ตำรวจค้นบ้านยามวิกาลทำไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุร้าย-เหตุฉุกเฉิน

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าทีตำรวจมีการใช้ปฏิบัติการตรวจค้นที่แฟลตดินแดงเพื่อตามหากลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกดินแดอย่างต่อเนื่อง และบางครั้งเป็นการตรวจค้นในยามวิกาล หรือเป็นการตรวจค้นในเวลากลางคืน จนท้ายที่สุด ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงต้องมีการแถลงขอโทษประชาชนจากกณรีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าไปตรวจค้นอาคารแฟลตดินแดงในช่วงกลางคืนที่เข้ามาตรวจค้นพร้อมอาวุธครบมือ
อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าว ได้นำไปสู่คำถามว่า การกระทำของตำรวจเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วางกรอบไว้ว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าตรวจค้นบ้าน หรือ รถ จะกระทำได้ต่อเมื่อมีหมายหรือคำสั่งจากศาล และถ้าจะทำการตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาลก็ต้องเป็นกรณีที่เข้าตามข้อยกเว้น เช่น มีเหตุร้าย มีการกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหลักฐานอย่างแน่นแฟ้นว่ามีผู้ร้ายเข้าไปหลบหนี นอกจากนี้ การจะเข้าตรวจค้นบ้านคนยามวิกาล หรือ เวลากลางคืนจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุร้าย หรือ มีเหตุฉุกเฉิน เช่น ผู้กระทำความผิดจะหลบหนี เป็นต้น
"ค้นรถ-ค้นบ้าน" ต้องมีคำสั่งหรือหมายจากศาล
การที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปในอาณาบริเวณบ้านหรือที่พักอาศัยของใครก็ตามจะต้องเป็นไปกรณีที่มีเหตุจำเป็นและมีหน้าศาล ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 57 และ 59 วางหลักการไว้ว่า การค้นในที่รโหฐาน อาทิ เคหสถาน ที่อยู่อาศัย โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือ ยานพาหนะ เพื่อหาตัวคนหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจะต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล โดยผู้ที่มีสิทธิในการร้องขอหมายศาล คือ พนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามขึ้นไป ถ้าเป็นตำรวจให้มียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป
ทั้งนี้ การขอให้ศาลออกหมายค้นจะต้องปรากฎพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่ามีเหตุที่จะออกหมายตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 69 ดังนี้
  • เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวนไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
  • เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ หรือตั้งใจจะใช้กระทำความผิด กรณีนี้ทำไปเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อทราบรายละเอียดแห่งความผิดที่เป็นประโยชน์ในการสืบสวน
  • เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
  • เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ
  • เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว
อีกทั้ง ในหนังสือคู่มือการออกคำสั่งหรือหมายอาญา ที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการจัดทำคู่มือการออกคำสั่งหรือหมายอาญา สำนักประธานศาลฎีกา ยังระบุด้วยว่า หากเป็นเพียงเหตุสงสัย แต่ยังไม่มีข้อมูลหรือพยานหลักฐานใดสนับสนุนว่าบุคคลนั้นกระทำความผิด ศาลจะยังออกหมายไม่ได้ 
นอกจากนี้ ตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 60 ยังระบุด้วยว่า หมายค้นจะต้องทำเป็นหนังสือ และมีข้อความที่ระบุ สถานที่ออกหมาย วันเดือนปี และเหตุที่ต้องออกหมาย รวมถึงต้องระบุสถานที่ที่จะค้น และชื่อหรือรูปพรรณบุคคลหรือลักษณะสิ่งของที่ต้องการค้น  วันเวลาที่จะทำการค้น และตำแหน่งของเจ้าพนักงานที่จะทำการค้น
ค้นโดยไม่มีหมาย ต้องมีเหตุร้าย-หาผู้กระทำผิดซึ่งหน้า
โดยหลักแล้วการตรวจค้นรถ ค้นบ้าน จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีหมายศาล แต่ในบางกรณีกฎหมายก็ให้ข้อเว้นไว้ ซึ่งอยู่ในกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 92 ที่ระบุว่า ห้ามไม่ให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้น หรือ คำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เห็นว่ามีเหตุจำเป็นดังกรณีต่อไปนี้
  • เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วย หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้น
  • เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำในที่รโหฐาน
  • เมื่อบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้าหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นว่าเข้าไปซ่อนตัวอยู่
  • มีพยานหลักฐานว่ามีสิ่งของที่เป็นผิดความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือใช้ในการกระทำความผิด (แต่ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า การขอหมายค้นจะเนิ่นช้าจนสิ่งของนั้นถูกโยกย้ายหรือทำลายเสีย)
  • เมื่อผู้ที่จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับ
ทั้งนี้จะเห็นว่า ตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 92 ได้ระบุให้ การค้นหาบุคคลในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายศาล จะต้องเป็นกรณีที่พบเห็นผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือ มีเหตุอันหนักแน่นว่ามีผู้กระทำความผิดไปซ่อนตัวอยู่ หรือ หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการ "สุ่ม" เพื่อค้นโดยไม่มีพยานหลักฐานที่หนักแน่นจะกระทำไม่ได้ 
เมื่อเข้าตรวจค้นต้องแสดงหมาย-ได้รับความยินยอม
ตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 94 ระบุว่า การตรวจค้น ผู้ตรวจค้นต้องแสดงหมายค้น หรือชี้แจงเหตุในการค้นโดยไม่มีหมายศาลซึ่งต้องเป็นไปตามข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าผู้ทำการตรวจค้นมีการแสดงหมายค้น หรือ เหตุในการค้นโดยไม่มีหมายศาลแล้ว ให้ผู้ตรวจค้นมีอำนาจสั่งเจ้าของให้ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นได้ และถ้าบุคคลนั้นไม่ยินยอม ตำรวจอาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปได้ อีกทั้ง ตำรวจยังมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลที่จะขัดขวางการค้นได้ ตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 100 
นอกจากนี้ การจะเข้าตรวจค้นบ้าน ยังสามารถทำได้ตาม "หลักความยินยอม" กล่าวคือ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้ความยินยอมก็สามารถกระทำได้ ดังเช่นในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1047/2555 เจ้าพนักงานตำรวจขอเข้าตรวจค้นหาสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิดในบ้าน เจ้าของบ้านยินยอมให้ตรวจค้นแต่โดยดี ถือว่าเป็นการค้นโดยชอบฯ เป็นต้น ซึ่งการให้ความยินยอมอาจจะทำการยินยอมโดยชัดแจ้ง หรืออาจยินยอมโดยปริยาย เช่น เจ้าของบ้านวิ่งมาแจ้งขอให้เข้าไปช่วยเหลือคนภายในบ้าน ตำรวจจึงมีอำนาจเข้าบ้านตามหลักความยินยอม เป็นต้น
ทั้งนี้ การให้ความยืนยอม ตามหลักความยินยอมจะต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ปราศจากการทำกลฉ้อฉล หลอกลวง ข่มขู่ หรือสำคัญผิด และต้องเป็นการให้ความยินยอมโดยไม่มีเงื่อนไข มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิ อีกทั้ง การค้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าว จะไม่สามารถใช้ได้ ตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 226 ที่ระบุว่า  ห้ามมิให้อ้างพยานหลักฐานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น 
ห้ามตรวจค้นยามวิกาล เว้นแต่มีเหตุฉุกเฉิน-ได้รับอนุญาต
ตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 96 การค้นในที่รโหฐานจะต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก ไม่ว่าจะมีหมายค้นหรือไม่ก็ตาม จะต้องกระทำในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น หากต้องการค้นในเวลากลางคืน จะต้องเข้าข้อยกเว้น ดังนี้
  • เมื่อเริ่มลงมือค้นตั้งแต่เวลากลางวัน แล้วยังไม่เสร็จ กฎหมายกำหนดให้จะต่อเนื่องกันไปในเวลากลางคืนก็ได้ หากหมายค้นระบุว่าต้องค้นให้เสร็จสิ้น ตำรวจจะค้นไปได้จนกว่าจะเสร็จสิ้น โดยเวลาพระอาทิตย์ตกนี้จะต้องอาศัยเวลาตามความเป็นจริงในแต่ละวันด้วย
  • ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้ ความฉุกเฉินอย่างยิ่งดังกล่าวจะหมายถึง หากไม่ตรวจค้นทันที บุคคลจะหลบหนีไปได้ พยานหลักฐานจะสูญหายหรือถูกทำลาย เป็นต้น
  • การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญ จะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาล ผู้ดุร้ายอาจไม่ใช่ผู้กระทำความผิดก็ได้ เช่น เป็นคนจิตไม่ปกติ จิตใจโหดเหี้ยมทารุณ เคยทำร้ายผู้อื่นมาก่อน ชอบเผาบ้านเรือนคนอื่นเป็นต้น ส่วนผู้ร้ายสำคัญคือผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ เช่นฆ่าคนตาย ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ เป็นต้น
หมายค้นมีไว้หาคนหรือของ-จับกุมต้องมีหมาย
ตามกฎหมาย ป.วิอาญาฯ มาตรา 70 การจะพบและจับบุคคลได้นั้น จะต้องมีหมายค้น ประกอบกับหมายจับด้วยทั้งสองอย่าง จึงจะจับได้ ถ้าตำรวจมาขอหมายค้นโดยอ้างว่าจะเอาไปจับกุมบุคคลในที่รโหฐานนั้น ตำรวจจะต้องมีหมายจับติดมือมาก่อนแล้วด้วย และจะต้องเชื่อว่าบุคคลตามหมายจับได้ซุกซ่อนตัวอยู่ที่นั่น ศาลจึงจะออกหมายจับได้ หรืออีกประการหนึ่ง ตำรวจก็อาจจะจะใช้วิธีมาขอทั้งหมายค้นและหมายจับพร้อมกันทีเดียวเลยก็ได้