ประชาชนต้องเดินหน้า หมดเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นับจากเดือนมีนาคม 2563 ที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ภายในประเทศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม แม้สถานการณ์จะดีขึ้นแต่จนปัจจุบันรัฐบาลยังคงไม่ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงมาตรการเคอร์ฟิวและข้อกำหนดต่างๆ ที่ส่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน นอกจากนั้นยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่นำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นข้ออ้างเพื่อจำกัดการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนด้วย

เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค จึงจัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ [เสรีภาพ = สุขภาพ] ประชาชนต้องเดินหน้า หมดเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 7 มิถุนายน 2563 โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบและนักวิชาการรวมเจ็ดคนร่วมการสนทนา

 

อมรศักดิ์ – ข้อยกเว้นมาตรการเคอร์ฟิวไม่ได้ช่วยชาวประมง

อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี ชาวประมงจากจังหวัดชลบุรี เล่าว่า ตั้งแต่การประกาศเคอร์ฟิวจนถึงปัจจุบัน ชาวประมงในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่เป็นเจ้าของเรือประมงพื้นบ้านกว่าพันลำไม่สามารถออกเรือได้ เนื่องจากข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยกเว้นให้ชาวประมงออกจากเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้ ยังกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีอายุใบละเจ็ดวัน ขั้นตอนที่ซับซ้อนและระยะเวลาการขอรับใบอนุญาตที่ยาวนานทำให้ชาวประมงในพื้นที่ส่วนมากเลือกที่จะไม่ไปขอใบอนุญาตแล้วออกไปประมงทั้งที่ฝ่าฝืนข้อห้าม

อมรศักดิ์กล่าวว่า ชาวประมงในพื้นได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางจากการใช้เคอร์ฟิว ถึงแม้เรือบางประเภทที่วางอวนตอนกลางวันยังพอออกเรือได้ แต่เรือที่ต้องวางอวนตอนกลางคืนก็ไม่สามารถออกได้เลย เรือขนาดใหญ่ในประเภทนี้ก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ยากเพราะต้นทุนสูง เรือที่ออกได้ก็นำของไปขายต่อไม่ได้ เพราะการคัดสัตว์น้ำเพื่อนำไปขายต่อปกติแล้วจะทำในเวลากลางดึก ทั้งหมดจึงทำให้ชาวประมงหลายพันคนขาดรายได้ต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ เคอร์ฟิวยังทำให้ชาวบ้านไม่สามารถดูแลเรือในช่วงฤดูมรสุมได้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม มีมรสุมเข้าบริเวณอำเภอบางละมุง ในกรณีที่ไม่มีเคอร์ฟิว ชาวประมงบางส่วนจะนอนในเรือเพื่อดูแลเรือหากมีพายุเข้าจะได้แก้ปัญหาไม่ให้เรือเสียหาย แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาชาวประมงออกไปดูเรือไม่ได้ทำให้เรือเสียหายไปกว่า 23 ลำ ตอนนี้ได้ยื่นเรื่องไปทางจังหวัดชลบุรีเพื่อขอค่าชดเชยจากภัยพิบัติแล้ว แต่ยังไม่ได้รับ

อมรศักดิ์เห็นว่า มาตรการเคอร์ฟิวนั้นมีผลครอบคลุมที่กว้างเกินความจำเป็น เรือของชาวประมงพื้นบ้านจุคนได้เพียงไม่กี่คนอยู่แล้ว และการออกเรือทำให้ชาวประมงไม่ได้พบปะกับคนหมู่กว้างในสังคม ชาวประมงทุกคนต้องเฝ้าระวังตัวเองอยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น บางอย่างก็ควรเริ่มปลดล็อกได้แล้ว ไม่ควรต้องให้ไปขอใบอนุญาตกันแล้ว

 

สรุพันธ์ – ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมรอโควิดจบไม่ได้

สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เกษตรกร อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ผู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ เล่าว่า พี่น้องเกษตรกรในอำเภอวังสะพุงได้รับผลกระทบทันทีจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากส่วนมากมีอาชีพเสริมคือการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องเดินทางไปขายที่กรุงเทพฯ เมื่อมีข้อจำกัดการเดินทางและต้องกักตัวเมื่อกลับจากต่างจังหวัดจึงไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ในส่วนนี้ ในช่วงแรกที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชาวบ้านขาดทุนจากสลากที่ซื้อมาแล้วขายไม่ได้ บางครัวเรือนซื้อสลากมารวมมูลค่ากว่าหนึ่งแสนบาท บางรายลงทุนด้วยการกู้หนี้ยืมสิน จึงเดือดร้อนอย่างหนักในระยะแรก ผลกระทบอีกด้านหนึ่งเกิดจากการเยียวยาที่ล่าช้า เมื่อชาวบ้านขาดรายได้จากการขายสลาก และไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐอย่างทั่วถึง พ่วงกับปัญหาราคายางที่มีมายาวนาน ทำให้เกษตรกรที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถชดใช้หนี้สินได้ ขาดเงินผ่อนส่งรถและส่งลูกหลานเล่าเรียน เกษตรกรบางรายที่ไม่สามารถผ่อนส่งรถยนต์ต่อได้ก็ถูกยึดไป เป็นต้น

นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ได้หยุดการเดินหน้าต่อสู้เพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จากเหมืองแร่ทองคำ ทั้งที่ผ่านมาได้พูดคุยกับหน่วยงานรัฐเรื่องแผนฟื้นฟูตั้งแต่ปี 2561 และในปี 2562 ศาลจังหวัดเลยพิพากษาให้บริษัททุ่งคำจ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวน 104,000 บาทแก่ชาวบ้าน 165 ราย และมีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูพื้นที่ แต่ว่าบริษัทก็ล้มละลายไป จึงยังไม่มีการชดเชย เมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็แจ้งว่า จะชะลอการขายทรัพย์สินของบริษัทออกไปแม้ไม่ได้มีกฎหมายห้าม ทำให้ยังไม่มีเงินมาและแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมก็ดำเนินการต่อไม่ได้

สุรพันธ์ย้ำว่าชาวบ้านมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเนื่องจากต้องทนอยู่กับสารพิษที่รั่วไหลมายาวนาน และหากรอถึงฤดูฝนอาจทำให้มีการรั่วไหลจากบ่อเก็บสารพิษมากขึ้น ที่ผ่านมามีชาวบ้านเสียชีวิตจากการรับสารพิษเกินปริมาณมาแล้ว จึงเห็นว่าการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ควรได้รับความสำคัญเทียบเท่ากับการควบคุมการระบาดของโรค นอกจากนี้ ที่ผ่านมาชาวบ้านที่เคลื่อนไหวขอแสดงความคิดเห็นต่อแผนฟื้นฟูพื้นที่กลับถูกสังเกตการณ์โดยเจ้าหน้าที่ กอ. รมน. ทำให้ชาวบ้านเคลื่อนไหวได้ยากขึ้นและรู้สึกถูกคุกคาม 

สุรพันธ์จึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการดังกล่าวไปพร้อมกับการควบคุมสถานการณ์โควิด 19 และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยทิ้งท้ายว่า ชาวบ้านควรมีสิทธิในการปกป้องทรัพยากรของตนเอง

 

เปรมชนัน – ถ้าไม่ขยับ อาจสายเกินไป

เปรมชนัน บำรุงวงศ์ ชาวบ้านผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนชายหาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา กล่าวว่า หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในระยะแรก ได้มีการรวมกลุ่มกันที่หาดม่วงงาม ชาวบ้านทั้งหมดใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างกัน มีเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์แต่ยังจัดได้อยู่บ้าง แต่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดกำลังคลี่คลายลง มีป้ายขึ้นมาบริเวณหาดห้ามการชุมนุมโดยอ้างสถานการณ์โควิด ชาวบ้านจึงส่งหนังสือขอจัดการชุมชุมไปที่ สภอ.ม่วงงาม แต่ไม่ได้รับอนุญาต แต่ชาวบ้านก็ตัดสินใจออกไปประท้วง เมื่อถึงบริเวณหาด พบเจ้าหน้าที่ตำรวจและ กอ.รมน. ราว 100-200 คน โดยเจ้าหน้าที่ขู่ว่าจะจับกุมหากมีการชุมนุม ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวาดกลัวและเดินทางกลับ 

เปรมชนันสะท้อนว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกถูกลิดรอนสิทธิในการเรียกร้องทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรพึงกระทำได้ 

เปรมชนันกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องรีบออกมาคัดค้านโครงการเพราะว่าที่ผ่านมาโครงการได้ริเริ่มไปแล้วและการก่อสร้างก็ดำเนินไปอยู่เรื่อยๆ โดยชาวบ้านไม่ทราบการทำประชาพิจารณ์ หลังศึกษาว่าการก่อสร้างจะทำให้หาดทรายหายไปก็ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอมีส่วนร่วมในโครงการก่อสร้าง เรื่องไปถึงศาลปกครองก็เงียบไป จากการประสานครั้งล่าสุด ศาลากลางก็ให้คำตอบปากเปล่ามาว่าจะชะลอโครงการเพื่อพูดคุยแต่ยังไม่มีหนังสือระบุระยะเวลาที่ชัดเจน ที่ผ่านมา แม้ชาวบ้านถูกห้ามไม่ให้เคลื่อนไหว แต่การก่อสร้างยังดำเนินต่อไป หากไม่รีบเคลื่อนไหวจึงอาจสายเกินไปที่จะรักษาหาดม่วงงามอันเป็นที่รักของชาวบ้านได้

 

เนืองนิช – ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แค่ขั้นแรกเยียวยาคนจนเมือง

เนืองนิช ชิดนอก ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ข้อกำหนดต่างๆ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลต่อผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนจนในเมืองหลายกลุ่ม หลายอาชีพไม่สามารถทำตามปกติได้ เช่น ร้านนวด ร้านอาหาร แม้ห้างเปิดแต่เจ้าของร้านบางทีก็ยังไม่ไหว แรงงานตลาดนัดก็หยุดไปเลย พอเราไปขายของ กำลังซื้อน้อยลงคนมาซื้อก็น้อยลง รายได้ลดลงครึ่งหนึ่งถึงร้อยละ 80

กลุ่มที่เป็นแรงงานกรรมกร เหมือนทำงานได้ แต่ผู้รับเหมาก็แย่เหมือนกัน ไม่มีงาน กลุ่มขับวินมอเตอร์ไซค์ ต่อให้ออกไปทำงานได้ก็ไม่มีลูกค้า กลุ่มที่ทำโรงงานไม่ได้ปิด แต่ทำโอทีไม่ได้ เพราะต้องเผื่อเวลากลับบ้าน รายได้ก็ลดลงแต่รายจ่ายยังคงเดิม ส่วนกลุ่มคนแพ็คของก็ต้องหยุดกันหมดทั้งผู้ทำโรงงานและผู้ใช้แรงงาน สุดท้ายคือกลุ่มคนไร้บ้าน ที่ต้องโดนจับกุมฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเผชิญความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างชัดเจนที่สุดเนื่องจากบางส่วนไม่มีบัตรประชาชน 

จึงไม่แปลกใจที่มีภาพตามสื่อที่พี่น้องชุมชนแออัดต้องไปต่อแถวรับของบริจาค เพราะการเข้าถึงสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น เช่น เจลแอลกอฮอล์ หน้ากาก อาหาร เป็นไปได้อย่างยากลำบาก การบริจาคจึงเป็นการแก้ไขปมนี้ที่รวดเร็ว นอกจากนี้ การเว้นระยะห่างทางสังคมในชุมชนแออัดนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากบ้านหลังหนึ่งอาจมีผู้อาศัยตั้งแต่ 3-10 คน และชุมชนมีความแออัด 

“คนไร้บ้านและคนในชุมชนแออัดลำบากมากเมื่อมี พ...ฉุกเฉินฯ การเว้นระยะห่างที่คุณสั่งเนี่ย คนจนเมืองบ้านเขาไม่ได้หรูหราอลังการมี 3-4 ห้อง ถ้า 3-4 วันอาจจะทำได้ แต่พอนานไปมันทำไม่ได้ขนาดนั้นแล้ว คนในชุมชนแออัดก็อยู่ในบริเวณเดียวกัน การอยู่บ้านก็ทำให้ชาวบ้านมีภาระเพิ่ม น้ำไฟที่ใช้ก็เพิ่มขึ้น บางทีครึ่งต่อครึ่ง การลดค่าไฟ 3% แทบไม่ช่วยอะไร 

“ที่ผ่านมาชาวบ้าน คนจนก็ให้ความร่วมมือดี แต่พอถึงจุดหนึ่ง การรักษาสุขภาพกับการอด ก็ต้องไปตายเอาดาบหน้า แม้ไม่ให้ออกก็ต้องออก อย่างวันนี้ต้องไปแพคของก็ต้องไป ไปเสี่ยงว่า จะเจอตำรวจไหม จะโดนค่าปรับไหม ต้องไปแล้ว มันอยู่ไม่ได้แล้ว คนที่จะเก็บรายวันก็มาทุกวัน 

เนืองนิชจึงกล่าวว่า รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือชาวบ้านที่เข้มข้นเทียบเท่ากับการปราบปรามโรค ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยแบบนี้ เนื่องจากมีหลายล้านคนที่กำลังจะไม่ไหว เงินเยียวยา 5,000 บาทแจกจ่ายไม่ทั่วถึง การสำรวจผู้ประกอบการที่ล้มไปก็ยังไม่ทั่วถึง จึงมีความเห็นว่ารัฐบาลต้องเปลี่ยนฐานคิด ให้เงินเยียวยาถ้วนหน้า เพราะหากรัฐบาลให้ความรู้กับชาวบ้าน ชาวบ้านก็จะมีการบริหารจัดการเงินอุดหนุนที่ดี และจะดีกว่ามีคนนับล้านตกหล่น เพราะทุกคนจ่ายภาษีเหมือนกัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการเข้าถึงเงินเยียวยาอย่างทั่วถึงจะเพิ่มศักยภาพการช่วยเหลือชุมชนในระยะยาว 

เนืองนิชเสนอว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเพียงขั้นหนึ่งเท่านั้น เมื่อยกเลิกไม่ใช่ทุกอย่างจะกลับมา ก็ต้องดูแลชาวบ้านต่อ การคิดช่วยเหลือชาวบ้านก็ควรจะต้องคิดให้เข้มข้นเหมือนกับกฎที่เอามากักกันชาวบ้านด้วย การแก้ปัญหาไปทีละขั้นๆ สำหรับบางคนอาจจะไหวแต่อีกกี่ล้านคนที่ไม่ไหว สำหรับกรณีเงินช่วยเหลือ 4 แสนล้านบาท ควรจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ใช้กลไกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อให้เครือข่ายคนจนได้มีส่วนร่วมกระจายเงินช่วยเหลือชุมชนและคนชายขอบได้อย่างถ้วนหน้า

 

อธิวัฒน์ – กฎหมายเว้นให้แล้ว เจ้าหน้าที่รู้หรือยัง

อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ เล่าว่า ในช่วงการประกาศใช้เคอร์ฟิว มีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไม่สอดคล้องประกาศข้อยกเว้นหลายกรณี เช่น เมื่อวันที่ 25 เมษายน ชาวประมงที่จะออกไปวางอวนเวลา 22.15 น. ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อว่าเขาเป็นชาวประมง จนส่งเรื่องถึงศาล เจ้าตัวรับสารภาพ ถูกลงโทษปรับ 10,000 บาท จำคุก 1 ปี ศาลลดโทษให้ครึ่งหนึ่งเพราะรับสารภาพ รอลงอาญา นอกจากนี้ยังมีคดีของชาวบ้านกรีดยางและเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ออกปฏิบัติงานล่วงเวลาเคอร์ฟิว ซึ่งเจ้าตัวจึงสารภาพผิดและจ่ายค่าปรับเช่นกัน 

เห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง ผู้ทำอาชีพที่ได้ยกเว้นตามข้อกำหนดหรือมีเหตุจำเป็นยังถูกจับกุม เรื่องเกือบทั้งหมดจบที่ชั้นศาล สร้างภาระในการขึ้นศาลให้ผู้ถูกจับกุม และก่อให้เกิดประวัติคดีติดตัวทั้งที่การกระทำไม่ใช่การสร้างความเสียหายให้กับใคร แต่เมื่อมีประวัติอาชญากรรมก็กระทบโอกาสก้าวหน้าในอนาคต จึงเสนอว่า ควรยกเลิกเคอร์ฟิวเสีย หรือใช้การตักเตือนแทนการดำเนินคดี 

 

นพ.สุภัทร – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เสมือนยาเกินขนาด

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ประเทศไทยแทบไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมแล้ว ส่วนใหญ่ที่พบก็มาจากต่างประเทศซึ่งภาครัฐมีมาตรการดูแลที่ชัดเจน การกักกันก็มีมาตรฐาน ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามสภาวะปกติใหม่ (new normal) เราจึงไม่จำเป็นต้องทำอย่างเข้มข้นเหมือนในช่วงต้นของการแพร่ระบาดแล้ว เพราะถ้าเป็นแบบนั้นสังคมก็จะเดินหน้าไม่ได้

“แทบจะเรียกได้ว่า หนึ่งเดือนแล้วที่เราปลอดการแพร่ระบาดภายในประเทศ จะมีแต่ผู้ที่กลับมาจากเมืองนอกซึ่งเป็นคนไทย เพราะเรายังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่คนไทย เพราะฉะนั้นอยู่ในสภาวะที่มีความสุข โรงพยาบาลมีความสุข เอาอยู่ จริงๆ ชีวิตต้องผันตัวเองไปสู่วิถีเดิมเพียงแต่เว้นระยะห่างเพิ่มขึ้น ชีวิตต้องเดินได้ งานเดินได้ เศรษฐกิจเดินได้”

ที่ผ่านมา การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลกระทบแก่บุคลากรทางการแพทย์ด้วย แม้จะได้รับข้อยกเว้น แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหา เช่น เคยมีกรณีที่แฟนพยาบาลขับรถมาส่งพยาบาลเข้าเวรแล้วถูกจับขากลับ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เชื่อว่ามาส่งพยาบาลจริง ทำให้ต้องเรียกตัวพยาบาลออกมาจากเวรเพื่อไปยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เสียเวลาพยาบาลและทรัพยากรทางการแพทย์ที่จำเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงเป็นยาแรงที่มีผลข้างเคียงสูง นอกจากนี้ ในทางการแพทย์ไม่ได้มองว่า เคอร์ฟิวมีผลต่อการลดการระบาดของโรค แต่การปิดพื้นที่และบริหารกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดมีความสำคัญโดยตรงมากกว่า

