5 ข้อควรรู้ก่อนการประชุมสภาเลือกนายกรัฐมนตรี

วันนี้ (5 มิถุนายน 2562) เวลา 11.00 น. จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ที่หอประชุมใหญ่ อาคาร 9 ชั้น 2 บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อพิจารณาวาระที่ทุกคนรอคอยว่าสุดท้ายแล้วใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ก่อนจะไปลุ้นกันในสภา ไอลอว์ขอพาทุกคนไปพบกับ 5 ข้อที่ควรรู้ก่อนการประชุมสภาเลือกนายกรัฐมนตรี
 
1. ประยุทธ์-ธนาธร 2 ผู้ท้าชิงจาก 7 ผู้มีสิทธินั่งเก้าอี้นายกฯ 
รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากหนึ่งในสามรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ก่อนการเลือกตั้ง และต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่ต่ำกว่า 25 คน นอกจากนี้ เมื่อจะเสนอให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ หรือ ไม่น้อยกว่า 50 คน  ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง และไม่จำเป็นต้องได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 
หลังประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. เหลือเพียง 7 คน เท่านั้นที่มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจาก 5 พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. ไม่ตำ่กว่า 25 คน ได้แก่ 1) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคเพื่อไทย 2) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พรรคเพื่อไทย 3) ชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทย 4) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคพลังประชารัฐ 5) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ 6) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ 7) อนุทิน ชาญชีรกูล พรรคภูมิใจไทย
2) การเลือกนายกฯ ต้องใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาหรือ 376 เสียง 
สภาผู้แทนราษฎรของไทย ประกอบไปด้วย ส.ส. จำนวน 500 คน (ปัจจุบันเหลือ 499 คน-ธนาธร จึงรุงเรืองกิจ ถูกยุติหน้าที่ชั่วคราว) มาจาก พรรคการเมืองทั้งหมด 26 พรรค โดยมี 7 พรรคการเมือง จับมือกันเป็น “ฝ่ายไม่สืบทอดอำนาจ คสช.” ได้แก่ เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ ประชาชาติ เพื่อชาติ และพลังปวงชนไทย ซึ่งมี ส.ส. รวมกัน 246 คน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้รวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล มีประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา รวมพลังประชาชาติไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒานา พลังท้องถิ่นไท รักผืนป่าประเทศไทย และ 11 พรรคที่ได้ ส.ส. อย่างละ 1 คน เข้าร่วมมี ส.ส. รวมกัน 254 คน
โดยปกติ รัฐธรรมนูญให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 251 เสียง แต่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า ใน 5 ปีแรกของรัฐสภาใหม่ให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส. โดยรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวมเป็น 750 คน ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือ 376 เสียง
3) ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน จาก คสช. ร่วมโหวตนายกฯ 
บทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรก จำนวน 250 คน มีวาระ 5 ปี ซึ่งล้วนแต่มีที่มาจาก คสช. โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท 1) ส.ว. แต่งตั้ง จากตำแหน่งผู้นำทุกเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหม 6 คน 2) ส.ว. จากการคัดเลือกกันเองของ 10 กลุ่มอาชีพ แล้ว คสช.จะคัดเลือกรอบสุดท้ายให้เหลือ 50 คน 3) ส.ว. จากคณะกรรมการสรรหา 194 คน ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน คัดเลือกมา 400 คน และให้ คสช. คัดเหลือ 194 คน 
เมื่อ ส.ว. แต่งตั้ง ทั้ง 250 คน สามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส. ได้ และการเลือกนายกรัฐมนตรีใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาหรือ 376 เสียง ทำให้เสียงของ ส.ว. คิดเป็นสองในสามของเสียงที่ใช้เลือกนายกรัฐมนตรี และถ้าพรรคการเมืองใดสามารถรวบรวม ส.ส. ได้เพียง 126 คน แล้วจับมือกับ ส.ว. ก็สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ด้วยเหตุนี้ ส.ว. จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในเลือกนายกรัฐมนตรี
4) ถ้าเลือกนายกฯ ที่พรรคเสนอไม่สำเร็จ อาจเกิด “นายกฯ คนนอก”
หากรัฐสภา หรือ ส.ส. และ ส.ว. ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากหนึ่งในสามรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอไว้ได้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ได้ หรือ เปิดทางให้มี ‘นายกฯ คนนอก’ ได้ 
โดยมีขั้นตอน ได้แก่ 1) ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 375 คน ลงมติขอยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ 2) ส.ส. และ ส.ว. ประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 500 คน เสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ และ 3) ส.ส. และ ส.ว. รวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 คน ลงมติเห็นชอบเลือกให้บุคคลผู้นั้นเป็นนายกรัฐมนตรี
5) คสช. และม. 44 จะอยู่ต่อไปจนกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จ
รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องเสร็จเมื่อใด ดังนั้น การประชุมสภาเลือกนายกรัฐมนตรีอาจใช้เวลามากเท่าใดก็ได้ ซึ่งถ้าหากรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ คสช. ก็จะคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญให้ คสช. และรัฐบาลของคสช. ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง 
ขณะเดียวกัน จนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ รัฐบาลของคสช. ก็ยังคงอำนาจเต็ม ไม่ใช่แค่รัฐบาลรักษาการ ยังมีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณและแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้อยู่ และพล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังคงอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 อยู่อีกด้วยเช่นกัน