ประกาศผู้บัญชาการทหารสูงสุด ห้ามชุมนุมอย่างกว้างขวาง ทำยอดคดีชุมนุมพุ่งสูง

นับจนถึงต้นเดือนตุลาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกข้อกำหนดเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งสิ้น 34 ฉบับ และยังแต่งตั้งให้พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนนที่เกี่ยวกับความมั่นคง พล.อ.เฉลิมพลก็ได้ออกประกาศหัวหน้าผู้รับชอบฯเรื่อง ห้ามการชุมชุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) รวมแล้ว 11 ฉบับ กลายเป็นกฎหมายหลักที่ถูกนำมาใช้สั่ง "ห้ามชุมนุม" และดำเนินคดีผู้ชุมนุมตามหลัง  
ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 เรื่องห้ามชุมนุม ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย …” มักจะถูกนำมาอ้างเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 พร้อมกับประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ เรื่อง ห้ามการชุมนุม ที่ใช้คู่กันมา 
ตัดเงื่อนไขความผิด ตีความกว้าง เปิดทางเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ
ก่อนหน้านี้ ในประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 1  กำหนดว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะ ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค…” ต่อมา ในฉบับที่ 2 และ ฉบับที่ 3 มีการเพิ่มรายละเอียดของข้อห้ามเข้าไป โดยกำหนดว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย…”
ขณะที่ ฉบับที่ 5 ได้ระบุเงื่อนไขของการชุมนุมที่ต้องห้ามเพิ่มเข้าไปอีก เพื่อความชัดเจนว่าเป็นบังคับใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด19 โดยกำหนดว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด – 19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาส ติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย…” เงื่อนไขเหล่านี้แม้เป็นการออกมาจำกัดเสรีภาพการชุมนุมโดยไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ก็ยังพอเห็นได้ว่า ผู้ที่ยกร่างประกาศเหล่านี้ต้องการให้เกิดความชัดเจนว่า การจำกัดห้ามชุมนุมนั้นเพื่อป้องกันโรคระบาด ไม่ใช่เพื่อใช้ควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเท่านั้น 
นับตั้งแต่ประกาศฉบับที่ 6 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564  เป็นต้นมา จนถึงฉบับที่ 11 ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ขณะนี้เพียงฉบับเดียว  มีการตัดรายละเอียดที่เป็นเงื่อนไขความผิดออกเหลือเพียงความว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค…” โดยตัดเงื่อนไขการห้ามชุมนุม "ที่มีความแออัด" "และอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด – 19"  "ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย…” ออกไป เท่ากับการชุมนุมที่ต้องห้ามจะรวมทั้งการชุมนุมที่อยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง ไม่ว่าจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากหรือน้อยและผู้เข้าร่วมมีโอกาสติดต่อสัมผัสได้หรือไม่ อย่างไร
ผลของการออกประกาศที่มีเนื้อความกว้างขึ้น เป็นการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นว่าการชุมนุมครั้งใดจะเข้าข่ายต้องห้ามตามประกาศนี้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่กำหนดว่าจะต้องมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เมื่อตัดองค์ประกอบนี้ออกไป ก็อาจทำให้การชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมไม่มากถูกดำเนินคดีได้แล้ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
การกำหนดความผิดไว้กว้างๆ เช่นนี้เอง จึงเป็นสาเหตุทำให้นับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการออกมาชุมนุมไปแล้ว 1,171 คน ทั้งสิ้น 483 คดี นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวแทนภาคประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาจากการเข้าร่วมการชุมนุมและถูกดำเนินคดีด้วยข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้เพิกถอนข้อกำหนดและประกาศเกี่ยวกับเรื่องห้ามชุมนุมดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวไม่ได้มีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคแต่มีไว้เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง