รวมบทความ “วัยเยาว์ที่สาบสูญ” ระดับมัธยมศึกษา

วัยเยาว์ที่สาบสูญ: การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน ความล้มเหลวของการบริหาร และความโหดร้ายของระบบการศึกษา โดยณภัทร คงเมือง

Online School
Online School

ท่ามกลางสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ที่บีบให้ประชาชนต้องอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “New Normal” ทุกอาชีพล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจ แรงงาน ฯลฯ ธุรกิจและประชาชนต่างต้องปรับตัวท่ามกลางความโหดร้ายของโรคระบาด และความล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของหน่วยงานภาครัฐ 

แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ถูกละเลยมากที่สุด คือ กลุ่มของนักเรียน ที่ถูกผลักให้ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ทั้งการบริหารจัดการด้านการศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ เลื่อนเปิดเทอมก็แล้ว เรียนออนไลน์ก็แล้ว แม้เป็นเวลากว่า 1 ปี ที่ระบบการศึกษาตกอยู่ภายใต้การควบคุมที่ยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่มีการเรียนรู้จากสถานการณ์ ไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม ออกนโยบายเสมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง แสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจในตัวผู้เรียนของผู้บริหารกระทรวง นอกจากนี้ ในด้านอื่นๆ ที่ทำให้นักเรียนเสมือนไม่ใช่ประชาชนคนหนึ่งในประเทศนี้ ทั้งการบริหารจัดการวัคซีนที่ขาดการเตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีนสำหรับเด็ก หรือการบริหารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของนักเรียน ไม่มีการเยียวยานักเรียน ทั้ง ๆ ที่มีนักเรียนบางคนต้องทำงานหารายได้เพื่อส่งตัวเองเรียนตั้งแต่อายุ 15 ปี ไม่มีการเยียวยาในเรื่องค่าเทอมอย่างเป็นระบบ 

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเป็นสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่กลับแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการสถานการณ์ และความโหดร้ายของระบบการศึกษาไทยที่นักเรียนไทยต้องเผชิญ

ระบบการเรียนออนไลน์ เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดี แม้ช่วงแรกจะมีการพัฒนาการเรียนการสอนผ่านระบบ DLTV แต่ก็ไม่พบว่ามีการพัฒนาต่อ แต่กลับผลักภาระให้โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียนให้จัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ทั้งการใช้ Zoom, Google Classroom และอื่นๆ 

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการผลักภาระและส่งผลให้เด็กหลายคนไม่สามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาต่างๆ 

ทั้งอุปกรณ์ที่ไม่เพียบพร้อม สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เข้าใจของผู้ปกครองต่อการเรียนออนไลน์ หลายครั้งเรายังพบนักเรียนที่เรียนออนไลน์ต้องเรียนไปด้วยและช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพไปด้วย ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการเรียน อีกทั้งรูปแบบการเรียนการสอนในหลายรายวิชาก็มิได้ปรับตัวตามสภาพที่ควรจะเป็น ยังคงเน้นภาระงานแบบเดิม หรือภาระงานกลุ่มที่ต้องร่วมกันทำชิ้นงานซึ่งไม่สามารถทำได้ในยุคโควิด-19 เหล่านี้คือ สิ่งที่นักเรียนไทยต้องเผชิญ แม้ครูหลายท่านจะพยายามปรับการเรียนการสอนให้มีความเหมาะสม ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมและขอบคุณที่พยายามเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนที่ดีให้กับนักเรียน แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าครูบางท่านก็ยังไม่สามารถปรับได้ดีพอ มิหนำซ้ำในโรงเรียนบางแห่งมีนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สำหรับการเรียนได้ ส่งผลให้มีนักเรียนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่พึ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานานแล้ว เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 จึงเห็นปัญหาชัดมากขึ้น แต่กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงกลับไม่ได้หาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงเป็นเครื่องชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการในด้านการไม่สามารถสร้างระบบการศึกษาที่ดีได้

ตลอดระยะเวลาการระบาดของโควิด-19 เด็กนักเรียนถูกปฏิบัติแบบทิ้งไว้ข้างหลัง พวกเราไม่มีเสียงที่ดังพอในการส่งเสียงไปถึงรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในเรื่องต่างๆ แม้แต่เรื่องวัคซีนที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งมีวัคซีนเพียงตัวเดียวที่สามารถฉีดให้กับเด็กอายุ 12-18 ปีได้ ก็คือ Pfizer-BioNTech ที่ถึงแม้จะมีการสั่งซื้อเข้ามาแล้ว แต่ก็ไม่มีแผนในการนำมาฉีดให้เด็ก ทั้ง ๆที่ อย. มีการรับรองให้ใช้สำหรับอายุ 12 ปีขึ้นไป แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน จนไม่อาจปฏิเสธคำถามของนักเรียนที่ดังมาจากทั่วทุกสารทิศที่ว่า “เพราะเป็นเด็กในประเทศไทย เลยถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือ เพราะเราไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือ รัฐบาลถึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเด็กน้อยขนาดนี้”

ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เป็นช่วงสุดท้ายของการเรียนรู้ในโรงเรียน พวกเราต่างเสียโอกาสช่วงสุดท้ายไปกับการบริหารที่ผิดพลาดและความโหดร้ายของระบบการศึกษา ต้องใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโดยไม่ได้มีโอกาสเจอเพื่อน กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต เช่น ค่ายแนะแนวคณะต่างๆ กิจกรรมกีฬาสี กิจกรรม Open House ฯลฯ ก็ไม่สามารถจัดได้ ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดโอกาสในการค้นหาตัวเองในอนาคต เนื่องจากมันเป็นไปไม่ได้ที่จะค้นหาตัวเองเจอในสถานการณ์ที่เราโดนขังอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีโอกาสไปหาแรงบันดาลใจ เผชิญกับปัญหาทางสุขภาพจิตที่ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิต ความกระตือรือร้นถดถอย และยังเผชิญหน้ากับระบบการศึกษาที่ย่ำแย่อย่างเรื้อรัง การจัดสอบจำนวนมหาศาล และความไม่แน่นอนของราชการที่ทำหน้าที่จัดสอบ ส่งผลต่อการวางแผนของนักเรียนเป็นอย่างมาก นอกจากสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลให้เกิดแผลใหม่ในระบบการศึกษาแล้ว แต่ยังเป็นการราดกรดลงบนแผลเดิมให้ทั้งแสบ และเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น

ในฐานะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายคนหนึ่ง ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ผู้มีอำนาจ รวมถึงภาคส่วนราชการ ให้ตระหนักถึงการมีอยู่ของเด็ก คุณภาพทางการศึกษา การเยียวยา และคุณภาพชีวิตของเด็ก ดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ครอบคลุม รอบด้าน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวเด็ก ดังที่ท่านพร่ำบอกว่า “เด็กเป็นอนาคตของชาติ” แต่ท่านกลับกำลังทำร้ายอนาคตของชาติเสียเอง โดยอย่างน้อยเป็นขั้นต่ำที่สุดที่ต้องทำให้ได้ ต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้ 

  1. เร่งการจัดหาวัคซีนที่สามารถใช้ในเด็กกลุ่มอายุ 12-18 ปี เพื่อให้สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้ โดยมีการจัดลำดับความสำคัญที่เหมาะสมตามพื้นที่ และเมื่อมีการวิจัยในกลุ่มอายุต่ำกว่านั้นต้องมีการศึกษาผลการวิจัยและปรับกฎระเบียบให้สามารถฉีดในเด็กกลุ่มอายุอื่นได้โดยด่วน
  2. กระทรวงศึกษาธิการเร่งสำรวจความพร้อมในการเรียนออนไลน์ และสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับจัดการเรียนการสอนสำหรับครู และนักเรียน ทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชุดแบบฝึกหัดที่เหมาะสมเป็นมาตรฐาน ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่สามารถใช้ในการเรียนได้ รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าบริการอินเตอร์เน็ต หรือค่าอุปกรณ์
  3. เร่งดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง หลักสูตรทางการศึกษา ระบบการศึกษา ปริมาณการสอบ สัดส่วนคะแนน รวมทั้งรูปแบบการจัดการเรียนการสอน โดยศึกษาจากปัญหาและข้อผิดพลาดที่เห็นภาพชัดขึ้นในยุคโควิด-19 เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมโลก

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อเสนอขั้นต้นเท่านั้น แต่กระทรวงศึกษาธิการยังคงต้องพัฒนาด้านอื่นๆ อีกมาก ทั้งการจัดทำ Big Data ข้อมูลของนักเรียนให้มีความเชื่อมโยง กระจายโอกาสทางการศึกษา ลดปัญหานักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา 

ผมอยากจะเชิญชวนทุกท่านมาร่วมเรียกร้องเพื่อให้กระทรวงศึกษาปฏิบัติต่อเด็กให้เหมาะสมกับคำว่า “เด็กเป็นอนาคตของชาติ”

วัยเยาว์ที่สาบสูญ โดยสิปปาจรีย์ ชัฎอนันต์ 

ปัญหาของการเรียนออนไลน์มีอะไรบ้าง? คำตอบก็คงมีมากมายหลากหลายตามนักเรียนนักศึกษาแต่ละคน ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19และการเรียนออนไลน์อันยืดเยื้อยาวนานต่อเนื่องเป็นปี ที่ 2 โดยไร้นโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐ เยาวชนหลายล้านชีวิตรวมถึงฉันและพี่น้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักโลกแห่งการเรียนรู้ถูกจำกัดอยู่ในจอสี่เหลี่ยม ในขณะที่แสงแห่งความหวังและความฝันในวัยเยาว์ริบหรี่ลงเรื่อย ๆ

ปัญหาหลักของการเรียนออนไลน์คืออุปกรณ์ไม่พร้อม เพราะนักเรียนนักศึกษาไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวในการเรียนออนไลน์ได้แต่ต้องใช้ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานในวัยเรียนมากกว่า 1 คนนั่นหมายความว่า ผู้ปกครองนักเรียนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นไปอีกเป็นการตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ย่ำแย่ขึ้น ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยต้องกู้เงินเพื่อผ่อนมือถอเรียนออนไลน์ 

รัฐจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือแจกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้นักเรียนและนักศึกษาทุกคนโดยเร็ว ปัญหาที่ใหญ่อีกอย่างหนึ่งของการเรียนออนไลน์คือปัญหาค่าเทอม เนื่องจากวิกฤติโควิด -19 ผู้ปกครองขาดรายได้ส่งผลให้เกิดภาวะยากจนเฉียบพลัน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ทำให้มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในการเปิดเทอมปีการศึกษา 2564 กว่า 6,000 คน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)คาดว่า สิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดออกจากระบบประมาณ 65,000คน 

เดิมทีปัญหานี้ก็เกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงก่อนวิกฤตโควิด -19 อยู่แล้ว ผู้ปกครองต้องนำของใช้ในบ้านออกไปจำนำเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมบุตรหลานทุก ๆ ปีทั้งค่าชุดเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษา ค่าสมัครสอบ ค่าเทอม ค่าบำรุงการศึกษา ค่าห้องเรียนปรับอากาศ ค่าแรกเข้า ค่าสมาคมผู้ปกครอง ฯลฯ ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวถึงแม้รัฐธรรมนูญบังคับให้รัฐบาลจัดการศึกษาฟรี 12 ปี ที่ไม่เคยฟรีจริง 

ปัจจุบันเกิดการระบาดของโรคโควิด -19 ปัญหาค่าเทอมยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงควรอย่างยิ่งที่รัฐจะออกนโยบายเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 และลดค่าเทอมสำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างน้อยร้อยละ 50 เนื่องจากการเรียนออนไลน์ทำให้ไม่ได้ใช้สถานที่และอุปกรณ์ของสถานศึกษา รวมถึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง

ปัญหาประการสุดท้ายที่จะหยิบยกมาพูดถึงคือ ปัญหาสภาพแวดล้อมในบ้านที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนมีห้องส่วนตัวบรรยากาศสงบพร้อมเรียน เด็กบางคนเมื่ออยู่บ้านก็จำเป็นต้องทำงานบ้านแม้ในเวลาเรียนต้องช่วยพ่อแม่ดูแลน้องของตนเองที่ต้องเรียนออนไลน์ไปพร้อมกัน หรือบางครอบครัวเปิดร้านเด็กอาจต้องรับหน้าที่ช่วยแบ่งเบางานของพ่อแม่ด้วย ซึ่งปัญหานี้พูดอย่างไรก็พูดไม่หมด แต่ต้องอาศัยความเข้าใจของบุคลากรทางการศึกษาทุกคน โดยเฉพาะผู้บริหารที่ออกนโยบายทางการศึกษา ขอให้ท่านรู้อยู่เสมอว่ามีเด็กจำนวนมากอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ในไซต์งานก่อสร้าง ในแผงขายของตามตลาด ในห้องเช่า 1 ห้องที่อยู่กันทั้งครอบครัวไม่ใช่อยู่ในบ้านหลังโตแบบที่ท่านอยู่ ไม่มีห้องส่วนตัว ไม่มีโต๊ะคอมพิวเตอร์ไม่มีลานหน้าบ้านให้ถ่ายคลิปตีแบดมินตันส่งครูวิชาพลศึกษา ไม่มีสวนหลังบ้านให้ปลูกพืชผักสวนครัวส่งครูวิชาเกษตร อย่าทำเพียงออกนโยบายมาเฉยๆ โดยไม่มีอะไรมารองรับข้อจำกัดของผู้เรียนแต่ละคน ต้องเข้าใจปัญหาและสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายสอดรับกับข้อจำกัดของนักเรียนและนักศึกษาแต่ละคนได้

วิกฤตโควิด -19 ทำให้ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ ทำให้มีเด็กไทยหลุดออกจากการศึกษาและได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อยรอรัฐออกมาตรการแก้ไข ต้องสร้างการเรียนรู้ที่ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับความแตกต่างทั้งด้านฐานะและสภาพแวดล้อมของผู้เรียน ให้โอกาสเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างไม่หยุดชะงักแม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19

วัยเยาว์ที่สาบสูญ โดย Anankei

สำหรับนักเรียน นักศึกษา ณ ปัจจุบันนี้ คงทราบดีว่า โควิด-19 กับการเรียนออนไลน์มันเป็นของคู่กัน เชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์การเรียนที่ออนไลน์ที่คล้ายกัน ไม่มากก็น้อย ในฐานะ นักเรียนคนหนึ่ง เราอยากเล่าประสบการณ์การเรียนออนไลน์ และแบ่งปันความคิดเห็นของการเรียนออนไลน์ในมุมมองของเราผ่านบทความชิ้นนี้ 

