รวมเสียง ส.ว. ค้าน “รื้อระบอบประยุทธ์”​ ค้าน “สภาเดี่ยว”

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 มีกำหนดการประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ "รื้อระบอบประยุทธ์" ที่เสนอโดยกลุ่ม Resolution หนึ่งในข้อเสนอ คือ การใช้ "สภาเดี่ยว" ยกเลิกส.ว. เป็นวันที่สมาชิกวุฒิสภาอภิปรายน่าสนใจหลายคน ยังมีทั้งที่คัดค้านชัดเจน และคัดค้านแบบ "อ้อมๆ"​

 

 

นพ.เจตน์ ชี้ ส.ว. ชุดหน้าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพ และอัตลักษณ์อื่นๆ

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กล่าวว่า ส.ว.ชุดที่อยู่ในรัฐธรรมนูญหลักของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับปี 2560) มี 200 คน ไม่ใช่ 250 คน เหมือนในบทเฉพาะกาล  
ข้อสำคัญที่สุด ที่เป็นบทหลัก คือ อีกสองปีครึ่งจะถึงเวลาที่ ส.ว. มาจากบทหลักแล้ว โดยมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยประชาชน 20 กลุ่ม ถ้าหากยกเลิกส.ว. ประชาชนที่เป็นชนกลุ่มน้อย ที่เป็นกลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก ทำสวน ทำป่าไม้ ปศุสัตว์ หรือประมง พนักงานหรือลูกจ้าง กลุ่ม SME คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่นๆ ที่พูดในสภานี้บ่อยๆว่า กลุ่ม LGBTQ กลุ่มศิลปะวัฒนธรรม ดนตรี การแสดงบันเทิง กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ เขาจะมีโอกาสไหนที่จะเข้ามาในสภานี้ เพราะว่าจะไปสมัครรับเลือกตั้ง มันก็สู้ไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งยังต้องใช้เงินเป็นปัจจัย
รัฐธรรมนูญทั้งโลกไม่มีแบบสำเร็จรูป รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆส่วนใหญ่เป็นรัฐธรรมนูญ (สภา)เดี่ยว รัฐธรรมนูญที่อ้างอังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ล้วนมีวุฒิสภาทั้งสิ้น ถ้าหากว่า รัฐธรรมนูญมีแนวโน้มว่าจะเป็นสภาเดี่ยวมากขึ้น ช่วยบอกหน่อยว่าประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย ทำไมเขายังมีวุฒิสภาอยู่ เพราะว่าวุฒิสภามีประโยชน์อย่างยิ่ง
วันชัย ชี้ ผู้เสนอมองบริบทอุดมการณ์ ไม่ใช่สถานการณ์ตอนนี้
วันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า การเสนอร่างฉบับนี้ เห็นว่า ผู้นำเสนอมี "4ก." คือ มาจากการ
เกลียด (ส.ว.ชุดนี้)
โกรธ (ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไม่เป็นธรรมกับพวกตัวเอง)
กลัว (ยุทธศาสตร์แก้ได้ ไม่ต้องกลัวว่าผูกมัด)
เกิน (ร่างฯเกินความเป็นจริง อีกทั้งการใช้คำว่าล้างมรดกเป็นคำที่หนักเกิน)
วันชัยเห็นว่า ผู้เสนอร่างมีชุดความคิดว่า คนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นคนดีที่สุด ต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้  และคนทำปฏิวัติรัฐประหารเป็นคนเลว ต้องล้มล้างไปให้หมด ศาลต้องปฏิเสธ ประชาชนทุกภาคส่วนต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน
ผู้เสนอร่างนี้มองเพียงด้านเดียว มองบริบททางการเมืองอุดมการณ์เกินจริง ไม่ใช่บริบทที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การมองผู้มาจากการเลือกตั้งเช่นผู้มาจากการเลือกตั้ง อบจ. อบต. ว่าดี เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เห็นด้วยว่าผู้มาจากการเลือกตั้งต้องเป็นใหญ่ แต่ต้องมองให้รอบด้าน บริบทสังคมการเมืองไทยไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างในอุดมการณ์ ยังมีการกล่าวหากันอยู่ว่าบางคนมาจากอิทธิพล มาจากเงินทอง มาจากอำนาจ มาจากธุรกิจการเมือง
การใช้อำนาจของผู้มาจากการเลือกตั้ง อบจ. อบต. เทศบาล ทุกระดับมีคดีทุจริตเยอะมาก ระดับรัฐมนตรีก็ยังมีติดคุกกันเยอะ ผู้มาจากการเลือกตั้งก็ยังมีคดีทุจริตเหมือนกัน ผู้เสนอต้องมองให้รอบด้านกว่านี้ วันชัยเชื่อว่าการเลือกตั้ง การใช้อำนาจที่สุจริตนั้น รัฐธรรมนูญที่เสนอมานี้เป็นอันใช้ได้
