21 มกราคม คดี “ล้มล้างการปกครองฯ” ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคดีไว้วินิจฉัยหรือไม่?

ในวันที่ 21 มกราคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย คำร้องที่ ‘ณฐพร โตประยูร’ อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างว่า พรรคการเมืองนี้กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกเป็นชื่อเล่นว่า “คดีอิลลูมินาติ” แต่อย่างไรก็ดี คดีดังกล่าวมีประเด็นทางกฎหมายที่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยเรื่อง “อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ” ก่อนว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกคำวินิจฉัยในประเด็นการสั่งยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่

เนื่องจากผู้ยื่นคำร้องในคดีนี้ทำในฐานะประชาชนทั่วไป โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ที่แม้ว่าจะให้อำนาจบุคคลสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งให้เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติใดในมาตราดังกล่าวที่จะให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรค บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 มีเพียงการสั่งให้ “เลิกการกระทำดังกล่าว” เท่านั้น 

หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พรรคอนาคตใหม่กำลังทำกิจกรรมหรือโครงการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองฯ จริง ก็มีอำนาจเพียงสั่งให้หยุดการกระทำนั้นเท่านั้น การสั่งให้ “ยุบพรรคการเมือง” จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการยุบพรรคการเมืองที่กำหนดไว้ในกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง

แม้ว่าในคำร้องของ ‘ณฐพร โตประยูร’ ได้อ้างถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) มาตรา 91 (1) และ (2) แต่บทบัญญัติดังกล่าวระบุให้ยุบพรรคได้ถ้าพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองฯ หรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ แต่การยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองยังคงเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ใช่อำนาจของบุคคลทั่วไป โดยในมาตรา 93 ระบุด้วยว่า กกต.จะมอบหมายให้เลขาธิการ กกต.ดำเนินการ หรือขอให้อัยการสูงสุดช่วยดำเนินการให้แทนได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติที่ให้บุคคลทั่วไปมีอำนาจยื่นยุบพรรค 

ดังนั้น ในการนัดอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 21 มกราคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอ่านคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกคำวินิจฉัยในประเด็นการสั่งยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในเรื่องนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปถึงเนื้อหาว่า พรรคอนาคตใหม่มีการกระทำตามที่กล่าวอ้างมาในคำฟ้องจริงหรือไม่ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยลงไปถึงเนื้อหาก็ต้องตอบคำถามในประเด็นนี้ให้ได้ก่อนว่า อำนาจของศาลเขียนไว้ในกฎหมายมาตราใด


รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 บัญญัติว่า
         “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
         ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้
         ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้
         การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง”


พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) และ (2) บัญญัติว่า
         “เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
         (1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
         (2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”


พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 93 บัญญัติว่า
         “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทําการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด
         ในการยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 คณะกรรมการจะยื่นคําร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคําร้องและดําเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดําเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดําเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้
         ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทําใดไว้เป็นการชั่วคราวตามคําร้องขอของคณะกรรมการ นายทะเบียน หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี ก็ได้”


You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์