ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เลือก บรรจงศักดิ์ วงปราชญ์ ส่งให้ ส.ว. ลงมติเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีมติเอกฉันท์เลือก บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เพื่อส่งให้วุฒิสภาลงมติให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

วันที่ 4 มีนาคม 2563 ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีมติเอกฉันท์เลือก บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เพื่อส่งให้วุฒิสภาลงมติให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนที่ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ผู้ได้รับคัดเลือกจากศาลปกครองสูงสุดคนก่อน ที่วุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  

ประวัติการศึกษา บรรจงศักดิ์ จบการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) และปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์)

ในส่วนของประวัติการทำงาน เริ่มต้นชีวิตในสายตุลาการศาลปกครองเมื่อปี 2544 โดยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้น และได้ดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ในปี 2552 ก่อนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในปี 2555 จนกระทั่งในปี 2561 ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 

ประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า ในการประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 มีผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนทั้งสิ้น 11 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้ให้ความยินยอมที่จะไปทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 1 คนเท่านั้น คือ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 

ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ไม่มีตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่มีสิทธิได้รับคัดเลือกให้ความยินยอมที่จะไปทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลย ทำให้ไม่สามารถคัดเลือกผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีมติให้ลดเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่จะได้รับการคัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงทำให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการคัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มจากเดิมที่มีจำนวน 14 คน เป็น 25 คน

 

ส.ว. เคยลงมติไม่เห็นชอบตุลาการสายศาลปกครองเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ในการประชุมครั้งที่ 18 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ส.ว. ได้มีมติเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 จาก 5 คน ดังนี้ 

  1. อุดม สิทธิวิรัชธรรม ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 216 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง
  2. วิรุฬห์ เสียงเทียน ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 216 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง
  3. จิรนิติ หะวานนท์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง
  4. นภดล เทพพิทักษ์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 203 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

และลงมติไม่เห็นชอบให้ ชั่งทอง โอภาสศิรวิทย์ ดำรงตำแหน่ง ด้วยคะแนนเห็นชอบ 52 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง   

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งสี่คนแล้ว ทำให้ยังขาดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากสายศาลปกครองอีกเพียงคนเดียวเท่านั้น   

ในกรณีของชั่งทอง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เคยมีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด คัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และส่งให้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบ แต่เมื่อไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดจึงต้องดำเนินการคัดเลือกคนใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ 

เมื่อคัดเลือกบรรจงศักดิ์แล้ว กระบวนการต่อไปสำนักงานศาลปกครองต้องส่งชื่อของผู้ที่ได้รับคัดเลือกไปยังวุฒิสภาเพื่อให้ ส.ว.ลงมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ตามมาตรา 204 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 12 วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ซึ่งกระบวนการในส่วนของที่ประชุมวุฒิสภานั้นต้องรอเปิดสมัยประชุมในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 จึงจะสามารถดำเนินการต่อได้ 

You May Also Like
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ
อ่าน

เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องการ สว. 67 อย่างน้อย 67 คน โหวตเห็นชอบ 

ช่วงกลางถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 จะเริ่มมีการเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนที่ สว. ชุดพิเศษ แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ อย่างไรก็ดี สว. 2567 ที่มีที่มาจากการเลือกกันเอง ก็ยังคงมีอำนาจอื่นๆ อยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะอำนาจในการลงมติแก้รัฐธรรมนูญที่พิจารณาร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)