ส.ว.แต่งตั้ง: อาชีพไหนมีโอกาสได้รับการแต่งตั้ง คสช. มากที่สุด


รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติอยู่หนึ่งมาตราที่กำหนดว่า ในช่วงห้าปีแรกนับจากการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ให้มีวุฒิสภาจำนวน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง โดยแบ่งที่มาได้ดังนี้

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยตำแหน่งมี 6 คน ได้แก่ ผบ.สส., ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. และปลัดกระทรวงกลาโหม 
คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช. เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ จะสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมไม่เกิน 400 คน เสนอต่อ คสช. จากนั้น คสช. เลือกบุคคลรวม 194 คนจากรายชื่อดังกล่าวแต่งตั้งเป็น ส.ว. 
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการให้ผู้สมัคร ส.ว. เลือกกันเองตามแต่ละกลุ่มอาชีพของผู้สมัคร ส.ว. จำนวน 10 กลุ่ม จำนวน 200 คน จากนั้น คสช. เลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม 50 คนจากจำนวน 200 คน ที่ กกต. ดำเนินการสรรหาจากแต่ละกลุ่มอาชีพจำนวน 10 กลุ่ม

กล่าวโดยสรุปก็คือ วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ในช่วง 5 ปีแรก จะมี คสช. เป็นคนคัดเลือก จำนวน 244 คน และอีก 6 คน ให้มาโดยตำแหน่งผูนำเหล่าทัพ หลังจากนั้นคสช.จะทูลเกล้าพระมหากษัตริย์เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลทั้ง 250 คน ซึ่ง ส.ว. ชุดนี้ จะมีอำนาจมหาศาล ทั้งร่วมโหวตเลือกนายกฯ ตลอด 5 ปีของวาระการดำรงตำแหน่งได้ และสามารถติดตามให้รัฐบาลชุดหน้าต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจัดทำขึ้นในรัฐบาล คสช.
อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญก็คือ แล้วคนกลุ่มไหนจะได้เป็น ส.ว. ซึ่งคำตอบนั้น เราอาจจะพอหาได้จาก การสำรวจว่า ตลอดเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา คสช. เลือกคนแบบไหนเข้าไปทำงานมากที่สุด

หากนับตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน คสช. แต่งตั้งทั้งสภาและคณะกรรมการระดับชาติชุดต่างๆ อย่างน้อย 9 ชุด ซึ่งประกอบไปด้วย 1.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2.คณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 4.สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 5.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 6.คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ) 7.คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 8.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 11 ด้าน รวมถึงตำรวจและการศึกษา และ 9.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ/คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ

จากการตรวจสอบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้ง 9 ชุด พบว่า มีการแต่งตั้งบุคคลอย่างน้อย 1,138 ครั้ง แต่ถ้าหักรายชื่อบุคคลที่ซ้ำกันจะเหลือแค่ 848 คน (หนึ่งคนอาจจะรับมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง) โดยตัวเลขดังกล่าว ยังไม่นับรวมถึงการแต่งตั้งข้าราชการเมือง อาทิ ที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ ฯลฯ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งข้อมูลมีจำนวนมหาศาลและไม่อาจจะนำมาประมวลได้หมด

ทั้งนี้ หากนำรายชื่อการแต่งตั้งทั้งหมดมาจำแนกตามกลุ่มอาชีพ จำนวน 11 กลุ่ม จะพบว่า สัดส่วนอาชีพที่ได้รับการแต่งตั้งมากที่สุด เรียงตามลำดับดังนี้

  • อันดับ 1 ทหาร จากการแต่งตั้งบุคคลจำนวน 848 คน แบ่งเป็นทหารอย่างน้อย 246 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 29 จากทั้งหมด
  • อันดับ 2 ข้าราชการ จากการแต่งตั้งบุคคลจำนวน 848 คน แบ่งเป็นข้าราชการอย่างน้อย 233 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 27 จากทั้งหมด
  • อันดับ 3 อาจารย์-นักวิชาการ จากการแต่งตั้งบุคคลจำนวน 848 คน แบ่งเป็นอาจารย์-นักวิชาการ 109 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 จากทั้งหมด
  • อันดับ 4 เอกชน จากการแต่งตั้งบุคคลจำนวน 848 คน แบ่งเป็นเอกชน 100 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12 จากทั้งหมด
  • อันดับ 5 นักการเมือง จากการแต่งตั้งบุคคลจำนวน 848 คน แบ่งเป็นนักการเมือง 64 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 8 จากทั้งหมด
  • อันดับ 6 ตำรวจ จากการแต่งตั้งบุคคลจำนวน 848 คน แบ่งเป็นตำรวจ 37 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4 จากทั้งหมด
  • อันดับ 7 นักกฎหมาย-ทนายความ จากการแต่งตั้งบุคคลจำนวน 848 คน แบ่งเป็นนักกฎหมาย-ทนายความ 20 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2 จากทั้งหมด
  • อันดับ 8 สื่อ จากการแต่งตั้งบุคคลจำนวน 848 คน แบ่งเป็นสื่อ 15 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2 จากทั้งหมด
  • อันดับ 9 เอ็นจีโอ จากการแต่งตั้งบุคคลจำนวน 848 คน แบ่งเป็นเอ็นจีโอ 14 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2 จากทั้งหมด
  • อันดับ 10 อื่นๆ จากการแต่งตั้งบุคคลจำนวน 848 คน แบ่งเป็นอื่นๆ 10 คน เช่น เกษตร ศิลปิน ฯลฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 1 จากทั้งหมด 

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ในช่วงเกือบตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา มีโอกาสได้รับการแต่งตั้งซ้ำอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพทหาร ที่ครองอาชีพอันดับหนึ่งที่ คสช. เลือกใช้มาตลอด

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักข่าวไทยพีบีเอสที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับรายชื่อบุคคลที่คาดว่าจะได้รับการคัดเลือกเป็น ส.ว. ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร กลุ่มเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 6 กลุ่มเคยร่วมงานในกระทรวงกลาโหมและมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด กลุ่มเพื่อนร่วมรุ่น และสนิทสนมกับ พล.อ.ประยุทธ์ กลุ่มคนใกล้ชิด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และกลุ่มนายทหารเกษียณปีนี้ โดยรายชื่อที่มีประกอบไปด้วย ชื่อของนายทหารอย่างน้อย 46 คน ตำรวจอย่างน้อย 4 คน และพลเรือนอย่างน้อย 2 คน ซึ่งประกอบไปด้วย

1) พล.อ.วีรชัย อินทุโศภน รอง ผบ.ทสส. 
2) พล.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้ช่วยผบ.ทบ. 
3) พล.อ.ธนะเกียรติ ชอบชื่นชม ผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 
4) พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 
5) พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ 
6) พล.อ.ไตรรัตน์ รังคะรัตน อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย 
7) พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีต ผบ.ทสส. 
8) พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง อดีตรอง ผบ.ทสส. 
9) พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล อดีตรอง ผบ.ทสส. 
10) พล.อ.ธีระวัฒน์ บุญยะประดับ อดีตรอง ผบ.ทบ.
11) พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ อดีต ส.ว.ชุมพร 
12) พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
13) พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ อดีตหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา 
14) พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร อดีตผบ.ทสส. 
15) พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ อดีตที่ปรึกษาพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย  
16) พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
17) พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก 
18) พล.อ.สกล ชื่นตระกูล อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 
19) พล.ร.อ. ชุมนุม อาจวงษ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สํานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 
20) พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม 
21) พล.อ.ยุวนัฏ สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตสนช. 
22) พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 
23) พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิก สนช. 
24) พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิก สนช.
25) พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม
26) พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ อดีตประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และอดีตแม่ทัพภาคที่ 1  
27) พล.อ.วลิต โรจนภักดี อดีตรอง ผบ.ทบ. 
28) นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษาส่วนตัวด้านความมั่นคงของ พล.อ.ประวิตร 
29) พล.อ.อ.มณฑล สัชฌุกร อดีตโฆษกกองทัพอากาศ
30) พล.อ.นพดล อินทปัญญา ที่ปรึกษาคสช. 
31) พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ อดีตส.ว.สรรหา
32) พล.อ.โสภณ ศีลพิพัฒน์ อดีตที่ปรึกษารมว.กลาโหม
33) พล.อ.อ.ไพศาล สีตบุตร อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ และเป็นพี่ชายของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร สมาชิก คสช. 
34) พล.อ.จิรพงศ์ วรรณรัตน์ อดีตที่ปรึกษากองทัพบก 
35) พล.อ.ชยุติ สุวรรณมาศ อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจํา ผบ.ทสส.
36) พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง อดีตส.ว.สรรหา 
37) พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย อดีตรองผบ.ทสส. 
38) พล.อ.อู้ด เบื้องบน อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม 
39) พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ อดีตที่ปรึกษาพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย 
40) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผบ.ทสส. 
41) พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา 
42) พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร อดีตรอง ผบ.ทบ.
43) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร.
44) พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีต ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร 
45) พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. เพื่อนสนิทของ พล.ต.อ.พัชรวาท
46) พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตผู้ช่วยผบ.ทบ. 
47) พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ สมาชิกสนช. 
48) พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล อดีต ผอ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 
49) พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 
50) พล.อ.ทวีป เนตรนิยม อดีตเลขาธิการสมช. 
51) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 
52) นายสม จาตุศรีพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา

You May Also Like
อ่าน

พร้อมสมัคร เพื่อ โหวต สว. 2567 แล้ว! ต้องเตรียมตัวยังไง ทำอะไรบ้าง?

สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีความสนใจสมัคร สว. หากอยากรู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง มาดูเลย
อ่าน

ดูการเลือก สว. ชุดใหม่! กระทรวงมหาดไทยดูแลเลือกระดับอำเภอ-จังหวัด

สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันทั้ง 250 คนกำลังจะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคมปี 2567 พร้อมอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างไรก็ตาม สว. ชุดใหม่ทั้ง 200 คนที่จะมาจากระบบ “เลือกกันเอง” ยังมีอำนาจอื่นๆ ครบ เช่น ให้ความเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเห็นชอบหรือให้คำแนะเพื่อแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ตรวจสอบฝ่ายบริหาร…