นักสิทธิฯจี้ “มาร์ค” ยกเลิกคำสั่งศอฉ.ห้ามขายสินค้าสร้างความแตกแยก

 

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2553 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกจดหมายเปิดผนึก แถลงความเห็นว่า คำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ 141/2553 นั้น มีลักษณะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจนเกินจำเป็น ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 เพราะเป็นความผิดที่เขียนอย่างกว้าง ประชาชนไม่สามารถทราบว่าการกระทำใดบ้างที่ต้องห้าม และคำสั่งดังกล่าวมีแนวโน้มจะสร้างความแตกแยกให้เพิ่มมากขึ้น
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรต่างๆ ดังรายชื่อตามท้ายจดหมาย จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าว และยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
 
 
ทั้งนี้ คำสั่งฉบับดังกล่าว ประกาศ ณ วันที่ 19 พ.ย. 2553 อาศัยอำนาจตามข้อ 3 และข้อ 6 แห่งประกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นผู้ลงนามในคำสั่ง
 
เนื้อหาของคำสั่ง ข้อ 1. กำหนด ห้าม บุคคลใดมีไว้ในครอบครอง หรือ มีไว้เพื่อการจำหน่าย จ่าย แจก ซึ่งสินค้า เสื้อผ้า เครื่องอุปโภคบริโภค หรือวัตถุอื่นใด ที่มีการพิมพ์ เขียน วาดภาพ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้ปรากฏความหมายในลักษณะ ยั่วยุ ปลุกระดม สร้างความปั่นป่วน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนโดยทั่วไป หรือ เพื่อการกระทำหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
ข้อ 2. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่ง ยึดหรืออายัด สินค้า เสื้อผ้า เครื่องอุปโภคบริโภค หรือวัตถุอื่นใดตามข้อ 1.
 
และข้อ 4. หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
(ดูรายละเอียดตามไฟล์แนบ)
 
 
 
 
 
 
 
จดหมายเปิดผนึก
วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
เรื่อง ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ ๑๔๑/๒๕๕๓ และยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
เรียน นายกรัฐมนตรี
          ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้มีคำสั่งที่ ๑๔๑/๒๕๕๓ ฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดสินค้าหรือวัตถุอื่นใด ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในเขตท้องที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นและเพื่อเสริมสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ อันมีเป้าหมายเพื่อนำสังคมกลับเข้าสู่ความสงบสุข นั้น
          เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรดังมีรายชื่อท้ายจดหมาย มีความเห็นดังต่อไปนี้
          ประการแรก คำสั่งฉบับนี้ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๙ เนื่องจากเป็นการเพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่กระทบต่อสาระสำคัญของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ของพนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันได้สร้างภาระและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินจำเป็นแล้ว เนื่องจากมีการใช้ดุลพินิจและบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพของผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างไปจากรัฐบาล จึงไม่จำเป็นหรือมีเหตุอันควรที่จะต้องมีคำสั่งฉบับนี้
          ประการที่สอง คำสั่งฉบับนี้มีลักษณะขัดต่อหลักการของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ อันเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการออกกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษทางอาญา เนื่องจากความผิดตามข้อ ๑. ของประกาศฉบับนี้กำหนดลักษณะของวัตถุซึ่งต้องห้ามจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองด้วยถ้อยคำที่มีความหมายกว้าง ไม่สามารถระบุให้ชัดเจนแน่นอนได้ว่าหมายถึงวัตถุลักษณะใดบ้าง ทั้งยังครอบคลุมถึงวัตถุแทบทุกประเภทที่ประชาชนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ประชาชนผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายจึงไม่สามารถทราบถึงสิทธิเสรีภาพที่ตนพึงมี ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการกระทำใดของตนผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ เอื้อต่อการใช้อำนาจไปในทางกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติต่อประชาชนบางกลุ่มได้
          ประการที่สาม คำสั่งฉบับนี้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามที่ระบุไว้ข้างต้นได้อย่างแน่แท้ และยิ่งเป็นปัจจัยเพิ่มสถานการณ์ความแตกแยกในสังคมและเพิ่มระดับความรู้สึกไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนมากขึ้น ทำให้ทัศนคติของประชาชนต่อรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐย่อมเป็นไปในทางลบ เนื่องจากมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง และหากยังมีการบังคับใช้ต่อไปย่อมทำลายหลักประกันเสรีภาพในการแดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในสังคมประชาธิปไตย และยังเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนในการใช้อำนาจของรัฐโดยสิ้นเชิง
          ดังนั้น เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรดังมีรายชื่อท้ายจดหมายนี้ขอเรียกร้องต่อฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ดังนี้
         
          ประการแรก ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ ๑๔๑/๒๕๕๓ เรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดสินค้าหรือวัตถุอื่นใด
          ประการที่สอง ขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานี อันเป็นเหตุให้มีออกประกาศใช้อำนาจที่อาจคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประกอบกับไม่มีเหตุฉุกเฉินที่เป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของชาติที่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรงดังที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด และไม่จำต้องจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อใช้อำนาจทหารเป็นกลไกพิเศษในการควบคุมสถานการณ์และให้อำนาจทหารใช้อำนาจที่อาจเป็นปฏิปักษ์กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังการออกคำสั่งดังกล่าว
ด้วยความเชื่อมั่นในหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย
 
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
สุนี ไชยรส
จุลศักดิ์ แก้วกาญจน์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน