สรุปคำฟ้อง เพิกถอนสถานการณ์ฉุกเฉิน ยื่นโดยนิสิต นักศึกษา

วันนี้ (21 ตุลาคม 2563) เวลาประมาณ 10.30 น. นิสิต นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน 6 คน พร้อมด้วยเครือข่ายทนายความสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดา เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวพร้อมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉิน โดยในเนื้อหาคำฟ้องมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

50511411538_b54af704d8_c

สรุปประเด็นคำฟ้องคดีฟ้องเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่ง
ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวพร้อมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉิน 

โจทก์: นางสาวศุกรียา วรรณายุวัฒน์ ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน (นิสิต นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

จำเลย: พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 1, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ 2, พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่ 3

จากสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมสาธารณะ การเดินทาง
การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการจัดการชุมนุมที่โจทก์ทั้งหกและประชาชนเข้าร่วมเป็นการชุมนุมที่สุจริต โดยสงบปราศจากอาวุธ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักสากลตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร มีผู้ร่วมชุมนุมส่วนมากเป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธ ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีเหตุการณ์จลาจลหรือเป็นภยันตราย
ที่กระทบต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนเป็นส่วนรวม 

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่ออกมา แม้จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารก็ตาม แต่ฝ่ายบริหารจะต้องใช้ดุลพินิจภายใต้ข้อเท็จจริงและถูกต้อง มิใช่ใช้อำนาจและดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ โดยพฤติการณ์การใช้อำนาจของจำเลยทั้งสาม ได้แก่ การสลายการชุมนุม การประกาศปิดสถานที่หรืออาคารสถานีของระบบขนส่งมวลชนหรืออาคารอื่นๆ การจับกุมควบคุมตัวประชาชน สื่อมวลชน บุคลากรทางการแพทย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษาแบบสุ่มหรือโดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมาย การปิดทางสัญจรของประชาชนและของรถพยาบาล การห้ามใช้วิทยุ โทรคมนาคม โทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในการเสนอข่าวสาร ภาพ เสียง หรือข้อเท็จจริงต่างๆ การสั่งให้ระงับการออกอากาศหรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสำนักข่าว ซึ่งการดำเนินการของจำเลยทั้งสาม เป็นการจงใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นมิให้โจทก์ทั้งหกและประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมุนมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การเดินทาง การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ดังกล่าวของโจทก์และประชาชน และมีแนวโน้มจะทวีความเข้มข้นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ 

โจทก์จึงมายื่นต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้

1. ให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งออกตามความแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ของจำเลยที่ 1 โดยทันที

2. ให้จำเลยเพิกถอนบรรดาประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563 ที่ 2/2563 ที่ 4/2563 ที่ 6/2563  คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ที่ 2/2563 ที่ 3/2563 ที่ 6/2563 และประกาศฯ หรือคำสั่งฉบับที่จะออกมาในภายหลังของจำเลยที่ 3 ซึ่งออกมาเพื่อปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยทันที และห้ามมิให้นำมาตรการ คำสั่ง และการกระทำใด ๆ ที่จำเลยที่ 3 สั่งการให้เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มาใช้กับโจทก์และผู้ชุมนุมอีกต่อไป

และวันนี้โจทก์ได้ยื่นร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินด้วย เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้
มีการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงห้ามการออกประกาศคำสั่งตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพิ่มเติมอีกในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล


เครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน 8 องค์กรที่ร่วมดำเนินการยื่นฟ้องคดีนี้ ได้แก่ 

  1. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 
  2. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 
  3. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 
  4. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม 
  5. สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม 
  6. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 
  7. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) 
  8. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม