รับมือโควิดในสิงคโปร์: เน้นสร้างความมั่นใจและให้ข้อมูลประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

สุนทรีย์ สิริอินต๊ะวงศ์
นักศึกษาปริญญาเอก คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ 
และ
“แนนซี่” ชาวไทยผู้ตั้งรกรากในสิงคโปร์

 

พัฒนาการมาตรการระดับชาติจากการรักษาสถานการณ์ปกติสู่ความเข้มงวด 

ถึงแม้ว่าประเทศสิงคโปร์มีการยืนยันผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายแรก เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นชาวจีนที่มาจากเมืองอู่ฮั่น แต่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศสิงคโปร์ได้มีการประกาศให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการที่น่าสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะผู้ป่วยจากเมืองอู่ฮั่น มาตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2563 และเริ่มมีการตรวจเช็คอุณหภูมิร่ายกายของผู้ที่เดินทางเข้าออกผ่านสนามบินซางฮี (Changi Airport) เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา

หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกได้ไม่นาน ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563 รัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส (SARS) ในช่วงปี 2549-2551 เริ่มแถลงข่าวต่อสาธารณะเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสอย่างเป็นระบบ รวมทั้งให้รายละเอียดสถานที่และการเดินทางของผู้ติดเชื้อแต่ละคน และเริ่มออกคำสั่งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสภายในประเทศ

วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563 รัฐบาลสิงคโปร์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดำเนินมาตรการป้องกันโรคเบื้องต้นด้วยการรักษาความสะอาด หมั่นล้างมือ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางสังคมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เนื่องจากในช่วงต้นของการแพร่ระบาดยังไม่มีหลักฐานว่าไวรัสโคโรนาสามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ แต่จะเกิดจากคนที่มีสัมผัสใกล้ชิดกันเป็นหลักเท่านั้น

ในช่วงนี้รัฐบาลสิงคโปร์จึงเน้นย้ำกับสาธารณะว่า หน้ากากอนามัยที่มีอยู่จำกัด จะต้องเก็บไว้ให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ใช้เป็นหลักก่อน นอกจากนั้นผู้ป่วยหรือประชากรกลุ่มเสี่ยงก็ควรสวมหน้ากากเมื่อต้องออกจากที่พักทุกครั้งและเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้แจกหน้ากากอนามัย 4 ชิ้นให้กับทุกครัวเรือน แต่ก็เน้นย้ำว่าเพื่อไม่ให้สังคมเกิด “ความตื่นตระหนก” ประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงและไม่มีอาการของโรคจึงยังไม่มีความจำเป็นในการสวมหน้ากากอนามัย เพราะอาจจะเป็นการสร้าง “ความตื่นตระหนก” ให้กับคนในสังคมได้

รัฐบาลสิงคโปร์พยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยการสื่อสารและให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องเป็นหลักเพราะไม่ต้องการให้เกิดสภาวะแห่งความหวาดกลัวและความตื่นตระหนกภายในประเทศ ดังที่นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) ระบุว่า

“ความหวาดกลัวและความตื่นตระหนกสามารถเกิดขึ้นได้ในมนุษย์เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่วิกฤต เพราะทุกคนต้องการปกป้องตัวเองและครอบครัวจากสิ่งที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน เหมือนเช่นการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้ แต่ความกลัวและการตื่นตระหนกก็สามารถสร้างความเสียหายยิ่งกว่าไวรัสได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ทุกคนจึงต้องร่วมมือกันเพื่อผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยกัน”  

จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกที่มีข่าวผู้ติดเชื้อภายในประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงพยายามรักษารูปแบบการทำงานและพยายามควบคุมการดำเนินชีวิตไว้ให้เป็นปกติมากที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมยังดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด

อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลประกาศยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์ คนในสิงคโปร์ก็เกิดความวิตกและออกไปซื้อของกินของใช้มากักตุน ซึ่งในช่วงสองถึงสามเดือนที่ผ่านมาก็มีกระแสความตื่นตระหนกแบบนี้เกิดขึ้นอยู่บ้าง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นรัฐบาลสิงคโปร์ก็รีบสื่อสารกับคนในประเทศทันทีและพยายามเน้นย้ำอยู่ตลอดว่าอย่า “ตื่นตระหนก” อาหารยังมีเพียงพอ และก่อนที่รัฐบาลในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสั่งปิดประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ทำการสั่งซื้อและนำเข้าสินค้าจำนวนมากเพื่อสำรองอาหารไว้ให้กับประชากรภายในประเทศไว้ด้วย

โฆษณามาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในการโดยสารรถสาธารณะ (ภาพโดย สุนทรีย์ สิริอินต๊ะวงศ์)

 

การยกระดับมาตรการระดับชาติ

เมื่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสเริ่มร้ายแรงขึ้น รัฐบาลสิงคโปร์ก็ใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวดตามที่ตัวเองถนัด โดยกฎหมายของสิงคโปร์จะมีบทลงโทษที่รุนแรงและปรับเงินในจำนวนที่สูงโดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เช่น คนที่ปกปิดข้อมูลการเดินทางและไม่กักตัวเองในระยะเวลาที่กำหนดจะถูกยกเลิกสิทธิในการอยู่อาศัยถาวรในสิงคโปร์ (permanent resident)

และมีกรณีที่คู่สามีภรรยาชาวจีนถูกส่งตัวขึ้นศาลดำเนินคดีเพราะปกปิดข้อมูลการเดินทาง นอกจากนั้นก็มีกรณีคนสิงคโปร์ที่ออกจากที่พักอาศัยก่อนการสิ้นสุดการกักตัวก็ต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายด้วยเช่นกัน

รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อคอยตรวจเช็คกลุ่มคนที่ต้องถูกกักตัวสามครั้งต่อวัน และทำการติดตามทุกวันเพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ออกจากที่พักก่อนเวลาที่กำหนด และเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเดือนมีนาคม ที่มีคนสิงคโปร์กลับมาจากต่างประเทศมากขึ้นและกลายเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ (imported cases) ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการต่างๆ ออกมาควบคุม และประกาศใช้มาตรการการมีระยะห่างทางสังคม (social distancing/self-distancing) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563 จนกระทั่งวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มใช้มาตรการให้คนในประเทศกักตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลาหนึ่งเดือน (a circuit breaker or a semi-lockdown period) เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสภายในประเทศ และขยายออกไปอีกหนึ่งเดือนเมื่อมีสถิติของผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้นในเวลาต่อมา

รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้ประกาศใช้นโยบายปิดประเทศ (Lockdown) เหมือนประเทศอื่นๆ ยังอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าออกประเทศได้ แต่คนที่เดินทางเข้ามาในประเทศสิงคโปร์ต้องถูกติดตามควบคุมตามนโยบายการกักตัว

ในส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจหลายๆ ส่วนยังดำเนินไปได้ ไม่ได้มีการสั่งปิดกิจการทั้งหมด ประชาชนยังออกจากบ้านไปซื้อสินค้าและอาหารกลับบ้าน หรือออกกำลังกายในที่สาธารณะได้ แต่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด หรือทำกิจกรรมคนเดียวเป็นหลัก โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราอีกทีหนึ่ง

รัฐบาลเน้นให้ทุกคนทำงานอยู่กับบ้านเป็นหลัก ลดกิจกรรมทางสังคมและการรวมกลุ่มทางสังคมลง หมายความว่ารัฐบาลยังคงให้มีกิจกรรมอื่นๆ ที่ยังจำเป็นอยู่ แต่เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมพฤติกรรมทางสังคมมากขึ้น และวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2563 รัฐบาลเริ่มมีมาตรการในการบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกนอกบ้าน และประกาศบทลงโทษทางกฎหมายไว้ด้วยว่าจะมีการปรับเป็นเงิน 300 สิงคโปร์ดอลล่าร์ (หรือประมาณ 6,750 บาท) แต่จะยกเว้นในกรณีที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบและกลุ่มคนที่ออกกำลังกายในที่สาธารณะ

เมอร์ไลออนและย่านธุรกิจของสิงคโปร์

 

บรรยากาศในรั้วมหาวิทยาลัย

บรรยากาศในรั้วมหาวิทยาลัยในช่วงของการระบาดของไวรัสในระยะแรก หรือช่วงเดือนมกราคม นักศึกษาชาวจีนเป็นประชากรกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มตื่นตัวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส เพราะสถานการณ์ในจีน ณ เวลานั้น เริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ นักศึกษาชาวจีนจึงเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ รวมถึงในห้องเรียนและงานประชุมสัมมนาในมหาวิทยาลัย

เมื่อรัฐบาลสิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ก็ได้ประกาศใช้หอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสามแห่ง โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นห้องเดี่ยวมีห้องน้ำในตัว เป็นสถานที่ที่ใช้กักตัวผู้ที่ต้องสงสัยและต้องเฝ้าระวังอาการ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาชาวจีนที่จะเดินทางกลับมาสิงคโปร์ในเวลานั้น

