ยกย่องบทบาทคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นสู้ ภายใต้การกดขี่เสรีภาพทั้งภูมิภาค

30 มกราคม 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยระบุว่า กระแสการประท้วงทั่วเอเชียที่มีเยาวชนเป็นแกนนำ ถือเป็นความพยายามในการต่อต้านการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบทั่วภูมิภาค

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก กล่าวว่า ปี 2562 นับเป็นปีแห่งการปราบปรามในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็เป็นปีแห่งการโต้กลับเช่นกัน ในขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคพยายามถอนรากถอนโคนเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่ประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ขัดขืน และคนหนุ่มสาวเป็นผู้อยู่แนวหน้าของการต่อสู้ครั้งนี้

ในประเทศจีน ในมณฑลซินเจียงของจีน ชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมากถึงล้านคนต้องเผชิญกับการถูกควบคุมตัว การลักพาตัวไปไว้ในค่ายกักกัน ซึ่งเป็นปฏิบัติการครั้งใหญ่นับตั้งแต่การปฏิวัติของจีนเป็นต้นมา มีความพยายามสอดส่องประชาชนด้วยระบบเทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) การใช้กฎหมายความมั่นคงที่ให้อำนาจกับพรรคคอมมิวนิสต์สามารถใช้อำนาจข้ามระบบตุลาการได้ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีการปิดกั้นเสรีภาพอย่างสูง

ในกัมพูชาเห็นความพยายามกำจัดนักการเมืองฝ่ายค้าน มีการยุบพรรคฝ่ายค้านและการดำเนินคดีฐานกบฏต่อผู้นำพรรคตรงข้ามรัฐบาล ในสิงคโปร์ รัฐบาลออกกฎหมาย “ข่าวปลอม” โดยยืนยันว่า ไม่ได้จะใช้เรื่องการเมือง แต่สำหรับหกคดีที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นการดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทั้งหมด รวมทั้งสื่ออิสระและนักข่าวที่วิจารณ์รัฐบาลสิงคโปร์ สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เราไม่เห็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาคทำอะไรเลย มีคำสัญญาจากรัฐบาลหลายประเทศว่า จะมีความรับผิดชอบ ให้ความยุติธรรม รวมทั้งการปฏิรูปตำรวจ แต่เห็นการปฏิบัติจริงน้อยมากๆ

แนวโน้มที่พบ คือ สิทธิมนุษยชนไม่ได้รับความเคารพ รัฐบาลในภูมิภาคนี้มีลักษณะคล้ายกัน คือ ถูกนำโดย “ผู้ชายที่เข้มแข็ง” (Strong Man) ตั้งแต่สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน, นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย, ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา, ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ หรือกรณีของศรีลังกา ผู้นำเหล่านี้มีนโยบายชัดเจนไม่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพ

ข้อกังวลอีกอย่างหนึ่ง คือ การเติบโตขึ้นของโซเชียลมีเดีย รัฐบาลของหลายประเทศใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ด้วยการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ แสดงการสนับสนุนรัฐบาลและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนโดยบริษัทผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก ที่ไม่รับผิดชอบต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อธุรกิจของพวกเขาไปช่วยขยายให้สิ่งเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ เช่น กรณีการเผยแพร่ความเกลียดชังชาวโรฮิงญาในพม่า

นิโคลัส เบเคลัง วิเคราะห์ด้วยว่า ในขณะที่ปี 2562 เป็นปีแห่งการปราบปรามในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็เป็นปีแห่งการโต้กลับเช่นกัน โดยกล่าวถึงบทบาทของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ต่อสู้กับความพยายามในการปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง การต่อสู้กับปฏิบัติการผ่านโซเชียลมีเดียที่รุนแรง และการเซ็นเซอร์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

“จากกลุ่มนักศึกษาในฮ่องกง ซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อต่อต้านการรุกรานของจีน จนถึงนักศึกษาในอินเดียที่ประท้วงต่อต้านนโยบายที่เป็นปรปักษ์ต่อมุสลิม จากผู้ลงคะแนนเสียงที่เป็นคนรุ่นใหม่ของไทยที่หลั่งไหลไปเลือกพรรคฝ่ายค้านใหม่อย่างท่วมท้น จนถึงผู้ชุมนุมสนับสนุนความเท่าเทียมด้านความหลากหลายทางเพศในไต้หวัน การประท้วงที่แพร่ขยายเป็นวงกว้าง โดยมีเยาวชนเป็นแกนนำทั้งในโลกออนไลน์และโลกแห่งความเป็นจริง กำลังท้าทายกับระบอบอำนาจแบบเก่า”