อีกชุดความคิดหนึ่งว่าคนที่ทำปฏิวัติรัฐประหาร เป็นคนเลว เป็นคนชั่ว ต้องไม่ให้มีที่ยืนนั้นตนเห็นด้วย ว่าอยู่ๆ จะลากปืนลากรถถังมารัฐประหารก็ไม่ได้ แต่ต้องดูมูลเหตุของการปฏิวัติรัฐประหารด้วย แต่สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่อย่างที่เป็น เหตุใดทำไมต้องปฏิวัติ เห็นว่าถ้าการเมืองเราเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ ถ้าไม่มีการแสวงหาประโยชน์  ถ้าคนใช้อำนาจอย่างสุจริตบริสุทธิ์จริงทหารที่ไหนจะกล้าปฏิวัติ 
ถ้าเรามองถึงการสืบทอดอำนาจทุกวันนี้ก็อยู่ได้เพราะประชาชน ถ้า ส.ส. พรคการเมืองไม่เอาตูมเนี่ยนะครับ ไม่มีทางหรอกครับ ส.ว. จะไปทำอะไรได้ คิดดูให้ดีนะครับ มาจากประชาชนให้สืบทอดอำนาจ แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้า ส.ส. ไม่ยอมสักอย่างก็อยู่ไม่ได้ แปลว่าประชาชนยอมให้มีการกระทำอย่างนี้ อย่ามองเฉพาะการกระทำต่อหน้าว่า เลวชั่ว
ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและบริบททางการเมือง จะเห็นว่าการเสนอแก้รัฐธรรมนูญของผู้เสนอครั้งนี้ คณะผู้เสนอนั้นมองไม่ครบมุม ไม่รอบด้าน และมองไม่ยาว ไม่ตรงกับสถานการณ์ตอนนี้ ควรจะเสนอแก้แบบไร้อคติ เอาบริบททางการเมืองเป็นตัวตั้ง เปรียบเหมือนการนำวัคซีนที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่ไม่เหมาะกับบ้านเมืองขณะนี้ เป็นข้อเสนอที่เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ  สุดท้ายแม้ท่านจะเสนอให้สว. ชุดนี้อยู่ต่อไปในรัฐธรรมนูญตามร่างฯ ตนก็ไม่อาจรับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้
ดิเรกฤทธิ์ ชี้ ส.ว. เป็นบริบทของไทย ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการใช้อำนาจของ ส.ส.
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม กล่าวว่า ผมจะเห็นด้วย ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ หนึ่ง แก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สอง ประชาชนจะได้ประโยชน์มากขึ้น สาม เป็นการแก้ไขเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ท่านบอกว่า หลายประเทศใช้ระบบสภาเดี่ยว ท่านให้ข้อมูลอาจจะไม่ครบถ้วน เพราะนานาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมีระบบการใช้อำนาจที่ต่างกัน หลายประเทศเป็นระบบประธานาธิบดี หลายประเทศเป็นระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี บางประเทศเป็นสหพันธรัฐ เป็นมลรัฐ หรือเป็นรัฐเดี่ยว การที่มีหลายประเทศใช้สภาเดี่ยวก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยต้องใช้สภาเดี่ยว แต่ละประเทศก็จะมีบริบทของประเทศนั้นๆ ของไทยก็มีบริบทที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้ เรามีปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาจากการใช้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร
วุฒิสภาที่มีในรัฐธรรมนูญ ล้วนถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ถ่วงดุลการใช้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญไทยที่ไม่มีวุฒิสภา มีแค่สองฉบับ คือ ปี 2475 และ 2495 นอกนั้นล้วนมีสองสภาทั้งนั้น มันเกิดขึ้นจากความจำเป็นจากบริบทของไทย 
บริบทไทยก็คือ ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เข้าใจจนกระทั่งเป็นวิถีชีวิต ที่จะถือปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาติ ประเทศไทยเรามีสองเรื่อง คือ หนึ่ง เราไม่เคารพสิทธิคนอื่นและละเมิดสิทธิคนอื่น สอง เรายังขาดจิตสำนึกสาธารณะ หรือความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม ซึ่งสองเรื่องนี้ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ที่เป็นต้นแบบ ประชาชนมีระเบียบวินัยรักชาติ เขามีกัน สองเรื่องนี้ส่งผลใหญ่หลวงต่อการเมืองไทย เด็กไทยไม่เคยขึ้นไปดูการทำงานของเทศบาลเลย สภาเทศบาลเป็นยังไง อบต. เป็นยังไง พ่อแม่ไม่เคยจูงมือไปดูเลย เด็กไทยไม่เคยเรียนในโรงเรียนแล้วเอาปัญหาของหมู่บ้านไปถกแถลงกัน ไปดูว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไร แต่เด็กไทยเหล่านั้นก็มาเรียกร้องทางการเมืองระดับชาติ ผมกำลังเชื่อมโยงให้เห็นว่า
บริบทไทยอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ พรรคการเมืองของเรายังไม่พัฒนาเป็นพรรคการเมืองของประชาชน กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้ต้องเสียค่าสมัครสมาชิก ให้สมาชิกมีส่วนกำหนดนโยบายบริหาร ให้มีส่วนเลือกตัวแทนของพรรคมาสมัครรับเลือกตั้ง เรื่องเหล่านี้ก็ยังทำผิดกันอยู่หลายพรรคการเมือง พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งไม่ได้ให้ความสนใจกับเงินของสมาชิกที่จะทำให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของพรรค ต้องใช้เงินของผู้บริหารพรรค ทำให้รัฐสภาของเราไม่ได้เป็นไปตามหลักการ
ยิ่งในร่างที่เสนอมา มีปัญหาในเรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 
หนึ่ง หลักการเสียงข้างมากที่ต้องรับฟังเสียงข้างน้อย ถ้าให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจมากๆ รวมทั้งยังกำกับดูแลการได้มาซึ่งศาลและองค์กรอิสระอีก และให้ ส.ส. ต้องผ่านการเลือกตั้งโดยต้องสังกัดพรรคการเมืองในบริบทแบบนี้ ก็มีแนวโน้มที่เสียงข้างมากจะลากไป เสียงข้างมากที่เป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาล เป็นพวกเดียวกับฝ่ายบริหาร ที่ให้คุณให้โทษกับศาลและองค์กรอิสระได้ 
สอง จะมีปัญหาเรื่องการแบ่งแยกอำนาจและถ่วงดุลอำนาจ หลักการนี้ต้องการไม่ให้ใครอ้างอำนาจประชาชนแล้วไปใช้อำนาจเผด็จการ ถ้าเราเป็นอำนาจนิติบัญญัติเข้าแทรกแซงศาลและองค์กรอิสระได้ ศาลและองค์กรอิสระที่จะมาตรวจสอบเราจะทำงานได้ครบถ้วนหรือไม่
การออกแบบให้เป็นสภาคู่ ไม่ใช่ไม่เหมาะสมกับบ้านเรา เราจะมาแก้ปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน เรามาแล้วก็จะหมดวาระอีกแค่สองปี อาจจะมองไปข้างหน้าแล้วเห็นว่า หน้าที่และอำนาจไม่เหมาะสมก็ปรับปรุงได้ ถ้าเห็นว่าที่มาควรจะเกาะเกี่ยวกับภาคประชาชนผมก็รับได้ 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น เราต้องแก้ปัญหาการทุจริต และความเหลื่อมล้ำ ฝ่ายบริหารและเสียงข้างมากในสภาทำอย่างไรจะจัดสรรอย่างเป็นธรรมป้องกันการทุจริตได้ การให้อำนาจ ส.ส. มากขึ้นไม่น่าจะแก้ปัญหานี้ และยังลดอำนาจองค์กรอิสระด้วย จึงเกรงว่า จะไม่สามารถแก้ปัญหาตามเหตุผลที่ให้มาได้
มณเฑียร ชี้ การเปลี่ยนแปลงถอนรากถอนโคน จะเกิดผลกระทบตีกลับ
มณเฑียร บุญตัน ส.ว. กล่าวว่า ถ้าประเทศนี้เป็นประเทศซึ่งไม่มีความเป็นมาย้อนหลังเป็นหลายร้อยหรือพันปี ถ้าประเทศนี้กำลังจะจัดตั้งขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ บนเกาะสักแห่งหนึ่ง ทุกคนมีที่มาแตกต่างกันแต่ว่าไปเริ่มต้นใหม่ด้วยกัน ผมว่าคงไม่เป็นการยากที่จะรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมันจะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่เรามีอยู่ในสังคม
ผมสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างเต็มที่ และเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการ รัฐธรรมนูญ 2550 แม้ว่าผมจะไม่ได้เต็มใจรับเต็มร้อยในขณะนั้น แต่ก็ยังยอมที่จะเห็นชอบในประชามติ ฉบับปี 2560 ถึงจะมีข้อเสียต่างๆนานา แต่ก็ยังดีกว่าฉบับชั่วคราวที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุที่พวกเราได้ประนามหยามเหยียดไปแล้ว
บรรยากาศในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ ถ้ามีการสวิงแบบสุดโต่ง ผลที่ตามมาย่อมไม่เป็นที่ปรารถนา การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ ถ้าไม่สามารถเสาะแสวงหาความเห็นพ้องจากทุกฝ่ายได้ ปัญหาที่จะตามมาก็จะมีมาก แม้จะใช้กระบวนการของรัฐสภา แต่ผลที่เกิดขึ้นแทบจะไม่ต่างจากการใช้กำลังอำนาจยึดอำนาจ เพราะมีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อย่างมีนัยยะสำคัญ
ถ้าเรามีสภาเดียวเหมือนกับเกาหลีใต้ หรือประเทศในสแกนดิเนเวียบางแห่ง ก็ดีเหมือนกัน เกิดความคล่องตัวถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างก็ทันสถานการณ์โลก แต่เหตุของแต่ละประเทศที่มีสภาเดี่ยวมีปัจจัยเหมือนกับปัจจัยในบ้านเรานาดไหน เขามีองค์กรสถาบันการเมืองที่สลับซับซ้อน ล้มลุกคลุกคลานมาเป็นร้อยเป็นพันปียากที่จะเปลี่ยนแปลงเหมือนเราไหม แล้วการไปเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนในระยะเวลาอันสั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นการตีกลับ โดยเฉพาะการตีกลับอย่างไม่พึงประสงค์ใช่หรือไม่ 
ถ้าเอาตามใจอยากผมก็อยากเห็นสิ่งที่ท่านอภิปรายมาตลอดตั้งแต่เช้า แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะความจริงเรามีสถาบันทางสังคมการเมือง สถาบันต่างๆ ที่มีวิวัฒนาการมาตลอดหลายร้อยเป็นพันปี ซึ่งก็ยึดโยงไว้ด้วยประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่แตกต่างอย่างมาก สยามเองก็เป็นดินแดนแห่งการอพยพ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่รักษาคนเหล่านี้ไว้ได้ ก็คือ การประนอมอำนาจซึ่งกันและกัน เราไม่เคยเห็นเลยว่า ครั้งใดที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยปราศจากการประนอมอำนาจกับฝ่ายอื่น ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็แล้วแต่
ถ้าผมจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมก็คงจะรับปากได้แต่ขั้นรับหลักการ เพื่อให้เกียรติพี่น้องประชาชนที่เสนอร่างเข้ามา ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยในขั้นกมธ. ซึ่งผมไม่อาจรับปากได้ว่า ถ้าไปกระทบต่อโครงสร้างที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย มันจะมีผลในทางปฏิบัติได้จริงหรือเปล่า
การจะนำเสนออะไรก็ตาม จะอาศัยเงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมเบื้องหน้าเราอย่างเดียวคงไม่ได้ คงต้องนำเอาวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นมาเป็นเครื่องพิจารณาด้วย ถ้าเราประคับประคองรัฐธรรมนูญ 2540 บริหารจัดการการใช้อำนาจไม่ล้นเกินไป เราอาจไม่สูญเสียรัฐธรรมนูญ 2540 ไปก็ได้ 
การปฏิเสธความเป็นจริง เพียงเพราะต้องการเห็นสังคมเดินไปในทางที่เราคิดว่าดีที่สุด โดยไม่ได้คิดว่าสังคมไทยนั้นประกอบขึ้นด้วยทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายเสรีนิยม และผู้มีความเห็นสุดโต่งทั้งสองฝ่าย แล้วยังมีกลุ่มจารีต เราปฏิเสธไม่ได้ครับว่า คนเหล่านี้อยู่ในสังคมร่วมกับเรา การที่จะเนรมิตสิ่งที่เราเสนอเข้ามา ผมไม่เชื่อว่าในทางปฏิบัติแล้วจะนำไปสู่การสถาปนาประชาธิปไตยตามที่ได้อธิบายไว้ 
ผมจึงขอวิงวอนว่า ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสภานี้หรือไม่ก็ตาม ในขั้นกมธ. คงต้องกลับไปพิจารณาอย่างรอบคอบ บางสังคมความคล่องตัวกับความรอบคอบต้องชั่งใจให้ดี ผมเข้าใจว่าสยามประเทศ หรือประเทศไทยนั้น เลือกข้างรอบคอบแล้วก็ประคับประคอง ไม่มีความสมบูรณ์ ไม่มีอะไรที่เราต้องการเต็มร้อย ความคล่องตัวหรือการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดนั้นได้ ประเทศสหราชอาณาจักรใช้เวลาถึงเกือบ 800 ปี กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ได้ แล้วก็มีระบบสองสภา มีหลายครั้งหวุดหวิดจะเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน เราใช้เวลาแปดสิบปีเศษ เราอาจจะยังเดินทางไปไม่ถึงสิ่งที่หลายท่านต้องการ เราอาจจะใช้ยาสามัญประจำบ้าน หรือยาปฏิชีวนะบ่อยเกินไป จนเกิดการดื้อยา แต่เราอาจต้องรู้วิธีไม่ใช้ยาปฏิชีวนะบ่อยโดยไม่สร้างเงื่อนไขขึ้นเสียเอง
สมชาย ชี้ หมากการเมืองตัดวุฒิสภา แก้หมวด 1 หมวด 2
สมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่าวันนี้เรามาสู่การแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ผมไม่ติดใจ สมัยหน้าท่านเสนอมาอีกได้แต่ขอให้มีความเป็นไปได้ สิ่งที่เสนอมาในคราวนี้มีปัญหาหลายประการ โดยมีประเด็นใหญ่ๆ ที่ไม่สามารถไปได้ 
การเสนอให้เหลือระบบสภาเดียว โดยอ้างประเทศทั้งหลายในโลกว่าเขาก็มีสภาเดียว จริงอยู่ที่ประเทศส่วนใหญ่มีสภาเดียว แต่ก็มีประเทศส่วนใหญ่ที่มีระบบสองสภา และก็มีทั้งระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและระบอบที่มีประธานาธิบดี เพราะรัฐธรรมนูญแต่ละประเทศออกแบบตามประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ เราลอกบางอย่าง เอาสิ่งที่ดีมาใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเอาเสื้อสูทมาใส่แล้วไปทำนา ไม่ได้หมายความว่าเรากินแฮมเบอร์เกอร์กับปลาร้าทุกวัน