จับตาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่พิจารณาคดีถอดถอน ร.อ.ธรรมนัส

17 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าวว่า

  • ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ ส.ส.ที่ขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญที่ห้ามผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดมาดำรงตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรี
  • ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กรณีที่ขอให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้านี้นั้น ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยที่จะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงมีคำสั่งว่าผู้ถูกร้องไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.และรัฐมนตรี

ทั้งนี้ การตรวจสอบคุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัส ถือว่าเป็นคดีเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมืองคดีแรกของศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 4 คนที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563

ส.ส. ส่งเรื่องให้ศาล รธน. ตรวจสอบคุณสมบัติธรรมนัส

กุมภาพันธ์ 2563 จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เกิดขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้กล่าวหาว่า ร.อ.ธรรมนัส ขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากเคยถูกศาลออสเตรเลียตัดสินในคดียาเสพติด แต่รัฐบาลประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีก็ผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้

27 พฤษภาคม 2563 ส.ส.ฝ่ายค้านพรรคก้าวไกล จำนวน 54 คน (ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร) ได้ส่งเรื่องให้ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาพิจารณาคุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัส 2 เรื่องได้แก่

  1. สมาชิกภาพ ส.ส. และรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีคู่สมรสถือครองหุ้นบริษัท ตลาดคลองเตย 2551 จำกัด ที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ
  2. สมาชิกภาพ ส.ส. และรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีถูกกล่าวหาว่าศาลออสเตรเลียพิพากษาให้จำคุกคดีเกี่ยวกับยาเสพติด

11 มิถุนายน 2563 ชวน หลีกภัย ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา  

17 มิถุนายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของ ส.ส. พรรคก้าวไกล เนื่องจากเป็นการเข้าชื่อเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้อง ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. และรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5) และ (9) จึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยและแจ้งให้ผู้ร้องทราบ พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ ร.อ.ธรรมนัส ผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ส่วนเรื่องการพิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และรัฐมนตรีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยที่จะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงมีคำสั่งว่าผู้ถูกร้องไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 

คดีตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมืองคดีแรกของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ 4 คน 

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งสิ้น 9 คน โดยมีที่มาดังนี้

  • ตุลาการ 3 คน มาจาก ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
  • ตุลาการ 2 คน มาจาก ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
  • ตุลาการ 1 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
  • ตุลาการ 1 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์
  • ตุลาการ 2 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้รับหรือเคยรับราชการ 

หลังจากนั้นเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา, ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และคณะกรรมการสรรหา คัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว ต้องส่งชื่อผู้ได้รับเลือกให้วุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ และวุฒิสภาต้องเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

หลังจากได้รับความเห็นชอบจากประธานวุฒิสภา ให้ประธานวุฒิสภานําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

6 เมษายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่จำนวน 4 คน ได้แก่

ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน

  1. อุดม สิทธิวิรัชธรรม ผู้พิพากษาศาลฎีกา
  2. วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาศาลฎีกา
  3. จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

ผู้ทรงคุณวุฒิสายข้าราชการ 1 คน

  1. นภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังขาดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดอีก 1 คน เนื่องจากวุฒิสภาไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง และอยู่ในระหว่างการส่งชื่อคนใหม่ให้วุฒิสภารับรองอีกครั้ง

ทั้ง 5 ตำแหน่งนี้จะมาแทนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนเก่า 5 คนที่เพิ่งพ้นตำแหน่ง คือ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, จรัญ ภักดีธนากุล, บุญส่ง กุลบุปผา และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี หลังจากพวกเขาอยู่ในตำแหน่งมายาวนาน 11-13 ปี เนื่องจากได้รับการต่ออายุการทำงานโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิมที่ยังอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ วรวิทย์ กังศศิเทียม, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิมนี้เคยตัดสินคดีเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังการเลือกตั้งปี 2562 มาแล้ว 2 คดี ได้แก่

  • ตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากกรณีที่มีผู้ร้องให้ศาลตรวจสอบว่าการดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ และในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าวก็ไม่มีการสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ระงับการปฏิบัติหน้าที่
  • ตัดสินว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เนื่องจากขาดคุณสมบัติในการเป็น ส.ส. เพราะถือหุ้นสื่อ และถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในการพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าว

เป็นที่น่าจับตาว่า เมื่อมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ 4 คน ผลของคดีตรวจสอบคุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัส จะออกมาเป็นเช่นไร

รวมข่าวเกี่ยวกับ ร.อ.ธรรมนัส กับคดียาเสพติดที่ออสเตรเลีย

You May Also Like
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”