เปิดบันทึกประชุม คสช. ตอนคัดเลือก ส.ว. 250 คน นัดเดียวจบ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 เพื่อขอทราบข้อมูลและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 เป็นระยะเวลาผ่านไปหลายเดือน จนกระทั่งมีการประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา ชุดพิเศษ 250 คน รวมทั้งรายชื่อสำรองออกมา และทั้ง 250 คน ก็เข้าทำหน้าที่ไปเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ก็เพิ่งได้รับมา
ข้อมูลส่วนหนึ่งเป็นบันทึกการประชุมของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และบันทึกการประชุมของ คสช. ในกระบวนการคัดเลือกคนมาเป็น ส.ว. เอกสารที่ได้มา ไม่ได้ลงรายละเอียดที่ชัดเจนมากนักว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินใจคัดเลือกคนมาเป็น ส.ว. ทำอย่างไร แต่ก็พอให้เห็นภาพขั้นตอนหลายประเด็นได้ ที่ไม่เคยรู้หรือไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน
คณะกรรมการสรรหา ประชุมเพียง 3 ครั้ง ก็สามารถสรรหารายชื่อ 395 คน ส่งให้ คสช. เลือกได้
จากรายงานการประชุมของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ได้รับมาจาก คสช. นั้น พบว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ชุดที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน นัดประชุมเพื่อสรรหาบุคคลซึ่งสมควรได้เป็น ส.ว. ทั้งหมดเพียงสามครั้ง ในห้วงเวลาทั้งหมด 8 วัน ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 จนถึงการประชุมครั้งที่สาม ที่ได้รายชื่อเพื่อส่งให้ คสช. ในวันที่ 7 มีนาคม 2562 และในการประชุมแต่ละครั้งไม่เคยมีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เข้าร่วมประชุมครบ โดยสรุปสาระการประชุมแต่ละครั้งได้ ดังนี้
ประชุมครั้งที่ 1 ให้เสนอคนละ 40 รายชื่อ เห็นชอบให้คณะกรรมการสรรหาเป็น ส.ว. เองได้
การประชุมคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ครั้งที่ 1/2562 วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ผู้เข้าประชุม ประกอบไปด้วยกรรมการสรรหา ส.ว. ทั้งหมด 7 คน และลาประชุม 2 คน ได้แก่ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
ในการประชุมของกรรมการครั้งที่ 1 มีประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นด้วยกันคือ
หนึ่ง เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และการทำหน้าที่
ในบันทึกการประชุมแจ้งว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า คสช. ได้ลงนามในคำสั่งที่ 1/2562 โดยให้มีคณะกรรมการทั้งหมด 10 คน แต่ พรเพชร วิชิตชลชัย ได้ขอลาออก จึงเหลือคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ทั้งหมด 9 คน การทำงานของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 9 คนสามารถทำได้ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตรา 269 ระบุให้มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 9-12 คน และไม่ทราบว่า จะมีการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมหรือไม่ ให้ทำหน้าที่กันไปก่อน ซึ่งการแต่งตั้งกรรมการนั้นให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความ และประสบการณ์ในด้านต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการที่เหลืออยู่มีครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคง การปกครอง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และ ”มีความเป็นกลางทางการเมือง”
หากกรรมการผู้ใดมีส่วนได้ส่วนเสียอันจะทำให้ไม่เป็นกลางทางการเมือง ขอให้แจ้งที่ประชุม
คณะกรรมการมีหน้าที่สรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็น ส.ว. โดยต้องไม่เป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ โดยสรรหาไม่เกิน 400 คน แล้วเสนอต่อ คสช. ก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มีนาคม 2562 เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้ได้ 194 คน และรายชื่อสำรองอีก 50 คน คาดว่า คสช. จะใช้เวลาในการคัดเลือกในห้วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายน และการประขุมในวันนี้ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ และพลเอกอนพงษ์ เผ่าจินดา ติดราชการต่างจังหวัด จึงขอลาประชุม
สอง เสนอให้วิษณุ เครืองาม ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ และวิษณุ เครืองาม อธิบายที่มาของ ส.ว. 250 คน
ในบันทึกประชุมแจ้งว่า ประธานได้แจ้งต่อที่ประชุม เสนอให้วิษณุ เครืองามทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการ ซึ่งที่ประชุมมีมติ รับทราบ
อีกเรื่อง คือ วิษณุ เครืองาม อธิบายถึงที่มาของ ส.ว. ทั้งสามประเภทตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 269 กำหนด และอธิบายคุณสมบัติของ ส.ว. ชุดแรกให้คณะกรรมการทราบ รวมไปถึงอธิบายถึงข้อห้าม และข้อปฏิบัติสำคัญของผู้ได้รับตำแหน่ง ส.ว. เช่น เมื่อพ้นจากตำแหน่ง ส.ว. ห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นระยะเวลา 2 ปี และ ส.ว. จะเป็นกรรมการในหน่วยงานราชการใดใม่ได้ เป็นข้าราขการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ และไม่เป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน เป็นต้น
สุดท้ายวิษณุ เครืองาม ได้นำแบบประวัติ และแนวทางการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามมาให้พิจารณาเป็นตัวอย่างด้วย แต่ในบันทึกการประชุมที่ได้รับมา ไม่มีตัวอย่างเอกสารดังกล่าวแนบมา ซึ่งในวาระนี้ ที่ประชุมมีมติ รับทราบ
สาม พิจารณาให้กรรมการสรรหามีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ว. ใน 400 คนแรกได้ และไม่ให้เผยแพร่ต่อสาธารณชน
ในการประชุมวาระที่สาม เรื่องเพื่อพิจารณานั้น มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ที่ประชุมได้พิจารณาว่า กรรมการสรรหาทั้งเก้าคนที่มีอยู่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ว. หรือไม่ โดยมีข้อเสนอว่า เห็นควรให้กรรมการสรรหา มีสิทธิได้รับการเสนอชื่ออยู่ในรายชื่อที่ไม่เกิน 400 คนได้ เนื่องจากเห็นว่า การเสนอชื่อไม่เกิน 400 คนแรก อาจจะไม่ได้รับเลือกเป็น 194 คนสุดท้ายที่ คสช. เลือก และคณะกรรมการสรรหามีหลายคนต้องร่วมกันกลั่นกรอง แต่ต้องไม่เป็นการเสนอชื่อตนเอง และต้องไม่อยู่ร่วมการพิจารณาลงมติในการคัดเลือกให้เหลือจำนวนไม่เกิน 400 คน อีกทั้งที่ประชุมยังเสนอว่า การเสนอรายชื่อไม่เกิน 400 คนแรก ไม่ต้องถามความเห็นชอบจากเจ้าตัวผู้ได้รับการเสนอชื่อ และขั้นตอนในการจัดทำบัญชีรายชื่อไม่เกิน 400 คน ให้ดำเนินการโดยยังไม่เปิดเผยรายชื่อต่อสาธารณะชน โดยที่ประชุมมีมติ เห็นชอบทั้งหมด
สี่ คณะกรรมการสรรหาเสนอชื่อได้คนละไม่น้อยกว่า 40 รายชื่อ
ในเรื่องที่ประชุมต้องพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง ที่ประชุมได้กำหนดว่า การเสนอชื่อนั้นให้กรรมการเสนอชื่อคนละไม่น้อยกว่า 40 รายชื่อ โดยให้มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่เข้าคุณสมบัติต้องห้าม และควรพิจารณาจากรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาปฏิรูปแห่งชาติ, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ, กรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ, คณะรัฐมนตรี, ผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการวิชาการ องค์กรธุรกิจภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  เป็นต้น โดยส่งให้เลขานุการรวบรวมรายชื่อ และประวัตินำมารวมเป็นบัญชี ส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองคุณสมบัติ แล้วรวมเป็นบัญชีรายชื่อไม่เกิน 400 คน และเสนอต่อ คสช. ต่อไป ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ
ประชุมครั้งที่ 2 พบ "ตัวเต็ง" มีคุณสมบัติต้องห้าม ให้ข้ามไปก่อน แล้วแก้ไขทีหลัง
การประชุมคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ครั้งที่ 2/2562 วันอังคารที่ 5 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ผู้เข้าประชุม ประกอบไปด้วยกรรมการสรรหา ส.ว. ทั้งหมด 8 คน และลาประชุม 1 คน ได้แก่ พลเอกธนศักดิ์ ปฏิมาประกร 
ในการประชุมของกรรมการครั้งที่ 2 มีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ
หนึ่ง กรรมการสรรหา ส.ว. ได้ส่งรายชื่อผู้ถูกคัดเลือกให้เลขานุการตรวจสอบ
ในวาระแรกของการประชุม ประธานแจ้งว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ได้ส่งรายชื่อให้เลขานุการรวบรวมไว้ตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามเบื้องต้นแล้ว