สิ่งเหล่านี้เป็นการเอาสิ่งที่ดีของรัฐธรรมนูญของหลายประเทศมาศึกษา ดัดแปลงมาใช้  รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นประชาธิปไตยที่ชอบมาก แต่สุดท้ายก็มีช่องโหว่จนนำไปสู่การทุจริตโกงกิน การแทรกแซงองค์กรอิสระ จนนำไปสู่การชุมนุมของพี่น้องประชาชนและการรัฐประหารในที่สุด จนทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 และเมื่อใช้ไประยะหนึ่งก็เกิดปัญหาอีก จนมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง ซึ่งประชาชนเห็นชอบถึง 16 ล้านเสียง โครงสร้างเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดแต่เป็นเรื่องพัฒนาการของรัฐธรรมนูญ 
ปี 2475 ที่คณะราษฎรยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญฉบับแรก 2475 กำหนดให้มีสภาเดียว แต่ก็เป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง ภายหลัง 14 ปี ในรัฐธรรมนูญ 2489 ได้มีแก้ไขให้กลับมาเป็นสองสภา โดยคณะราษฎรเองที่ก่อกำเนิด พฤฒสภาขึ้นมาในปี 2489 โดยให้ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ราษฎรเลือก 80 คน และสภาผู้แทนที่มาจากเลือกตั้งโดยตรงและลับ ผมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพูดความจริง ประวัติศาสตร์ที่พูดกันไม่หมดนั้น ได้ให้กำเนิดสองสภามาตั้งแต่ 2489 เหตุผลที่ต้องเป็นสองสภาเนื่องจากมันมีหน้าที่ที่ต้องทำคือต้องกลั่นกลองกฎหมายและทำหน้าที่เป็นกันชนระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 
ที่ผ่านมาก็มีทั้งสภาแต่งตั้ง สภาเลือกตั้ง สภาผสมปลาสองน้ำ แต่วุฒิสภาเองก็มีปัญหาบางประการโดยมามีส่วนสำคัญในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาเกี่ยวข้องกับโครงสร้างขององค์กรอิสระซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ จริงอยู่ที่หากมีสภาเดียว อาจเกิดเผด็จการรัฐสภา ซึ่งก็เคยเกิดแล้ว ตอนพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญ สิ่งที่จำเป็นคือการตรวจสอบถ่วงดุล หลายท่านบอกว่าไม่มีความจำเป็นหรอกเพราะวุฒิสภาชุดนี้ไม่ได้มาถ่วงดุลตรวจสอบอะไร หลายเรื่องท่านอาจไม่รู้ ทั้งอดีตและปัจจุบัน วุฒิสภายังทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ ความประพฤติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หลายท่านไม่ผ่านวุฒิสภาด้วยเหตุผลทางจริยธรรมมากมาย วุฒิสภาชุดนี้ตามบทเฉพาะกาล ยังเหลือระยะเวลาอีกสองปี ถ้าท่านจะตัดชุดนี้ ผมก็ไม่ติดใจอะไรเพียงแต่คิดว่าท่านร่างฯมาไม่รอบคอบ เพราะสิ่งที่สำคัญคือบทหลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ท่านตัดโอกาสภาคประชาชนทีจะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้กลุ่มคนจำนวน 20 กลุ่ม เข้ามาเลือกกันเองเพื่อเป็นวุฒิสภา 
สิ่งสำคัญคือ ท่านปรับวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 นี่เป็นหมากครึ่งหนึ่งที่เดินเข้าสู่สภา คือ ตัดวุฒิสภาเพราะวุฒิสภาทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ดั่งใจ ท่านอาจอยากแก้หมวด 1 หมวด 2 ท่านอาจอยากแก้เรื่องที่พูดบนท้องถนน แล้วปลุกระดมมวลชนอยู่ วุฒิสภาเป็นตัวขวาง ถ้าตัดวุฒิสภาสำเร็จ ก็จะเหลือสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ มาตรา 19 ก็จะเหลือแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสภาผู้แทนราษฎร และใช้เสียงสองในสามของจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎร ผมขอถามว่า แล้วมาตราที่เหลือในรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นหมวด 1-2 หรือเรื่องของการครอบงำอื่นๆอีกมากมาย
สุเนตตา ชี้ วุฒิสภามีสติปัญญญาคอยมาเติมเต็ม
สุเนตตา แซ่โก๊ะ ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย อภิปรายถึงประเด็นวุฒิสภา มีใจความดังนี้ 
เราควรจะมีวุฒิสภากันอยู่หรือไม่? วุฒิสภาที่เกิดขึ้นแรกๆในโลก คือที่ประเทศอังกฤษ จะเป็นสภาของขุนนาง มีการศึกษา มีประสบการณ์เหมือนเป็นสภาที่เป็นพี่เลี้ยงคอยประคับประคองให้
การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เราเลือกผู้แทนเขตนั้น เขาอาจเป็นคนดี คนเก่งตามพื้นที่ ตามหมู่บ้านของเขา แต่จะให้รู้เรื่องราว รู้สิ่งต่างๆในประเทศอื่นๆ คงจะเป็นเรื่องยาก เราจึงมีสภาอีกหนึ่งสภามาเติมเต็ม คำว่าวุฒิ แปลว่า ผู้ใหญ่ มีภูมิรู้ มีสติปัญญาที่คอยมาเติมเต็มให้ ประเทศไทยมีคนเก่ง คนดี ที่ไปทำอะไรมาเยอะในต่างแดน ไปเด่นไปดัง หรือในวงการวิชาชีพต่างๆที่เราควรนำความรู้ ความชำนาญของเขามาช่วยกันพัฒนาประเทศ คนเหล่านี้มีจิตใจรักประเทศ อยากเห็นประเทศเจริญก้าวหน้า แต่จะให้มาเข้าพรรคการเมือง มาสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บางทีอาจจะไม่ใช่ ดังนั้น วุฒิสภาจึงเป็นกลไกลที่จะรวบรวมบุคคลเหล่านั้น 
จะขอพูดถึงรัฐธรรมนูญ 2560 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2561 บทถาวร คงไม่พูดถึงบทเฉพาะกาลเนื่องจากมีกำหนดเวลาสิ้นสุด แต่บทถาวรนี้จะอยู่กับเราตลอดไป 
รัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ระบุว่า วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพและประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานในด้านต่างๆที่หลากหลายของสังคม ซึ่งในการแบ่งกลุ่มจะต้องแบ่งในลักษณะที่ประชาชนสามารถสมัครอยู่ในกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้ โดยมีทั้งสิ้น 20 กลุ่ม ทุกท่านจะต้องตกอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแน่นอน เนื่องจากในกลุ่มที่ 20 คือ กลุ่มอื่นๆ ท่านสามารถมาอยู่ในกลุ่มนี้ได้ถ้าไม่รู้ว่าจะอยู่กลุ่มใด
ฉะนั้นวุฒิสภาเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้ทุกคน อายุ 40 ปีขึ้นไปที่ไม่อยู่พรรคการเมืองใดๆ สามารถสมัครได้อิสระ หากท่านมีภาพของสภาสามีภรรยา สภาพ่อแม่ลูก สภาพรรคพวก รัฐธรรมนูญ มาตรา 108 บัญญัติเด็ดขาดถึงลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาไว้ว่า ห้ามเป็นส.ส.เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้ว 5 ปี ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ห้ามเป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองเว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ห้ามเป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ห้ามเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หมายความว่า บุคคลที่เคยมีบทบาททางการเมือง ไม่ว่าระดับประเทศหรือท้องถิ่น ท่านต้องเว้นวรรค 5 ปี ถึงจะมาสมัครสมาชิกวุฒิสภาได้
ข้อห้ามต่อไป คือ ห้ามเป็นบุพการี คู่สมรส บุตรของ ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ตรงนี้จะทำให้ไม่มีอีกแล้ว สภาสามีภรรยา หรือสภาพ่อแม่ลูก บ้านหลังไหนที่มีส.ว.แล้วลูกจะไปเป็นส.ส. อยู่ในสภาท้องถื่น อีกไม่ได้ ท่านต้องเลือกแล้วว่า ในบ้านของท่านจะมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เพียงคนเดียวเท่านั้น และในบ้านจะมาสมัครเป็นส.ว.พร้อมกันมากกว่าหนึ่งคนก็ไม่ได้ ข้อห้ามต่อไปคือ ห้ามเคยเป็นส.ว. ตามรัฐธรรมนูญนี้ แปลว่า ท่านเป็นได้ครั้งเดียว แปลว่าถ้าลาออกแล้ว ท่านไม่มีโอกาสกลับมาเป็นอีก นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญเขียนไว้เพื่อป้องกันประโยชน์ต่างตอบแทนว่า ชีวิตหลังจากเป็นส.ว. ห้ามไปเป็นรัฐมนตรีหรือส.ส. อย่างน้อย 2 ปี 
ทั้งหมดที่พูดมา เพื่อให้ประชาชนรู้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ในหมวดวุฒิสภาได้นำบทเรียนจากในอดีตมาเป็นข้อพิจารณาให้เห็นว่า ข้อบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้ถูกจัดการ กำจัดออกมาเพื่อหาส.ว.ที่ไม่มีการครอบงำโดยพรรคการเมือง ให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยเติมเต็ม 
ดิฉันทราบว่าผู้เสนอร่างและประชาชนบางกลุ่มมีอคติกับรัฐบาลคสช. ดิฉันอยากขอให้วางอคติไว้ข้างๆก่อน และพิจารณาในบริบทของประเทศไทยอีกครั้ง ควบคู่กับสิ่งที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดว่าวุฒิสภาควรจะยังมีต่อไปหรือไม่ สำหรับดิฉัน เห็นด้วยว่าในบริบทของประเทศไทยยังควรมีวุฒิสภาอยู่ และขอบอกว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ท่านเสนอมา
ถวิล ชี้ รังเกียจเผด็จการ จะได้เผด็จการรัฐสภา