นพ.สุภัทรเห็นว่า ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่คนไทยให้ความร่วมมือในการควบคุมโรคอย่างดีและเริ่มไม่มีการติดเชื้อ ควรผ่อนคลายกิจกรรมทุกภาคส่วนให้มีการดำเนินชีวิตได้ ควรปรับให้การรับมือเป็นในระดับจังหวัด เพราะ “นโยบายเหมาโหล” จากส่วนกลางมีผลกระทบข้างเคียงสูง บางชุมชนอยู่ในหมู่บ้าน หรือตำบลที่ลึกเข้าไปที่ไม่มีผู้ติดเชื้อแต่กลับไม่สามารถส่งลูกหลานไปโรงเรียนได้ ซึ่งมันไม่ใช่ เด็กอยู่บ้านก็มีความเสี่ยง พ่อแม่ก็ลำบากทำงานไม่ได้

ถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้ พ.ร.บ.โรคติต่อแทน ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยรัฐบาลประยุทธ์เหมือนกัน ที่ผ่านมารัฐบาลก็ให้จังหวัดใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่ออยู่แล้ว จึงควรใช้กฎหมายนี้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ ซึ่งต่างกันเพียงแค่อำนาจในการบริหารจะตกอยู่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและระดับจังหวัด ซึ่งไม่มีฝ่ายกลาโหม แต่ก็สามารถปิดกิจกรรมหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้เช่นกันและให้อำนาจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างกว้างขวาง 

นพ.สุภัทรเล่าว่า ในอดีต ประเทศไทยสามารถรับมือโรคระบาด เช่น โรคซาร์ส ได้ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับเก่า ปี 2523 สามารถกักตัวผู้ป่วยหรือให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจตามบ้านเรือนได้ อย่างเดียวที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อทำไม่ได้ คือ ห้ามการใช้สิทธิชุมนุม ทั้งๆ ที่หากมีการบริหารที่ดีก็สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงเหมือนกิจกรรมอื่นๆ ได้ 

 

อ.ดร.พัชร์ – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่จำเป็นตั้งแต่แรก

อ.ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้จำเป็นตั้งแต่ต้น เพราะประเทศไทยมีกฎหมายอื่นที่สามารถใช้ร่วมกันได้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 หรือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34, 35 และ 39-43 พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยขาดเพียงเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวที่เป็นต้นตอของปัญหาข้างเคียงหลายกรณี 

อ.พัชร์ย้ำว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคซาร์สหรือไข้หวัดนกที่ผ่านมา ก็ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อรับมือ โดยกรรมการสาธารณสุขจังหวัดมีประสิทธิภาพ ให้อำนาจหมอและรัฐมนตรีสาธารณสุข ต่างจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 6 ที่ให้ปลัดกระทรวงต่างๆ เจ้าหน้าที่ทหาร ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นกรรมการแต่ไม่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข ธรรมชาติของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่ตอบโจทย์ด้านสาธารณสุขที่ควรให้อำนาจท้องถิ่นแก้ปัญหาในบางจุด ซึ่งรัฐบาลสามารถวางนโยบายระดับชาติได้แต่ไม่ควรออกนโยบายเหมาแข่งแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ 

หากมาตรการตามกฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการรับมือโรคระบาด อ.พัชร์ชี้ว่ารัฐสามารถใข้กลไกตาม มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ ออกพระราชกำหนดเฉพาะกิจขึ้นมาได้ ซึ่งจะทำให้รัฐสภาตรวจสอบย้อนหลังได้ ต่างจากการออกมาตรการผ่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ใช้อยู่ ซึ่งออกแบบมาสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินแบบทหาร ไม่ใช่การรับมือโรคระบาด

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR ข้อ 4 อนุญาตให้รัฐภาคีประกาศสภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติ มีผลให้ไม่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ ICCPR แต่เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2020 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แถลงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการฉุกเฉินกรณีโควิด 19 ว่า การใช้อำนาจฉุกเฉินต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ICCPR ต้องมีกรอบระยะเวลาชัดเจนและทำให้กลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด และการจำกัดเสรีภาพต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนมากเกินไปและขาดการอธิบายเหตุของผลการใช้อำนาจ ขัดต่อหลักการความได้สัดส่วน และขาดการตรวจสอบจากองค์กรที่เป็นอิสระ