สอง คนที่ คสช. จะเลือกอย่างแน่นอน หากแก้ไขลักษณะต้องห้ามภายหลังได้ ให้ผ่านในชั้นกรรมการสรรหาไปก่อน
ในวาระการประชุมในเรื่องที่ประชุมต้องพิจารณา มีการกำหนดแนวทางในการพิจารณาผู้ที่ถูกคัดเลือกไว้ ในข้อที่ 1.1 ว่า หากผู้ที่จะถูกคัดเลือกมีคุณสมบัติต้องห้ามที่ไม่อาจแก้ไขได้ เช่น พ้นจากตำแหน่งในพรรคการเมืองมาไม่ถึง 5 ปี ก็ให้ตัดชื่อผู้นั้นออก ในข้อที่ 1.2 มีเรื่องที่น่าสนใจ คือ ในกรณีที่ปรากฏว่า คนที่ถูกคัดเลือกมา จะได้รับการคัดเลือกในชั้นการพิจารณาของ คสช. แล้วยังสามารถแก้ไขคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามได้ให้ถูกต้องครบถ้วนในภายหลัง เช่น ลาออกจากข้าราชการ ให้ผู้นั้นผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมการสรรหาไปก่อน แล้วแจ้งให้ผู้นั้นแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนการแต่งตั้ง ซึ่งที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ
ประชุมครั้งที่ 3 ได้รายชื่อครบ จบแล้ว!
การประชุมคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ครั้งที่ 3/2562 วันพฤหัสบดี 7 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
ผู้เข้าประชุม ประกอบไปด้วยกรรมการสรรหา ส.ว. ทั้งหมด 7 คน และลาประชุม 2 คน ได้แก่ พลเอกธนศักดิ์ ปฏิมาประกร และพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ
ในการประชุมของกรรมการครั้งที่ 3 มีประเด็นสำคัญประเด็นเดียว คือ เลขานุการได้เสนอรายชื่อที่จัดทำแล้วเสร็จต่อกรรมการสรรหา ส.ว.
ในการประชุมครั้งที่สาม มีเรื่องพิจารณาเพียงเรื่องเดียว คือ เลขานุการได้เสนอรายชื่อตามบัญชีที่ได้รวบรวมจากคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และสรุปยอดทั้งหมด โดยจำแนกตามความเหมาะถนัดแต่ละด้านซึ่งครอบคลุมทุกสาขาที่จะต้องดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. พิจารณาจนบัญชีแล้วเสร็จ และให้เลขานุการเตรียมเอกสารให้ประธานลงนามเพื่อเสนอบัญชีต่อ คสช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ให้ทันภายในวันที่ 9 มีนาคม 2562 ซึ่งที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ และปิดการประชุม ถือเป็นการประชุมร่วมกันครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ได้รายชื่อส่งให้ คสช. ทั้งหมด 395 รายชื่อ ภายในระยะเวลาเพียง 8 วัน 
เอกสารบันทึกการประชุมไม่ได้บันทึกรายละเอียดของข้อถกเถียงระหว่างการประชุมแบบละเอียด เช่น ควรเห็นชอบบุคคลใดด้วยเหตุใด หรือไม่เห็นชอบด้วยเหตุใด จากเอกสารที่ได้มามีเพียงวาระ และมติให้อ่านเท่านั้น จึงไม่สามารถเห็นกระบวนการและวิธีคิดเบื้องหลังในการสรรหา ส.ว. ทั้งหมดอย่างแท้จริงของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ได้
คสช. ประชุมกันเพียง 2 ครั้ง ในกระบวนการแต่งตั้ง ส.ว. ทั้ง 250 คน
จากกระบวนการสรรหาของ คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ต้องคัดเลือกรายชื่อ 395 คนให้ คสช. นั้น ใช้การประชุมเพียง 3 ครั้ง ในการได้รายชื่อทั้ง 395 คน แต่ในการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนของ คสช. นั้น ใช้การประชุมกันเพียง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการประชุมเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และการประชุมอีกครั้งเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของรายชื่อที่ได้สรรหามาให้ คสช. คัดเลือก
คสช. ประชุมคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561
จากบันทึกการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ส.ว. ของ คสช. มีรายงานการประชุมของ คสช. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ในวาระการประชุม ซึ่งอยู่ในข้อ 2.3 เกี่ยวกับมติที่ประชุม ได้แจ้งว่า ที่ประชุมของ คสช. ได้พิจารณารายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การบริหารงานในองค์การระดับสูงของประเทศ ซึ่งไม่เป็นสมาชิก หรือสังกัดพรรคการเมืองใด เพื่อกำหนดให้เป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบคณะกรรมการ ส.ว. จำนวน 10 คน ดังนี้
1. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรี)
2. พรเพชร วิชิตชลชัย (ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
3. พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (รองหัวหน้า คสช.)
4. พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย (รองหัวหน้า คสช.)
5. พลตำรวจอดุลย์ แสงสิงแก้ว (รองหัวหน้า คสช.)
6. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง (รองนายกรัฐมนตรี)
7. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี)
8. วิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี)
9. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ (รองนายกรัฐมนตรี)
10. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ)
และให้สำนักงานเลขาธิการ คสช. ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยต้องคำนึงถึงการรักษาความลับในระหว่างการดำเนินการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาอย่างเคร่งครัด
คสช. พิจารณาคัดเลือก ส.ว. 250 คน ภายในการประชุมวันเดียว อำนาจสุดท้ายอยู่ที่ประยุทธ์
ในรายงานการประชุมของ คสช. ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 มีการบันทึกถึงการเลือก ส.ว. ของ คสช. ไว้ในรายงานการประชุมดังกล่าว อยู่ในเรื่องเพื่อพิจารณา ข้อที่ 3 เรื่องการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ดังนี้
เลขานุการคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ได้อภิปรายกระบวนการสรรหารายชื่อทั้งหมดตามรัฐธรรมนูญก่อนนำมาให้ คสช. คัดเลือก โดยที่ประชุมได้อภิปราย และสอบถามหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ ความสมัครใจ และความเหมาะสมทั่วไป แล้วจึงพิจารณารายชื่อแต่ละประเภททีละรายชื่อตามลำดับ
โดยให้เลขานุการคณะกรรมการสรรหา ส.ว. อ่านรายชื่อทีละคน เริ่มจากประเภทเลือกกันเอง ที่ กกต. ได้จัดการคัดเลือกให้ จำนวนทั้งหมด 200 รายชื่อ ที่ประชุมพิจารณารายชื่อตามลำดับโดยกำหนดแนวทางพิจารณาว่า ให้มีความหลากหลายระหว่างเพศชาย หญิง อาชีพ ภูมิลำเนา (ภาค) ประสบการณ์ ความถนัด ศักยภาพในการทำงานปฏิรูป ตามกลุ่มที่ กกต. ได้จำแนกมา และอิงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ หลังจากเลือกจนได้รายชื่อครบ 50 คน และตัวสำรอง 50 คนแล้ว
จึงพิจารณารายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหา 395 คน จากคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยพิจารณาเรียกจากลำดับตัวอักษรทีละคน จนครบ 250 คน ตามหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกัน เน้นความหลากหลายด้านต่างๆ ตลอดจนการเพิ่มเติมหรือชดเชยในส่วนที่กลุ่มแรกยังขาดอยู่เพื่อให้ภาพรวมทั้ง 250 คนมีความเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจ หลังจากนั้นที่ประชุมได้มีมติ ส่งรายชื่อที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมดส่งให้หัวหน้า คสช. พิจารณารายชื่อ และปรับลำดับรายชื่อหากมีผู้ขาดคุณสมบัติ หรือปฏิเสธตำแหน่ง และให้ดำเนินทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562
เอกสารบันทึกการประชุมระบุว่า การประชุมวันนี้จัดขึ้นที่ห้องรับรองคณะรัฐมนตรี ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เริ่มในเวลา 8.30 และเสร็จสิ้นในเวลา 10.00 น.
ไฟล์แนบ