รับฟังข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสมัชชาคนจน ชาวบ้านขอสิทธิชุมชน-กระจายอำนาจจัดการ

เวลา 17.00 น. รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ ประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เข้ารับฟังปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสมัชชาคนจน ที่มาปักหลักชุมนุมต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2562 ที่ด้านข้างคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งสหประชาชาติ
 
 
 
 
ครช. คือ เครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการที่รณรงค์เพื่อการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยช่วงปลายปี 2562 อยู่ในช่วงที่ทาง ครช. จัดกิจกรรมและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มภาคประชาชนที่ประสบปัญหาหลากหลาย 
 
 
++ กฎหมายมีประโยชน์ไม่ถูกใช้ ผลักสิทธิชุมชนเป็นบทหลักในรัฐธรรมนูญ
 
 
สายัณย์ ทองสม ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดกล่าวว่า ที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินไม่ได้ ไม่ใช่เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ กฎหมายมีอยู่แต่กลับไม่เอากฎหมายมาแก้ไข วิธีการที่ไม่เคยพูดถึง คือ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ 2511 แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2560 วันนี้สมัชชาคนจนจึงเริ่มจากการผลักดันให้นำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้แก้ไขปัญหา
 
 
 
 
อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อปี 2561 กล่าวถึงการแก้ไขปัญหา คือ กลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนการออกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2541 กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ครอบครองที่ดินหลังมติคณะรัฐมนตรีปี 2541 ถึงปี 2557 กลุ่มสาม คือ ผู้ที่ครอบครองระหว่างปี 2557-2562 แยกออกจากกันอย่างชัดเจน กลุ่มสามจะต้องถูกดำเนินคดีทุกคน กลุ่มอยู่ก่อนคำสั่ง คสช. ทำกินได้ แต่ซ่อนเงื่อนไว้ด้วยเนื้อหาตามมติดังกล่าวว่า พื้นที่ต้องไม่ล่อแหลมต่อระบบนิเวศ คือ ไม่ใช่พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่งตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ต้องไม่ใช่พื้นที่ที่มีพันธุ์พืชที่หลากหลาย หรือสัตว์ป่าหายากจะสูญพันธุ์
 
 
 
ในกรณีที่เข้าครอบครองหลังมติคณะรัฐมนตรีปี 2541 ต้องพิสูจน์ว่า เป็นคนจนหรือไม่ รายได้เกิน 30,000 บาทต่อปีไม่ใช่คนจน ซึ่งดูจะเป็นไปไม่ได้เพราะเกณฑ์ขั้นต่ำน้อยมาก สรุปคือ ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาทำกินได้อย่างแน่นอน ที่ผ่านมาทางกลุ่มฯพยายามแก้ไขปัญหา คือ ทำหนังสือรับรองที่ดินทำกินเดิมให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรับรอง และนำไปยืนยันกับรัฐว่า ชาวบ้านครอบครองพื้นที่มาก่อน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่องการทำสัญญากับรัฐว่า ชาวบ้านมีภาระผูกพันที่จะต้องดูแลป่าที่ติดกับพื้นที่ครอบครอง ถ้าทำแบบนี้ทั่วประเทศรับรองว่า ป่าไม้ไม่ถูกทำลายโดยรัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินสักบาทเดียว
 
แนวทางการที่อยากให้แก้ไขและใส่เพิ่มลงไปในรัฐธรรมนูญ คือ หนึ่ง กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับสิทธิชุมชนให้ถือว่า เป็นโมฆะ สอง ที่ดินที่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเกินสิบปี ให้รัฐต้องยึดคืน บุคคลใดครอบครองที่ดินรกร้างเกินสิบปีจะเป็นสิทธิครอบครองของบุคคลนั้น ขณะเดียวกันทางกลุ่มยังต้องการให้ประชาชนมีโอกาสเขียนรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง
 
 
 
++ กระจายอำนาจการตัดสินใจเรื่องทรัพยากรให้ท้องถิ่น จำกัดบทบาทกองทัพไม่ให้ฉีกรัฐธรรมนูญ
 
 
 
ไพฑูรย์ สร้อยสด ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการไล่ยึดที่ดินชุมชนบ้านเก้าบาตร จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญ คือ โครงสร้างอำนาจในการจัดการที่ดิน การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม โครงสร้างอำนาจที่คนมีอำนาจในการจัดการอยู่กรุงเทพฯ แค่กระจุกเดียว ไม่กระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ ทำให้ปัญหาที่ดินแก้ไขไม่ได้สักที ทางแก้ปัญหา คือ ให้ชาวบ้านมีอำนาจร่วมในการตัดสินใจ ร่วมในการตัดสินใจที่ไม่ใช่การเข้าร่วมเฉยๆ ไพฑูรย์เล่าย้อนถึงพัฒนาการของรัฐว่า เดิมทีมีกรรมการจะให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าเพียงฝ่ายเดียว ต่อมามีการให้ชาวบ้านเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นเฉยๆ แต่รัฐจะนำความคิดเห็นของชาวบ้านไปปฏิบัติหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นหากชาวบ้านได้ตัดสินใจ การแก้ไขปัญหาตรงจุดมากขึ้น เหมือนตัดเสื้อได้พอดีกับตัวชาวบ้านมากกว่า
 
 
 
 
วันนี้การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนมีข้อเสนอใหม่ คือ เรื่องการกระจายอำนาจในการจัดการ ให้อำนาจคณะกรรมการระดับชาติมีหน้าที่ในการส่งเสริมและดูแลเท่านั้น และให้ภาคส่วนระดับพื้นที่หรือท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากร ส่วนแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องสร้างโอกาสในการเขียนรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมกันตั้งแต่แรก และจำกัดอำนาจของกองทัพไม่ให้กลับมารัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญได้อีก
 
 
++ รธน. ปรับปรุงได้แต่ต้องคงหลักเรื่องสิทธิและเสรีภาพ
 
 
ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้านเริ่มต้นในปี 2535 สี่ปีให้หลังก็มาเคลื่อนไหวร่วมกับสมัชชาคนจน ต่อมาในปี 2540 ก็มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนามาร่วมด้วย การเคลื่อนไหวของกลุ่ม คือ การชุมนุม ยื่นหนังสือต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและการศึกษารวบรวมองค์ความรู้ สองเขื่อนนี้เป็นเขื่อนที่แปลกคือ ไม่ศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อน ใช้ชื่อโครงการว่า เป็นฝาย ซึ่งเป็นเทคนิคทางกฎหมาย ทำให้ไม่ต้องศึกษาผลกระทบก่อน เมื่อมีเขื่อนชาวบ้านก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการทำนาเลี้ยงควาย แต่สุดท้ายทำประมงก็จำนวนปลาลดลง ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง
 
 
 
 
อุปสรรคในการทำงาน คือ กฎหมายหลายฉบับยังมีข้อขัดแย้งกัน ที่ผ่านมาเรามีการทำงานจัดตั้งวังปลา ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานเช่นกรมเจ้าท่า กรมประมงและกรมชลประทาน กรมเจ้าท่าระบุว่า ไม่ให้มีการทำสิ่งกีดขวางในลำน้ำ ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งกัน ขณะเดียวกันการที่รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เนื่องจากกระบวนการแก้ไขปัญหาไม่เข้ากับพื้นที่ ไม่ได้คำนึงถึงบริบท อำนาจในการตัดสินใจไม่อยู่ในพื้นที่
 
 
ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางกลุ่มมองว่า ความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกอย่าง ส.ว. มีอำนาจมาก กลไกตัวแทนประชาชนในระบบรัฐสภาก็ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องกำหนดกรอบอำนาจผู้แทนของประชาชนให้ชัดเจน ส่วนเรื่องการฉีกรัฐธรรมนูญเห็นว่า กฎหมายต้องปรับปรุงตามกาลสมัย แต่หลักการสิทธิเสรีภาพสมควรยืนอยู่
 
 
 
นอกจากตัวแทนจากสามพื้นที่ที่กล่าวไปแล้วยังมีตัวแทนจากผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร ที่กล่าวถึงปัญหาการสร้างเขื่อนท่าแซะ ที่ผ่านมามีการยื่นหนังสือที่อำเภอ ทำเนียบรัฐบาลและจังหวัดมีผลให้โครงการชะลอชั่วคราวเมื่อปี 2551 ในช่วง คสช. ชาวบ้านก็ต่อสู้อยู่เรื่อยๆ แต่เหมือนกับว่า รัฐบาลใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งโครงการเขื่อนดังกล่าวยังอยู่ในยุทธศาสตร์ 20 ปีที่รัฐจะหยิบมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล คือ ยกเลิกโครงการเขื่อนท่าแซะเท่านั้น
 
 
 
ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแก่งเสือเต้นกล่าวว่า เริ่มมีสัญญาณว่า รัฐจะนำโครงการเขื่อนกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง สัญญาณที่ว่า คือ ทุกครั้งที่มีน้ำท่วม น้ำแล้งเรื่องเขื่อนจะถูกหยิบยกมาพูดตลอด ข้อเรียกร้อง คือ อยากให้รัฐบาลยกเลิกการสร้างเขื่อนทุกเขื่อนในประเทศไทย