7 ปี แห่งความถดถอย: ส.ว.ของคสช. ขวางการเปลี่ยนแปลง-ถ่วงแก้รัฐธรรมนูญ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ตำแหน่งขณะนั้น) ได้ประกาศยึดอำนาจทำการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะ “คืนอำนาจ” ให้กับประชาชน เพียงแต่ขอเวลาอีกไม่นาน
จนเวลาได้ล่วงเลยมานานกว่า 7 ปี คำสัญญาที่ว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนถูกทดแทนด้วย “รัฐธรรมนูญ ปี 2560” ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่คนของคสช. เป็นคนร่าง และเต็มไปด้วยกลไกสืบทอดอำนาจอย่างเข้มข้นอีกทั้ง หนทางในการจะออกจากวังวนอำนาจของคสช. ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรค ตลอด 7 ปีที่ผ่านจึงเป็น 7 ปี ที่คสช. พยายามรักษาฐานอำนาจผ่านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ยอมให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง
7 ปี แห่งความหลัง: เส้นทางรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนไม่เคยได้ร่าง
หลังเข้าสู่อำนาจ แผนแม่บทที่คสช. วางเอาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนจะไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่จะมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฯ) ซึ่งประกอบไปด้วย บุคคลที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอชื่อจำนวน 20 คน บุคคลที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอชื่อจำนวน 5 คน บุคคลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอชื่อจำนวน 5 คน และบุคคลที่คสช. เสนอชื่ออีกจำนวน 5 คน และให้คสช. เป็นคนเลือกประธานอีก 1 คน รวมเป็น 36 คน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าที่มาของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฯ จะดูมีความหลากหลาย แต่จากองค์กรที่ทำหน้าที่เสนอชื่อก็ล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. และผู้ที่ คสช. แต่งตั้งให้เป็นประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ ก็คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น รองประธาน สปช.
ต่อมาในปี 2558 หลังจาก ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ หากผ่านความเห็นชอบแล้วถึงให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แต่ถ้าไม่เห็นชอบให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมา ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีกระแสข่าวว่า คสช. ต้องการจะคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
ต่อมาในวันที่ 6 กันยายน 2558 ข่าวลือเรื่องคสช. ต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นจริง เมื่อสมาชิกสปช.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. ได้มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์จึงเป็นผลให้ต้องมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งหลักจากนั้น ศ.ดร.บวรศักดิ์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงเหตุผลที่ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำว่า เป็นเพราะ “เขาอยากอยู่ยาว”
หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ถูกคว่ำไป คสช. ได้แต่งตั้งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมา ชื่อ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ กรธ. ซึ่งผู้ที่รับตำแหน่งประธานในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ผู้ที่เคยมีประวัติในการร่างรัฐธรรมนูญให้กับคณะรัฐประหารมาแล้วถึง 2 ครั้ง และเมื่อมีชัย และคณะได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ถูกนำมาจัดออกเสียงประชามติในปี 2559
อย่างไรก็ดี การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย นับว่าเป็นการออกเสียงประชามติภายใต้บรรยากาศที่ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างจำกัด เนื่องจากยังมีบรรดาคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ห้ามการรวมกลุ่มหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และมีประกาศคสช. ที่กำกับและควบคุมสื่อในการนำเสนอข่าว รวมไปถึง สนช. สภาแต่งตั้งของคสช. ก็ได้ออกกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชาติ ที่กลายมาเป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่พยายามออกมารณรงค์และเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย
แต่ในท้ายที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็ได้ผ่านเสียงเห็นชอบของประชาชนที่มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยเหตุผลของคนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นเพราะว่า ทุกคนอยากเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ยังต้องทนอยู่กับคสช. ต่อไป เพื่อให้คสช. ตั้งคนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ไม่รู้จบ
แก้รัฐธรรมนูญใหม่ไปไม่ได้ เพราะ ส.ว. และ ส.ส.รัฐบาล ยืนขวาง
