ใครเป็นใครใน ส.ส.เขต พลังประชารัฐ

97 คือ จำนวนเขตที่ ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ สามารถคว้าที่นั่งมาได้ในการเลือกตั้ง 2562 เป็นอันดับสองรองจากพรรคเพื่อไทยที่ได้ 136 ที่นั่ง* พลังประชารัฐเป็นพรรคก่อตั้งใหม่ในปี 2561 เพื่อมาสืบทอดอำนาจของ คสช. ทั้งในแง่นโยบาย เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน และแง่บุคคลที่พรรคพลังประชารัฐชูพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นบุคคลในบัญชีนายกรัฐมนตรีอันดับหนึ่งและหนึ่งเดียวของพรรค
 
 
 
 
แกนนำและผู้สนับสนุนของพรรคการเมืองนี้ประกอบด้วยบุคคลที่เคยร่วมงานกับคสช.ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาและนักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งบรรดา ส.ส. “พลังดูด” ระดับคุณภาพจากพรรคการเมืองอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อพลิกดูรายชื่อ ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐที่ชนะจากระบบแบ่งเขตทั้ง 97 เขต พอจะจัดแบ่งประเภทได้ ดังนี้
 
 
1. ส.ส.พลังดูด 37 คน
 
 
พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต 97 เขต เป็นผลงานของ ส.ส. แชมป์เก่าที่ถูกพลังดูดให้ย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐจำนวน 37 คน กวาดคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐไปทั้งสิ้น 1,412,522คะแนน โดยแบ่งเป็นอดีต ส.ส. หรืออดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทยจำนวน 22 คน คะแนนรวม 866,267 คะแนน, พรรคประชาธิปัตย์ 6 คน คะแนนรวม  170,153 คะแนน, พรรคชาติไทยพัฒนา 4 คน คะแนนรวม 159,497 คะแนน, พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 1 คน คะแนนรวม 41,918 คะแนน, พรรคพลังชล 2 คน คะแนนรวม 92,912 คะแนน และพรรคภูมิใจไทย 2 คน คะแนนรวม 81,775 คะแนน
 
 
ตัวอย่างที่ดีที่สุดของ ส.ส. “พลังดูด” เจ้าของพื้นที่ คือ ฐานิสร์ เทียนทอง ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดสระแก้ว ซึ่งทำคะแนนได้ดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มส.ส.พลังดูด เขาได้คะแนน 63,099 คะแนนจากบัตรดี 100,804 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 62.596 ของจำนวนบัตรดีในเขตนั้น ฐานิสร์เป็นผู้แทนที่เกาะติดพื้นที่มาอย่างยาวนาน โดยได้รับเลือกเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตครั้งแรกปี 2539 จนถึงปัจจุบัน ในปี 2539 สังกัดพรรคความหวังใหม่ ต่อมาในปี 2544 และ 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย ก่อนที่ในปี 2550 จะย้ายออกไปสังกัดพรรคประชาราช การเลือกตั้งครั้งนั้นเขาได้รับคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ในจังหวัดสระแก้ว (การเลือกตั้ง 2550 สระแก้วมี 1 เขตเลือกตั้ง ผู้แทน 3 คน) และในปี 2554 กลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทย จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ฐานิสร์ย้ายพรรคทั้งสิ้น 4 ครั้ง แต่ไม่เคยหลุดออกจากตำแหน่ง ส.ส.เลยสักครั้งเดียว
 
 
 
 
ลำดับ จังหวัด ชื่อ-สกุล พรรคสังกัดเดิม คะแนนที่ได้ คะแนนรวม %
1 สระแก้ว ฐานิสร์ เทียนทอง เพื่อไทย 63099 100804 62.6
2 สระแก้ว ตรีนุช เทียนทอง เพื่อไทย 52787 98292 53.7
3 พะเยา ธรรมนัส พรหมเผ่า เพื่อไทย 52417 98921 52.99
4 ชัยนาท มณเฑียร สงฆ์ประชา ชาติไทยพัฒนา** 48505 92292 52.56
5 ชลบุรี รณเทพ อนุวัฒน์ พลังชล 54644 106056 51.52
6 เพชรบูรณ์ จักรัตน์ พั้วช่วย พลังประชาชน 49741 105067 47.34
7 นครราชสีมา อธิรัฐ รัตนเศรษฐ เพื่อไทย 40454 86124 46.97
8 ชัยนาท อนุชา นาคาศัย เพื่อไทย 44104 94774 46.54
9 ราชบุรี ปารีณา ไกรคุปต์ เพื่อไทย 46409 101947 45.52
10 เพชรบูรณ์ วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ เพื่อไทย 43242 97855 44.19
11 สงขลา วันชัย ปริญญาศิริ เพื่อไทย 37134 90817 40.89
12 ตาก ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ เพื่อไทย 43787 107487 40.74
13 กาญจนบุรี พลเอกสมชาย วิษณุวงศ์ เพื่อไทย 40308 100348 40.168
14 ราชบุรี บุญยิ่ง นิติกาญจนา ภูมิใจไทย 40030 100038 40.01
15 นครราชสีมา สมศักดิ์ พันธ์เกษม ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 41918 105651 39.68
16 กาญจนบุรี อัฏฐพล โพธิพิพิธ ประชาธิปัตย์ 21363 54369 39.29
17 สิงห์บุรี โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

ชาติไทยพัฒนา

48970 125186 39.12
18 เพชรบูรณ์ เอี่ยม ทองใจสด เพื่อไทย 36034 94485 38.14
19 กำแพงเพชร พันตำรวจโทไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ เพื่อไทย 34271 91596 37.42
20 นครราชสีมา ทัศนียา รัตนเศรษฐ เพื่อไทย 35983 98363 36.58
21 เพชรบูรณ์ สุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ เพื่อไทย 35225 97159 36.26
22 กำแพงเพชร อนันต์ ผลอำนวย พลังประชาชน 31127 86951 35.8
23 ฉะเชิงเทรา สุชาติ ตันเจริญ เพื่อไทย 31265 87761 35.63
24 ชลบุรี สุชาติ ชมกลิ่น พลังชล 38268 111517 34.32
25 สมุทรปราการ กรุงศรีวิไล สุทินเผือก ภูมิใจไทย 41745 122662 34.03
26 กำแพงเพชร ปริญญา ฤกษ์หร่าย เพื่อไทย 30112 89152 33.78
27 กำแพงเพชร ไผ่ ลิกค์ เพื่อไทย 32642 97365 33.53
28 ชลบุรี สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ประชาธิปัตย์ 31261 94469 33.09
29 นราธิวาส วัชระ ยาวอหะซัน ชาติไทยพัฒนา 32268 98960 32.61
30 กาญจนบุรี ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ประชาธิปัตย์ 30287 95814 31.61
31 กทม. ชาญวิทย์ วิภูศิริ ประชาธิปัตย์ 31551 100447 31.41
32 นครสวรรค์ นิโรธ สุนทรเลขา เพื่อไทย 25998 84898 30.62
33 นครสวรรค์ วีระกร คำประกอบ เพื่อไทย 31051 102330 30.34
34 ระยอง สมพงษ์  โสภณ เพื่อไทย 29077 97025 29.97
35 สระบุรี กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประชาธิปัตย์ 31035 120669 25.72
36 นครสวรรค์ ภิญโญ นิโรจน์ ประชาธิปัตย์ 24656 98290 25.08
37 แม่ฮ่องสอน ปัญญา จีนาคำ ชาติไทยพัฒนา 29754 133617 22.27

 

 
2. นักการเมืองท้องถิ่น 35 คน
 
 
ช่วงก่อนการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐไม่เพียงถูกกล่าวหาว่า ดูด ส.ส. จากพรรคการเมืองคู่แข่ง แต่ยังดึงตัวนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนพรรคอีกด้วย จากจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ชนะการเลือกตั้ง 97 คน เป็นที่นั่งที่ได้จากอดีตนักการเมืองท้องถิ่น 35 เขต โดยกวาดคะแนนไปทั้งสิ้น 1,177,485 คะแนน
 
 
แบ่งประเภทตามตำแหน่งในการเมืองท้องถิ่น ดังนี้ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 3 คน คะแนนรวม 110,735 คะแนน, อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 4 คน คะแนนรวม 146,591 คะแนน, อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 คน คะแนนรวม 59,901 คะแนน, อดีตรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน คะแนนรวม 37,011 คน, อดีตนายกเทศมนตรี 5 คน คะแนนรวม 179,169 คน, อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 14 คน คะแนนรวม 473,188 คะแนน, อดีตสมาชิกสภาเทศบาล 1 คน คะแนนรวม 34,211 คะแนน, อดีตสมาชิกสภากทม. 4 คน คะแนนรวม 111,350 คะแนน  และสมาชิกสภาเขตกทม. 1 คน คะแนนรวม 25,329 คะแนน
 
 
หากแบ่งตามจังหวัดพบว่า กรุงเทพมหานครมีนักการเมืองท้องถิ่นที่มาสังกัดพรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งได้มากที่สุด 5 ที่นั่ง คือ กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา, กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ, จักรพันธ์ พรนิมิตร และกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ทั้งหมดเคยเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และศิริพงษ์ รัศมี อดีตประธานสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย เท่าที่มีข้อมูลพบว่า พรรคพลังประชารัฐได้ดึงตัวอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานครของพรรคประชาธิปัตย์ไม่น้อยกว่า 5 คน และพรรคเพื่อไทย ไม่น้อยกว่า 2 คน
 
 
ลำดับที่ จังหวัด ชื่อ-สกุล พรรคสังกัดเดิม คะแนนที่ได้ คะแนนรวม %
1 เพชรบุรี สุชาติ อุสาหะ รองนายกอบจ.เพชรบุรีและฐานเสียงปชป. 46901 96412 48.646
2 ฉะเชิงเทรา ชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ สมาชิกสภาอบจ.ฉะเชิงเทรา 44500 103213 43.115
3 พะเยา จีรเดช ศรีวิราช นายกเทศมนตรีเมืองดอกคำใต้ 41755 97547 42.805
4 สระแก้ว สุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ สมาชิกสภาอบจ.สระแก้ว 41962 98073 42.786
5 สงขลา พยม พรหมเพชร นักการเมืองท้องถิ่น,สมาชิกสภาอบจ.สงขลา 42390 103425 40.986
6 กาญจนบุรี สมเกียรติ วอนเพียร นายกเทศมนตรีต.สำรอง 32882 81021 40.585
7 ขอนแก่น วัฒนา ช่างเหลา รองนายกอบจ.ขอนแก่น 46276 115439 40.087
8 สุโขทัย พรรณสิริกุล นาถสิริ นายกอบจ.สุโขทัย 43957 112111 39.208
9 สุโขทัย ชูศักดิ์ คีรีมาศทอง สมาชิกสภาอบจ.สุโขทัย 40419 103229 39.155
10 ชัยภูมิ สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ นายกเทศมนตรีต.วะตะแบก 32352 82726 39.107
11 ราชบุรี กุลวลี นพอมรบดี สมาชิกสภาอบจ.ราชบุรี/ลูกสาว มานิต นพอมรบดี 39158 100965 38.784
12 สมุทรปราการ อัครวัฒน์ อัศวเหม นายกอบจ.สมุทรปราการ 34668 90691 38.227
13 อุบลราชธานี ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ รองนายกอบจ.อุบลราชธานี 32630 85484 38.171
14 นราธิวาส สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก 34211 90660 37.735
15 นครราชสีมา ทัศนาพร เกษเมธีการุณ นายกเทศมนตรีเทศบาลต.ห้วยแถลง 36473 101159 36.055
16 เพชรบุรี สาธิต อุ๋ยตระกูล สมาชิกสภาอบจ.เพชรบุรี 34637 97463 35.539
17 เพชรบูรณ์ พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ รองประธานอบจ.เพชรบูรณ์ 37011 104911 35.278
18 สุรินทร์ ณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ สมาชิกสภาอบจ.สุรินทร์ 35446 105093 33.728
19 กทม. กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา สมาชิกสภากทม. 27620 82412 33.515
20 ชัยภูมิ เชิงชาย ชาลีรินทร์ สมาชิกสภาอบจ.อ.จตุจัส 33614 103108 32.601
21 พิจิตร สุรชาติ ศรีบุศกร ประธานสภา อบจ. พิจิตร 30325 93443 32.453
22 นครศรีธรรมราช สายัณห์ ยุติธรรม ประธานสภา อบจ.นครศรีธรรมราช 29576 93018 31.796
23 สมุทรปราการ ยงยุทธ สุวรรณบุตร  นายกเทศมนตรีต.แพรกษา 35707 114477 31.191
24 สมุทรปราการ ไพลิน เทียนสุวรรณ สภาชิกสภาอบจ.สมุทรปราการ 27875 91574 30.44
25 สมุทรปราการ ภริม พูลเจริญ สภาชิกสภาอบจ.สมุทรปราการ 29424 98854 29.765
26 นครปฐม ปฐมพงศ์ สูญจันทร์ นายกอบจ.นครปฐม 32110 108593 29.569
27 พิษณุโลก อนุชา น้อยวงศ์ สมาชิกสภาอบจ.พิษณุโลก 25207 86672 29.083
28 กทม. กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ สมาชิกสภากทม. 23246 81257 28.608
29 กทม. จักรพันธ์ พรนิมิตร สมาชิกสภากทม. 31394 112151 27.993
30 กทม. ศิริพงษ์ รัศมี ประธานสมาชิกสภาเขตกทม. 25329 91328 27.734
31 กทม. กษิดิ์เดช ชุติมันต์ สมาชิกสภากทม. 29090 108656 26.773
32 ตาก ภาคภูมิ วิบูลย์ประมุข รองนายกอบจ.ตาก 20784 79526 26.135
33 นนทบุรี เจริญ เรี่ยวแรง สมาชิกสภาอบจ.นนทบุรี 31767 125052 25.403
34 พิจิตร ภูดิท อินสุวรรณ์ สมาชิกสภาอบจ.พิจิตร 21466 86614 24.784
35 สมุทรสาคร จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ สมาชิกสภาอบจ.สมุทรสาคร 25323 102835 24.625
 
 
พลังประชารัฐยึดเพชรบุรี เขี่ยอิทธิพล “พลบุตร-สุภาแพ่ง” ของประชาธิปัตย์
 
 
เมื่อแบ่งตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ ผู้ทำคะแนนได้ดีที่สุด คือ สุชาติ อุสาหะ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 เพชรบุรี ทำคะแนนได้ดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น เขาได้คะแนน 46,901 คะแนนจากบัตรดี 96,412 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 48.646 ของจำนวนบัตรดีในเขตนั้น  สุชาติคร่ำหวอดอยู่ในวงการการเมืองท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี, ประธานสภาจังหวัดเพชรบุรีและรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี  ทั้งยังเป็นผู้ช่วยของอลงกรณ์ พลบุตร แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้ง 2562 สุชาติสามารถล้ม “แชมป์เก่า” อย่างตามมาด้วยอภิชาติ สุภาแพ่ง ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ไป 21,980 คะแนน ที่ได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2544-2554
 
 
ที่ผ่านมาพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีถือเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์และมีตระกูลการเมืองหลักๆ ที่ครองพื้นที่ เช่น พลบุตรและสุภาแพ่ง  ทั้งสองตระกูลผูกขาดเป็นผู้แทนของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้ง 2562 พรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัคร คือ อรรถพร พลบุตร น้องชายของอลงกรณ์ เขต 1, กัมพล สุภาแพ่ง ส.ส. 2 สมัย เขต 2 และอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส. 4 สมัย เขต 3 ขณะที่พรรคพลังประชารัฐส่ง กฤษณ์ อยู่แก้ว ประธานสภาทนายความจังหวัดเพชรบุรี เขต 1, สาธิต อุ๋ยตระกูล สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี เขต 2 และสุชาติ อุสาหะ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐชนะเด็ดขาดในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี คว้าไปทั้งหมด 3 ที่นั่ง โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ที่นั่งสักที่นั่งเดียวในจังหวัดเพชรบุรี
 
 
นอกจากนี้จากจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นที่ชนะการเลือกตั้ง 35 คน มี 2 คนที่มีนามสกุลเดียวกันกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเคยถูกหัวหน้า คสช. ใช้คำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อตรวจสอบการทุจริตคือ ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ เขต 6 อุบลราชธานี โดยก่อนหน้านี้คนในตระกูลโควสุรัตน์อย่างพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลราชธานี ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2558 นอกจากธนะสิทธิ์ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐแล้ว ยังมีสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ย้ายไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐด้วย
 
 
 
“อัศวเหม” นำทัพ ทวงคืนปากน้ำจากเพื่อไทย ยกให้พลังประชารัฐ
 
 
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ อัครวัฒน์ อัศวเหม ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเขต 1 สมุทรปราการ ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ที่ 34,668 คะแนน อัครวัฒน์เป็นลูกพี่ลูกน้องของชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ถูกระงับตำแหน่งเพื่อตรวจสอบตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2558 และยังไม่ได้โอกาสคืนสู่ตำแหน่ง โดยชนม์สวัสดิ์ได้นำ “กลุ่มปากน้ำ” หรือ “สมุทรปราการก้าวหน้า” เข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ
 
 
ตระกูลอัศวเหมถือเป็นตระกูลการเมืองที่สำคัญในการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรปราการและสามารถมีตำแหน่งแห่งที่ในการเมืองระดับชาติได้อย่างต่อเนื่อง บุคคลสำคัญ คือ วัฒนา อัศวเหม พ่อของชนม์สวัสดิ์  อัศวเหม ระหว่างปี 2518-2539 วัฒนาชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ในจังหวัดสมุทรปราการมาตลอด ก่อนที่ในปี 2544 จะถูกทอนบทบาทจากอิทธิพลของพรรคไทยรักไทยที่ชิงเก้าอี้ส.ส.ในจังหวัดสมุทรปราการไปเกือบทั้งหมด ทำให้ตระกูลอัศวเหมต้องถอยไปปักหลักในพื้นที่การเมืองท้องถิ่น นับแต่นั้นพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการกลายเป็นฐานสำคัญของพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทยในการเมืองระดับชาติ
 
 
สถานการณ์เปลี่ยนในการเลือกตั้ง 2562 พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร คือ สุทธิรัตน์ ยังตรง เขต 1, ภิญโญ เลิศกิจไพโรจน์ เขต 2, ประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย ส.ส. จังหวัดสมุทรปราการ 2544-2554 เขต 3, วรชัย เหมะ ส.ส. จังหวัดสมุทรปราการ 2554 เขต 4, สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ ส.ส. จังหวัดสมุทรปราการ 2554 เขต 5, นฤมล ธารดำรงค์ ส.ส. จังหวัดสมุทรปราการ 2550 เขต 6 และนันทวรรณ ประสพดี เขต 7 โดย 4 คนเคยเป็น ส.ส. เก่า ยกเว้น สุทธิรัตน์ ยังตรง, ภิญโญ กิจเลิศไพโรจน์และนันทวรรณ ประสพดี แต่ทั้ง 3 คนยังคงอยู่ในกลุ่มการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งในเขตจังหวัดสมุทรปราการมาก่อน
 
 
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐส่งผู้สมัครที่เกือบทั้งหมดเป็นหรือมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองท้องถิ่น คือ อัครวัฒน์ อัศวเหม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เขต 1, ยงยุทธ สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา เขต 2, ภริม พูลเจริญ สภาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เขต 3, จาตุรนต์ นกขมิ้น ลูกชายของ ทรงชัย นกขมิ้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ เขต 4, กรุงศรีวิไล สุทินเผือก อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย เขต 5, ฐาปกรณ์ กุลเจริญ เลขานุการนายกเทศมนตรี เมืองปู่เจ้าสมิงพรายและหลานสนิท ส.ส.สมุทรปราการหลายสมัย เขต 6  และไพลิน เทียนสุวรรณ สภาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เขต 7
 
 
ผลการเลือกตั้ง 2562 พรรคพลังประชารัฐคว้าที่นั่ง 6 เขตจากทั้งหมด 7 เขต แพ้ไป 1 เขตคือ เขต 4 จาตุรนต์ แพ้ให้กับวุฒินันท์ บุญชู สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ ส่วนพรรคเพื่อไทยไม่ได้ที่นั่งในจังหวัดสมุทรปราการเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี
 
 
3. คนหน้าใหม่ 19 คน
 
 
จากจำนวน 97 คนของ ส.ส. แบบแบ่งเขตพรรคพลังประชารัฐที่ชนะการเลือกตั้งมี 19 คนที่จัดว่า เป็น “คนหน้าใหม่" ที่ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. มาก่อน และสามารถกวาดคะแนนไปได้ 671,880 คะแนน โดยผู้ที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส. เขต 8 ชลบุรี เป็นนักธุรกิจร้านทองคำในพื้นที่สัตหีบ เขาได้คะแนน 33,967 คะแนนจากบัตรดีทั้งหมด 82,758 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 41.044 ชนะนาวาตรีสุรสิทธิ์ ทะวะลัย พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้คะแนน 25,874 คะแนน
 
ลำดับที่ จังหวัด ชื่อ-สกุล พรรคสังกัดเดิม คะแนนที่ได้ คะแนนรวม %
1 ชลบุรี สะถิระ เผือกประพันธุ์ 33967 82758 41.044
2 ชลบุรี ร.อ.จองชัย วงศ์ทรายทอง

ลูกชายกำพล วงศ์ทรายทอง

นายกเทศมนตรี ต.บางทราย

42427 109704 38.674
3 เพชรบุรี กฤษณ์ แก้วอยู่

ประธานสภาทนายความจ.เพชรบุรี 

35106 92174 38.087
4 นครราชสีมา ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ

ทายาทตระกูลรัตนเศรษฐ

39774 104609 38.022
5 สงขลา ศาสตรา ศรีปาน 36802 100642 36.567
6 นครศรีธรรมราช รงค์ บุญสวยขวัญ

อาจารย์ม.วลัยลักษณ์

36361 99559 36.522
7 สระบุรี สมบัติ อำนาคะ

ประธานสภาเกษตรกรจ.สระบุรี

43776 120887 36.212
8 สงขลา ร้อยตำรวจเอกอรุณ สวัสดี 31913 89338 35.722
9 ภูเก็ต สุทา ประทีป ณ ถลาง 32338 96186 33.62
10 นครศรีธรรมราช สันหพจน์ สุขศรีเมือง 34613 105242 32.889
11 กทม. พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ 26909 86701 31.037
12 กทม. ประสิทธิ์ มะหะหมัด 28203 101127 27.889
13 กทม. ภาดาท์ วรกานนท์ 28690 103879 27.619
14 ภูเก็ต นัทธี ถิ่นสาคู

ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูภูเก็ต

27267 100493 27.133
15 ยะลา อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ

ทนายความสิทธิฯชายแดนใต้

23745 88390 26.864
16 พิจิตร พรชัย อินทร์สุข 24781 94571 26.204
17 กทม. ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ 27489 105238 26.121
18 กทม. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ 25180 98926 25.453
19 นครราชสีมา เกษม ศุภรานนท์

ผอ.อนุบาลนครราชสีมา

25982 106546 24.386

 

 
ในจำนวนคนหน้าใหม่เหล่านี้ มีคนที่พอจะมีฐานเสียงจากครอบครัวอยู่บ้างแล้ว เช่น ร้อยเอกจองชัย วงศ์ทรายทอง เขต 2 ชลบุรี ลูกชายกำพล วงศ์ทรายทอง นายกเทศมนตรีตำบลบางทรายและเป็นผู้กว้างขวางในจังหวัดชลบุรี  เขาได้คะแนน 42,427 คะแนนจากจำนวนบัตรดีทั้งหมด 109,704 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.674 ตามมาด้วยนิพนธ์ แจ่มจำรัส พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ 21,147 คะแนน
 
 
และอีกคน คือ ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส. เขต 4 นครราชสีมา ลูกชายคนที่ 2 ของวิรัชและทัศนียา รัตนเศรษฐ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ทวิรัฐได้คะแนน 39,774 คะแนนจากจำนวนบัตรดีทั้งหมด 104,609 หรือคิดเป็นร้อยละ 38.022 ชนะสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล จากพรรคภูมิใจไทย  ที่ได้ 33,674 คะแนน  พ่อของทวิรัฐ คือ วิรัช รัตนเศรษฐ นักการเมืองคนสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา วิรัช แต่งงานกับทัศนียามีลูกชาย 3 คนคือ อธิรัฐ, ตติรัฐ และทวิรัฐ เขาเริ่มเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต จังหวัดนครราชสีมาครั้งแรกปี 2529 และมีบทบาทในการเมืองระดับชาติเรื่อยมา ต่อมาปี 2554 วิรัชเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยส่งทัศนียาและอธิรัฐลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ขณะที่เขาลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งทั้งหมดได้เข้าสภา
 
 
ในปี 2562 วิรัชได้พาตระกูลรัตนเศรษฐและเครือข่ายย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐและลงสมัครทั้งหมด 7 คนแบ่งเป็นผู้ที่ลง ส.ส. แบบแบ่งเขต 4 คน คือ ทัศนียา,อธิรัฐ,ทวิรัฐและทัศนาพร เกษเมธีการุณ น้องสาวของทัศนียาและนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลห้วยแถลง ลง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ  3 คน คือ วิรัช ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับ 7 วลัยพร น้องสาวของวิรัช ลำดับ 29 และตติรัฐ ลำดับ 35 ผลการเลือกตั้งทัศนียา,อธิรัฐ,ทวิรัฐและทัศนาพร ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้งหมด ขณะที่วิรัช เป็นเพียงคนเดียวที่ได้ที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ รวมแล้วตระกูลรัตนเศรษฐคว้าที่นั่งไป 5 ที่นั่ง
 
 
4. อื่นๆ
 
 
นอกจาก 3 กลุ่มที่กล่าวไปข้างต้นแล้วยังมี 3 คนที่เคยดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชนะในปี 2562 คือ สัญญา นิลสุพรรณ ที่ปรึกษาประธานสภากรุงเทพมหานคร ลงสมัครรับเลือกตั้งเขต 3 จังหวัดนครสวรรค์, มานัส อ่อนอ้าย เลขานุการนายกอบจ.พิษณุโลก เขต 5 จังหวัดพิษณุโลกและฐาปกรณ์ กุลเจริญ เลขานุการนายกเทศมนตรี เมืองปู่เจ้าสมิงพรายและหลานสนิท กุลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการหลายสมัย เขต 6 จังหวัดสมุทรปราการ คนที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดคือ สัญญา ได้คะแนน 32,868 จากคะแนนรวมทั้งหมด 95,487 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.421 ชนะสัญชัย วงษ์สุนทร จากพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนน 27,193 คะแนน การเลือกตั้ง 2562 เป็นครั้งแรกที่สัญชัยสอบตกนับตั้งแต่เป็น ส.ส. จังหวัดนครสวรรค์มาตั้งแต่ปี 2544
 
 
อีก 2 คนเป็นผู้ที่เคยเป็นมือไม้ให้แก่ คสช. คือ ประทวน สุทธิอำนวยเดช อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลพบุรีและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เขต 1 จังหวัดลพบุรี เขาได้คะแนน 31,650 คะแนนจากคะแนนรวมทั้งหมด 105,654 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 29.956 ชนะพิชัย เกียรติวินัยสกุล จากพรรคเพื่อไทยที่ได้ 29,375 คะแนน และสิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เขต 9 กรุงเทพมหานคร เขาได้คะแนน 34,907 จากคะแนนรวมทั้งหมด 122,755 คะแนนหรือร้อยละ 28.436 ชนะสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนน 32,115 คะแนน
 
 
ในเลือกตั้งเขต 9 เคยมีกรณีคลางแคลงใจ จนสุรชาติ เทียนทอง ร้องเรียนว่า พบความไม่ชอบมาพากลในการนับคะแนนที่ผลคะแนนไม่ขึ้น และบัตรเลือกตั้งเกินจำนวนผู้มาใช้สิทธิ แต่ผู้อำนวยการเขตหลักสี่กลับแจ้งในเช้าวันรุ่งขึ้นว่า เป็นการเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังพบว่า มีการนำบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าของเขต 9 ไปนับที่เขต 1 ซึ่งผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งเขต 1 ได้ทักท้วงว่า มีบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจากเขต 9 มา แต่กรรมการที่นับคะแนนกลับบอกว่า ให้พิจารณาเป็นบัตรเสีย 
 
 
นอกจากนี้สำนักงานพรรคเพื่อไทย ได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่เขต 9 ว่า มีชื่อผู้มีสิทธิอยู่ใน บ้านเลขที่ 33/3 ถนนลาดยาว ซึ่งพบว่า เป็นที่ตั้งของทัณฑสถานหญิงกลางอันเป็นสถานที่ราชการ จึงไม่น่าจะมีชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ แต่กลับมีชื่อโผล่มาถึง 252 คน ซึ่งไม่รู้ว่า มีการยกเลิกรายชื่อดังกล่าวหรือไม่
 
 
และยังมีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด 1 คน ที่มาลงสมัคร ส.ส. แล้วชนะคือนิพันธ์ ศิริธร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้คะแนน39,416 คะแนนจากคะแนนรวมทั้งหมด 124,964 คะแนนหรือคิดเป็นร้อยละ 31.541 โดยชนะสุกิจ  อัถ  โถปกรณ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ 38,332 คะแนนไปอย่างฉิวเฉียด
 
 
 
หมายเหตุ
 
*ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง 137 ที่นั่ง แต่วันที่ 24 เมษายน 2562 มีการประกาศให้ใบส้มแก่สุรพล เกียรติไชยการ ว่าที่ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยจึงเหลือที่นั่ง 136 ที่นั่ง
 
**มณเฑียร สงฆ์ประชา เป็นรองเลขาธิการพรรคและกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ตัดสิทธิเลือกตั้งของมณเฑียรอันเป็นผลจากข้อกล่าวหาการซื้อเสียงและยุบพรรคชาติไทย