สายสิ่งแวดล้อมแห้ว ครม.ประกาศ 11 โครงการอันตราย เมินผลศึกษาและการมีส่วนร่วม

 

หลังจากเมื่อวันอังคาร (31 ส.ค.) ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้รับรองประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง 11 ประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ เพราะจะเป็นโครงการที่เกิดผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และสุขภาพ
จากมติครม.นี้ ทำให้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันคัดค้านประกาศนี้ เพราะเห็นว่ารายละเอียดที่กำหนดลักษณะของ 11 โครงการ แทบจะเป็นประกาศที่ไม่มีความหมาย เพราะแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะมีในประเทศไทย
เบื้องหลังของการพิจารณานี้ มีข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการอันตราย [1] ที่ส่งเข้าคณะรัฐมนตรีสองชุด ชุดหนึ่งมาจากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งเสนอโครงการอันตรายจำนวน 18 โครงการ อีกชุดหนึ่งมาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) สังกัดภายใต้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเสนอโครงการอันตรายจำนวน 11 โครงการ [2]
แม้จะมีข้อเสนอ 2 ชุด แต่ภาคประชาชนมีความเห็นว่า คณะรัฐมนตรีไม่ได้สนใจร่างของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ใช้วิธีศึกษาและระดมความเห็นจากประชาชนทุกภาค ซึ่งเมื่อทำข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีแล้วก็ไม่มีการดำเนินการต่อ เพียงแค่ส่งเรื่องนี้ไปยัง สวล. ซึ่งไปปรับแก้ข้อเสนอโดยไม่มีเหตุผลรองรับ
สวล. เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายทั้งหมด 5 โครงการ ตัดทิ้ง 7 โครงการ ส่วนอีก 6 โครงการนำไปปรับแก้ใหม่ในสาระสำคัญ ผลจากการปรับแก้ ได้เติมเงื่อนไขของโครงการอันตรายซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ทำให้การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องตรวจสอบ
ตัวอย่างเช่น ทำเหมืองแร่ใต้ดินที่มีโครงสร้างมีการยุบตัวภายหลังการทำเหมืองโดยไม่มีค้ำยันและไม่มีการใส่คืนวัสดุทดแทน เพื่อป้องกันการยุบตัว ต้องศึกษาผลกระทบ แต่ถ้าขุดเหมืองแร่ใต้ดินธรรมดาก็ไม่ต้องถูกตรวจสอบเลย หรือ ทำโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ถ้ากำลังผลิตไม่เกิน 3,000 เมกะวัตต์ ไม่ต้องถูกตรวจสอบเพราะ 11 โครงการที่ สวล.เสนอ ให้ถึง 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก
 
องค์กรภาคประชาชนที่ผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมเสนอให้ครม.ยกเลิกมติดังกล่าว ให้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งยังเสนอว่า การประกาศกำหนดประเภทโครงการอันตรายควรเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองกำหนดไว้
องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ความหวังอันริบหรี่
คณะกรรมการ 4 ฝ่ายนี้ มีชื่อจริงว่า "คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550" เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเร่งด่วนภายหลังจากที่ศาลปกครองสั่งระงับโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน โดยให้นายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานเพื่อแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง นี้ ก่อนหน้าที่จะมีคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เอ็นจีโอหลายกลุ่มก็ร่วมมือกันผลักดันให้มี ในรธน. ไม่จำเป็นต้องทำเป็นกฎหมายใหม่มารองรับองค์กรใหม่ แต่ให้ใช้วิธีไปแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมเดิมก็พอ (อ่านเพิ่มเติม) แต่ด้านภาคประชาชนก็กำลังมีร่างกฎหมายที่ใช้วิธีระดมรายชื่อให้ครบหมื่นชื่อ พร้อมจะผลักดันแล้วเช่นกัน
เรื่ององค์กรที่เกิดขึ้นตามมาตรา 67 วรรคสองนี้คงยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะไม่เพียงข้อเสนอที่ต้องการให้มีองค์การอิสระระดับชาติ ซึ่งยากที่จะได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ ในเวลานี้ยังมีคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ตั้งขึ้นชั่วคราว น่ากังวลใจว่าแม้คณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นเอง เมื่อมีข้อเสนอแล้วคณะรัฐมนตรีก็ยังไม่เหลียวแล ไม่ต่างกับการทำงานศึกษา การจัดเวทีระดมความเห็น หรือประชาพิจารณ์ ที่ไม่ได้มีภาระผูกพันใดๆ เพราะผู้มีอำนาจสามารถเลือกได้ว่าอยากนำผลชุดไหนไปพิจารณา
ล่าสุดเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อคัดค้านประกาศนี้ โดยให้ผู้ลงชื่อแจ้งเหตุผลประกอบว่าทำไมจึงคัดค้าน ดังรายละเอียดในแบบฟอร์มนี้
หมายเหตุ:
[1] คำว่า "โครงการอันตราย" ไม่ใช่คำทางการ แต่เพื่อให้เข้าใจง่าย กองบรรณาธิการขออนุญาตเรียกใช้เป็นชื่อเล่น แทนความหมายถึงโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบก่อนดำเนินการ
ข้อมูลเพิ่มเติม:
 
 
ที่มาภาพ : bslmmrs

 

 

ไฟล์แนบ