ครม.อนุมัติแก้กฎหมาย เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กที่ได้รับยกเว้นโทษทางอาญา จากไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี

วันที่ 24 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ … โดยเป็นการแก้ไขเกณฑ์อายุของเด็กที่กระทำความผิดทางอาญาแต่ไม่ต้องรับโทษ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี

กฎหมายเดิมกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ต้องรับโทษ

ประมวลกฎหมายอาญาที่บังคับใช้อยู่ มาตรา 73 กำหนดไว้ว่า “เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ

ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”

หมายความว่าเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ได้กระทำความผิดทางอาญา เช่น ฆ่าคนตาย ลักทรัพย์ หรือความผิดอื่นๆ ที่เป็นโทษทางอาญา ยังให้ถือว่าเด็กคนนั้นมีความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา และเมื่อพนักงานสอบสวนสามารถจับกุมเด็กที่กระทำความผิดจะไม่สามารถดำเนินการตามวิธีการปกติได้ ต้องนำตัวเด็กส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็กดูแลต่อทันที

ทั้งนี้ เหตุที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นโทษให้เป็นเพราะเชื่อว่า ผู้กระทำความผิดยังมีอายุน้อย ยังขาดวุฒิภาวะในการไตร่ตรองยับยั้งชั่งใจ จึงยังไม่สมควรได้รับการลงโทษ 

ร่างกฎหมายใหม่ แก้ไขอายุเด็กไม่ต้องรับโทษจาก 10 ปี เป็น 12 ปี

การแก้ไขเกณฑ์อายุเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญาในครั้งนี้ เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงแผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563)

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว ประการแรก คือ กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ที่กระทำการอันกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 กำหนดเกณฑ์อายุไว้ที่ไม่เกิน 10 ปี  

นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขเกณฑ์อายุของเด็กที่ใช้มาตรการอื่นแทนการรับโทษทางอาญาเช่นกัน จากเดิมมาตรา 74 กำหนดไว้ที่เด็กอายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี เพิ่มเป็นเด็กอายุเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ถ้ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจใช้มาตรการอื่นแทน 

ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ฯ ได้กำหนดมาตรการอื่นไว้ดังนี้ 

1. ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป 

2. ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด  

3. ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตามข้อ 2 ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นด้วยก็ได้ 

4. ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวในข้อ 2 ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม 

5. ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี

กระบวนการต่อไป ต้องส่งร่างกฎหมายให้กฤษฎีกาพิจารณา

ภายหลังจากที่ ครม. มีมติอนุมัติหลักการของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือจะต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายต่อไป