ตรวจงาน 1 ปี ส.ว. ไฟเขียวทุกมติ – เหล่าทัพโหวตพร้อมหน้าแค่ 1 เรื่อง

24 พฤษภาคม 2562 เป็นวันที่วุฒิสภาเปิดประชุมเป็นครั้งแรก สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งทั้ง 250 คน เข้าสู่ตำแหน่งผ่านกระบวนการคัดเลือกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีวาระการทำงาน 5 ปีตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล (ขณะที่รัฐบาลมีวาระการทำงาน 4 ปี)

24 พฤษภาคม 2563 ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปีการทำงานของ ส.ว. ไอลอว์ติดตามผู้กำหนดโฉมหน้าการเมืองไทยทั้ง 250 คนนี้ตลอดอายุการทำงานที่ผ่านมา พบว่า พวกเขาได้ผ่านมติต่างๆ ตลอดทั้งปีรวมแล้ว 145 มติ* (ตามไฟล์แนบด้านล่าง) และมีข้อค้นพบสำคัญ คือ

  1. ส.ว.ลงมติผ่านหมด ไม่เคยปัดตกมติใด
  2. ส.ว.โควตาผู้นำทหารตำรวจแทบไม่มาลงมติจนติดอันดับท็อปเท็น
  3. มีเพียง 1 มติที่ ส.ว.ผู้นำเหล่าทัพเข้ามาโหวตผ่านโดยพร้อมเพรียง
  4. เปรียบเทียบความยากของการผ่านกฎหมายในชั้น ส.ส. กับ ส.ว. พบว่า ส.ว.ผ่านง่ายมาก
  5. ส.ว.กลุ่มอาชีพ โหวตไม่แตกต่างจาก ส.ว.แต่งตั้ง

ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดสังเคราะห์จากเอกสารบันทึกการลงมติรายบุคคลของ ส.ว. แต่เนื่องจากเอกสารนี้ไม่ได้เผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปค้นหาได้ในเว็บไซต์ เพราะไม่ได้มีข้อบังคับ ส.ว.กำหนดไว้ ไอลอว์จึงใช้สิทธิผ่าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จากนั้นจึงได้คัดถ่ายบันทึกการลงมติรายบุคคลตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง (5 สิงหาคม 2562) จนถึงการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 22 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง (24 กุมภาพันธ์ 2563) รวมการประชุม 34 ครั้ง 145 มติ

ตัวอย่างเอกสารการลงมติ ส.ว.

ส่วนบันทึกการลงมติรายบุคคลของ ส.ว. ในการประชุมครั้งที่ 1-8 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง (24 พฤษภาคม 2562 – 15 กรกฎาคม 2562) เป็นการประชุมในสถานที่ชั่วคราว หอประชุมใหญ่บริษัททีโอที จำกัด(มหาชน) โดยใช้ระบบการลงคะแนนด้วยการเขียนลงกระดาษทั้งหมด เอกสารแต่ละมติมีจำนวนมาก ไอลอว์จึงไม่ได้ทำการขอคัดถ่ายเอกสารดังกล่าว ดังนั้น การประชุม 8 ครั้งแรกซึ่งมีการลงมติทั้งหมด 7 มติจะไม่ถูกนำมานับรวมกับ 145 มติในรายงานนี้

 

ส.ว.ผ่านฉลุย 145 มติไม่เคยปัดตก

  • เรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภามี 145 มติ ส.ว.ให้ความเห็นชอบทั้ง 145 มติ
  • ส.ว.ทั้ง 250 คน โหวตไปในทิศทางเดียวกัน ค่าเฉลี่ยการลงมติเห็นชอบ 96.1%
  • ในจำนวน 145 มติ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพิจารณาแก้ไขร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ส.ว. รวมแล้วมี 114 มติ
  • มติที่เกี่ยวกับการขอยกเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และส่วนที่ขอไม่เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบประวัติ รวมแล้วมี 23 มติ
  • มติที่เกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รวมแล้วมี 8 มติ ไม่มี ส.ว.คนใดไม่ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 8 มติ แม้แต่คนเดียว
  • คนที่ลงคะแนนไม่เห็นชอบมากที่สุดในการลงมติทั้ง 145 มติ ได้แก่ พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป โดยไม่เห็นชอบไป 21 มติ รองลงมาได้แก่ เสรี สุวรรณภานนท์ ไม่เห็นชอบไปทั้งหมด 16 มติ