ในรายงานของแอมเนสตี้ระบุถึงกรณีของชาวฮ่องกงที่ออกมาประท้วงบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้มีการรับผิดต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติมิชอบ ทั้งการใช้แก๊สน้ำตาอย่างโหดร้าย การจับกุมโดยพลการ การทำร้ายร่างกาย และการปฏิบัติมิชอบระหว่างการควบคุมตัว การต่อสู้กับระบอบอำนาจแบบเก่าเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วภูมิภาค

ในอินเดีย ประชาชนหลายล้านคนเปล่งเสียงต่อต้านกฎหมายใหม่ ซึ่งเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม มีการชุมนุมประท้วงอย่างสงบเป็นวงกว้าง ในอินโดนีเซีย ประชาชนลุกฮือต่อต้านการบัญญัติกฎหมายหลายฉบับของสภา ซึ่งคุกคามเสรีภาพของประชาชน ในอัฟกานิสถาน ผู้ชุมนุมเสี่ยงภัยออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานในประเทศ ในปากีสถาน ขบวนการพาชทูน ทาฮัฟฟุซ เป็นกลุ่มปฏิบัติการโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อขัดขืนการกดขี่ของรัฐ พวกเขารณรงค์ต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย และการวิสามัญฆาตกรรม

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย กล่าวว่า มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในปี 2562 การเลือกตั้งที่หลายคนรอคอยก็เกิดขึ้น มีการยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ไปหลายฉบับ และยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่ทางกองทัพยังคงมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ข่าวใหญ่ในปีที่ผ่านมา คือ ดีเอสไอพบว่า พอละจี รักษ์จงเจริญ หรือบิลลี่ที่สูญหายไปหลายปีนั้นเสียชีวิตแล้ว แต่สุดท้ายอัยการก็สั่งไม่ฟ้องในคดีฆาตกรรม

ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่จัดรายการวิทยุวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐบาลทหารหายตัวไปหลายคน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานระหว่างการถูกควบคุมตัว มีคนที่แจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจว่า ถูกซ้อมทรมาน แต่กลับถูกดำเนินคดีกลับฐานแจ้งความเท็จ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมาน

ปลายปี 2562 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีอำนาจหน้าที่คัดกรองข้อมูลออนไลน์และจัดการกับผู้เผยแพร่ข่าวปลอมโดยไม่ได้ระบุวิธีการที่ชัดเจน ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยก็ยังเป็นเรื่องใหญ่ มีคนหลายร้อยคนถูกควบคุมตัวอยู่ในที่คุมขังคนต่างด้าว ซึ่งอยู่มาหลายปีแล้วก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะต้องอยู่นานเท่าใด

“เราเห็นว่า ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความก้าวหน้าและความพยายามทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ เรื่องสำคัญที่เรื้อรังมานาน คือ ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราเรียกร้องให้มีการสอบสวนจริงจังเกี่ยวกับการสังหารนอกระบบทุกกรณี ต้องรับรองว่า ผู้ถูกควบคุมตัวจะเข้าถึงทนายความ ญาติพี่น้อง ให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าเยี่ยมได้ อยากให้ประเทศไทยผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และจะดีมากเลยหากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง” ปิยนุชกล่าว

ปิยนุชกล่าวด้วยว่า เมื่อมีบรรยากาศการลุกขึ้นแสดงออกของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถ้าหากไม่มีการคุกคามปราบปราม ก็จะเกิดบรรยากาศที่ดีต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน เราอยากเห็นรัฐบาลไทยสนับสนุนผู้ที่ทำงานปกป้องสิทธิและเรียกร้องสิทธิของตัวเอง


ดูรายงานของแอมเนสตี้ได้ที่ เว็บไซต์ของแอมเนสตี้ ประเทศไทย
ดูข้อเสนอของแอมเนสตี้ต่อรัฐบาลไทย ได้ที่ เว็บไซต์ของแอมเนสตี้ ประเทศไทย

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม