลบางส่วนออกจากเว็บไซต์ควรจะเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายและมีความโปร่งใส หน่วยงานของรัฐจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่าคอนเทนต์ใดผิดกฎหมาย ไม่ใช่ให้ผู้ให้บริการเป็นคนตัดสินใจ นอกจากนี้ การให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้ใช้งานจะเป็นประโยชน์ต่อการถกเถียงสาธารณะมากกว่าลบคอนเทนต์โดยตรง
ในเชิงนโยบาย ทวิตเตอร์เสนอว่าข้อบังคับที่มุ่งแก้ปัญหาเชิงระบบที่ให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมจะสามารถรับมือกับความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีกว่าข้อบังคับที่มุ่งเป้าไปที่คอนเทนต์ใดคอนเทนต์หนึ่ง รวมถึงจะลดแนวโน้มที่ผู้ให้บริการจะรีบจัดการหรือลบกับคอนเทนต์บางส่วนที่เห็นว่าอาจจะสร้างปัญหาได้ก่อนที่จะพิจารณาให้ถี่ถ้วน นโยบายเช่นนี้จะทำให้นักพัฒนายังคงมีแรงจูงใจในการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ โดยไม่ต้องกังวลถึงความผิดพลาด
ไฟล์แนบ