การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย: กลไกตรวจสอบอำนาจตุลาการโดยประชาชน

 
การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย (Public Trial) เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to Fair Trial) ซึ่งหมายความว่า ระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าในข้อหาใดก็ตาม ครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน หรือประชาชนคนทั่วไปที่สนใจอยากทราบรายละเอียดในการพิจารณาคดี ต้องสามารถเข้าไปร่วมรับฟังกระบวนการไต่สวนในศาลได้ การพิจารณาโดยเปิดเผยนี้จึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยสร้างความโปร่งใสของการใช้อำนาจตุลาการ และเพื่อรับประกันว่าจำเลยจะได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียม 
 
การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย จะช่วยรับรองว่า หากมีการใช้กฎหมาย หรือกระบวนการพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้อง หรือมีการดำเนินคดีที่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างโจ่งแจ้ง ความไม่ถูกต้องนั้นจะปรากฏต่อสายตาสาธารณะ อาจจะเป็นข่าวหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ในกรณีพิเศษศาลอาจสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับก็ได้ แต่จะทำได้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายให้อำนาจไว้
 
 
สาธารณชนมีสิทธิเข้ารับฟังการพิจารณาคดี
 
เมื่อคดีความถึงขั้นไต่สวนกันในศาล สาธารณชนหรือใครที่สนใจย่อมสามารถเข้าไปฟังการไต่สวนได้ตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ความ หรือไม่จำเป็ต้องมีหลักฐานแสดงตัวว่า เป็นผู้มีความเกี่ยวข้องอย่างไรในคดีนั้นๆ 
 
การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการ โดยมีสาธารณชนเป็นผู้รับรู้หากศาลทำหน้าที่ไม่เที่ยงธรรม ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการปกป้องจำเลยจากการใช้อำนาจโดยมิชอบอีกด้วย ในอีกทางหนึ่งหากศาลปฏิบัติทุกอย่างถูกต้องและมีข้อครหาเกิดขึ้นภายหลัง สาธารณชนที่สังเกตการณ์อยู่ก็จะเป็นประจักษ์พยานให้กับศาลได้ด้วยเช่นเดียวกัน ศาลจึงมีหน้าที่ในการแจ้งวันเวลาการพิจารณาคดีให้กับสาธารณชนรับทราบโดยเปิดเผย รวมถึงจัดการสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ประชาชนสามมรถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้อย่างราบรื่นและเหมาะสม 
 
สิทธิในการเข้าฟังการพิจารณาคดี เป็นสิทธิที่ได้รับการยอมรับในทางสากล และการพิจารณาคดีที่มีชื่อเสียงของไทยและต่างประเทศก็จะมีผู้สนใจเข้าฟังการพิจารณาคดีในห้องเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากภาพข่าวในคดีที่อนุญาตให้นักข่าวบันทึกภาพจากห้องพิจารณาคดีได้ หรือภาพยนตร์ที่จำลองสถานการณ์การพิจารณาคดีของหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น
 
ภาพยนตร์เรื่อง The trial of Chicago 7 ซึ่งเป็นเรื่องราวการพิจารณาคดีต่อกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนามในสหรัฐอเมริกา เป็นคดีทางการเมืองที่มีชื่อเสียง แม้ภาพยนตร์จะฉายให้เห็นว่า ผู้พิพากษาแสดงออกถึงอคติในการพิจารณาคดี แต่กระบวนการไต่สวนทั่งหมดก็เกิดขึ้นภายใต้การรับรู้ของสาธารณชน 
 
 
 
ซีรีย์ดังจากประเทศเกาหลี Law School ที่เล่าถึงชีวิตของอาจารย์และนักศึกษาในสถาบันด้านกฎหมายที่รวบรวมหัวกะทิของเกาหลีใต้มาไว้ด้วยกัน ซึ่งวันหนึ่งพวกเขาต้องเจอกับคดีฆาตกรรมที่ต้องช่วยกันไขปริศนา และมีซีรีย์นี้ก็มีตัวอย่างฉากการพิจารณาคดีในศาลด้วย
 
 
 
 
ในการพิจารณาคดีอดีตเผด็จการของประเทศชาด Hissène Habré ซึ่งเกิดขึ้นที่เซเนกัล เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2558 ให้ข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซ้อมทรมาน และเป็นอาชญากรสงคราม (crimes against humanity, torture, and war crimes) ก็มีภาพสารคดีที่มีผู้เข้าฟังเต็มห้องพิจารณา 
 
