เลือกตั้งท้องถิ่น: ข้อจำกัดหาเสียงหยุมหยิมทำบรรยากาศเลือกตั้งเงียบเหงา

20 ธันวาคม 2563 ถูกกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศ นับเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบกว่า 6 ปีนับตั้งแต่ คสช. รัฐประหารเมื่อปี 2557 การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนต่อท้องถิ่น เนื่องจากห่างหายจากบรรยากาศการเลือกตั้งท้องถิ่นไปนาน อีกทั้งในครั้งนี้จะมีคนรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 18-26 ปี ที่ยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งมาร่วมโหวตเป็นครั้งแรกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าบรรยากาศการหาเสียงของผู้สมัคร อบจ. ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศกลับไม่คึกคักเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการออกกฎหมาย ระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆ จำนวนมากเพื่อนำมาใช้ในการควบคุมหรือจำกัดการหาเสียง จนทำให้ผู้สมัครไม่กล้าขยับตัวมาก เพราะกลัวจะทำผิดกติกาแล้วถูกตัดสิทธิหรือปรับแพ้ฟาวล์

ข้อจำกัดในการหาเสียง เลือกตั้ง อบจ.: ภาระต่อผู้สมัคร ประชาชนถูกปิดกั้นโอกาส

ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มีอย่างน้อย 11 มาตรา และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 อย่างน้อยอีก 15 ข้อ ที่กำหนดวิธีและข้อจำกัดการหาเสียงเลือกตั้งของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ส.อบจ. และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายก อบจ.

ยังไม่รวมถึงกรณีที่ไม่ได้เป็นข้อห้ามในทางลายลักษณ์อักษร แต่มีความคลุมเครือ เนื่องจาก กกต. เอง ก็ไม่มีความชัดเจนว่า การกระทำแบบใดที่ทำได้หรือว่าห้ามกระทำ และความไม่ชัดเจนนี้เองที่ทำให้ตัวผู้สมัครเกิดความไม่มั่นใจในการเลือกใช้วิธีหาเสียง

๐ ภรรยาเป็นข้าราชการช่วยหาเสียงเสี่ยงผิดกฎหมาย

ไม่ใช่ใครก็ได้จะสามารถช่วยผู้สมัครหาเสียงได้ ตามระเบียบฯ ข้อ 15 ผู้สมัครจะต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียงต่อ กกต.จังหวัด ยกเว้นว่าเป็นคนในครอบครัว อันได้แก่ สามี ภริยา หรือบุตร ดังนั้น เมื่อเป็นบุคคลในครอบครัวก็ไม่ต้องแจ้งต่อ กกต.จังหวัด

อย่างไรก็ตาม มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ กำหนดห้ามไม่ให้ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร

ด้วยเหตุนี้ ผู้สมัครรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาต้องการให้ภรรยามาเป็นผู้ช่วยหาเสียง แต่ภรรยามีอาชีพเป็นข้าราชการจึงเกิดความกังวลว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดปัญหาผู้สมัครรายนี้จึงไม่ได้ให้ภรรยามาเป็นผู้ช่วยหาเสียง

๐ ถวายผ้าไตรงานศพไม่ชัดว่าเป็นการให้ที่ผิดกฎหมายหรือไม่

พื้นที่วัดไม่ว่าจะงานบุญหรืองานศพต่างก็เป็นพื้นที่พบปะกันของผู้คนในชุมนุม โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท การไปหาเสียงหรือแนะนำตัวในงานประเภทนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้สมัครนิยมทำ เพราะเป็นพื้นที่ที่จะได้พบเจอคนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามการไปทำบุญที่วัดหรือการใส่ซองทำบุญหรือให้สิ่งของประโยชน์แก่วัดถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาตรา 65 (2) ห้ามไม่ให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการ “ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัดหรือศาสนสถานอื่น..” โดยกฎหมายกำหนดโทษ ไว้ในมาตรา 126 ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 20 ปี

อย่างไรก็ตาม มีหลายกรณีที่ผู้สมัครไปร่วมงานศพ และได้ถวายผ้าไตร ซึ่งอาจถูกตีความว่าผิดกฎหมายเลือกตั้งเนื่องจากเป็นการให้สิ่งของแก่วัด ผู้สมัครรายหนึ่งจึงได้สอบถามไปที่ กกต.จังหวัด ว่าเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ โดยทาง กกต.จังหวัด ตอบว่า การถวายผ้าไตรนั้นเป็นสิ่งไม่ควรทำ และได้ตักเตือนไปยังผู้สมัครคนดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ย้ำชัดว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่

๐ การติดป้ายหาเสียงมีความคลุมเครือระหว่าง กกต.ส่วนกลาง และ กกต.จังหวัด

ในการเลือกตั้ง อบจ. กฎหมายจะกำหนดขนาดของป้ายหาเสียง จำนวนแผ่นป้าย และสถานที่ในการติดป้าย โดยระเบียบฯ ข้อ 20 กำหนดว่า  การปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครสามารถกระทำได้เฉพาะสถานที่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศกำหนด ถ้าหากไปติดในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจรื้อถอน หรือทำลายป้ายหาเสียงของผู้สมัครได้กล่าวคือ การติดป้ายและโปสเตอร์ต่างๆ ของผู้สมัครเป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เป็นผู้กำหนดว่าจะติดตรงไหนได้บ้าง

การติดโปสเตอร์หาเสียงในบางพื้นที่ พบปัญหาว่ามีจำนวนสถานที่ติดโปสเตอร์น้อยเกินไป เช่น เทศบาลแห่งหนึ่งให้จุดติดโปสเตอร์เพียง 2 แห่ง เมื่อผู้สมัครสอบถามไปยังเทศบาลว่า สามารถติดพื้นที่อื่นเพิ่มเติมได้หรือไม่ เทศบาลตอบว่าอย่าติด เพราะอาจผิดระเบียบ กกต. หรือเมื่อสอบถามไปยัง กกต.จังหวัด ว่าสามารถนำไปติดที่ร้านค้าหรือที่อื่นๆ ที่ได้รับความยินยอมแล้วได้หรือไม่ กกต. จังหวัด ตอบกลับมาว่า ลองดู ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่

อีกกรณีหนึ่งคือ การทำป้ายไวนิลแนวนอนที่มีขนาดเท่าป้ายหาเสียงแนวตั้งตามที่ กกต. กำหนด ผู้สมัครคนหนึ่งสอบถามไปยัง กกต.จังหวัด ว่าทำได้หรือไม่ กกต.จังหวัดตอบกลับมาว่า ไม่สามารถทำได้เพราะไม่ได้ระบุในกฎหมายและระเบียบ แต่เมื่อผู้สมัครโทร.ไปถาม กกต.ส่วนกลาง กลับบอกว่าทำได้ เพราะหลักการของการติดป้ายคือ การควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินตามที่กฎหมายกำหนด และไม่เป็นการรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป

๐ การแจ้งพาหนะทำเสียเวลา

การห้ามใช้ยานพาหนะในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่มิได้แจ้งรายละเอียดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบตามระเบียบฯ ข้อ 23 ก็นับเป็นการสร้างภาระให้กับผู้สมัครโดยไม่จำเป็น เช่น หากรถผู้สมัครเสีย หรือมีเหตุจำเป็นต้องเปลี่ยนรถ แต่พื้นที่อยู่ไกลจากที่ตั้งสำนักงาน กกต. จังหวัด ย่อมทำให้ผู้สมัครต้องเสียเวลาในการหาเสียงโดยไม่จำเป็น

๐ กฎที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของออนไลน์

การหาเสียงออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักที่ผู้สมัคร อบจ. ส่วนใหญ่ต่างก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นช่องทางที่ลงทุนต่ำแต่มีโอกาสเข้าถึงคนได้มาก อย่างไรก็ตาม เรื่องวิธีการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์  ระบุไว้ในระเบียบฯ ข้อ 9 กำหนดให้ผู้สมัครที่หาเสียงผ่านทางช่องทางออนไลน์ จะต้องระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตสื่อนั้นทุกชิ้น

ผู้สมัครหลายคนที่ใช้ช่องทางนี้เป็นหลักต่างก็เห็นว่าเป็นสร้างภาระโดยไม่จำเป็นและยังไม่เห็นประโยชน์ของการกระทำดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้สนับสนุนผู้สมัครหลายคน ก็ไม่กล้าออกตัวสนับสนุนอย่างออกหน้า เพราะเกรงว่าการโพสต์หาเสียงที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบของ กกต. จะส่งผลให้ผู้สมัครที่ตนสนับสนุนแพ้ฟาวล์ได้

จะเห็นได้ว่า ข้อห้ามเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ นอกจากจะสร้างภาระที่ไม่จำเป็นและความหวาดระแวงว่าจะทำผิดกฎกติกาต่อตัวผู้สมัครเองแล้ว ยังสร้างแรงจูงใจให้ผู้สมัครคอยจับผิดคู่แข่ง ซึ่งประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการจำกัดหรือควบคุมวิธีการหาเสียง ซ้ำยังเป็นการปิดกั้นโอกาสสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนกับผู้สมัครอีกด้วยเพราะในหลายพื้นที่ที่มีจำนวนผู้สมัครหลายคน การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้จักผู้สมัคร โดยเฉพาะนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญมาก เพราะยิ่งประชาชนรับรู้มากเท่าไร ยิ่งเป็นการดีต่อการตัดสินใจเลือกผู้แทนเข้าไปทำงานเพื่อท้องถิ่นของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

You May Also Like
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่
อ่าน

รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

29 มีนาคม 2567 ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่าการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) รัฐสภาจะมีอำนาจในการลงมติพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 233 เสียง ไม่เห็นด้วย 103 เสียง และงดออกเสียง 170 เสียง