ถวิล เปลี่ยนสี กล่าวถึงการยกเลิกวุฒิสภาให้เหลือสภาเดี่ยวคือสภาผู้แทนราษฎรว่า ในภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกนำเสนอเข้ามานี้ได้เปลี่ยนหลักการและโครงสร้างทางการเมืองใหม่แถบจะสิ้นเชิง ร่างนี้ได้เสนอฝ่ายนิติบัญญัติในรูปแบบสภาเดี่ยว คือ สภาผู้แทนราษฎร โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่ รวมศูนย์อำนาจต่างๆ ไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างมาก 

 

ขณะเดียวกันอีกทางหนึ่ง ท่านได้ทำการ ล้ม โละ เลิก ล้าง หน้าที่อำนาจขององค์กรอื่นๆ เช่น ยกเลิกวุฒิสภา ส่วนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระถูกลดอำนาจหน้าที่ จนองค์กรเหล่านั้นไม่เหลือความเป็นอิสระ ถูกลดสถานะเหลือเป็นองค์กรภายใต้การกำกับและควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยสภาผู้แทนราษฎร

 

ลำพังรูปแบบรัฐสภาอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ กล่าวคือ ไม่ใช่ว่าเป็นสภาเดี่ยวแล้วจะเป็นประชาธิปไตยเสมอไป หรือเป็นประชาธิปไตยมากกว่า หรือเป็นสภาคู่จะเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าหรือไม่เป็นประชาธิปไตย

 

ในโลกนี้มีระบบสภาคู่อยู่มากมายหลายประเทศและก็ต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในความเป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินเดีย เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกัน สภาเดี่ยวหลายประเทศก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นประชาธิปไตยน้อยมาก หรือบางประเทศเป็นเผด็จการไปเลย 

 

 

 

 

เหตุผลที่ต้องพูดแบบนี้ เพราะในร่างให้เหตุผลว่า วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยจึงต้องยกเลิกไปให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร การให้เหตุผลดังนี้ผมคิดว่าเป็นตรรกะที่แปลก เหมารวม กำกวม ไม่มีเหตุผลรองรับที่ดี 

 

หลักการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่สภาเดียว ล้มเหลวมาแล้วทั้งในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย เป็นการเดินถอยหลังในเรื่องการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ เพราะระบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่สภานิติบัญญัติแห่งเดียว กลไกขับเคลื่อนฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะมาที่เดียวกัน คือพรรคการเมืองที่มาจากเสียงข้างมาก หรือพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาจะเป็นฝ่ายควบคุมฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

 

ท่านปฏิเสธและรังเกียจเผด็จการยึดอำนาจ แต่ร่างที่ท่านเสนอกำลังจะสร้างเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา ท่านรังเกียจปีศาจตนหนึ่ง แต่ท่านกำลังเห็นดีเห็นงามกับปีศาจอีกตนหนึ่ง กลับเชิดชูกับเผด็จการอีกรูปหนึ่งนั้น คือ เผด็จการรัฐสภา หรือ เผด็จการโดยสภาผู้แทนราษฎร ท่านอาจจะแย้งผมว่า ถ้าเป็นเผด็จการแต่ก็เป็นเผด็จการที่มาจากประชาชน หรือ ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาซึ่งดูดีมาก

 

ในบ้านเราเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีบทเรียนของเผด็จการรัฐสภา หรือ เผด็จการในคราบประชาธิปไตย