หลังการเลือกตั้งในปี 2562 มีพรรคการเมืองในสภาอย่างน้อย 8 พรรค ที่ประกาศว่าจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ แต่หลังจากเปิดประชุมสภามากว่า 2 ปี กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญยังกลับอยู่ที่จุดเริ่มต้นเหมือนเดิม เนื่องจากกติกาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้เสียงของ ส.ว. ของคสช. เป็นหนึ่งในจุดชี้เป็นชี้ตาย เพราะต้องได้เสียงเห็นชอบของ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ร่างรัฐธรรมนูญจึงจะผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา จึงทำให้ ส.ว. กลายเป็นผู้คุมเกมส์การแก้รัฐธรรมนูญ อีกทั้ง บรรดา ส.ว. และ ส.ส.พลังประชารัฐ ยังผนึกกำลังกันเพื่อยื้อและขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกด้วย ซึ่งวิธีการที่ ส.ว. และ ส.ว. ใช้เพื่อขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ พอจะสรุปได้ได้ดังนี้
1) ส.ส. และ ส.ว. เสนอตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญฯ ยื้อเวลาถึง 2 ครั้ง
แม้ว่าในวันที่ 25 และ 26 กรกฎาคม 2562 รัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า ได้บรรจุเรื่อง การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน แต่ทว่า กว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหว
จนกระทั่งในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ) ขึ้นมา แต่ กมธ.ชุดดังกล่าวก็ไม่นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นเพื่อการยื้อเวลาการแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น
ส่วนความพยายามยื้อแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 และ 24 กันยายน 2563 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาได้มีนัดพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ฉบับ เป็นร่างของรัฐบาล 1 ฉบับ และของพรรคฝ่ายค้าน 5 ฉบับ แต่ผลการพิจารณาครั้งดังกล่าวต้องถูกเลื่อนออกไป เนื่องจาก พรรคพลังประชารัฐได้เสนอให้รัฐสภาลงมติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 121 วรรคสามเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 30 วัน ก่อนจะมีการลงมติรับหลักการ
การเสนอญัตติของพรรคพลังประชารัฐ นับว่าเป็นความพยายามครั้งที่สองของการยื้อการแก้รัฐธรรมนูญออกไป ทั้งนี้ มีข้อสังเกตด้วยว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการเลื่อนเวลาออกไป และการที่ญัตตินี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก็เป็นเพราะมีการผนึกเสียงกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.ของคสช.  
2) ส.ว.ของคสช. ปัดตกข้อเสนอรื้อกลไกสืบทอดอำนาจคสช.
ในวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีนัดพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ฉบับ โดยในจำนวนนี้มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 5 ฉบับ ที่เป็นความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบ "รายมาตรา" (เว้นแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่มีทั้งข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราและแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปพร้อมกัน)
โดยข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นข้อเสนอเพื่อการรื้อถอนบรรดากลไกการสืบทอดอำนาจของคสช. ยกตัวอย่างเช่น การยกเลิกพิเศษของ ส.ว.ของคสช. เช่น อำนาจในการเลือกนายกฯ และอำนาจในการเร่งรัดตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปที่คสช. เป็นคนกำหนด และให้ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก ยกเลิกการรับรองอำนาจของคณะรัฐประหารและการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร เป็นต้น
แต่ทว่า ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 มีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ผลปรากฏว่า มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 2 ฉบับ ที่ผ่านการเห็นชอบในวาระแรกของรัฐสภา นั้นคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน และ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรครัฐบาล ซึ่งเป็นข้อเสนอให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ข้อเสนอเพื่อการรื้อถอนบรรดากลไกการสืบทอดอำนาจของคสช. กลับไม่ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และยิ่งไปกว่านั้น เสียงเห็นชอบของบรรดา ส.ว. ก็ยังไม่ถึง 1 ใน 3 ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวเป็นอันต้องตกไป
ทั้งนี้ ผลการลงมติดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า ที่บรรดา ส.ว. ต่างออกมาให้ความเห็นว่า ยินดีที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา โดยเฉพาะการจำกัดอำนาจในการร่วมเลือกนายกฯ นั้นไม่เป็นความจริง แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. มากที่สุด แต่ข้อเสนอตัดอำนาจ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ก็ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่ถึง 1 ใน 3 ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่อตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนด ดังนั้น จึงไม่สามารถหวังพึ่งให้ ส.ว. จำกัดอำนาจ หรือ ยกเลิกกลไกสืบทอดอำนาจของคสช. ด้วยตัวเองได้
3) ส.ว. ของคสช. จับมือ ส.ส.พลังประชารัฐ เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง สสร.
ในวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….  ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ) ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว
โดยสาระสำคัญประการหนึ่งในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในวาระสอง คือ การแก้ไขเพิ่มหมวด 15/1 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กับ ขอบเขตในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไข หมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ ในการอภิปรายเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวาระสองแก้ไขรายมาตรา มีการอภิปรายเพื่อเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง สสร. โดย ตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ. ได้บัญญัติให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 200 คน และให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ภายหลังการอภิปราย รัฐสภาได้มีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขให้ใช้ระบบเลือกตั้ง แบบ"หนึ่งเขตหนึ่งคน" คล้ายกับระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต
โดยผู้ที่เสนอให้แก้ไขมาตราดังกล่าว คือ วิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะกมธ. เสียงข้างน้อย ที่กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งจะทำให้ประชาชนในแต่ละจังหวัดมีผู้แทนได้ไม่เท่ากัน ควรใช้การแบ่งเขตเพื่อให้ทุกเขตมีผู้แทนได้ 1 คน อย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้ง ระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะทำให้ตัว สสร. มีความเป็นตัวแทนในเชิงพื้นที่และสามารถติดต่อกับประชาชนเพื่อนำความเห็นมาเขียนรัฐธรรมนูญได้ ยิ่งเขตเลือกก็จะยิ่งทำให้เข้าถึงประชาชนได้ดีกว่า
ในขณะที่ฝ่ายที่คัดค้านข้อเสนอดังกล่าว ก็อย่างเช่น 'ธีรัจชัย พันธุมาศ' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนสนับสนุนระบบเลือกตั้งแบบประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งก็พอรับได้ และไม่เห็นควรให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเล็กๆ เพราะ สสร. ต้องเป็นตัวแทนในเชิงประเด็นมากกว่าเชิงพื้นที่ และหากกลับไปใช้แบ่งเขตเลือกตั้ง อาจนำไปสู่การซื้อเสียงเพื่อกำหนดกติกาประเทศ และการออกแบบให้เขตเล็ก จะทำให้กลุ่มการเมืองเดิมๆ กำหนดคนมาเป็นร่างทรง ส.ส.ร.
แต่ในท้ายที่สุด เสียงข้างมากของรัฐสภาก็โหวตเห็นชอบกับ กมธ.เสียงข้างน้อย อย่าง วิเชียร ชวลิต จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเกมส์ของพรรคพลังประชารัฐในการจับมือกับ ส.ว. เพื่อแก้ระบบเลือกตั้ง สสร. ใหม่ ให้พรรครัฐบาลเป็นฝ่ายได้เปรียบที่สุด
4) ส.ว.ของคสช. จับมือ ส.ส.พลังประชารัฐ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญคว่ำแก้รัฐธรรมนูญ
จุดเริ่มต้นของกระบวนการคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญ คือ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อไพบูลย์ นิติตะวันและสมชาย แสวงการ ได้ยื่นเสนอญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขอให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลของการลงมติญัตติดังกล่าว คือ มีเสียงเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 366 ต่อ 316 เสียง ซึ่งเสียงเห็นชอบกว่า 366 เสียง ประกอบไปด้วย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรคเล็กอื่นๆ และ ส.ว.ของคสช.