 
 
ในอดีตหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และถูกนำคดีขึ้นพิจารณาโดยศาลทหาร ซึ่งศาลทหารในยุคสมัยนั้นก็เปิดให้ประชาชนเข้าฟัง รวมทั้งให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพในห้องพิจารณาคดีได้ด้วย ภาพวิดีโอเหตุการณ์นี้เผยแพร่ในยุคต่อมาโดยหอภาพยนตร์ 
 
 
 
 
 
 
การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยรับรองไว้ในป.วิ.อาญาฯ และเคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 50
 
สำหรับในกฎหมายไทย การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในส่วนที่ 4 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม มาตรา 40 (2) ระบุไว้ว่า 
 
“มาตรา 40 บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
(2) สิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันเรื่องการได้รับพิจารณาโดยเปิดเผย …” 
 
อย่างไรก็ดี ภายหลังข้อความนี้ได้หายไปในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 พร้อมๆ กับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกตัดให้สั้นลง 
 
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้เสนอ ได้เสนอให้นำข้อความในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เรื่องการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ กลับมาบรรจุใหม่อีกครั้งเป็นมาตรา 29 (2) แสดงให้เห็นว่า หลักการนี้ถูกให้ความสำคัญโดยฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย
 
การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยยังได้รับการระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิอาญาฯ) ในมาตรา 172 ว่า “การพิจารณาคดีและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” 
 
 
การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นหลักสากล
 
สำหรับในต่างประเทศ การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ถือเป็นหลักพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการยอมรับกันและบัญญัติไว้ในกฎหมาย ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 6 (6th Amendment) ให้การรับรองไว้ว่า 
 
“ในการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ให้จำเลยทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วและเปิดเผย โดยคณะลูกขุนที่เป็นกลาง ของรัฐและเขตซึ่งเหตุแห่งคดีเกิดขึ้น…” 
 
'In all criminal prosecutions, the accused shall enjoy the right to a speedy and public trial, by an impartial jury of the state and district wherein the crime shall have been committed…'
 
ในยุโรป การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights หรือ EUHR) ซึ่งถือว่าเป็นหลักเกณฑ์สิทธิมนุษยชนที่ประสบความสำเร็จในการบังคับใช้เป็นอย่างมาก เพราะมีการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) ขึ้นมาวินิจฉัยและอนุสัญญากำหนดให้ผลการตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชน มีผลผูกพันกับรัฐสมาชิกด้วย โดย EUHR ระบุถึงสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมไว้ในมาตรา 6 วรรค 1 ว่า
 
“everyone is entitled to a fair and public hearing – บุคคลทุกคนมีสิทธิในการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม” 
 
การพิจารณาโดยเปิดเผยยังได้รับการรับรองในกติกาข้อตกลงระหว่างประเทศด้วย ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสิทธิมนุษยชนสากลตั้งแต่การสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2  มาตรา 10 ได้ให้การรับรองการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยไว้ใกล้เคียงกับที่ปรากฏใน EUHR ว่า
 
“everyone is entitled in full equality to a fair and public hearing – บุคคลทุกคนมีสิทธิในการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม” 
 
เช่นเดียวกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งวางหลักสิทธิทางการเมืองพื้นฐาน เช่น สิทธิในการแสดงออก และไทยเองได้เข้าร่วมเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติตั้งแต่ปี 2539 ได้ให้การรับรองการพิจารณาโดยเปิดเผยเอาไว้ โดยมาตรา 14 ของ ICCPR ระบุไว้ว่า
 
“everyone shall be entitled to a fair and public hearing – บุคคลทุกคนมีสิทธิในการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม”
 
ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากกติการะหว่างประเทศ 2 ประการ คือ
 
หนึ่ง ไม่ว่าจะทั้งในบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐ EUHR UDHR หรือ ICCPR ก็ต่างใช้ถ้อยคำที่คล้ายคลึงกันเมื่อกล่าวถึงการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย คือ a fair and public hearing แปลว่า การพิจารณาคดีที่เปิดเผยและเป็นธรรม แสดงให้เห็นว่า สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมต้องมาควบคู่กับหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเสมอ ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้
 
สอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) ซึ่งทำหน้าที่สอดส่งดูแลการบังคับใช้ ICCPR ให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้ว่า การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยนั้นต้องเป็นการเปิดเผยให้กับทั้งสื่อและคนทั่วไป ไม่ใช่การเปิดเผยให้กับคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น การพิจารณาคดีจะเป็นธรรมก็ต่อเมื่อไม่มีอิทธิพลจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามีส่วนในการตัดสินใจของศาล ดังนั้น การเปิดเผยให้เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงเข้ามารับฟังการพิจารณาคดีเพื่อกดดัน ในขณะที่กีดกันกลุ่มอื่นออกไปจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยได้ 
 
 
 
พิจารณาลับได้เท่าที่จำเป็น
 
อย่างไรก็ตาม กฎหมายทั้งของไทยและต่างประเทศยังเปิดช่องให้ศาลสามารถสั่ง "พิจารณาลับ" ได้บ้างในกรณีจำเป็น ซึ่งบุคคลภายนอกจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังหรือรับรู้ข้อมูลการพิจารณาคดี การสั่งพิจารณาลับนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง มีเหตุผลเพียงพอ และได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของคดี มาตรา 177 ของป. วิอาญาฯ ได้วางหลักไว้ว่า ศาลสามารถสั่งพิจารณาคดีลับได้ก็ต่อเมื่อ “เห็นสมควรโดยพลการหรือโดยคำร้องขอของคู่ความใด แต่ต้องเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน”
 
ทั้งนี้ เมื่อมีการสั่งพิจารณาลับแล้ว บุคคลที่สามารถอยู่ในห้องพิจารณาคดีได้ตามมาตรา 178 ของป. วิอาญาฯ ประกอบไปด้วย
 
(1)   โจทก์และทนาย
(2)   จำเลยและทนาย
(3)   ผู้ควบคุมตัวจำเลย
(4)   พยานและผู้ชำนาญการพิเศษ
(5)   ล่าม
(6)   บุคคลผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจากศาล
(7)   พนักงานศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ศาลแล้วแต่จะเห็นสมควร
 
ข้อยกเว้นที่เขียนไว้ในมาตรา 177 ค่อนข้างกว้างขวาง และให้อำนาจดุลพินิจกับผู้พิพากษาเจ้าของคดีอย่างมากในการสั่ง ที่ผ่านมาศาลก็มักอ้างถึงข้อยกเว้นตามมาตรา 177 ของป.วิอาญาฯ นี้ในการสั่งพิจารณาลับกับคดีการเมืองโดยเฉพาะในการพิจารณาคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ที่ศาลมักอธิบายว่า ข้อความที่ถูกนำมาฟ้องถ้าหากถูกเผยแพร่ออกไปอาจก่อให้เกิดความเสียหาย จึงสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยเฉพาะในช่วงปี 2557-2558 ที่คดีของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหารเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ แม้จำเลยจะไม่ได้ต่อสู้คดีในเนื้อหาของข้อความเลยก็ตาม
 
การสั่งพิจารณาคดีลับตามมาตรา 112 เคยถูกคัดค้านในทางกฎหมายแล้ว ในการพิจารณาคดีมาตรา 112 ของดา ตอร์ปิโด ซึ่งจำเลยยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า การพิจารณาคดีลับขัดกับมาตรา 29 และ 40 (2) ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือไม่ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ยังยืนยันในคำวินิจฉัยที่ 30/2554 ว่ามาตรา 177 ของป. วิอาญาฯ นี้ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญและ “สอดคล้องกับหลักประกันขั้นพื้นฐานที่อารยประเทศพึงให้เป็นสิทธิแก่บุคคลในกระบวนพิจารณาของศาล” 
 
นอกจากนี้ ตามกฎหมายของไทยการพิจารณาคดีอาญาในศาลเยาชนและครอบครัวทุกคดีต้องพิจารณาเป็นการลับตามมาตรา 108 ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เพื่อปกป้องเยาวชนจากผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากการพิจารณาคดี
 
 
สำหรับในข้อตกลงกติการะหว่างประเทศ มาตรา 14 ของ ICCPR และมาตรา 6 ของ EUHR ระบุกรณียกเว้นที่ศาลสามารถสั่งพิจารณาคดีลับได้ไว้ว่า
(1)   ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม
(2)   ความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตย
(3)   เมื่อมีความจำเป็นเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องชีวิตส่วนตัวของคู่กรณี
(4)   เมื่อการพิจารณาคดีโดนเปิดเผยนั้นอาจเป็นการเสื่อมเสียต่อผลประโยชน์แห่งความยุติธรรม
 
อย่างไรก็ดี การสั่งพิจารณาคดีลับจำเป็นต้องมีกลไกที่รับประกันว่าการพิจารณาคดีจะเป็นไปอย่างยุติธรรมเสมอ เช่น การเปิดเผยให้กับกลุ่มบุคคลหรือสื่ออย่างจำกัดแทน นอกจากนี้ ศาลยังจำเป็นต้องเปิดเผยผลการพิจารณาคดี ซึ่งรวมถึงหลักฐานต่างๆ และเหตุผลทางกฎหมายที่ศาลใช้ให้กับสาธารณชนได้รับรู้ เว้นแต่ว่าเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชน หรือเป็นประบวนการพิจารณาเกี่ยวเกี่ยวกับข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็กเท่านั้น
 
ในเอกสารคำอธิบายของ EUHR อย่างละเอียด กล่าวไว้ด้วยว่า การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและการเปิดผลการพิจารณาคดีให้เป็นที่รับรู้นั้นเป็นสองสิทธิที่แยกออกจากกัน ศาลอาจจะเปิดเผยผลการตัดสินในขณะที่สั่งพิจารณาลับแบบไม่ถูกต้องก็ได้ ดังนั้นการเปิดเผยผลการพิจารณาคดีเพียงอย่างเดียวจึงไม่อาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างได้ว่าศาลได้ปฏิบัติตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยแล้ว  
 
ในเอกสารอ้างอิงเรื่องสิทธิขึ้นพื้นฐาน ของคณะทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชนระหว่างการต่อต้านการก่อการร้าย (Working Group on protecting human rights while countering terrorism) ของ UN อธิบายว่า สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยด้วย ข้อจำกัดการพิจารณาคดีที่เปิดเผย เช่น เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ จะต้องเป็นไปโดยจำเป็นและได้สัดส่วน โดยต้องพิจารณาช่างน้ำหนักกันเป็นกรณีๆ ข้อจำกัดใดๆ จะต้องตามมาด้วยกลไกอื่นๆ ที่เพียงพอที่สำหรับการสังเกตการณ์ หรือการตรวจสอบเพื่อรับรองความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี 
 
The right to a fair trial involves the right to a public hearing. Any restrictions on the public nature of a trial, including for the protection of national security, must be both necessary and proportionate, as assessed on a case-by-case basis. Any such restrictions should be accompanied by adequate mechanisms for observation or review to guarantee the fairness of the hearing.
 
 
 
 
 
 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตรา 14 วรรค 1
 
All persons shall be equal before the courts and tribunals. In the determination of any criminal charge against him, or of his rights and obligations in a suit at law, everyone shall be entitled to a fair and public hearing by a competent, independent and impartial tribunal established by law. The press and the public may be excluded from all or part of a trial for reasons of morals, public order (ordre public) or national security in a democratic society, or when the interest of the private lives of the parties so requires, or to the extent strictly necessary in the opinion of the court in special circumstances where publicity would prejudice the interests of justice; but any judgement rendered in a criminal case or in a suit at law shall be made public except where the interest of juvenile persons otherwise requires or the proceedings concern matrimonial disputes or the guardianship of children.
 
บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในการพิจารณาคดีของศาลและคณะตุลาการ ในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด หรือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีอำนาจ มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง สื่อมวลชนหรือสาธารณชนอาจถูกห้ามเข้าฟังการพิจารณาคดีทั้งหมดหรือบางส่วนก็ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตย เมื่อมีความจำเป็นเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องชีวิตส่วนตัวของคู่กรณี หรือในสภาพการณ์พิเศษซึ่งศาลเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อการพิจารณาคดีโดนเปิดเผยนั้นอาจเป็นการเสื่อมเสียต่อผลประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีอื่นต้องเปิดเผย เว้นแต่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชน หรือเป็นประบวนการพิจารณาเกี่ยวด้วยข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็ก