7 ปี แห่งความถดถอย : ประยุทธ์ปัดตกร่างกฎหมายถ่วงความก้าวหน้าและคุณภาพชีวิตประชาชน

วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 จะเป็นวันครบรอบ 7 ปี การทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บังคับบัญชากองทัพบก และนับเป็นปีที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการกลับมาดำรงตำหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ด้วยเสียงเห็นชอบอย่างถล่มทลายของสมาชิกวุฒิสภาที่ คสช.เป็นคนเลือกเข้ามา
อย่างไรก็ดี หลัง พล.อ.ประยุทธ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจในการไม่ให้คำรับรองกฎหมาย หรือ อำนาจในการปัดตกกฎหมายเพิ่มมากขึ้น โดยอำนาจดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 133 ที่กำหนดให้ ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงิน เช่น กฎหมายที่มีการต้องจัดสรรงบประมาณจำเป็นจะต้องได้คำรับรองจากนายกฯ เสียก่อน และด้วยเหตุนี้ทำให้ตำแหน่งนายกฯ กลายเป็นประตูด่านแรกของกฎหมายสำคัญๆ ก่อนจะไปถึงรัฐสภา
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ปัดตกกฎหมายไปอย่างน้อย 21 ฉบับ และพบว่าในจำนวนดังกล่าวเป็น ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตประชาชน อย่างน้อย 11 ฉบับ และที่เกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อย่างน้อย 4 ฉบับ ซึ่งบางกฎหมายเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาที่เรื้อรังในสังคมไทย เช่น กฎหมายแก้ปัญหาการบังคับเกณฑ์ทหาร กฎหมายเกี่ยวกับบำนาญแห่งชาติ เป็นต้น
ปัดตกกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตประชาชน อย่างน้อย 11 ฉบับ
ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี มีร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงินที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ ต้องให้คำรับรอง อย่างน้อย 54 ฉบับ แบ่งเป็น ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อย่างน้อย 43 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 11 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้มีร่างกฎหมายที่นายกฯ ไม่ให้คำรับรอง หรือ ปัดตก อย่างน้อย 21 ฉบับ
โดยในร่างกฎหมายที่ถูกนายกฯ ปัดตกไปกว่า 21 ฉบับ พบว่า เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างน้อย 11 ฉบับ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มของกฎหมายดังกล่าวได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มร่างกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุ 5 ฉบับ กลุ่มร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ กลุ่มร่างกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการการศึกษา 2 ฉบับ กลุ่มร่างกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการแรงงาน 2 ฉบับ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๐ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุ 5 ฉบับ
ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีกลุ่มภาคประชาชนและพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายจัดสวัสดิการให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยให้กลุ่มผู้ที่เข้าสู่วัยเกษียณ (อายุ 60 ปี ขึ้นไป) ยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีทั้งการเพิ่ม “เบี้ยผู้สูงอายุ” ให้เฉพาะกลุ่มที่ไม่มีสวัสดิการรองรับ และข้อเสนอให้จัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าให้ผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า “บำนาญแห่งชาติ” ซึ่งในท้ายที่สุดแนวคิดดังกล่าวก็ถูกนำมาแปลงเป็นร่างกฎหมายและถูกยื่นต่อรัฐสภาอย่างน้อย 5 ฉบับ ได้แก่
1)      ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. เสนอโดย นิมิตร์ เทียนอุดม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 13,264 คน
2)      ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกล
3)      ร่าง พ.ร.บ.เงินบำนาญประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย
4)      ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส. พรรคประชาชาติ
5)      ร่าง พ.ร.บ.บำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส. พรรคไทรักธรรม
โดยในร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ มีสาระสำคัญที่คล้ายกัน คือ ให้ประชาชนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป มีสิทธิได้รับ “เงินบำนาญ” แบบถ้วนหน้า เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือประมาณ 3,000 บาท ต่อเดือน โดยเงินบำนาญดังกล่าวให้มาจากงบประมาณที่รัฐบาลเป็นผู้จัดสรรหรือเงินงบประมาณรายจ่ายให้รวมถึงรายได้จากการบริจาคหรือผลตอบแทนที่กองทุนได้รับ ทั้งนี้ ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาชนมาทำหน้าที่บริหารจัดการเงินกองทุน
๐ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการแรงงาน 2 ฉบับ ได้แก่
1)      ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส. พรรคอนาคตใหม่
2)      ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกล
โดยร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดย ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ (ก่อนยุบพรรค) มีสาระสำคัญคือ
หนึ่ง แก้ไขเรื่องเวลาทำงาน จากเดิมที่กำหนดให้ทำงานสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมง และ 42 ชั่วโมงสำหรับงานที่อันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ก็ลดเหลือสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 40 ชั่วโมง และถ้าเป็นงานที่อันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง และต้องให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 2 วัน จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 1 วัน
สอง แก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดหรือเลี้ยงดูบุตร รวมกันไม่เกิน 180 วันต่อบุตรหนึ่งคน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน และกำหนดให้มารดาของบุตรสามารถมอบสิทธิลาเลี้ยงดูบุตรส่วนของตนให้บิดาตามกฎหมายของบุตรหรือคู่สมรสตามกฎหมายของตนได้ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งในกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ กำหนดให้เฉพาะหญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 98 วัน และวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรก็รวมอยู่ในการลาคลอดด้วย
ส่วนร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานอีกฉบับที่เสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกลนั้น มีสาระสำคัญ คือ แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 4 เพียงมาตราเดียว เพื่อให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานมีผลใช้บังคับกับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งหมายความว่า ลูกจ้างของหน่วยงานประเภทดังกล่าวข้างต้น ก็จะได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย
๐ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ
ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่า PM 2.5 นับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยที่เกิดติดต่อกันมาแล้วหลายปีและเกิดขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทย จนกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่พรรคการเมืองนำมาใช้รณรงค์หาเสียง และในท้ายที่สุดก็มีการเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาทั้งจากพรรคการเมืองและภาคประชาชน ได้แก่
1)      ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ที่เสนอโดย กลินท์ สารสิน และประชาชนผู้มีเลือกตั้งจำนวน 12,000 คน
2)      ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส. พรรคภูมิใจไทย
สำหรับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับมีสาระสำคัญเหมือนกัน รับรองสิทธิในการได้รับอากาศสะอาดของบุคคล สิทธิทางศาลในการฟ้องร้องต่อผู้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และกำหนดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่ออากาศสะอาด กำหนดหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดระบบบริหารเพื่อให้เกิดอากาศสะอาด ผ่านการจัดนโยบายระดับชาติ การสั่งการหน่วยงานรัฐ การจัดสรรงบประมาณ กำหนดให้รัฐต้องพัฒนาระบบติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และเตือนภัยแก่ประชาชนเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
๐ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการการศึกษา 2 ฉบับ ได้แก่
สำหรับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยมีการแก้ไขในจุดที่เป็นสาระสำคัญเหมือนกัน เช่น กรณีที่ผู้ศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้รับผลการศึกษาระดับเกียรตินิยม ให้แปลงหนี้กู้ยืมเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษา และไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืม กรณีที่ผู้ศึกษาในระดับอุดมศึกษาและจบการศึกษาจากคณะหรือสาขา ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ให้แปลงหนี้กู้ยืมเป็นเงินทุน และผู้กู้ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ ซึ่งหมายความว่าหากคณะหรือสาขาใดที่ขาดแคลน หรือต้องการให้มีผู้ศึกษาในสาขานั้นเพิ่มมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการก็สามารถออกประกาศกำหนดได้ว่าคณะหรือสาขาใดบ้างที่ผู้กู้ยืมซึ่งศึกษาในคณะหรือสาขาดังกล่าวไม่ต้องชำระหนี้
พล.อ.ประยุทธ์ ปัดตกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 4 ฉบับ
จากจำนวนร่างกฎหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปัดตกไปกว่า 21 ฉบับ พบว่า เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 4 ฉบับ กล่าวคือ เป็นร่างกฎหมายที่ส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สิทธิในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และสิทธิในการออกเสียงประชามติ รวมถึงสิทธิของพลเมือง
โดยรายละเอียดของร่างกฎหมายที่ถูกนายกฯ ปัดตก มีดังนี้
1) ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. …. เสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกล
ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร ฉบับพรรคก้าวไกล หรือ ที่นิยมเรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร มีสาระสำคัญ คือ การยกเลิกระบบ “บังคับเกณฑ์ทหาร” จากเดิมที่กำหนดให้ชายไทยที่อายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไปต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการหรือทหารเกณฑ์ ก็เปลี่ยนเป็น “ระบบสมัครใจ” เพื่อให้คนที่มีความพร้อมสามารถเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์
นอกจากนี้ ผู้ที่เข้ามาเป็นทหารจะได้รับการคุ้มครองจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่น การนำพลทหารไปใช้กิจส่วนตัว หรือการฝึกที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้ง ยังยกระดับสวัสดิการของทหารเกณฑ์ เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และสามารถสอบเลื่อนขั้นเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ หรือถ้าปลดประจำการก็จะมีทุนการศึกษา ทุนประกอบอาชีพให้
สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ยังสร้างภาระและความยุ่งยากให้กับประชาชน เพราะการเข้าชื่อเสนอกฎหมายยังต้องทำผ่านการลงลายมือชื่อบน "กระดาษ" ตามแบบฟอร์มที่รัฐกำหนดพร้อมกับต้องแนบหลักฐานยืนยันตัวบุคคล อาทิ สำเนาบัตรประชาชนพร้อมลายมือชื่อประกอบ ซึ่งค่อนข้างเป็นภาระและสิ้นเปลืองในยุคสมัยที่ประชาชนสามารถทำธุรกรรมบนระบบอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ดังนั้น ในร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ของพรรคก้าวไกล จึงเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ พร้อมทั้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของประชาชน
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นับว่าเป็นกฎหมายสำคัญทั้งกับพรรคฝ่ายค้านที่ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ กับฝ่ายรัฐบาล คสช. ที่ไม่ต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญของตัวเอง ดังนั้นการปัดตกร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ของพรรคฝ่ายค้านจึงเหมือนการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
โดยสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่พรรคเพื่อไทย เสนอ คือ การจัดออกเสียงประชามติสามารถทำได้อย่างน้อย 4 กรณี คือ กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร กรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดให้ต้องทำประชามติ กรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และกรณีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง ในการออกเสียงประชามติให้ใช้เกณฑ์ ว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอ เป็นการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่ถูกยกร่างขึ้นมาใหม่ภายใต้ยุค คสช. โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ คือ การปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งสภาเขต (ส.ข.) เหมือนเดิม จากเดิมที่กฎหมาย ปี 2562 กำหนดว่า ยังไม่ให้เลือกตั้ง ส.ข. จนกว่าจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งสภาเขต และวาระการดำรงตำแหน่ง ค่าตอบแทน และอำนาจหน้าที่
"ปัดตกของคนอื่นแล้วเสนอเอง" กลโกงในการออกกฎหมายของ “พล.อ.ประยุทธ์”
นับตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ในปี 2562 อำนาจในการไม่ให้คำรองร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของนายกฯ หรือ รัฐบาล ในการสกัดกฎหมาย โดยเฉพาะจากฝ่ายค้าน เนื่องจากในร่างกฎหมายที่นายกฯ ปัดตกไปกว่า 21 ฉบับ เป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน 15 ฉบับ และในขณะเดียวกันยังพบอีกว่า หลังจากนายกฯ ปัดตกร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาลก็ทำการเสนอกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งมีหลักการใกล้เคียงกับร่างกฎหมายที่ปัดตกไปของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้
1) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้คำรับรองร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ของพรรคฝ่ายค้าน ครม. ก็กลับเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ฉบับใหม่ แต่มีสาระสำคัญที่ต่างจากร่างของพรรคฝ่ายค้าน คือ กำหนดให้การทำประชามติทำได้แค่ 2 กรณี คือ กรณี ครม. เห็นสมควร กับ กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้เกณฑ์การออกเสียงประชามติต้องใช้ “เสียงข้างมากสองชั้น” คือ “ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง” และ “ต้องมีจำนวนเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง” ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยากกว่าเกณฑ์ที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ
อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ ครม. เสนอ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาวาระสอง และยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ เนื่องจากมีการเลื่อนพิจารณาถึงสองครั้ง และคาดว่าน่าจะได้พิจารณาต่อครั้งที่สาม ในการประชุมรัฐสภาช่วงเดือนพฤษภาคม 2564
2) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกล แต่หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้คำรับรองกฎหมายดังกล่าว ครม. ก็มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ของตัวเอง ซึ่งแม้ว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายจะมีใกล้เคียงกัน แต่ในรายละเอียดก็มีความแตกต่าง เช่น เพิ่มอำนาจนายกฯ ในการปัดตกกฎหมาย ในกรณีที่นายกฯ ไม่ให้คำรับรองร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินภายใน 90 วัน หรือ การที่ไม่กำหนดความชัดเจนของการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และในท้ายที่สุด ร่างเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับ ครม. ก็ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ในวันที่ 18 มีนาคม 2564
3) ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ถูกเสนอโดยพรรคอนาคตใหม่ โดยมีสาระสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานของตำรวจใหม่ เช่น ให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ใหม่ โดย ก.ตร. บางส่วนจะมาจากผู้สมัครที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือก บางส่วนมาจากการเลือกตั้งโดยตำรวจ และกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนมีส่วนร่วม ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย งบประมาณ และอาสาสมัคร ตลอดจนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตำรวจ แต่ทว่า หลังจากนายกฯ ปัดตกกฎหมายดังกล่าว ครม. ก็กลับเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่ ของตัวเอง