ต่อมา ในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า "รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง"
จากคำวินิจฉัยของศาลทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันออกไปอย่างน้อย 3 แนวทาง โดยสองแนวทางแรกเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหมายถึง รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้กลับไปทำประชามติก่อน แต่ในขณะที่กลุ่มหลังสุดมองว่า คำวินิจฉัยไม่ได้ระบุว่า ช่วงเวลาที่ต้องทำประชามติ ซึ่งถ้ารัฐสภาผ่านรัฐธรรมนูญวาระสามยังไงก็ต้องทำประชามติก็จะไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ในท้ายที่สุด รัฐสภาก็มีมติเดินหน้าลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญในวาระสาม แต่ทว่า ผลการลงมติ มีคะแนนเสียง "เห็นชอบ" เพียง 208 เสียงไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 94 รวมถึงมีผู้ที่มาร่วมประชุมแต่ไม่ประสงค์ลงคะแนนอีก 136 เสียง และเมื่อคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ จึงเป็นผลให้ร่างแก้รัฐธรรมนูญถูกตีตกไป ซึ่งผลการลงมติดังกล่าวล้วนเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้ ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ว. อ้างเหตุเพื่อคว่ำรัฐธรรมนูญ
1 ส.ส. และ 1 ส.ว. “สองดารานำ” ในละครตบตาแก้รัฐธรรมนูญ
 หลังการปิดฉากลงของกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ใช้ระยะเวลามานานร่วม 2 ปี มีบุคคลอย่างน้อย 2 คนที่ต้องกล่าวถึงในฐานะ "ดารานำ" ในละครตบตาแก้รัฐธรรมนูญ นั้นก็คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ กับ สมชาย แสวงการ ส.ว. โดยพวกเขาทั้งสองต่างทำงานสอดประสาน รับลูกซึ่งกันและกัน เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญต้องถูกยื้อออกไป รวมถึงการจับมือกันเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญเตรียมปิดฉากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา
โดยภารกิจแรกของทั้งสองคน เริ่มจาก ในวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ประชุมรัฐสภามีนัดพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการอภิปรายกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะการปะทะคารมกันระหว่าง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และ ส.ว. จนทำให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณ "นั่งคุยกัน" เริ่มจาก ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่อภิปรายให้ทุกฝ่ายค่อยๆ คุยกัน และสบช่องให้ สมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายโดยเสนอให้ชะลอโหวต และไปตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนก็ได้
หลังการโยนลูกของ ส.ว. สมชาย แสวงการ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ได้ส่งสัญญาณให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาญัตติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่างว่าจะรับหรือไม่รับ แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย และต้องการลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญให้รู้ผล แต่ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาลก็เห็นว่า ต้องตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ขึ้นมาก่อน เพื่อให้มีพื้นที่คุยกัน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้ไม่ต้องตรงไป เพราะต้องใช้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.
จนในท้ายที่สุด ดารานำอย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอที่ประชุมให้ตั้งคณะ กมธ.ขึ้นมาพิจารณาศึกษาญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 121 วรรค 3 และเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภาก็เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ก่อน จึงเป็นผลให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องถูกเลื่อนออกไปอีก 30 วัน
สำหรับภารกิจที่สองที่ทั้งสองคนร่วมมือกันก็คือ การยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาดอำนาจรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 สมชาย แสวงการ และ ไพบูลย์ นิติตะวัน รวมถึงพลพรรค ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ว. ได้ยื่นญัตติต่อที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ให้แก้ไขได้เป็นรายมาตรา
ญัตติดังกล่าวของไพบูลย์ นิติตะวัน และสมชาย แสวงการ ทำให้เกิดการอภิปรายในสภาอย่างดุเดือดว่า เป็น"เจตนาแอบแฝง" "เตะถ่วง" "ยื้อเวลา" "เปิดโอกาสให้องค์กรอื่นขัดขวางการแก้ปัญหาของประเทศ" แต่ในท้ายที่สุด รัฐสภามีมติ 366 ต่อ 316 เสียง เห็นชอบกับญัตติดังกล่าว ทำให้ต้องส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป
ต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย โดยสรุปว่า รัฐสภาสามารถแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติเสียก่อน ทำให้ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญในวาระสาม ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 ต้องเจอกับความโกลาหล เมื่อต่างฝ่ายต่ายตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแตกต่างกันออกไป โดยมีทั้งฝ่ายที่ยืนยันว่า รัฐสภาสามารถพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญต่อไปได้ กับ ฝ่ายที่บอกว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจพิจารณาจนกว่าจะมีการออกเสียงประชามติเสียก่อน เนื่องจาก ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นการเสนอแก้ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง
ท่ามกลางความชุลมุนว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจะเดินหน้าไปอย่างไร ดารานำอย่าง 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ก็ตัดสินใจหักดิบ เสนอ "ญัตติซ้อนญัตติ" โดยขอให้พิจารณาดำเนินการตามระเบียบวาระ "เรื่องด่วน" หรือหมายถึงการเดินหน้าลงมติในวาระที่สาม และทำให้พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคภูมิใจไทย "วอล์กเอ้าท์" ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคิดว่า นี่คือเกมส์คว่ำรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก ส.ส. พลังประชารัฐ และ ส.ว. ต้องการโหวตคว่ำโดยใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเหตุผล
จนในท้ายที่สุด ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เดินทางมาถึงวาระสามก็ต้องสิ้นสุดลง ด้วยเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และนับว่าเป็นการปิดฉากของละครตบตาแก้รัฐธรรมนูญภาคแรก ด้วยนักแสดงนำอย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน และ สมชาย แสวงการ