ยอมรับเลยว่าเมื่อได้ยินครั้งแรกว่าจะต้องเรียนออนไลน์เมื่อต้นปี 63 เรารู้สึกดีใจอยู่ลึกๆ เพราะเราไม่ต้องตื่นตั้งแต่เช้าไปโรงเรียน แถมยังได้อยู่ใน comfort zone ของเราด้วย น่าตื่นเต้นใช่ไหมหล่ะ?  ช่วงแรกๆที่เรียน เราไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างของการเรียนออนไลน์กับการเรียนที่โรงเรียนมากนัก เนื่องจากตารางการเรียนการสอน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ครูที่สอนก็คนเดิม เพื่อนก็หน้าเดิมๆ แค่ไม่ได้ไปนั่งข้างๆ นั่งจับกลุ่มเม้ามอยกันเหมือนเมื่อก่อน จนมันทำให้เราคิดว่า การเรียนออนไลน์มันไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่คิด เว้นแต่ว่าออกไปไหนไม่ได้ เพราะโควิดกำลังระบาด สำหรับมนุษย์ introvert หรือถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดคือ “คนเก็บตัว” อย่างเรา การที่ได้อยู่ใน comfort zone แล้วไม่ต้องปรับโหมดเป็นโหมดเข้าสังคมมันทำให้เหนื่อยน้อยลงมาก ออกจะดีด้วยซ้ำ แต่เพราะชีวิตที่ดูราบเรียบเกินไปของเราเนี่ยแหละ มันทำให้เราได้รู้ถึงผลกระทบของการเรียนออนไลน์ และเข้าใจในความรู้สึกเสียดายเวลาในวัยเยาว์ที่ถูกโควิดพรากไป แล้วถูกแทนที่ด้วยการต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน

ชีวิตที่เป็นกิจวัตร นับวันยิ่ง ซ้ำซาก และ จำเจ  ต่อให้คุณจะเก็บตัวขนาดไหน แต่ถ้าต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมกับจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ยังไงคุณก็ต้องหน่าย

หากจะใช้คำไหนในการนิยาม ความรู้สึกของเราที่มีต่อการเรียนออนไลน์ครั้งนี้คงเป็นคำว่า “เสียดาย” เสียดายเวลา เสียดายโอกาส ยิ่งพอจะขึ้นมหาวิทยาลัย ยิ่งรู้สึกเสียดาย มันทำให้เราถามตัวเองซ้ำๆ ทำไมเราต้องมานั่งเรียนแต่อะไรแบบนี้? ทำไมถึงยังกลับไปเรียนที่โรงเรียนไม่ได้? ในหัวของเราเต็มไปด้วยคำว่าทำไม แทนที่เราจะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น หาประสบการณ์ เก็บพอร์ต ตระเวนสอบ ไปเที่ยวกับเพื่อน มันควรจะเป็นสิ่งที่เราในวัยมัธยมทำสิ! ไม่ใช่มานั่งเป็นผีตายซากในห้องสี่เหลี่ยมทุกวันแบบนี้! การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย  มันยิ่งทำให้เรารู้สึกบั่นทอน จากที่เรียนออนไลน์แล้วรู้สึกมีความสุข กลายเป็นว่าการเรียนออนไลน์มันทำให้เราเครียดขึ้นมาก ยิ่งชั้นเรียนสูงขึ้น แล้วไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียน มันทำให้เราพลาดอะไรหลายๆอย่าง พลาดที่จะได้ใช้ชีวิตวัยเยาว์ที่มีแค่ครั้งเดียวในชีวิต พลาดที่จะได้เห็นอะไรด้วยตาของตัวเอง แล้วเราต้องมาจำทุกอย่างในหนังสือ พอไม่เข้าใจเนื้อหาส่วนไหนก็ไม่พ้นการเรียนพิเศษ ซึ่งตอนที่เรียนที่โรงเรียนก็ว่าเยอะอยู่แล้ว พอมาเรียนออนไลน์ก็ยิ่งเยอะขึ้นไปอีก ในสถานการณ์แบบนี้เรียนพิเศษก็ยังต้องเรียนแบบออนไลน์ ทำให้เราเห็นเลยว่า วังวนของการเรียนออนไลน์ นอกจากจะไม่มีที่สิ้นสุด ยังหนีไม่พ้นอีกด้วย  มิหนำซ้ำค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษก็สูงขึ้นเป็นเท่าตัว จากหลักพันเป็นหลักหมื่นในพริบตา 

แล้วอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าเราเข้าใจในบทเรียนมากน้อยขนาดไหนหล่ะ? แน่นอนว่าคือการสอบ ซึ่งสัมพันธ์กับการเรียนพิเศษ เพราะถ้าเราไม่เรียนพิเศษ ไม่ทำโจทย์ข้อสอบเยอะๆ เราก็ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่าแนวข้อสอบจะเป็นแบบไหน จะออกอะไรบ้าง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการสอบโดยทั่วไปอยู่แล้ว เพราะเราคิดว่า การสอบมันไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีสุด เราคิดว่าบางคนแค่จำข้อสอบเก่ง แต่อาจจะไม่ได้เข้าใจในเนื้อหาที่เรียนจริงๆ ซึ่งขัดกับจุดประสงค์ของการเรียน ไม่ใช่ว่าเราเรียนเพื่อเราจะนำความรู้ไปต่อยอดในอนาคตหรือ? และไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่จะสามารถรับมือกับความกดดันในห้องสอบได้ดี เราคือหนึ่งในนั้น แค่ได้ยินคำว่าสอบก็เหมือนโลกถล่ม ลนไปถึงโลกหน้าแล้วจ้าา 

อีกอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าการเรียนออนไลน์มันน่าเบื่อ คือสภาพแวดล้อมในการเรียนเนี่ยแหละ หลายๆคนมีปัญหาระหว่างเรียนออนไลน์ เช่น สัญญานอินเตอร์เน็ตไม่ดี เข้าเว็บไซต์ที่ต้องใช้เรียนไม่ได้ ไม่มีพื้นที่เงียบๆให้เรียน หรือแม้กระทั่งเอามือถือมาเล่นระหว่างเรียน ทำให้ขาดสมาธิ รู้สึกว่าเรียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร เอาตรงๆ ‘แค่เรียนปกติจะพยายามตั้งใจเรียนยังยากเลยแล้วนับประสาอะไรกับการเรียนออนไลน์หล่ะ’ นั่นทำให้เราไม่เห็นด้วยกับการสอบออนไลน์ เพราะโอกาสที่นักเรียนจะโกงข้อสอบมันมีสูงกว่ามาก ถ้าจะโกงอ่ะ วิธีไหนก็สรรหามาทำได้หมดแหละ บางทีอย่าว่าแต่นักเรียนเลยที่ไม่พร้อม ครูก็ไม่พร้อม นอกจากจะมีปัญหาที่คล้ายกับนักเรียน เรายังเคยเจอทั้งครูที่ สั่งสอบทิพย์บ้าง หาข้อสอบนักเรียนไม่เจอบ้าง แล้วเสียเวลาทำข้อสอบไปเกือบครึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้น การสอบออนไลน์สำหรับเรา เราคิดว่ามันลำบากกว่าสอบปกติ (paper-based) และช่องโหว่เยอะกว่ามาก

สุดท้ายนี้ถ้าให้เราบอกอะไรกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ คงจะเป็น ขอให้ท่านทำให้สถานการณ์โดยรวมในประเทศให้ดีกว่านี้ เพราะถ้าหากท่านยังไม่สามารถทำสถานการณ์โดยรวมดีขึ้นได้ ปัญหาด้านอื่นๆ โดยเฉพาะ การศึกษาจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไปอีก อยากให้ท่านได้เห็นถึงผลกระทบทั้งระยะสั้นและยาว ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่เสียไป หรือชีวิตวัยเยาว์ที่สาบสูญไป อยากให้ท่านพิจารณา เรื่องวิธีการประเมินการเรียนรู้ ให้มีวิธีอื่นบ้าง นอกจากสอบ อย่างเช่นการทำโปรเจค เพื่อสรุปความรู้ที่ได้เรียนมา เป็นต้น   การเรียนออนไลน์มันไม่ได้แย่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเนี่ยแหละมันทำให้การเรียนออนไลน์ไม่สนุกอย่างที่ควร

‘อนาคตของนักเรียน นักศึกษาทุกคนอยู่ในมือของท่าน และเราคงไม่อยากให้อนาคตของตัวเองขุ่นมัวเหมือนในตอนนี้’