5 มติที่ ส.ว. ไม่เห็นชอบมากที่สุดตามลำดับ ดังนี้

  • ไม่เห็นชอบ 76 คน – ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด (เรื่องด่วน) เพื่อลงมติ งดใช้ข้อบังคับฯ ข้อ 101 (เห็นชอบ 137 งดออกเสียง 9 ขาด 28)
  • ไม่เห็นชอบ 65 คน – แก้ไขร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. …. ข้อที่ 87 วรรค 5 (เห็นชอบ 134 งดออกเสียง 2 ขาด 49)
  • ไม่เห็นชอบ 52 คน – แก้ไขร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. …. ในส่วนของคำปรารภ (เห็นชอบ 158 งดออกเสียง 5 ขาด 35)
  • ไม่เห็นชอบ 48 คน – แก้ไขร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. …. ข้อที่ 79 วรรค 1 (เห็นชอบ 148 งดออกเสียง 8 ขาด 46)
  • ไม่เห็นชอบ 33 คน – ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. …. ข้อ 185 ให้คงไว้ตามร่างเดิมหรือแก้ไขตามผู้สงวนความเห็น (เห็นชอบ 140 งดออกเสียง 4 ขาด 73)

 

5 ใน 6 ผู้นำเหล่าทัพติดอันดับ ส.ว.ที่ไม่มาลงมติมากที่สุด

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 (1) (ค.) ระบุโควตาที่มาของ ส.ว. จากกลุ่มทหารและตำรวจโดยอัตโนมัติ ได้แก่ 1. ปลัดกระทรวงกลาโหม 2. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3. ผู้บัญชาการทหารบก 4. ผู้บัญชาการทหารเรือ 5. ผู้บัญชาการทหารอากาศ 6. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะได้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง โดยไม่ต้องลาออกจากราชการ ทำงานไปพร้อมกันได้

ก่อนจะดูความขยันขันแข็งของผู้นำเหล่าทัพในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ต้องเข้าใจก่อนว่า การเข้าประชุมและการลงมติในที่ประชุมถือเป็นหน้าที่หลักของ ส.ว. รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขการพ้นตำแหน่งของ ส.ว. ที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาไว้ในมาตรา 111 (5) ว่าให้สมาชิกภาพของ ส.ว  สิ้นสุดลง เมื่อขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจํานวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกําหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา

หมายความว่าภายใน 120 วันนั้น ส.ว. ต้องเข้าประชุมมากถึง 75 % แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าหากประธานวุฒิสภาอนุญาตให้ขาดประชุมก็จะไม่นับว่าขาดประชุม ปกติแล้วการลาก็ถือว่าประธานวุฒิสภาอนุญาตแล้ว ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ก็ไม่ได้มีการกำหนดเรื่องการขาดประชุมเป็นบทลงโทษ ส.ว. ไว้ด้วย ซึ่งต่างจากสมัยที่ยังใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่มีบทลงโทษให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พ้นจากตำแหน่งหากขาดประชุมและไม่ลงมติเกิน 1 ใน 3 ของจำนวนการประชุม

จากการตรวจสอบทั้ง 145 มติ พบว่า ส.ว.ที่เป็นผู้นำทหารและตำรวจ 5 ใน 6 คน ติดโผ 10 อันดับคนที่ขาดลงมติมากที่สุด ได้แก่

  1. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ (ผบ.ทร.) ขาด 144 มติ
  2. พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ผบ.ทบ) ขาด 143 มติ
  3. พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน (อดีต ผบ.ทอ.) เปลี่ยนเป็น พลอากาศเอกมานัต วงษ์วาทย์ (ผบ.ทอ.) เข้าเป็น ส.ว. แทนตามตำแหน่งโดยใช้รหัส ส.ว. เดิม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ทั้งสองคนรวมกัน ขาด 143 มติ
  4. พลตรี กลชัย สุวรรณบูรณ์ ขาด 143 มติ
  5. ศาสตราจารย์ ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ ขาด 137 มติ
  6. พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี (ผบ.สส.) ขาด 136 มติ
  7. พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ (ปลัดกระทรวงกลาโหม) ขาด 135 มติ
  8. พลตำรวจโท จิตติ รอดบางยาง ขาด 125 มติ
  9. กูรดิสถ์ จันทร์ศรีชวาลา ขาด 117 มติ
  10. พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ขาด 112 มติ

ส่วนพลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา (ผบ.ตร) มีสถิติไม่ได้เข้าลงมติ 99 มติ และเข้าลงมติ 46 มติ ถือว่าขาดน้อยที่สุดในบรรดา ส.ว.เหล่าทัพ

สำหรับ ส.ว. ที่ขยันที่สุด เข้าประชุมโดยไม่เคยขาดการลงมติสักครั้ง มีอยู่ 2 คน ได้แก่ พลเอกจีระศักดิ์ ชมประสพ และพลเอก อู้ด เบื้องบน

ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยของการไม่ได้มาลงมติของ ส.ว. 250 คนนั้น พบว่า แต่ละมติจะมีคนขาดอยู่ 63 คน

 

มติเดียวที่ ส.ว. ทุกเหล่าทัพเข้าไปโหวตพร้อมกันมากที่สุด นั่นคือ…

คนที่ไม่ได้มาลงมติมากที่สุดในบรรดา ส.ว. ทั้งสภา คือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เขาขาดการลงมติถึง 144 มติจาก 145 มติ แปลว่า เขาลงมติอยู่ครั้งเดียว

มติเดียวที่ พล.ร.อ.ลือชัย และ ส.ว.อีก 4 คนที่มีโควตาจากกองทัพและตำรวจเข้ามาลงมติพร้อมกันมากที่สุด ก็คือเรื่อง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณของกองทัพบกไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ โดยเป็นเรื่องที่ที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณาว่าอนุมัติให้ พ.ร.ก.มีผลเป็น พ.ร.บ.หรือไม่

มติดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุม สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2562 มี ส.ว. เข้าร่วมลงมติ 226 คน มีคนเห็นชอบ 223 คน งดออกเสียง 3 คน และไม่เห็นชอบ 0 คน มีคนขาด 24 คน ซึ่งถือว่ามีค่อนข้างต่ำมาก จากค่าเฉลี่ยแต่ละมติที่มักมีคนขาดประชุมอยู่ราว 63 คน

เรื่องนี้ยังเป็นมติเดียวจาก 145 เรื่องที่ ส.ว.เหล่าทัพเข้าไปลงมติในที่ประชุมพร้อมกันมากที่สุดคือ 5 คน ได้แก่ ผบ.ทบ. ผบ.สส. ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ตร. และ ผบ.ทร ส่วน ผบ.ทอ.นั้นขาดประชุม ที่ผ่านมาไม่เคยมีมติไหนที่ ส.ว.เหล่าทัพจะเข้าไปลงมติพร้อมกันเกิน 2 คน  

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ หลังจากที่ลงมติ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ กันจบแล้ว พบว่า ในการลงมติถัดไปซึ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกันนั้นเอง ปรากฏว่า ส.ว.ทหารตำรวจทั้ง 5 คน ไม่มีใครอยู่ร่วมลงมติเลย

 

ร่างกฎหมายผ่าน ส.ส.ยาก แต่สบายมากในชั้น ส.ว.

ในการประชุมวุฒิสภาตลอด 1 ปี พบว่า ส.ว. พิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมด 5 ฉบับ ได้แก่

  1. ร่างพระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10
  2. ร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10
  3. พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณของกองทัพบกไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์
  4. พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562
  5. ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ในการลงมติเพื่อผ่านร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ไม่มี ส.ว. คนใดไม่เห็นชอบในการผ่านร่างกฎหมายเลย ซึ่งแตกต่างกับสภาผู้แทนราษฎรอย่างมาก เพราะในชั้นการพิจาณาของ ส.ส.กฎหมายแต่ละฉบับนั้นผ่านมาได้อย่างค่อนข้างยาก เช่น มีการส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับเพื่อให้ตีความด้านความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงมีการอภิปรายโต้แย้งกันในสภา อีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของทั้งสองสภาอย่างชัดเจนก็คือ คะแนนในการลงมติของกฎหมายแต่ละฉบับ

ร่างพระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 และร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10

ส.ส. ผ่านร่างพระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ในวาระสามให้ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นชอบ 455 คน ไม่เห็นชอบ 0 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 3 คน ส่วนร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 ผ่านด้วยคะแนนเห็นชอบ 464 คน ไม่เห็นด้วย 0 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 2 คน

ส.ว.ผ่านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเช่นเดียวกัน โดยผ่านร่างพระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ในวาระสามให้ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นชอบ 231 คน ไม่เห็นชอบ 0 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 2 คน ส่วนร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 ผ่านด้วยคะแนนเห็นชอบ 229 คน ไม่เห็นด้วย 0 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 2 คน

พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณของกองทัพบกไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์

ส.ส. มีการอภิปรายทักท้วง และมีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย มีการถกเถียงกันถึงขั้นว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นการใช้อำนาจที่เหมือนกับการใช้มาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สุดท้ายแล้ว ส.ส. อนุมัติกฎหมายฉบับนี้ด้วยคะแนนเห็นด้วย 374 คน ไม่เห็นด้วย 70 คน งดออกเสียง 2 คน

ส.ว.พิจารณา พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณของกองทัพบกไปเป็นของส่วนราชในพระองค์ ให้เป็น พ.ร.บ. โดยเห็นด้วย 223 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยการอภิปรายในวุฒิสภา ออกไปในทางตำหนิ ส.ส. ที่ทำการคัดค้าน พ.ร.ก.ฉบับนี้ 

พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562

ส.ส. ฝ่ายค้านมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการประกาศใช้กฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนต้องหยุดพิจารณาเพื่อรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จนศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย สภาผู้แทนราษฎรจึงได้อนุมัติกฎหมายฉบับนี้ด้วยคะแนนเห็นด้วย 244 คน ไม่เห็นด้วย 73 คน งดออกเสียง 148 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน

ส.ว.อนุมัติไปด้วยคะแนนเห็นด้วย 187 คน ไม่เห็นด้วย 0 คน งดออกเสียง 2 คน 

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ

ส.ส. โหวตผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไปแล้วหนึ่งครั้ง ด้วยคะแนน เห็นด้วย 253 คน ไม่เห็นด้วย 0 คน งดออกเสียง 196 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน

ส.ว.ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเห็นด้วย 228 คน ไม่เห็นด้วย 0 คน งดออกเสียง 8 คน

หลังจากนั้นมีการนำเรื่องการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ากระบวนการลงมติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ลงมติใหม่ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3

การลงมติเพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ รอบที่สอง ส.ส. ผ่านกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเห็นด้วย 257 คน ไม่เห็นด้วย 1 คน งดออกเสียง 3 คนโดยมีองค์ประชุมเพียง 261 คน จาก 500 คน หลังจาก ส.ส. ฝ่ายค้านที่เหลือไม่แสดงตัวเพื่อลงมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว

ส.ว.ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 215 คน ไม่เห็นด้วย 0 คน งดออกเสียง 6 คน โดยใช้เวลาในการพิจารณา 1 ชั่วโมง 10 นาที 

 

ส.ว. กลุ่มอาชีพ ความอิสระในการโหวตไม่ได้แตกต่างจาก ส.ว. แต่งตั้ง

ส.ว.ทั้งหมด 250 คน ในจำนวนนี้มีอยู่ 50 คนที่เป็น ส.ว.จาก “กลุ่มอาชีพ” เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ หรือทำงานในด้านต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 10 กลุ่มอาชีพ จำนวน 200  คน จากนั้นส่งให้ คสช.คัดเหลือ 50 คน

ถามว่ารายชื่อ 200 คนนี้ได้มาอย่างไร คำตอบคือ ได้จากการคัดเลือกกันเองของผู้เข้าสมัคร ส.ว. กลุ่มอาชีพที่มาจากระดับจังหวัดจากหลากหลายสายอาชีพ โดยมี กกต. เป็นผู้ดูแลการเลือก ก่อนส่งรายชื่อให้ คสช. โดยในการนี้ได้ใช้งบประมาณไปกว่า 1,300 ล้านบาท

จากกระบวนการตามรัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ทำให้เราคาดหมายว่า ส.ว.กลุ่มอาชีพ “น่าจะ” มีความอิสระกว่า ส.ว. ที่ คสช.สรรหาเองโดยตรง  

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติการลงมติ 145 มติของ ส.ว. กลุ่มอาชีพทั้ง 50 คน พบว่า

  • ส.ว. กลุ่มอาชีพ มีค่าเฉลี่ยในการลงมติเห็นชอบ 94.4 %
  • ส.ว. กลุ่มอาชีพ มีค่าเฉลี่ยในการลงมติไม่เห็นชอบ 2.6 %
  • ส.ว. กลุ่มอาชีพ มีค่าเฉลี่ยในการงดออกเสียง 2.7 %
  • ส.ว. กลุ่มอาชีพ มีค่าเฉลี่ยในการไม่ลงคะแนนเสียง 0.3%

กล่าวได้ว่า ส.ว. กลุ่มอาชีพก็มีแนวโน้มการโหวตไม่แตกแถวเช่นเดียวกัน

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์