การประกาศใช้พื้นที่หอพักทำให้มีคำสั่งย้ายนักศึกษาออกจากตึกที่จะใช้เพื่อการกักตัวอย่างกะทันหัน และให้นักศึกษาสิงคโปร์ย้ายกลับไปพักอาศัยอยู่กับครอบครัวแทน โดยทางหอพักบังคับใช้กฎที่เข้มงวดในการควบคุมผู้ถูกกักตัวและแยกพื้นที่กักตัวกับหอพักนักศึกษาปกติจากกันอย่างชัดเจน และเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการคอยดูแลตรวจตราพื้นที่และผู้ที่ถูกกักตัวไว้ด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ มหาวิทยาลัยเริ่มมีคำสั่งให้นักศึกษา เจ้าหน้าที่ และพนักงานมหาวิทยาลัยทุกคน (รวมถึงมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย) ต้องรายงานอุณหภูมิร่างกายสองครั้งต่อวัน (เช้า-เย็น) ก่อนเข้าชั้นเรียนและงานประชุมสัมมนา

ช่วงแรกของการบังคับใช้ นักศึกษาส่วนใหญ่ซึ่งยังไม่เคยชินกับการวัดอุณหภูมิร่างกายสองครั้งต่อวัน และบางคนยังไม่มีเทอร์โมมิเตอร์ส่วนตัว จึงต้องแบ่งกันใช้ และบางคนก็ไม่ได้รายงานหรือรายงานไม่ครบตามกำหนด ทางมหาวิทยาลัยก็จะส่งอีเมลมาเตือนในทันทีหากไม่ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะนักศึกษาที่พักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย หากไม่รายงานอุณหภูมิร่างกายตามที่กำหนด จะโดนหักคะแนนในการอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยไปด้วย

ในส่วนการซื้อของกินของใช้ในมหาวิทยาลัย หรือการใช้รถโดยสารของมหาวิทยาลัย มีการประกาศให้เจ้าหน้าที่หรือนักศึกษาต้องแสดงบัตรประจำตัว เพื่อป้องกันบุคคลภายนอกมาใช้โรงอาหาร ร้านค้า และรถโดยสารของมหาวิทยาลัย และมีการกำหนดไว้ด้วยว่า หากนักศึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมีแผนการเดินทางเข้าหรือออกประเทศสิงคโปร์ นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกคนต้องรายงานแผนการเดินทางล่วงหน้าให้กับทางมหาวิทยาลัยทราบด้วย

เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น มหาวิทยาลัยจะส่งอีเมลเพื่อรายงานสถานการณ์ภาพรวมในประเทศสิงคโปร์และรายงานผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวพันกับทางมหาวิทยาลัยให้เจ้าหน้าที่และนักศึกษาทุกคนทราบ และมาตรการในรั้วมหาวิทยาลัยจะเริ่มเข้มงวดมากขึ้น เช่น มีการจำกัดผู้เข้าร่วมงานประชุมสัมมนาให้ไม่เกิน 50 คน ให้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าห้องประชุม ติดตั้งกล้องเพื่อวัดอุณหภูมิร่างกายของคนที่เข้ามาใช้บริการห้องสมุด

เมื่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเริ่มกระจายไปในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศจีน งานประชุมทางวิชาการในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งในมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์จึงถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด อีกทั้งเริ่มมีการจำกัดกลุ่มงานสัมมนาของนักศึกษาและนักวิจัยลงเรื่อยๆ ให้เหลือไม่เกิน 10 คน จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นการประชุมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนในเวลาต่อมา (Video Conference or Zoom Meeting)

ต่อมาเมื่อรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศใช้มาตรการให้คนในประเทศกักตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลาหนึ่งเดือน (a circuit breaker period) ในเดือนเมษายน มหาวิทยาลัยจึงมีคำสั่งปิดมหาวิทยาลัยและห้องสมุด ให้เจ้าหน้าที่และนักศึกษาทุกคนย้ายไปทำงานอยู่ในที่พักเป็นหลัก แต่แผนงานและการเรียนทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปเหมือนในสถานการณ์ปกติ เพียงแต่ต้องติดต่อสื่อสารผ่านทางสื่อออนไลน์แทน และเมื่อรัฐบาลมีการประกาศให้ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกจากที่พักทุกครั้ง ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ทำการแจกหน้ากากแบบซักได้หรือใช้ซ้ำได้ให้กับนักศึกษาทุกคน คนละหนึ่งชิ้น

ย่านอินเดียน้อย หนึ่งในย่านธุกิจของสิงคโปร์

 

กฎที่เคร่งครัดกับราคาที่ต้องจ่าย

แม้การจัดการกับวิกฤตโควิด 19 ของสิงคโปร์ในระยะแรกจะได้รับความชื่นชมจากประชาคมโลก แต่ก็มีข้อด้อยบางประการที่ควรพูดถึง เช่น การใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมาก โดยมีเจ้าหน้าที่และเครื่องมือทันสมัยที่ใช้ควบคุมสอดส่องในทุกพื้นที่ ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับการตีความพื้นที่สีเทาระหว่างกฎหมายและความเป็นจริงในชีวิตมนุษย์ที่มีความซับซ้อนอย่างมากว่า แบบไหนถือว่าผิดกฎหมาย แบบไหนทำได้หรือทำไม่ได้ เช่น

การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing/self-distancing) ที่ให้ทุกคนแยกตัวเองและมีระยะห่างทางกายภาพกับบุคคลอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรง คือ ปรับ 10,000 สิงคโปร์ดอลล่าร์ (หรือประมาณ 225,000 บาท) และ/หรือถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า หากเงื่อนไขในชีวิตจริงของคนจำนวนหนึ่งไม่สามารถทำตามกฎหมายและนโยบายที่เข้มงวดเหล่านี้ได้ เราจะเข้าใจคนเหล่านี้ว่าอย่างไรและรัฐบาลจะมีทางเลือกอะไรให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้บ้าง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลประกาศบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอันใหม่ ก็จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ถูกดำเนินคดีในทันที อาจจะเนื่องด้วยการปรับตัวไม่ทันกับกฎหมายที่ถูกนำมาบังคับใช้ในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้

นอกจากนั้น แม้ประชากรสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกลาง แต่ก็มีประชากรจำนวนไม่น้อยที่ต้องเช่าห้องพักแบ่งกับคนแปลกหน้าในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด เพราะค่าที่พักอาศัยในสิงคโปร์แพงติดอันดับต้นๆ ของโลก แรงงานข้ามชาติจากหลากหลายประเทศจำนวนมากในสิงคโปร์จึงอยู่กันอย่างแออัดในห้องเช่าหรือหอพักคนงานที่มีคนอยู่ร่วมกัน 12-20 คนต่อหนึ่งห้องนอน บางคนต้องอาศัยอยู่ในบ้านของนายจ้าง

ที่สำคัญแรงงานจำนวนมากเหล่านี้มักอยู่รวมกันและใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงวันหยุดทุกวันอาทิตย์เพื่อหลีกหนีความแออัดในที่พักของตัวเอง มีการรายงานผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติครั้งแรกๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และจำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในเดือนเมษายน รัฐบาลสิงคโปร์จึงออกมาตรการกักตัวแรงงานข้ามชาติเกือบ 200,000 คน ใน 43 หอพัก แต่เงื่อนไขในการมีชีวิตอยู่รวมกันที่แออัดของคนกลุ่มนี้ในสิงคโปร์ก็ถูกมองข้ามไปจากรัฐบาลว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานได้อย่างรวดเร็วได้ด้วยเช่นกัน

และหลังจากมีการพบผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานข้ามชาติในหอพักมากขึ้น รัฐบาลจึงมีการปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับแรงงานข้ามชาติ จัดหาที่พักใหม่เพื่อลดจำนวนคนในแต่ละห้องพักลงและตรวจหาเชื้อไวรัสให้กับแรงงานทุกคนทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ แม้ประชากรกลุ่มนี้จะกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตามระหว่างที่จำนวนผู้ติดเชื้อในแรงงานข้ามชาติกำลังพุ่งทะยานขึ้น นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ก็พยายามสร้างขวัญกำลังใจและความมั่นใจกับแรงงานข้ามชาติ โดยแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ขอบคุณแรงงานข้ามชาติที่เสียสละทำงานให้กับประเทศสิงคโปร์และให้ความร่วมมือในสถานการณ์นี้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังรับประกันว่าจะดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ให้ดีที่สุดเทียบเท่ากับคนสิงคโปร์ และแรงงานข้ามชาติทุกคนจะยังได้รับค่าแรงเพื่อส่งกลับบ้านเหมือนเดิมและจะได้กลับไปพบครอบครัวตัวเองอีกครั้ง

การแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ได้พลิกสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกำลังถูกจ้องมองและตั้งคำถามจากนานาประเทศถึงนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์ที่ผ่านๆ มาอีกครั้ง อีกทั้งยังทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยออกมาชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

 

ประเมินการควบคุมสถานการณ์ของรัฐบาลสิงคโปร์

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา แม้สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์พยายามทำจะไม่ช่วยให้สถิติของผู้ติดเชื้อลดลง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงระบบการบริหารจัดการภายในประเทศในยามวิกฤตที่น่าสนใจ รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการประเมินสถานการณ์และปรับเปลี่ยนนโยบายได้สอดคล้องกับสถานการณ์มาโดยตลอด มีการประกาศยกเงินเดือนหนึ่งเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐบาลทุกคน ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีลงมา เพื่อช่วยในการจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสและให้โบนัสแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ต้องทำงานหนัก

นอกจากนั้นก็มีการออกนโยบายด้านเศรษฐกิจและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนในประเทศอยู่เป็นระยะ และสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำได้ดีมาโดยตลอด คือ การสื่อสารกับประชาชนในประเทศอย่างตรงไปตรงมา มีการให้ข้อมูลที่รอบด้าน มีการสื่อสารเชื่อมโยงกันระหว่างรัฐบาลกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัย และมีระบบการตรวจสอบและการใช้กฎหมายที่เข้มงวด

เมื่อมีสถานการณ์สำคัญ นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง จะออกมาแถลงข่าวกับประชาชนด้วยท่าทีเป็นกันเอง บางครั้งใส่เสื้อสีชมพูสดใสหรือเสื้อเชิ้ตดูสบายๆ ไม่ใส่หน้ากากอนามัย พูดจาชัดเจนตรงไปตรงมาและมีสาระ สามารถสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนในประเทศทุกครั้ง การสื่อสารในลักษณะนี้ทำให้ได้รับความชื่นชมจากทั่วโลก

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ไม่ได้ออกมาพูดเพื่อคนในประเทศตัวเองเพียงอย่างเดียว ยังเรียกร้องไม่ให้เกิดการอคติกับชาวจีนในลักษณะกล่าวหาว่าจีนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งยังเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและจีนร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสแทนการโจมตีกันไปมาในช่วงเวลานี้

ผู้เขียนเชื่อว่า ภาพลักษณ์เหล่านี้ผ่านการคิดและวางแผนมาเป็นอย่างดีแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ประชาชนต้องการจากผู้นำในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งได้แก่ข้อมูลที่รอบด้านชัดเจน ความเชื่อมั่น และความมั่นคงทางด้านจิตใจ

ดังนั้น การดำเนินงานของรัฐบาล ไม่ว่าการออกกฎข้อระเบียบต่างๆ หรือวิธีการควบคุมที่เข้มงวด จึงต้องทำควบคู่ไปกับการสื่อสารระหว่างผู้นำและผู้คนในประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยรับประกันและทำให้ผู้คนภายในประเทศมั่นใจได้ว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน

 

มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม

“แนนซี่” ชาวไทยที่มีครอบครัวและตั้งรกรากในสิงคโปร์เป็นเวลา 12 ปี จนตัวเธอได้รับบัตรผู้มีถิ่นพำนักถาวรและลูกของเธอได้รับสัญชาติสิงคโปร์เล่าเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น

ตัวอย่างเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนชาวสิงคโปร์

 

ชาวสิงคโปร์ที่อายุ 21 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินช่วยเหลือในเดือนเมษายนจำนวน 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมทั้งจะได้รับคูปองเงินสดสำหรับชำระภาษีสินค้าและบริการมูลค่า 150 ถึง 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นต้น โดยมีกำหนดแจกจ่ายในเดือนสิงหาคม 2563 ขณะที่ผู้ใช้แรงงานระดับล่างที่อายุระหว่าง 35 ปี หรือสูงกว่านั้นในปี 2562 จะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร โดยมีกำหนดจ่ายในเดือนกรกฎาคมและตุลาคม 2563

ตัวอย่างเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนชาวสิงคโปร์

นอกจากนั้นก็มีเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าหนึ่งงวดมูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับประชาชนชาวสิงคโปร์หรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งตกงานหรือสูญเสียเงินรายได้อย่างน้อย 30% หลังวันที่ 23 มกราคม 2563 เป็นต้นไป และเป็นผู้ที่มีรายได้ต่อปีของครอบครัว 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือน้อยกว่า หรือผู้ที่มีรายได้ต่อปี 3,100 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือน้อยกว่า และไม่ได้รับความช่วยเหลือตามโปรแกรมอื่น